xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “ถนนพระราม 2” (จบ) : จาก “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” สู่อนาคต

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ภาพโดย กิตติกร นาคทอง
ความเดิมตอนที่แล้ว : ย้อนรอย “ถนนพระราม 2” ทางหลวงสายมรณะ 419 ล้านบาท

นับตั้งแต่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 หรือ ถนนพระราม 2 (ธนบุรี - ปากท่อ) เปิดให้สัญจรเมื่อปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา นำพาความเจริญจากกรุงเทพฯ มาสู่พื้นที่ “สองสมุทร” ได้แก่ สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม แบบก้าวกระโดด

อีกทั้ง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดใช้ “ทางพิเศษสายดาวคะนอง – ท่าเรือ” พร้อมกับ “สะพานพระราม 9” หรือ สะพานแขวน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ยิ่งเพิ่มยวดยานพาหนะลงสู่ภาคใต้มากยิ่งขึ้น

จากเดิม มหาชัย และแม่กลอง เป็นเมืองเล็ก ๆ คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จะเข้า – ออกกรุงเทพฯ ต้องนั่งรถไฟสายแม่กลอง นั่งเรือข้ามฟากที่ท่าฉลอม แล้วต่อรถไฟไปถึงวงเวียนใหญ่ หรือไม่ก็นั่งเรือหางยาวเป็นหลัก

แต่เมื่อมีถนนพระราม 2 ก็เริ่มมีรถโดยสารประจำทางขนาดใหญ่วิ่งผ่าน จากดาวคะนอง ได้แก่ สาย 976 ไปแม่กลอง และสาย 980 ไปสมุทรสาคร ทำให้ผู้คนเดินทางโดยรถไฟสายแม่กลองกันน้อยลง

และจากทฤษฎีฝรั่งที่ว่า เมื่อมีถนนตัดผ่าน ความเจริญจะเข้ามา ประชาชนจะรู้สึกไม่ถูกโดดเดี่ยวจากรัฐ เมืองมหาชัย จากห้องแถวเล็ก ๆ ก็เริ่มมีอาคารพาณิชย์เกิดขึ้น กลายสภาพเป็นย่านการค้าไปโดยปริยาย

ปี พ.ศ. 2531 “วันชาติ ลิ้มเจริญ” นักพัฒนาที่ดินยุคบุกเบิก นำที่ดิน 500 ไร่บริเวณสี่แยกเอกชัย (ปัจจุบันคือทางแยกต่างระดับเอกชัย) พัฒนาเป็น “โครงการมหาชัยเมืองใหม่” ประกอบด้วย ตลาด อาคารพาณิชย์ บ้านเดี่ยว และสวนน้ำ

ปี พ.ศ. 2532 นักลงทุนก่อตั้ง “โรงพยาบาลมหาชัย” อาคารสูง 6 ชั้น บนที่ดิน 2.5 ไร่ บริเวณสี่แยกมหาชัย (ปัจจุบันคือทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร) เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในจังหวัด ที่ถือว่าทันสมัยที่สุดขณะนั้น

ปี พ.ศ. 2533 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก่อตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร” บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน กลายเป็นทำเลทองเพราะใกล้ท่าเรือคลองเตย ปัจจุบันมีโรงงานเข้ามาตั้ง 116 แห่ง
ภาพจาก www.rottourthai.com
แต่ความเจริญที่เข้ามาแบบก้าวกระโดด สวนทางกับสภาพถนนที่มีเพียงแค่สองเลน คับแคบและชำรุด แม้จะถูกกำหนดให้เป็น “ทางหลวงพิเศษ” ออกประกาศห้ามจอดรถบนถนนหรือไหล่ทางก็ตาม

ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2532 จึงได้เริ่มขยายถนนออกเป็น 4 ช่องจราจร ตลอดสาย 84 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 3,504.70 ล้านบาท พร้อมทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และ วังมะนาว

แม้ถนนสี่เลนจะแล้วเสร็จตลอดสายเมื่อปี พ.ศ. 2537 แต่อีกสองปีถัดมา ถนนช่วงตั้งแต่สามแยกบางปะแก้ว ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ก็ต้องทุบทิ้งและขยายถนนออกเป็น 14 ช่องจราจร เมื่อปี พ.ศ. 2539

ช่วงนั้น ถนนพระราม 2 ถูกขนานนามว่า “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” เพราะสภาพถนนที่เละไปด้วยดินโคลน อีกทั้งเป็นเส้นทางเดียวที่จะขึ้น - ลงทางด่วน การจราจรติดขัดทุกวัน

ขณะเดียวกัน ตลอดการก่อสร้างแทบจะไม่มีไฟส่องสว่าง และไม่มีสัญญาณไฟซ่อมทาง ทำให้ผู้ใช้เส้นทางเดือดร้อนอย่างมาก อีกทั้งยังเกิดอุบัติเหตุมาแล้วหลายราย แต่หน่วยงานก็ยังทำเฉย

นอกจากนี้ ผู้คนที่พักอาศัยในเขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน ทั้งแขวงท่าข้าม และ แสมดำ ยังต้องเจอฝุ่นละอองจากการก่อสร้างถนนอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ

ครั้งหนึ่ง นายสุวัฒน์ วิชัยดิษฐ ญาติอดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี ก็ประสบอุบัติเหตุรถชนแท่นปูนบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2542 บริเวณปากทางพระราม 2 ซอย 94 เพราะถนนมืด ไม่มีไฟส่องสว่างและสัญญาณไฟก่อสร้าง

ที่สุดของถนนเจ็ดชั่วโคตร ก็คือ ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ตัดกับถนนกาญจนาภิเษก (บางบัวทอง - บางขุนเทียน) ผู้รับเหมาก่อสร้างต่อไม่ได้เพราะขาดสภาพคล่อง ต้องทิ้งงานก่อสร้างไปหน้าตาเฉย

ครั้งนั้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้นถึงกับทนไม่ได้ ต้องลงมาจี้เร่งรัดก่อสร้างต่อให้เสร็จ สุดท้ายทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนจึงเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546

เมื่อปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้น ทำให้ในปี พ.ศ. 2542 ต้องขยายถนนเพิ่ม ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ถึง นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร เป็นทางหลัก 3 ช่องจราจร ทางขนาน 2 ช่องจราจร พร้อมก่อสร้างสะพานกลับรถอีก 3 จุด

ต่อมาปี พ.ศ. 2549 ได้ขยายถนนช่วงนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ถึง ปากท่อ เป็นถนนขนาด 6 - 8 ช่องจราจร แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551 ประชาชนใช้สัญจรไปมาจวบจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ เมื่อ “ทางพิเศษบางพลี-สุขสวัสดิ์” และ “สะพานกาญจนาภิเษก” เปิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ยิ่งเป็นการเพิ่มเส้นทางคมนาคม เชื่อมต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ และภาคตะวันออกได้โดยไม่ต้องเข้าเมือง
ภาพจากเฟซบุ๊ก ย้อนอดีต...วันวาน
ความเจริญทั้งด้านอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์กว่า 200 โครงการ และค้าปลีกในพื้นที่ถนนพระราม 2 ยังคงเติบโตไม่หยุด โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่สามแยกบางปะแก้ว ถึง จ.สมุทรสาคร

ปี พ.ศ. 2539 กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ก่อตั้งเมืองใหม่ “สารินซิตี้” ขนาด 5,935 ไร่ ทุ่มโฆษณาทั้งโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์มหาศาล แม้จะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 แต่ก็เริ่มฟื้นโครงการได้ในอีก 5 ปีต่อมา

ส่วนหนึ่งแบ่งพื้นที่ให้กลุ่มเจริญอักษร ก่อตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร” บนพื้นที่ 991 ไร่ ถือเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการพิมพ์แห่งแรกในประเทศไทย

ปัจจุบันในย่านพันท้ายนรสิงห์ มีกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ตั้งโครงการทั้งทุนท้องถิ่น ดี-แลนด์ กรุ๊ป ทุนรายใหญ่อย่างศุภาลัย, มั่นคง พร็อพเพอร์ตี้ และรายล่าสุด แสนสิริ

อีกทั้งยังมีสถานศึกษาชั้นนำ อย่างโรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อตั้ง “อัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2” บนพื้นที่ 230 ไร่ ริมคลองโคกขาม ใช้งบลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท เปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา

ส่วนธุรกิจค้าปลีก เริ่มจากในปี พ.ศ. 2540 โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เปิด ห้างโลตัส พระราม 2 ย่านการเคหะธนบุรี จากนั้นในอีก 2 เดือนต่อมา บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เปิด ห้างบิ๊กซี ธนบุรี-ปากท่อ ที่ปากซอยท่าข้าม

กระทั่งปี พ.ศ. 2545 กลุ่มเซ็นทรัลก่อตั้ง “ห้างเซ็นทรัลพลาซา พระราม 2” พื้นที่ 210,000 ตารางเมตร โดยเช่าที่ดินระยะยาว 96 ไร่ จากกลุ่มโรงพยาบาลบางปะกอก ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์การค้ายอดนิยมของคนในย่านนั้น

มาถึงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร กลุ่มทุนท้องถิ่น “ดี-แลนด์ กรุ๊ป” ก่อตั้งคอมมูนิตี้มอลล์ “พอร์โต้ ชิโน่” ริมถนนพระราม 2 กม. 25 เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2555 จุดเด่นที่สำคัญคือ ร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์ ไดร์ฟทรู” แห่งแรกในประเทศไทย

ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2560 กลุ่มเซ็นทรัลเปิด “ห้างเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย” ศูนย์การค้าแห่งที่ 32 บนที่ดินกว่า 98 ไร่ บริเวณฝั่งตรงข้าม นอกจากนี้ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม ยังมีห้างค้าปลีกรูปแบบต่าง ๆ ตั้งสาขาริมถนนพระราม 2 อีกด้วย

ความเจริญของถนนพระราม 2 ที่มียานพาหนะสัญจรเฉลี่ยมากกว่า 120,000 คันต่อวัน ขณะนี้กำลังจะมีโครงการก่อสร้างสำคัญในอนาคตอันใกล้ ได้แก่

ทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ขนานไปกับทางด่วนเฉลิมมหานคร และถนนพระราม 2 ถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน

โครงการนี้ใช้งบลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จะใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565

ทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ช่วง บางขุนเทียน - มหาชัย ของกรมทางหลวง ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร ต่อเนื่องจากโครงการของการทางพิเศษฯ ขนานไปกับถนนพระราม 2 ถึงทางแยกต่างระดับเอกชัย

จากเดิมจะใช้รูปแบบความร่วมมือภาครัฐ – ภาคเอกชน (PPP) คือให้เอกชนก่อสร้าง แต่เกรงว่าจะล่าช้า กรมทางหลวงก็เลยเตรียมเสนอโครงการในปีงบประมาณ 2562 วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี 6 เดือน

นอกจากนี้ กรมทางหลวงเตรียมขยายถนนพระราม 2 ช่วงแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย ทางหลักเป็น 4 ช่องจราจร และทางขนานเป็น 3 ช่องจราจร ใช้งบประมาณ 2,310 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีอีกด้วย

ส่วนทางยกระดับถนนพระราม 2 ช่วงมหาชัย - วังมะนาว จ.ราชบุรี จะก่อสร้างเป็นลำดับถัดไป ใช้วิธีลงทุนในรูปแบบ PPP และจะปรับส่วนแรกที่รัฐลงทุนไปรวมภายหลัง

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 8 นครปฐม – ชะอำ ของกรมทางหลวง ระยะทาง 119 กิโลเมตร วงเงิน 8.06 หมื่นล้านบาท มีจุดขึ้น - ลงถนนพระราม 2 ที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี จะเปิดประมูลในปี 2561

เริ่มต้นจากมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่านตลาดจินดา บางแพ ทางเลี่ยงเมืองราชบุรี วัดเพลง ถนนพระราม 2 ที่ปากท่อ เขาย้อย แล้วไปสิ้นสุดที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายวังมะนาว - หนองหญ้าปล้อง ของกรมทางหลวง ระยะทาง 36 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากทางแยกต่างระดับวังมะนาว เพื่อแบ่งเบารถบนถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าสู่ภาคใต้โดยไม่ผ่านตัวเมืองเพชรบุรี

ในอนาคต จาก อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี จะพัฒนาเส้นทางโดยผ่าน อ.แก่งกระจาน บ้านยางชุม เข้าสู่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผ่านบ้านหนองพลับ ถึงถนนบายพาส ชะอำ - ปราณบุรี บริเวณทางแยกต่างระดับห้วยมงคล

เมื่อมองมาถึงโครงการเหล่านี้แล้ว แม้จะทำให้การเดินทางสู่ภาคใต้สะดวกรวดเร็ว แต่ก็ต้องแลกด้วยการก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจร ในช่วงระยะเวลาการก่อสร้างที่ยาวนาน 3 - 4 ปี

น่าเป็นห่วงว่า บรรยากาศของ “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” ในอดีตจะหวนกลับมาอีกครั้ง เฉกเช่นเมื่อครั้งถนนพระราม 2 เคยขยายถนนแล้วต้องทุบทิ้งเพื่อก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ไม่นับรวมปัญหาถนนชำรุดซึ่งเป็นปัญหาเดิม ๆ ที่ซ่อมแซมไม่จบสิ้น

คนกรุงเทพฯ คนสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และผู้ใช้รถใช้ถนนมุ่งหน้าสู่ภาคใต้ คงต้องทำใจกับความไม่สะดวกทั้งหลายทั้งปวง ที่อาจจะเกิดขึ้นยาวนาน นับตั้งแต่วันเริ่มตอกเสาเข็มเป็นต้นไป.




ถนนพระราม 2 “ทางหลวงพิเศษ” ในอดีต

เมื่อสืบค้นความเป็นมาของถนนพระราม 2 เพิ่มเติม ก็พบกับข้อมูลในราชกิจจานุเบกษาที่น่าสนใจ นับตั้งแต่ก่อนที่ถนนจะเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516 ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน

นายเฉลียว วัชรพุกก์ อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน ออกประกาศห้ามจอดยานพาหนะใด ๆ บนทางจราจรหรือไหล่ทาง ในทางหลวงแผ่นดิน เว้นแต่บนไหล่ทางของทางขนานในทางหลวงสายนี้

หลังจากเปิดใช้มาประมาณ 2 ปี ยังมีความพยายามที่จะยกระดับให้เป็น “ทางหลวงพิเศษ”

26 ธันวาคม พ.ศ. 2518 พลตรี ศ. สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง เปลี่ยนประเภทและกำหนดให้ทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ เป็นทางหลวงพิเศษ

ด้วยกรมทางหลวงได้ออกแบบทางหลวงแผ่นดิน สายธนบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม-ปากท่อ เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ รมว.คมนาคม ได้พิจารณาแล้ว ให้เปลี่ยนประเภทและกำหนดให้เป็น “ทางหลวงพิเศษ”

ความแตกต่างระหว่าง “ทางหลวงพิเศษ” กับ “ทางหลวงแผ่นดิน” สังเกตได้ชัดเจนตรงป้ายเลขทางหลวง

ทางหลวงแผ่นดิน พื้นป้ายจะเป็นสีขาว ตัวหนังสือสีดำ แต่หากเป็นทางหลวงพิเศษ พื้นป้ายจะเป็นสีเขียว ตัวหนังสือสีขาว ซึ่งรวมไปถึงป้ายบอกชื่อแม่น้ำลำคลอง ป้ายบอกเขต ป้ายแบ่งเขตปกครอง และ ป้ายบอกชื่อหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ผ่านไป 38 ปี พบว่าถนนพระราม 2 มีการยกเลิกทางหลวงพิเศษ โดยให้กลับไปใช้ทางหลวงแผ่นดิน เหมือนถนนสายอื่น

24 กันยายน พ.ศ. 2556 พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม ปฏิบัติราชการแทน รมว.คมนาคม ออกประกาศกระทรวงคมนาคม เปลี่ยนประเภทและกําหนดให้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 35 เป็นทางหลวงแผ่นดิน

เหตุเพราะมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง พ.ศ. 2535

โดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 กําหนดให้ทางหลวงพิเศษ คือ ทางหลวงที่จัดหรือทําไว้เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ

โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดําเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบํารุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะโดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษ ตามที่กรมทางหลวงจัดทําขึ้นไว้เท่านั้น

ปรากฏว่าทางหลวงพิเศษหมายเลข 35 มิได้มีการควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะโดยทางเสริม จึงสมควรเปลี่ยนประเภททางหลวงให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แม้ว่าในวันนี้ถนนพระราม 2 จะไม่ได้เป็นทางหลวงพิเศษ แต่ความสำคัญของถนนสายนี้กลับมิได้ลดน้อยถอยลงเลยแม้แต่น้อย หนำซ้ำยังคงต้องพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปตามยวดยานพาหนะที่เพิ่มมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น