xs
xsm
sm
md
lg

ด้านมืดของสื่อใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ข่าวการเมืองช่วงนี้ ถือว่าไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเด่นชัด ก็อย่างที่รู้กันว่า หลังจากเปิดหน้าเล่น “เกมดูด” อย่างชัดเจนแล้ว นายกฯ ลุงตู่ก็เริ่ม “หาคะแนน” จากคนกลุ่มต่างๆ เช่นที่ล่าสุดมีการนำเอานักร้องสาวไอดอลที่เป็นที่ชื่นชอบติดตามกันของคนรุ่นใหม่ อย่าง BNK48 เข้าพบถึงทำเนียบฯ ให้ “โอตู่” จับมือกันแบบไม่ต้องซื้อบัตรหรือต่อคิวตามธรรมเนียม

ความเคลื่อนไหวที่เป็นกระแสหลักช่วงนี้ที่อยากพูดถึง คือเรื่องของการทลายแก๊ง “ขายครีม” ที่พัวพันกับดาราและคนดังร่วมครึ่งวงการ และเรื่องของ “โค้ช” ด้านการลงทุนซ้อมแฟน

สองเรื่องนี้เหมือนจะไม่เกี่ยวกัน แต่จริงๆ มันมีจุดร่วมกันที่แสดงให้เห็นถึง “ด้านมืด” ของ “สื่อใหม่” อันได้แก่เครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก

“เครือข่ายสังคม” หรือ “สื่อใหม่” นี้เองที่เข้ามาแทรกแซงและทำลาย “สื่อเก่า” ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ นิตยสาร จนพังพาบราบเป็นหน้ากลอง ต้องปรับตัวหนีตายกันทั้งวงการ อย่างที่รู้กัน

“สื่อใหม่” ที่ถูกมองว่า ทำลายทั้งพรมแดนทุน และพรมแดนรัฐ ช่วยให้คนธรรมดาสามารถเป็นเจ้าของสื่อได้อย่างแทบไม่มีต้นทุนอะไรมากมาย แค่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนราคาหลักพันบาท ก็เท่ากับเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์และสำนักข่าวหรือเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ได้แล้ว ผ่าน Twitter และ Facebook หรือ YouTube ที่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีนั้นทำได้ตั้งแต่จัดรายการ Live สด ไปจนถึงบันทึกไว้ก่อนแล้วค่อยนำขึ้น Upload ไม่ผิดจากวิทยุโทรทัศน์ในยุคก่อน

แต่ด้วยข้อดีที่ “สถานีส่ง” นั้นอยู่ในอุ้งมือ การ Live สด จึงทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องใช้รถโมบายยูนิตหรือเครื่องส่งผ่านดาวเทียมอะไรให้ยุ่งยาก การเสนอข่าวเชิงข้อมูลอักษรก็เช่นกัน เรียกว่ารายงานข่าวกันได้สั้นๆ สดๆ ไม่ต้องรอส่งมาเข้ากระบวนการพิมพ์เหมือนเดิม

ความสะดวก ไม่ต้องการทุน และความเสรีที่ภาครัฐแทบจะควบคุมอะไรไม่ได้นั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ว่ากันที่ข้อดีก่อน นั่นคือ เมื่อทุกคนสามารถเป็น “สื่อ” ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตใครทั้งทุนทั้งรัฐ เราจึงสามารถรับสื่อที่มีเนื้อหาหลากหลายได้ง่ายดายขึ้น เช่น มีช่อง YouTube ที่สอนปลูกผักสวนครัว ทำงานฝีมือ หรือเผยแพร่ธรรมะอย่างอิสระ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยปรากฏได้ยาก สำหรับสื่อแบบเก่า

หรือที่บรรดา “ผู้รู้” ทั้งหลาย สามารถเขียนเรื่องที่ตัวเองมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และความสนใจลงเป็นเพจใน Facebook ให้ใครที่สนใจในเรื่องนั้นเข้ามาอ่านได้ หรือหากเป็นที่นิยมมากๆ อาจจะต่อยอดไปเขียนในสำนักข่าวออนไลน์ทั้งหลายได้

เช่น เพจเกร็ดประวัติศาสตร์ของ ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ที่มีผู้ติดตามกว่า 14,000 คน เนื้อหาเหล่านี้ สมัยก่อนหาอ่านได้ยากมาก จะปรากฏในนิตยสารเฉพาะทาง ซึ่งเป็นเดือนหรือหลายๆ เดือน ถึงจะออกมาสักฉบับหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ อัพเดตกันเป็นรายวันก็ยังได้

นี่คือ “ด้านสว่าง” ของ “สื่อใหม่” ที่นาทีนี้ไม่มีใครเถียงได้แล้ว

แต่ “ด้านมืด” ของสื่อใหม่นั้นก็ปรากฏขึ้นคู่ขนานกันไป และบ่อยครั้งบางที ก็จะมีกรณีที่ “ฝีแตก” ออกมาเป็นข่าวให้สังคมในวงกว้างรับรู้กัน

“ด้านมืด” ที่ใครก็ได้ สามารถตั้งตัวเป็น “ผู้รู้” หรือ “กูรู” หรือ “โค้ช” อะไรตามแต่จะเรียก อาศัยความรู้แบบงูๆ ปลาๆ แต่อาจจะมากกว่าคนทั่วไปนิดหน่อย สร้างภาพตัวเองเรียกความหน้าเชื่อถือด้วยการอวดไลฟ์สไตล์อย่างคนร่ำรวยหรือมีความสุข (ซึ่งจริงบ้างปลอมบ้างตามแต่บารมี) จากนั้นก็เปิดคอร์สเก็บเงินคน ที่นิยมก็เช่น คอร์สสอนรวย สอนให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เล่นหุ้น เล่นตราสารอนุพันธ์ เล่นอสังหาริมทรัพย์ โดยเอาตัวเลขกำไรหรือผลตอบแทนที่ไม่มีใครตรวจสอบได้มาอวดกัน ล่อใจให้ผู้ติดตามไปลงเรียนด้วย

คอร์สพวกนี้ราคาจะว่าถูกก็ไม่ถูก จะว่าแพงก็ไม่แพง เพราะเป็นสนนราคาตัวเงินที่คนชั้นกลางกินเงินเดือนทั่วไปพอจะเจียดจ่ายได้ เช่นประมาณหมื่นกว่าบาทไม่เกินสองหมื่น ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่า เงินแค่นี้ ลงทุนไปเรียนเพื่อจะได้ “ต่อเงิน” นี่ก็อาจจะคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

กูรูพวกนี้ บางทีก็มีสอนจริงๆ แต่ไม่ได้น้ำได้เนื้ออะไรเท่าไร บางคนก็ใช้วิธีเลี้ยงไข้ เป็นต้นว่า ที่สอนไปเป็นเบสิกเบื้องต้น อยากได้เคล็ดลับระดับลึก ต้องไปลงทะเบียนคอร์สซูเปอร์ VIP ซึ่งบรรดาคนที่สมัครไปแล้วก็ถอยไม่ได้ ไหนๆ ก็ไหนๆ ก็ต้องซื้อคอร์สกันแพงๆ ต่อไปอีกไม่รู้จบ

ที่แย่ คือ บางกูรูหรือบางโค้ชนั้น หลอกให้คนที่มาเรียนรับซื้อหุ้นเน่าๆ ของตัวเอง แล้วหลอกว่าเป็นหุ้นห่านทองคำ หรือซื้ออสังหาบ้านหรือคอนโดฯ ที่ตัวเองมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง

หรือที่เลวร้ายกว่านั้น ก็คือรับเงินแล้วเชิดเงินหนีไปเลย ไม่มีคอร์สไม่มีการสอนอะไรทั้งสิ้น เช่นเดียวกับนายโค้ชที่ซ้อมแฟน Live ออก Facebook ที่เป็นข่าวไปนั่นแหละ

เพราะความที่ไม่มี “ตัวกลาง” มากลั่นกรองเลย ทำให้บรรดากูรูกำมะลอเหล่านี้สามารถสร้างตัวตนจากความว่างเปล่า ขึ้นมาหลอกเงินคนนับหมื่น จนร่ำรวยนับล้านๆ ได้ในชั่วเวลาบางทีไม่ถึงปี

เพราะความที่ไม่มี “ตัวกลาง” นี้เช่นกัน ทำให้ผลิตภัณฑ์หรืออาหารเสริม เครื่องสำอางที่ไม่มีคุณภาพ เพราะเน้นที่จะดึงให้คนมารับไปขายตรงแบบแชร์ลูกโซ่สามารถที่จะปั้นแต่งขึ้นมาจากโรงงานประเภทใส่หม้อใส่ถังกวนกันเอง อาศัยโฆษณาหวือหวาเกินจริงที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบใดๆ เพราะเสนอผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค

ซึ่งในตอนแรกอาจจะยังไม่ต้องมีต้นทุนมากนัก ทำกันจนร่ำรวย ถึงขนาดสามารถจ้างพรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราดัง หรือพวกเซเลบที่มีผู้ติดตามในโซเชียลให้ทำรีวิว (ปลอมๆ) ให้ได้กลายเป็นความน่าเชื่อถือทบซ้ำเข้าไป
จนกระทั่งเป็นธุรกิจมูลค่าหลายล้าน จากการหลอกลวงผู้คนซ้ำไปซ้ำมา
ลองคิดดูว่า ทั้งสองกรณีนี้ ในโลกของสื่อยุคเก่าที่มีบรรณาธิการ มีสำนักข่าวหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบตามกฎหมายนั้น จะเกิดขึ้นได้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปได้ยาก และไม่ได้ผลทันใจขนาดนี้

การที่มี “ตัวกลาง” หรือ “อำนาจรัฐ” คอยกลั่นกรองก็ดี หรือมี “ค่าใช้จ่าย” ที่เป็นทุนในการสื่อสารหรือโฆษณานั้น จะว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพก็ใช่ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นเหมือนตาข่ายที่ป้องกันพวก “จับเสือมือเปล่า” ของพวกที่หลอกลวงขายของ หรือพวกปั้นตัวเองเป็นกูรูกำมะลอได้พอสมควร

เช่นสมัยก่อน สินค้าใดจะซื้อโฆษณาในโทรทัศน์หรือวิทยุได้นั้น จะต้องเป็นกิจการที่มั่นคงพอสมควร ที่จะมีทุนพอจะจ่ายค่าโฆษณาได้ นั่นคือ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้านั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วจากตลาดหรือกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ มาแล้วระดับหนึ่ง ไม่ใช่กวนเมื่อวาน ขายวันนี้ ยิงโฆษณาได้ทันทีชั่วโมงนั้น

หรือใครที่ไปออกโทรทัศน์ ในฐานะของผู้รู้ ก็จะต้องมีการสกรีนมาแล้วระดับหนึ่ง ว่าเป็นผู้รู้ในเรื่องนั้น หรือสาขาวิชานั้นโดยแท้จริง เพราะไม่งั้นก็จะเกิดความเสียหายแก่เครดิตหรือภาพลักษณ์ของสื่อเอง

ทั้งหมดนี้ คือ “ด้านมืด” ของสื่อใหม่ ที่ไม่รู้จะมีกรณีไหนจะ “ฝีแตก” ออกมาให้สังคมรับรู้อีกบ้าง

ในยุคของสื่อเก่า ประชาชนต้องเท่าทันสื่ออย่างไร ในยุคของสื่อใหม่ ก็ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังและเท่าทันสื่อเพิ่มขึ้นอีกหลายต่อหลายเท่า.


กำลังโหลดความคิดเห็น