xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจยุค Robot & AI กับปัญหาเชิงเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

ภาพจากยูทูปรายการ Timeline สุทธิชัย หยุ่น
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


“โรงงานที่เบลเยียม ผลัดนึงใช้ 7 คน เป็นโรงงานผลิตอาหาร 3 ผลัดก็เพียง 21 คน อัตโนมัติหมด รวมถึงรถยกก็ไม่ต้องมีคนขับ คีย์โปรแกรมให้เขาแล้วเขาก็วิ่งตามโปรแกรม แล้วก็ดีซี (ศูนย์กระจายสินค้า) วันนี้ไม่ต้องเอารถยกไป คอมพิวเตอร์คอนโทรล ไม่ต้องมีถนนกว้างแล้ว สูง ไม่เปลืองแอร์ ... 4.0 แล้ว หุ่นยนต์ เราใช้แล้วในกระบวนการผลิต โรงงานก็ใช้ เกษตรก็ใช้ เกษตรหุ่นยนต์ก็ใช้แล้ว เพราะหุ่นยนต์เนี่ยจะแน่นอน แล้วไม่เหนื่อย แล้วตรวจได้ 24 ชั่วโมง ไฟหมดก็ไปชาร์จ ไม่มีการบ่น ไม่มีโอที แล้วแม่นยำ ถ้าไปตรวจไก่ 8 ชั้น ถ้าใช้คนไปดูก็ต้องก้มขึ้นก้มลง หุ่นยนต์ไปดูนี่ดูสองข้างเลย มีกล้องอยู่ 4 ตัว บันทึกไว้หมด ว่าน้ำขาดไหม อาหารพอไหม และสำคัญที่สุด ไก่มีตายไหม ถ้าเอาคนไปดูมันดูไม่ออก อันนี้ใช้แสง เดินไปเดินมามีช่องว่าง ยังไงก็ต้องเจอ ถ้าอุณหภูมิมันเย็น (หุ่นยนต์) ก็มาร์คไว้แล้ว ชั้นไหน แถวไหน คนเลี้ยงดูง่าย ดูที่คอมพิวเตอร์ แล้วก็ไปหยิบไก่ตายออก โดยไม่ต้องมีคนสั่ง แค่นี้หุ่นยนต์ก็ทำหน้าที่นี้ นอกนั้นก็อัตโนมัติ ทั้งปอกเปลือกไข่ ทั้งแยกไข่แดงไข่ขาว ทุกอย่างไม่ใช้คน" --- นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้สัมภาษณ์ในรายการ Timeline สุทธิชัย หยุ่น วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม 2560*

เมื่อเร็วๆ นี้มีผลการศึกษาระบุว่า ในยุคต่อไปหุ่นยนต์ 1 ตัว จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ 6 คน** โดยกลุ่มคนที่จะถูกแรงกดดันจากการเข้ามาแทนที่ของหุ่นยนต์ (Robot) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ได้มีเพียงแต่คนงานโรงงาน หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า คนงานคอปกน้ำเงิน (Blue Collar Workers) เท่านั้น แต่ลามไปถึงมนุษย์เงินเดือน คนงานคอปกขาว (White Collar Workers) ที่ปกตินั่งโต๊ะทำงาน ตั้งแต่พนักงานหน้าเคาท์เตอร์ธนาคาร เรื่อยไปถึงนักบัญชี นักวิเคราะห์การเงิน นักข่าว บรรณาธิการ นักรังสีวิทยา หรือแม้แต่แพทย์

ข้อสงสัยเรื่องพัฒนาการของหุ่นยนต์ การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ว่าจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ไม่เพียงสร้างความหวาดวิตก ให้กับภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคการศึกษา แต่ยังจุดประเด็นที่น่าขบคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของพวกเราในภาพรวมด้วย

คำถามคือ หากมนุษย์ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ประกอบไปด้วย การผลิต การบริโภค การกระจาย และการแลกเปลี่ยน เกิดไม่มีงานทำ ขณะที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งกุมกำลังการผลิต โดยใช้หุ่นยนต์และเอไออำนวยให้เกิดการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค แล้ววงจรเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร?

“เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่สังคมที่ไร้งานให้คนทำหรือเปล่า? และ มนุษย์จะทำมาหากินได้อย่างไรหากไม่มีงานทำ?” เป็นคำถามที่ มาร์ติน ฟอร์ด นักเขียนชื่อดังผู้เขียนหนังสือเรื่อง Rise of the Robots: Technology and the Threat of a Jobless Future และ The Lights in the Tunnel: Automation, Accelerating Technology and the Economy of the Future จุดประเด็นขึ้นบนเวที TED Talks ที่นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนเมษายน 2560

จริงๆ แล้วความหวาดระแวงว่าเครื่องจักรจะแย่งงาน หรือ เข้ามาแทนที่มนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาอย่างน้อย 200 ปีแล้ว โดยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ได้ชัดเจนที่สุดก็คือ Luddite revolts หรือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานทอผ้าในอังกฤษเพื่อทุบทำลายเครื่องจักรโรงงานทอผ้า ในยุคปฏิวัติอุตสหกรรม ช่วงปี 2354-2359 (ค.ศ.1811-1816) โดยในที่สุดกองทัพอังกฤษต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม และในเวลาต่อมาคำว่า Luddite ก็ถูกบรรจุไว้ในพจนานุกรมโดยหมายความถึง ผู้ที่ต่อต้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ต่อมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ในปี 2507 (ค.ศ.1964) ก็ยังมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน เพื่อสะกิดเตือนให้ผู้นำสหรัฐฯ ระแวดระวังต่อภัยคุกคามของการปฏิวัติในภาคการผลิต หรือ Cybernation revolution ที่อาจก่อให้เกิดภาวะความยากจน คนงานไร้ฝีมือ และการว่างงานแพร่กระจายไปทั่ว

คำตอบของความหวาดระแวงดังกล่าวอาจถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่เป็นความจริงด้วยสถานการณ์ด้านแรงงานของสังคมโลกในปัจจุบันที่ ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงอย่างเช่น ญี่ปุ่น หรือ สหรัฐอเมริกา กำลังประสบนั่นคือ ภาวะการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีอัตราว่างงานเพียงร้อยละ 2.8 และสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ทั้งยังมีสภาวะของการขาดแคลนแรงงานมีฝีมืออย่างมาก

เมื่อหันมาดูประเทศไทยอัตราการว่างงานของเราก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากมาตลอดคือ ไม่เกินร้อยละ 1 ขณะเดียวกันในภาคแรงงานก็ต้องนำเข้าแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนแรงงานฝีมือ และบุคลากรเฉพาะทางก็ยังขาดแคลนอย่างมหาศาล ดังนั้นเราจะสามารถสรุปได้ไหมว่า ความวิตกกังวลเรื่องหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานและแทนที่มนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่เราวิตกกันเกินเหตุไปเอง และจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน?

กระนั้นหากเราหันไปพิจาณาตัวเลขของผู้ลงทะเบียนรับบัตรคนจน หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีถึง 11 ล้านคน (ราวร้อยละ 17 ของประชากรประเทศไทย) จะเห็นได้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานนั้นไม่สามารถตอบคำถามที่ว่า หุ่นยนต์กำลังเข้ามาแทนที่แรงงานของมนุษย์และกำลังแย่งงานพวกเราหรือเปล่า?

ในประเด็นนี้มาร์ติน ฟอร์ด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเช่นกันว่า เราไม่สามารถนำประสบการณ์เดิมๆ มาคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้ จากหลายๆ ปัจจัย ด้วยกันคือ เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเดิมหลายเท่าตัว นอกจากนี้เทคโนโลยีและหุ่นยนต์เหล่านี้ยังสามารถคิดและมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Cognitive Capability) โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ “อัลฟาโกะ” ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลสามารถเอาชนะยอดนักหมากล้อมมือหนึ่งของโลกได้อย่างขาดลอย สิ่งเหล่านี้หมายความว่า ไม่เพียงแต่แรงงานที่ใช้กำลังเท่านั้นที่จะถูกหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ แต่รวมถึงงานของมนุษย์เกือบทุกประเภทด้วย

เมื่อประกอบปัจจัยเหล่านี้เข้าด้วยกัน ฟอร์ดให้ความเห็นว่ามีโอกาสที่ในอนาคตอีกไม่นานนี้สังคมโลกอาจเห็นปรากฎการณ์ที่มีคนตกงานจำนวนมาก หรือ ระดับการจ้างงานที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ หรือ หากยังมีงานก็เป็นงานที่ให้ผลตอบแทนในระดับต่ำโดยไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ หรือ กระทั่งปรับลดลงด้วยซ้ำ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย เพราะ “งาน” ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิต ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำให้เกิดกำลังซื้อ และการกระจายรายได้
แผนภาพการไหลเวียนของรายได้ (Circular flow of income) จาก wikipedia.org
สิ่งที่มีการเสนอกันต่อไปก็คือ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำนโยบายที่เรียกว่า รายได้เพื่อค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน หรือ Universal Basic Income (UBI) ซึ่งเรื่องนี้มิใช่เป็นเพียง นโยบายประชานิยมเพื่อหาเสียงด้วยการแจกเงินแบบดาดๆ ที่เราเห็นรัฐบาลในประเทศต่างๆ ทำกัน แต่ได้รับการสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์ และนักธุรกิจระดับโลกอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน พอล แซมวลสัน อีลอน มัสก์ รวมไปถึงมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เจ้าพ่อเฟซบุ๊กที่ให้ความเห็นว่า “เงินค่าครองชีพขั้นพื้นฐานนั้นจะช่วยให้ทุกคนมีฐานรองรับสำหรับการทดลองไอเดียใหม่ๆ”

สำหรับ ประเทศที่นำนโยบายนี้ไปทดลองใช้เรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็คือ ประเทศฟินแลนด์ โดยรัฐบาลฟินแลนด์ทดลองสุ่มแจกเงิน 560 ยูโรต่อเดือน หรือราว 21,700 บาท ให้กับประชาชนจำนวน 2,000 คน เพื่อดูว่าจะเกิดผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 สกายทีวีของอังกฤษได้ไปถามความเห็นของแรงงานที่ได้รับเงินค่าครองชีพขั้นพื้นฐานในฟินแลนด์ดูว่าพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิต และแสวงหาแนวทางในการดำรงชีวิตแบบใหม่ๆ ได้หรือไม่?

“ผมเหมือนหลุดพ้นออกจากการเป็นทาสของระบบ และผมเป็นอิสรชนอีกครั้ง ... ทุกคนควรจะได้รับรายได้เพื่อการครองชีพขั้นพื้นฐาน และผมเชื่อว่ามันจะทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจดีขึ้น นโยบายนี้น่าจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น และผมเชื่อว่าอีก 100 ปีข้างหน้า เรื่องนี้จะเป็นเรื่องปกติมากๆ เหมือนที่เรามีถนนและไฟฟ้าใช้” Juha Jarvinen ชาวฟินแลนด์ 1 ใน 2000 คนที่อยู่ในโครงการทดลองเรื่อง Universal Basic Income เผย ขณะที่สกายนิวส์ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้อาจเป็นคำตอบของการอุบัติขึ้นของเศรษฐกิจในยุคหุ่นยนต์ และเอไอก็เป็นได้***

ความคิดและการทดลองเกี่ยวกับ รายได้เพื่อค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน หรือ Universal Basic Income นั้นเป็นประเด็นเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในระดับโลก และคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการที่สังคมและประเทศต่างๆ ต้องช่วยกันค้นหาคำตอบที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่พวกเราทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์นั้นไม่เพียงจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในระดับจุลภาคเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนของวิถีชีวิต และกลไกของเศรษฐกิจของพวกเราในระดับมหภาคอย่างใหญ่หลวงด้วยเช่นกัน



หมายเหตุ :
*บทสัมภาษณ์สุดเอ็กคลูซีฟ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ Ep.1; https://www.youtube.com/embed/BW25NJujBJ0
**The World’s Workers Have Bigger Problems Than a Robot Apocalypse; https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-06-22/the-world-s-workers-have-bigger-problems-than-a-robot-apocalypse
***Is a universal basic income the answer to robots taking our jobs? ; https://www.facebook.com/skynews/videos/1982774031737184/?hc_ref=ARS5PV7FCYOc-LPvLiImDaVr6gNGIdaBH4dT577t7sshNvuxmfFEUw6jucbXWUoOadU&pnref=story

กำลังโหลดความคิดเห็น