xs
xsm
sm
md
lg

เราจะตกงานเพราะ AI จริงๆ หรือ? (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

Otonaroid หุ่นยนต์เสมือนมนุษย์ที่ มิไรคัง หรือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แนวใหม่และนวัตกรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น (ภาพประกอบบทความ)
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


เมื่อไม่นานมานี้ บิล เกตส์ เจ้าพ่อ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และหนึ่งในมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของโลกซึ่งผันตัวออกมาทำงานการกุศลในนามมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ได้ให้ความเห็นผ่านทวิตเตอร์ @BillGates ระบุว่า หากเขายังเป็นวัยรุ่นวัยเรียนอยู่ ณ เวลานี้มีศาสตร์อยู่ 3 สาขาที่เขาจะเลือกเรียน คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI), พลังงาน (Energy) และ ชีววิทยาศาสตร์ (Biosciences)




เป็นที่ทราบกันดีว่าระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บิล เกตส์ ขอลาออกกลางคัน เพื่อเดินตามความฝันในการเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีและบริษัทซอฟท์แวร์ที่เขาสร้างขึ้นในเวลาต่อมา จนเมื่อเวลาผ่านไป 40 กว่าปี เกตส์ได้กลายเป็นหนึ่งในนักบุกเบิกแห่งโลกคอมพิวเตอร์ โลกดิจิทัล และสังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ ด้วยความที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกมายาวนานทำให้ความคิดและความเห็นของเขาทรงพลังและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกมากกว่าผู้นำของหลายๆ ประเทศด้วยซ้ำ

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีพลิกโลก (Disruptive technologies) และทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่เราจะคาดคิด ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) กลายเป็นหัวข้อหนึ่งของการถกเถียงและสนทนาของคนทั่วโลกว่า “เป็นคุณ” หรือ “เป็นโทษ” กับมนุษย์กันแน่

ดังที่ผมเคยเขียนถึงเรื่อง พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยแปลภาษาอย่าง Google Translate และ อุปกรณ์อย่าง Pixel Buds ที่ทำงานร่วมกับกูเกิลแปลภาษาแบบ Real-Time ถูกคาดหมายว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในปัจจุบัน และอนาคต จนในที่สุด การเรียนภาษาต่างประเทศ ภาษาที่สอง ภาษาที่สาม ของลูกหลานเราอาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แม้ว่า ณ เวลานี้เหล่านักแปลภาษา และล่ามต่างให้ความเห็นว่า ถึงปัญญาประดิษฐ์อาจจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ แต่วิธีการแปลของปัญญาประดิษฐ์ก็ยังคงเป็นวิธีการแปลแบบค้นหาความน่าจะเป็นที่ดีที่สุด (Searching and Optimizing) แล้วนำมาแสดงผล มิใช่การแปลที่เกิดจากความรู้ และความเข้าใจในบริบทของคำพูด ประโยค หรือความหมายที่เกิดขึ้น ดังนั้นการแปลภาษาโดยมนุษย์ที่ต้องการความเชี่ยวชาญจึงยังคงมีความจำเป็นอยู่

“ในปัจจุบันยังไม่มี ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ที่ไหนที่สามารถ ‘อ่าน (ด้วยความเข้าใจ)’ ได้ ไม่ว่าจะเป็น วัตสัน (เอไอที่พัฒนาโดยไอบีเอ็ม) สิริ (แอปเปิล) หรือ โตได โรบ็อต (Todai Robot) แต่ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการค้นหา และประเมินความน่าจะเป็นที่ดีที่สุด” ศาสตราจารย์โนริโกะ อาไร ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ ผู้อำนวยการและนักวิจัยโครงการความท้าทายจากปัญญาประดิษฐ์ โครงการโตได โรบ็อต แห่ง National Institute of Informatics ประเทศญี่ปุ่น กล่าวบนเวที TED Talks ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา
โตได โรบ็อต (Todai Robot)
ศ.อาไร เป็นหนึ่งในทีมผู้สร้างหุ่นยนต์สอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียว หรือ Todai Robot เพื่อทดสอบว่า ปัญญาประดิษฐ์ สามารถแข่งทำข้อสอบกับมนุษย์ได้หรือไม่ โดยสาเหตุที่ทีมงานเลือกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายของทดสอบก็เนื่องมาจาก เห็นว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นเป็นมาตรวัดคุณภาพการศึกษาที่ได้รับการยอมรับของมนุษย์ และเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการศึกษาของมนุษย์คนหนึ่ง ๆ

“เราต้องศึกษาประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์เทียบกับมนุษย์ โดยเฉพาะในด้านทักษะและความเชี่ยวชาญที่เชื่อกันว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่สามารถมีได้ ผ่านระบบการศึกษาของมนุษย์” หัวหน้าทีมโตได โรบ็อต อธิบาย และเปิดเผยด้วยว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือปี 2558 และ 2559 หุ่นยนต์โตไดสามารถทำคะแนนได้ติดลำดับ 20 เปอร์เซ็นต์แรกของนักศึกษาญี่ปุ่นที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่า หากมีสถานะเท่าเทียมกับมนุษย์ ‘หุ่นยนต์โตได’ ก็มีความสามารถที่จะผ่านเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นได้มากกว่า 7 ใน 10 แห่งแล้ว ทั้งนี้หัวข้อการสอบข้อเขียนนั้นหุ่นยนต์โตไดสามารถเขียนเรียงความขนาด 600 คำ เรื่อง “การค้าทางทะเลในคริสต์ศตวรรษที่ 17” ได้อย่างไม่มีปัญหา



เมื่อได้ฟังประโยคที่ ศ.อาไร พูดว่า “ยังไม่มีปัญญาประดิษฐ์ที่ไหนที่สามารถ ‘อ่าน’ ได้ ... แต่ ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการค้นหา และประเมินความน่าจะเป็นที่ดีที่สุด” ผมนึกถึงอะไรรู้ไหมครับ? ผมนึกถึงเวลา ตอนเด็กๆ ที่ผมทำข้อสอบช้อยส์ หรือ ข้อสอบแบบปรนัย ระหว่างที่เรียนอยู่ในระดับชั้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประถม มัธยม สอบเอ็นทรานซ์ หรือ เรียนมหาวิทยาลัยก็แล้วแต่

ผมจำได้ดีถึง การเรียนเพื่อสอบ การท่องจำก่อนสอบเพื่อไม่ให้ลืม เทคนิคการทำข้อสอบให้ถูกต้องและรวดเร็ว การประเมินความเป็นไปได้ของคำตอบ การตัดช้อยส์เพื่อเลือกข้อที่มีโอกาสที่จะถูกต้องมากที่สุด ฯลฯ ในอนาคตวิธีการเรียน เพื่อให้ได้มาซึ่งทักษะเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย และไม่จำเป็นต่อการแสวงหาความรู้อีกต่อไป เพราะทักษะเหล่านี้หุ่นยนต์จะทำได้ดีกว่ามนุษย์ และมนุษย์ก็จำต้องพึ่งพามันมากขึ้นเรื่อยๆ

"มนุษย์เราจะอยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เราจะต้องคิดให้รอบคอบ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ และในเวลาเดียวกันเราต้องรีบคิดและหารือกันโดยเร็ว เพราะว่าเวลากำลังจะหมดลง" ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอไอระบุ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในสายตาของ ศ.โนริโกะ อาไร คือ “ระบบการศึกษา” ที่มนุษย์เราต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนก่อนจะถูกเทคโนโลยีเอไอเข้ามา disrupt ระบบการศึกษาซึ่งควรจะเป็นระบบที่ช่วยดึงข้อเด่นของมนุษย์ที่มีเหนือปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาให้ได้ และสิ่งที่มนุษย์มีแต่ปัญญาประดิษฐ์ไม่มีนั่นก็คือ ระบบการเรียนรู้ที่ช่วยสร้าง "ความคิด-ความเข้าใจ" ในองค์ความรู้ มิใช่ ระบบการศึกษาเพื่อ "ท่องจำ" หรือ “ทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ”
กำลังโหลดความคิดเห็น