วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
เดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาระหว่างงาน Google I/O ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอของกูเกิล กล่าวประโยคสำคัญที่บ่งบอกถึงแนวโน้มของโลกเทคโนโลยีในอีกหลายสิบปีข้างหน้าระบุว่า
“เมื่อผมมองไปข้างหน้า มองไปถึงทิศทางว่าการประมวลผล (Computing) กำลังมุ่งหน้าไปทางไหน สำหรับผมแล้วมันชัดเจนว่าเรากำลังเปลี่ยนผ่านจากโลกที่โทรศัพท์มือถือมาเป็นอันดับแรก (Mobile-first world) ไปสู่ยุคของปัญญาประดิษฐ์มาเป็นอันดับแรก (AI-first world)”
หลายคนคงสงสัยเหมือนผมว่า โลกเรามันพัฒนาไปรวดเร็วขนาดนั้นเลยหรือ?
สื่อมวลชนไทยทุกวันนี้ อย่าว่าแต่ Mobile-first เลย แค่เปลี่ยนจาก “สื่อกระดาษ” มาเป็น “สื่อกระจก”จากหนังสือพิมพ์มาเป็นจอคอมพิวเตอร์-จอมือถือ ยังทำไม่ค่อยเป็นกัน ไม่นับรวมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ล้วนแล้วกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน
ส่วนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีก็คงงง เพราะยุคสมัยของสมาร์ทโฟนเพิ่งถือกำเนิดเกิดขึ้นอย่างจริงจังเมื่อสิบปีที่แล้วนี่เอง ในวันที่สตีฟ จ็อบส์ ประกาศเปิดตัว ไอโฟน (iPhone) รุ่นแรก เมื่อปี 2550 (ค.ศ.2007) มาถึงวันนี้กลายเป็นว่าบิ๊กเนมในแวดวงเทคโนโลยีกำลังบอกว่า “สมาร์ทโฟน” กำลังจะกลายเป็นอดีต เพราะอนาคต “ปัญญาประดิษฐ์” กำลังจะมาแทนที่ !?!
ย้อนกลับไปเมื่อ ปี 2544 (ค.ศ.2001) ในวันที่ภาพยนตร์ไซไฟเรื่อง A.I. Artificial Intelligence ของสตีเฟน สปิลเบิร์ก ออกฉาย ผมเชื่อว่าเกือบทุกคนต่างคิดว่าเรื่องของปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นเรื่องของอนาคตอันไกลโพ้น อีกหลายสิบปีข้างหน้า หรืออาจถึงร้อยปี แต่กลายเป็นว่าอีกเพียง 16 ปีถัดมา พวกเรากลับต้องใช้ชีวิต และพึ่งพาหุ่นยนต์ หรือ ปัญญาประดิษฐ์อย่างที่หลายคนยังแทบไม่รู้ตัว
เจย์ เจนกินส์ (Jay Jenkins) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคลาวด์ กล่าวบทเวที ในงาน Google News Lab APAC Summit 2017 ที่สิงคโปร์ว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในปี 2540 ตอนที่คอมพิวเตอร์ “ดีพบลู (Deep Blue)” ของไอบีเอ็มเล่นหมากรุกเอาชนะ แกรี คาสปารอฟ (Gary Kasparov) ยอดนักหมากรุกในตำนานชาวรัสเซีย-โครเอเชียได้ หลังจากนั้นก็ไม่ใครคาดคิดเช่นกันว่า คอมพิวเตอร์จะสามารถเอาชนะมนุษย์ได้ใน เกมหมากล้อม (เหวยฉี ; 围棋) หรือ โกะ เกมกระดานโบราณของจีน ที่มีความซับซ้อนกว่าหมากรุกได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยในเวลานั้นมีการคาดหมายว่า ในเกมหมากล้อม อย่างเร็วคอมพิวเตอร์คงเอาชนะมนุษย์ได้ในอีก 30 ปี หรือปี 2570 (ค.ศ.2027)
แต่ชัยชนะของ อัลฟาโกะ (AlphaGo) ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิล เหนือ เคอ เจี๋ย (柯洁) ยอดนักหมากล้อมมือหนึ่งของโลกชาวจีนวัย 19 ปี แบบ 3 กระดานรวดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning หรือ ML) และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นรวดเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้มากนัก
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ไม่เพียงแต่ “รวดเร็ว” กว่าที่มนุษย์อย่างเราๆ คิด ทั้งยังอยู่ “ใกล้ตัว-ติดตัว” กว่าที่เรารู้สึกเสียด้วยซ้ำ
เจนกินส์ เปิดกราฟให้ดูว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Machine Learning เติบโตอย่างมหาศาล และถูกใช้ในหลากหลายบริการของกูเกิล ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยใช้ ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์, แอปพลิเคชัน, จีเมล์, กูเกิล แมป, กูเกิล โฟโต้, กูเกิล เสิร์ช, ยูทูป รวมไปถึงบริการที่น่าทึ่งอย่าง กูเกิล แปลภาษา หรือ Google Translate
ตัวอย่างที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือ การแปลภาษา หรือบริการ Google Translate ที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบความสมบูรณ์ของการแปลระหว่าง การแปลภาษาตามรูปประโยค (Phase-Based Machine Translation; PBMT) การแปลภาษาโดยใช้ความช่วยเหลือของโครงข่ายประสาทเทียมซึ่งพัฒนาโดยกูเกิล (Google Neural Machine Translation; GNMT) และ การแปลโดยมนุษย์
จากภาพที่ 3 จะเห็นได้ชัดว่า การแปลภาษาอังกฤษ > สเปนนั้น การแปลภาษาโดย GNMT สามารถทำได้เหนือกว่า PBMT มาก และใกล้เคียงกับการแปลภาษาโดยมนุษย์เข้าไปทุกที เช่นเดียวกับ การแปลภาษา สเปน > อังกฤษ, อังกฤษ > ฝรั่งเศส, ฝรั่งเศส > อังกฤษ จะมีก็เพียงภาษา อังกฤษ > จีน และ จีน > อังกฤษ เท่านั้นที่หุ่นยนต์ยังห่างชั้นกับมนุษย์อยู่สักหน่อย แต่เมื่อเปรียบเทียบการแปลด้วยรูปประโยค กับ การแปลโดยใช้เอไอแล้วก็ถือว่ามีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด ดังประโยคที่ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างคือ
ต้นฉบับภาษาจีน : 请问,洗手间在哪里? (ขอโทษ, ห้องน้ำอยู่ที่ไหน?)
การแปลโดย PBMT : Where will the restroom? (ห้องน้ำที่ไหน?)
การแปลโดย GNMT : Excuse me, where is the toilet? (ขอโทษ ห้องน้ำอยู่ที่ไหน?)
เมื่อไปค้นข้อมูลดูผมพบว่าในปัจจุบัน ณ เดือนกรกฎาคม 2560 การแปลภาษาโดยใช้ความช่วยเหลือของโครงข่ายประสาทเทียมซึ่งพัฒนาโดยกูเกิล (Google Neural Machine Translation; GNMT) นั้นรองรับการแปลกว่า 30 ภาษา ซึ่งรวมถึง ภาษาไทย > อังกฤษ และ อังกฤษ > ไทย ด้วย
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ กรณีที่ “ปัญญาประดิษฐ์” ไม่เพียงช่วยมนุษย์แปลภาษามนุษย์เท่านั้น แต่ยังสร้างภาษาใหม่ของตัวเองด้วย โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา นักวิจัยของเฟซบุ๊กได้ค้นพบว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังทำงานอยู่นั้นมีการสร้างภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อพูดคุยกันระหว่างระบบปัญญาประดิษฐ์ด้วยกันเอง โดยภาษานั้นมนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ ทั้งยังมีประสิทธิภาพในการสื่อสารที่ดีกว่าภาษาที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสั่งการให้ปัญญาประดิษฐ์ทำงานเสียอีก
จากการสอบถามบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์จำนวน 352 คน เพื่อพยากรณ์เกี่ยวกับ แนวโน้มความเก่งกาจของปัญญาประดิษฐ์ที่จะสามารถทำงานแทนมนุษย์โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด คำตอบที่ได้ก็คือ มีการคาดการณ์ว่า ในด้าน การแปลภาษา ปัญญาประดิษฐ์จะเก่งกาจเหนือมนุษย์ภายใน 7 ปี หรือภายในปี 2567 จะสามารถ เขียนบทความ ได้ดีกว่าเด็กในระดับมัธยมศึกษาภายในอีก 9 ปีข้างหน้า (ปี 2569) จะ ขับรถบรรทุก ได้ดีกว่ามนุษย์ภายใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 2570)
สำหรับคนในแวดวงสื่อสารมวลชนทำใจได้เลยว่า หลายๆ งานกำลังจะหายไปในอัตราที่รวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ จาก การนำหุ่นยนต์ Machine Learning รวมถึง AIเข้ามาใช้ในกองบรรณาธิการข่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่งานเช่นการถ่ายภาพ การเขียนบรรยายภาพ ไปจนถึงการเขียนข่าว และรายงานเป็นชิ้นๆ อย่างเช่น โครงการ RADAR (Reporter And Data And Robots) ที่สามารถจะนำข้อมูลดิบมาผลิตเป็นชิ้นข่าวได้โดยไม่ต้องไม่ต้องพึ่งพามนุษย์อีกต่อไป
อ้างอิง :
[1] Facebook AI Creates Its Own Language In Creepy Preview Of Our Potential Future; Forbes.com, July 31, 2017
[2] “Deal or no deal?” เมื่อบ็อทสามารถเจรจาต่อรองได้; http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000077976
[3] โปรเจกต์ “หุ่นยนต์นักข่าว” เกิดแล้วในชื่อ RADAR ตั้งเป้าผลิตข่าวเดือนละ 30,000 ชิ้น; http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000069963