xs
xsm
sm
md
lg

โลกอนาคตที่ไม่มี Smartphone

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)


วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ปี 2560 นี้ถือเป็นวาระครบรอบหนึ่งทศวรรษพอดี หลังสตีฟ จ็อบส์ นายใหญ่ของแอปเปิลออกมาแนะนำสิ่งที่เรียกว่า ไอโฟน (iPhone) ให้โลกได้รู้จัก และแม้จะมีสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น เปิดตัวมาก่อนหน้าแล้ว แต่ “ไอโฟน” ก็ถือเป็นสมาร์ทโฟนตัวแรกที่เข้ามาเปิดศักราช และพลิกโฉมโลกไอทีให้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

10 ปีที่ผ่านมา แอปเปิลขายไอโฟนไปแล้วมากกว่า หนึ่งพันล้านเครื่อง โดยจากความนิยมของผู้บริโภคต่อไอโฟนนั้นทำให้แอปเปิลกลายเป็นบริษัทที่ร่ำรวย และมีมูลค่าการตลาดมากที่สุดเหนือบริษัทใดๆ ในโลก โดยที่มาของความร่ำรวยของแอปเปิลนั้น ต้องยกความดีความชอบให้กับการพัฒนาไอโฟนอย่างต่อเนื่องจนสามารถทำรายได้ให้บริษัทถึงร้อยละ 60 (ตัวเลข ณ สิ้นปี 2559)

ด้วยเหตุนี้นี่เองทำให้แอปเปิลจึงต้องจัดอีเวนต์ใหญ่ เพื่อเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่เป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ ในวาระครบ หนึ่งทศวรรษมีสิ่งที่พิเศษกว่าเดิมหน่อยคือ แอปเปิลเปิดตัวสมาร์ทโฟน Flagship หรือ เรือธงหลายรุ่น ทั้ง ไอโฟน 8 ไอโฟน 8 Plus และ ไอโฟน เท็น (iPhone X)

ขณะเดียวกัน คู่แข่งสำคัญของแอปเปิลอย่างกูเกิล ผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนที่มียอดผู้ใช้มากที่สุดในโลกถึง 2 พันล้านคนต่อเดือน คือ แอนดรอยด์ (Android) ก็หันมาเอาจริงเอาจัง กับการพัฒนาฮาร์ดแวร์ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบปฏิบัติการและซอฟท์แวร์

ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กูเกิลจัดงานเปิดตัว สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่สองรุ่น ประกอบไปด้วย Pixel 2 และ Pixel 2 XL ซึ่งชาวแอนดรอยด์ต่างฮือฮา แต่สาวกไอโฟน และผู้ใช้สมาร์ทโฟยี่ห้ออื่นอย่าง ซัมซุง หัวเว่ย หรือยี่ห้ออื่นๆ กลับไม่รู้สึกตื่นเต้นมากนัก เพราะดูเหมือนเป็นสมาร์ทโฟนรูปลักษณ์ปกติทั่วไปที่มีกล้องหลังเพื่อถ่ายรูปเพียงกล้องเดียว ไม่มีปากกา Stylus ยังใช้ระบบสแกนลายนิ้วมือ ไม่ใช่ระบบสแกนม่านตา (Iris Scanner) หรือ สแกนใบหน้า (Face ID) แบบยี่ห้ออื่นเขา

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของผม ไฮไลต์ในการเปิดตัวสินค้าใหม่ของกูเกิลที่สร้างความฮือฮาให้กับชาวโลกมากที่สุดกลับไม่ใช่สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ แต่เป็น อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) ทั้งหลาย ประกอบไปด้วย กูเกิล พิกเซล บัดส์ (Pixel Buds) หูฟังอัจฉริยะที่สามารถช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถแปลภาษาได้ทันที มากถึง 40 ภาษา, กูเกิล คลิปส์ (Clips) กล้องที่สามารถเรียนรู้ภาพถ่าย และการถ่ายภาพที่เจ้าของชอบได้, กูเกิล โฮม มินิ (Home Mini) และกูเกิล โฮม แม็กซ์ (Home Max) ลำโพงอัจฉริยะที่สามารถปรับเสียงให้เข้ากับลักษณะของห้องได้โดยอัตโนมัติ ทั้งยังเชื่อมโยงเข้ากับระบบอัจฉริยะต่างๆ ในบ้านได้อย่างน่าทึ่ง

จากการแสดงประสิทธิภาพการทำงานสดของ กูเกิล พิกเซล บัดส์ ให้ชมบนเวทีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผู้บริหารของกูเกิลโชว์การแปลสดภาษาอังกฤษ เป็น ภาษาสวีเดน แบบแปลไป-แปลกลับได้ ทันที (Real-time) หัวใจของเจ้าหูฟังอัจฉริยะนี้ คือความสามารถในการเชื่อมต่อกับมันสมองของบริการต่างๆ ของกูเกิล และระบบกูเกิล แปลภาษา (Google Translate) ซึ่งผมเคยเขียนถึงในบทความเรื่อง “เมื่อยุคของ AI มาถึงเร็วกว่าที่เราคิด” ไว้ว่า กูเกิล แปลภาษานั้นมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการนำโครงข่ายประสาทเทียมซึ่งพัฒนาโดยกูเกิล (Google Neural Machine Translation; GNMT) เข้ามาผสมผสาน และผมเชื่อแน่ว่า ใน 40 ภาษาที่เจ้าพิกเซล บัดส์ รองรับการแปลนั้นน่าจะรวมถึงภาษาไทยด้วย



ไม่น่าแปลกใจเลยว่าเจ้าเทคโนโลยี แปลภาษาโดยปัญญาประดิษฐ์นั้นคือ ยุคเริ่มต้นของ “วุ้นแปลภาษา” ของโดราเอมอน ตัวการ์ตูนจากศตวรรษที่ 22 ที่สร้างสรรค์โดยจินตนาการของฟุจิโกะ ฟุจิโอะ นักเขียนมังงะชาวญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ

แม้ในปัจจุบันเจ้าหูฟังพิกเซล บัดส์ ที่ทำงานร่วมกับ กูเกิล แปลภาษา จะยังไม่สามารถมาทดแทนล่าม หรือ นักแปลมืออาชีพได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ใครเล่าจะกล้าการันตีว่าในอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้จะยังคงด้อยกว่าความสามารถของมนุษย์?

ไม่เพียงแต่ยักษ์ใหญ่ในแวดวงไอทีอย่างกูเกิลเท่านั้นที่ “เอาจริงเอาจัง” กับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ที่เชื่อกันว่าจะมาแทนสมาร์ทโฟน เพราะนักวิเคราะห์ และผู้คร่ำหวอดในวงการไอทีต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สนามรบต่อไปของวงการไอทีคือ อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา

แมตต์ ไวน์เบอร์เกอร์ นักเขียนของ Business Insider ระบุเลยว่า สมาร์ทโฟนนั้นกำลังจะตาย โดยตอนนี้ทั้งอเมซอน กูเกิล ไมโครซอฟท์ เฟซบุ๊ก รวมถึงแอปเปิลเองต่างแข่งขันกันเพื่อจัดการสมาร์ทโฟนให้หายไป

“เรากำลังอยู่ในยุคเริ่มต้นสุดของการสู้รบในยุคต่อไปของคอมพิวเตอร์ (Battle for the next phase of computing) เพราะขณะที่แอปเปิล และกูเกิลครองตลาดส่วนใหญ่ของสมาร์ทโฟน ณ เวลานี้ แต่เทคโนโลยีอย่าง Augmented Reality (หรือที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า เทคโนโลยีความเป็นจริงแต่งเติม) นั้นยังไม่มีใครได้ชัยชนะอย่างชัดเจน ดังนั้นอเมซอน ไมโครซอฟท์ และเฟซบุ๊ก ที่พลาดที่จะเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟน จึงต้องพยายามอย่างสุดชีวิตเพื่อที่จะเร่งให้ยุคของสมาร์ทโฟนมาถึงจุดจบอย่างเร็วที่สุด

“ณ เวลานี้เราเห็นการเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ของเทคโนโลยี Augmented Reality และ Virtual Reality (ความเป็นจริงเสมือน) เทคโนโลยีที่นำโลกดิจิทัลมาทาบทับอยู่บนการรับรู้ของมนุษย์ นั่นหมายถึงข้อมูลข่าวสาร ที่เข้าสู่ตา และหูของคุณเมื่อคุณต้องการมัน แล้วคุณจะถือมือถืออยู่ทำไมถ้า เน็ตฟลิกซ์ และวอตซ์แอปฯ นั้นสามารถแสดงข้อมูลได้ต่อหน้าต่อตาคุณ ทันทีเมื่อคุณต้องการ?” ไวน์เบอร์เกอร์ระบุ

ยักษ์ใหญ่ไอทีเหล่านี้รู้ดีถึงความสำคัญของการทำลายตัวเอง หรือ Self-disruption ก่อนที่จะถูกโลกเทคโนโลยีและธุรกิจบีบบังคับให้ Disrupt ว่ามีความสำคัญแค่ไหน

เมื่อถามว่า แล้วอะไรจะมาแทนที่สมาร์ทโฟนล่ะ?

ถ้าลองดูสินค้าใหม่ๆ ที่ บริษัทเหล่านี้ออกมาอย่าง แว่นตา Google Glass นวัตกรรมที่กูเกิลพยายามนำมาใช้เมื่อหลายปีก่อนแต่ประสบความล้มเหลว, นาฬิกา Apple Watch (รุ่นล่าสุด รุ่นที่ 3 ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องพกพาไอโฟนไปด้วยแล้ว), ลำโพงอัจฉริยะ Amazon Echo (ยังไม่ต้องกล่าวถึงลำโพงอัจฉริยะยี่ห้ออื่นที่ยักษ์ไอทีทุกค่ายต่างผลิตออกมาทำตลาด), การเข้าไปซื้อกิจการแว่น VR Oculus ของเฟซบุ๊ก ส่วนทางบริษัทไอทีฝั่งจีนก็ทยอยเปิดตัวเทคโนโลยีที่สามารถสวมใส่ได้ (Wearable Technology) ออกมาเป็นระยะ ฯลฯ



เห็นได้ชัดว่า คำตอบนั้นอยู่รอบตัวเรา แว่นตา นาฬิกา หูฟัง ลำโพง โทรทัศน์ ตู้เย็น ถุงมือ รองเท้า หรือ สิ่งที่แม้แต่เรายังนึกไม่ถึงอย่างอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเราเอง เหมือนเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่เรานึกไม่ถึงว่าทุกวันนี้มนุษย์จะเสพติดกับกับสมาร์ทโฟน หรือ โทรศัพท์มือถือ ได้มากถึงขนาดนี้

ณ วันนี้ และอนาคตข้างหน้า สิ่งที่เราต้องให้ความสนใจมากกว่าลูกเล่นของสมาร์ทโฟน หรือ รูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยวของฮาร์ดแวร์ชิ้นใหม่ๆ ที่ออกวางตลาด ก็คือฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต เพราะ ยุคต่อไปบริษัทไอทีที่ครองโลก จะต้องมีพร้อมทั้ง ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และ สมองกลอัจฉริยะ

เช่นเดียวกันครับ ความก้าวหน้าของการพัฒนาประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่งแล้ว นอกจากจะต้องมีครบทั้ง 3 ปัจจัย คือ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดี ระบบระเบียบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่ดีแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือคุณภาพบุคลากร ทรัพยากรมนุษย์ หรือ คน ที่จะเป็นตัวชี้ขาดถึง “ความสำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว”

กำลังโหลดความคิดเห็น