xs
xsm
sm
md
lg

กลับสู่วาระปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ผ่านไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่และสวยงามสมพระเกียรติ ท่ามกลางความอาลัยของปวงชนชาวไทยทั่วประเทศ

เมื่อเริ่มเช้าวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม ซึ่งถือเป็นวันออกทุกข์อย่างเป็นทางการตามประกาศของสำนักพระราชวังและทางราชการ ก็เหมือนกับว่าชีวิตของพวกเราชาวไทยจะต้องกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมอีกครั้ง ทั้งในเรื่องการแต่งกายหรือการจัดซุ้มถวายความอาลัยของทั้งทางราชการและภาคเอกชน ก็ต้องจัดเก็บออกไป ตามแนวทางปฏิบัติและประเพณีที่ควรจะเป็น

หากในเรื่องความรำลึกอาลัยในพระองค์ท่านนั้น ก็ยังคงมีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในหัวใจของชาวไทยทั้งหลายเป็นส่วนมากอยู่ดี และจะประทับอยู่ในใจตลอดกาลนาน

กระนั้น ชีวิตของประเทศก็ต้องดำเนินต่อไป กลับเข้าสู่ “วาระปกติ” กันตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป

การกลับเข้าสู่ “วาระปกติ” ที่ทำให้สายตาและความสนใจของประชาชนนั้น ก็พุ่งตรงกลับไปที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสิ่งที่รออยู่ก็มีทั้งวาระที่ถือเป็น “ทุกข์ของประชาชน” และ “วาระทางการเมือง”

“วาระทุกข์ของประชาชน” ที่มีทั้งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะถือเป็น “ควันหลง” ของงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเรื่องใหญ่ๆ คือปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งในภาคกลางและภาคอีสาน

ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีที่ผ่านพ้นไปนั้น ก็ปรากฏว่าเกิดความไม่พอใจของประชาชนจากการบริหารจัดการของทางภาครัฐ ที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าร่วมในงานถวายดอกไม้จันทน์ในวันพระราชพิธีที่จัดพร้อมกันทั่วประเทศ

โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นปัญหาหนักๆ จนเป็นเรื่องปูดขึ้นมาอย่างเช่นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีการออกมาเดินขบวนขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัดกันอย่างต่อเนื่องหลายวันเลยทีเดียว

ท่าทีของคนในรัฐบาลที่ออกมาแสดงความ “เห็นใจ” ฝ่ายข้าราชการที่จัดงานนั้น ก็อาจจะเข้าใจได้ เพราะงานที่จัดนี้เป็นงานที่จัดขึ้นเพียงวันเดียว และไม่มีใครมีประสบการณ์มาก่อน รวมทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมพิธีก็มากมายมหาศาล อย่างที่ต่อให้จัดการอย่างดีเพียงไรก็ต้องมีเรื่องขลุกขลักกันบ้าง

แต่ถ้ามามองกันที่ “ใจ” ของฝ่ายประชาชนแล้ว ก็อาจจะต้องเข้าใจด้วยว่า ที่ผู้คนแค้นเคืองกันเป็นอันมากจนถึงขนาดเข้ามาชุมนุมกันนั้น ก็เป็นเพราะความผิดหวังที่เขาจะต้องพลาดโอกาสอันสำคัญที่สุดที่มีเพียงครั้งเดียวในชีวิต

เช่นนี้เขาก็ย่อมจะต้องการเห็น “ความรับผิดชอบ” ของฝ่ายราชการบ้านเมืองที่เป็นผู้จัดการงานดังกล่าวเสียบ้างเป็นธรรมดา

รัฐบาลจึงควรต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ที่จะเป็นการ “ตอบคำถาม” ให้ประชาชนที่ไม่พอใจ ไปพร้อมกับการให้ความยุติธรรมและเห็นอกเห็นใจฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐตามสมควร

สำหรับในเรื่องของน้ำท่วมนั้น ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความตื่นกลัวกันอยู่ในใจ เพราะภาพของมหาอุทกภัยในปี 2554 ยังคงตามมาหลอกหลอน ร่องรอยของระดับน้ำที่ท่วมสูงในสมัยนั้นในบางที่ก็ยังปรากฏอยู่ด้วยซ้ำ

และพูดกันตรง ๆ ก็ด้วยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลนี้กล่าวโทษรัฐบาลที่แล้วเอาไว้มาก เรื่องของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ดังนั้นในรอบนี้ หากจัดการได้ไม่ดี ก็อาจจะ “เข้าตัว” ได้ง่ายๆ

จากข้อมูลที่ปรากฏ ปริมาณน้ำในปีนี้ มีมากไม่แพ้ปี 2554 เลย แต่เพราะการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา ทำให้น้ำยังไม่ท่วมเข้ามาถึงในเขตอุตสาหกรรมและกรุงเทพมหานคร อย่างน้อยในขณะนี้ ทำให้ยังไม่มีความเสียหายรุนแรงเท่าเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปีนั้น

แต่สิ่งที่เราต้องตระหนักกันให้มาก คือ มีประชาชนจำนวนมากในหลายจังหวัด ที่จะต้องเป็นผู้เสียสละยอมรับมวลน้ำนั้นท่วมบ้านเรือนไร่นาของตน แทน กทม. และพื้นที่ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ

ก็จึงต้องเป็นหน้าที่ซึ่งรัฐบาล และประชาชนที่ไม่ได้รับผลกระทบในการดูแลผู้คนเหล่านั้น ในฐานะของ “ผู้เสียสละ”รับทุกข์เหล่านี้ ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการระบายน้ำให้เร็วที่สุด และเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วให้เท่าที่เป็นไปได้

ส่วนเรื่องของคำพูดติดตลกบางอย่างที่อาจจะทำให้เกิดความกระทบกระเทือนใจ เช่น “น้ำต้องท่วมอยู่แล้วเพราะชื่อก็บอกว่าเป็นจังหวัดอ่างทอง” หรือ “อย่ามัวแต่ฟังหมอลำ ฟังข่าวจากภาครัฐบ้าง” อันนี้ในโอกาสต่อไป ก็ควรจะยั้งๆ ไว้หน่อย

ส่วนเรื่องสุดท้าย ที่ถือเป็น “วาระทางการเมือง” ได้แก่เรื่องของการ “ปลดล็อก” การทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ หลังจากที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับแล้วนั้น

เพราะประเด็นสำคัญเนื่องมาจากว่า การที่พรรคการเมืองจะจัดตั้งได้ และมีสิทธิส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ในการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้

ได้แก่ จะต้องมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขหรือจัดทำข้อบังคับของพรรค จัดทำนโยบายและเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคจัดการหาสมาชิกพรรคให้ครบ 500 คน ตามกฎหมาย ให้สมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน จ่ายค่าบำรุงพรรคตามเงื่อนไขใหม่ของกฎหมาย และต้องมีทุนประเดิมตั้งพรรคอีกหนึ่งล้านบาท รวมถึงต้องตั้งสาขาพรรคและมีตัวแทนประจำจังหวัดให้ครบ

กระบวนการเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 90 วันบ้าง 180 วันบ้าง

แต่เมื่อการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองทั้งหลายยังคงถูกล็อกไว้ตามคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 กำหนดห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เท่ากับ “กรอบเวลา” ที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้นก็จะหดแคบเข้ามาเรื่อยๆ นับแต่วันแรกที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยที่ทางฝ่ายพรรคการเมืองก็ยังทำอะไรไม่ได้ ด้วยติดเงื่อนไขของคำสั่ง คสช. ที่ว่านั้น

จะมองในแง่หนึ่งก็ได้ว่า ยิ่งทางฝ่ายผู้มีอำนาจ ยังไม่ประกาศความชัดเจนเรื่องการ “ปลดล็อก” การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของบรรดาพรรคการเมืองเท่าไร ก็เท่ากับเป็นการสร้างความเสียเปรียบและความยุ่งยากให้พรรคการเมืองมากขึ้นไปเท่านั้น

ข้ออ้างของ คสช. ที่ว่ายังไม่สามารถคลายล็อกดังกล่าวได้นั้น เพื่อเป็นการ “รักษาความสงบเรียบร้อย” ของบ้านเมือง ก็ฟังไม่ขึ้นอีกต่อไปแล้ว หลังจากพระราชพิธีสำคัญสิ้นสุดลงอย่างเรียบร้อยด้วยดี

เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเราจะต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ การเลือกตั้ง และกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าในที่สุดแล้วเลือกตั้งมา จะได้ “คนเก่า” หรือใครก็ตามมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ตามเถิด

แต่ถ้าในที่สุดแล้ว การเลือกตั้งก็ต้องมีขึ้นอยู่ดี ตามโรดแมปในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ ก็ไม่มีเหตุผลอันสมควรแต่ประการใด ที่ฝ่าย คสช.จะประวิงเวลาไว้อีกต่อไป ด้วยการถืออำนาจเบ็ดเสร็จอยู่เช่นนี้

ถ้าจริงใจที่จะกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งตามกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญแล้ว

ก็ควรจะปลดล็อกการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้ทุกอย่างเดินไปตามขั้นตอนและกลไกของกฎหมาย เพื่อเล่นการเมืองกันแบบแฟร์ๆ น่าจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น