คำว่า “เขตทหารห้ามเข้า” ในยุคนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะปัจจุบันหน่วยทหารหลายแห่งทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เข้าไปท่องเที่ยวและทำกิจกรรมต่าง ๆ ถึงขนาดตั้งหน่วยงานดูแลด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
กองทัพบก มีสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบก เช่นเดียวกับกองทัพเรือ มีศูนย์อำนวยการการท่องเที่ยวกองทัพเรือ ส่วนกองทัพอากาศ แม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวน้อย แต่ก็มีหน่วยขึ้นตรงกองทัพอากาศในพื้นที่ดูแลอยู่
ในที่นี้จะขอกล่าวถึง โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (รร.จปร.) บนพื้นที่เกือบ 2 หมื่นไร่ ใน จ.นครนายก แหล่งผลิตนายทหารชั้นนำของประเทศ
มีนายกรัฐมนตรีจบจากที่นี่มากถึง 11 คน ตั้งแต่ พระยาพหลพลพยุหเสนา คนที่ 2 ของประเทศ ยันคนที่ 29 “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ประวัติของโรงเรียนแห่งนี้ คงไม่ขออธิบายให้ยืดยาว หาอ่านได้จากเว็บไซต์ของโรงเรียน คร่าวๆ ก็คือ มีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ย้ายจากถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ มาเปิดเรียนที่นี่ตั้งแต่ปี 2529 รวมแล้วก็กว่า 30 ปี
ทราบมานานแล้วว่าที่นี่เปิดให้คนทั่วไปเยี่ยมชมโรงเรียนได้ ถึงขนาดจัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยว รร.จปร. เพื่อดูแล โดยเฉพาะ ที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน เข้ามาจัดสัมมนาเป็นหมู่คณะอย่างไม่ขาดสาย
กิจกรรมในนี้ก็มีแบบโหดๆ เสียวๆ พอเป็นกษัย เช่น โดดหอ 34 ฟุต โรยตัวจากหน้าผาจำลอง เลื่อนข้ามลำน้ำ ยิงปืนมีทั้งปืนจุกน้ำปลา เพนท์บอล บีบีกัน หรือปืนจริงกระสุนจริงก็มี ยิงธนู พายเรือคายัค รถเอทีวี หรือปั่นจักรยานก็มี
แลนด์มาร์คสำคัญที่นี่ คืออาคารสีน้ำตาล ที่ตั้งกองบัญชาการโรงเรียนนายร้อย จปร. มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อยู่เบื้องหน้า ส่วนเบื้องหลังคือภูเขาสูงเป็นตระหง่าน
ด้วยความสนใจอยากจะไปเห็นด้วยตาตัวเอง จึงชักชวนที่บ้านไปเยี่ยมชมที่นั่นสักครั้ง แม้ที่บ้านจะรู้สึกแปลกใจอยู่บ้างว่า อยู่ดี ๆ ทำไมถึงพาไปโรงเรียนนายร้อย จปร. ถามเราว่าที่นั่นมีอะไร
จากกรุงเทพฯ ไปยังโรงเรียนนายร้อย จปร. ไม่ต่างจากการไปเที่ยวนครนายก เพราะจะต้องเสียเวลากับรถติดหน้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต แถมถนนรังสิต-นครนายก รถมากเคลื่อนตัวช้าไปจนถึงคลองสิบเอ็ด
หลังผ่าน อ.องครักษ์แล้ว ไฟแดงแรกแยกบางอ้อ ให้ตรงไปก่อน ก่อนถึงไฟแดงที่สอง มีป้ายบอกทางโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ให้เลี้ยวซ้าย จะเห็นสะพานมัฆวานรังสรรค์จำลอง ผ่านไปอีกไฟแดงหนึ่ง ตรงไป 5 กิโลเมตร
เราจะเห็นซุ้มประตูรั้วแดงกำแพงเหลือง พร้อมป้ายโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าโดดเด่นตรงกลางถนน ก่อนอื่นจะต้องจอดรถ เอาบัตรประชาชนไปแลกกับบัตรอนุญาตวางไว้หน้ารถ แล้วถึงขับรถเข้าไปด้านในได้
เนื่องจากเราเสียเวลากับรถติดมาจากรังสิต กว่าจะถึงที่นี่ก็บ่ายคล้อยไปแล้ว ช่วงเวลาที่เหลืออยู่จึงทำได้เพียงแค่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ โรงเรียนนายร้อย จปร. ภายในอาคาร 100 ปี ถัดจากกองบัญชาการไปทางทิศตะวันตกเพียงเล็กน้อย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เสียค่าเข้าชมคนละ 10 บาท ใช้วิธีหยอดเงินใส่ตู้ไม้เล็ก ๆ ชั้นที่ผ่านประตูจะเป็นชั้น 2 สภาพการจัดแสดงนิทรรศการแม้จะยังดูเก่าแต่ก็ไม่ถึงกับเสื่อมโทรม พอที่จะเข้าชมศึกษาหาความรู้ได้
เริ่มจากหน้าตาของธงชัยเฉลิมพล ธงพระราชทานที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด และเป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้น ๆ ต่อด้วยการจัดแสดงเกียรติประวัติทหารไทย ในราชการสงครามและการป้องกันราชอาณาจักร
ถัดจากนั้นจะจัดแสดงเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มุมจัดแสดงอาวุธโบราณ เครื่องแบบทหารสมัยต่าง ๆ และเกียรติประวัติศิษย์เก่า
หากขึ้นบันไดไปที่ชั้น 3 จะจัดแสดงพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในฉลองพระองค์ชุดจอมพลทหารบก สิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
แต่ถ้าลงไปที่ชั้นใต้ดิน จะจัดนิทรรศการแสดงประวัติโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และชีวิตนักเรียนนายร้อย สภาพนิทรรศการยังดูใหม่และการจัดแสงทันสมัยมาก ทราบภายหลังว่าเพิ่งจัดแสดงมาได้ประมาณ 2 ปีนี่เอง
มีทั้งหมด 5 หัวข้อ ได้แก่ พระบรมราโชวาท รัชกาลที่ 5 : หัวใจสำคัญของ รร.จปร., จากทหารมหาดเล็กไล่กาสู่นักเรียนนายร้อย, นักเรียนนายร้อยรั้วแดงกำแพงเหลือง, จากราชดำเนินสู่เขาชะโงก และ สุภาพบุรุษนายร้อย จปร.
ระหว่างเยี่ยมชมนิทรรศการถึงหัวข้อ “จากราชดำเนินสู่เขาชะโงก” เล่าถึงความเป็นมาในการย้ายโรงเรียนนายร้อย จปร. ซึ่งก็คงมีคำถามว่า ทำไมถึงต้องย้ายโรงเรียนนายร้อย จปร. จากกรุงเทพฯ ไปยังนครนายก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเลือกเขาชะโงกเป็นที่ตั้งโรงเรียนนายร้อย รับสั่งว่ากรุงเทพฯ จะเป็นอันตราย ถ้าผู้ก่อการร้ายควบคุมพื้นที่เขาใหญ่ได้
อันที่จริงเนื้อหาในส่วนนี้ยาวมาก แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปเก็บไว้ สิ่งหนึ่งที่พอจะค้นคว้าเพิ่มเติมได้ก็คือ การปาฐกถาของ พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 ในเว็บไซต์มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ระบุว่า พระองค์ทรงชี้แผนที่ให้เห็นความสำคัญของภูมิประเทศบริเวณเขาใหญ่ โดยชี้ที่บริเวณจังหวัดนครนายกบ่อยมาก ทรงอธิบายว่าบริเวณภูเขาตรงนี้สำคัญมาก หากฝ่ายใดควบคุมไว้ได้ กรุงเทพฯ เมืองใหญ่จะเป็นอันตราย
บริเวณที่ชี้คือบริเวณเขาชะโงก อำเภอบ้านนา ในห้วงปี 2522 ผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งเล่าว่า พระองค์ได้มอบหมายไปสำรวจทำข้อมูลพื้นที่แบบไม่เปิดเผย เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำช่วยชาวบ้านบริเวณเขาชะโงก
ต่อมา พระองค์ทรงมีพระราชดำริแนะนำรัฐบาลสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าไปสร้างที่เขาชะโงก คือที่ตั้งของโรงเรียนนายร้อย จปร. และโรงเรียนเตรียมทหารในปัจจุบัน
ถือเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่นำมาขบคิดกัน เพราะสมัยนั้นเกิดการสู้รบระหว่างฝ่ายความมั่นคง กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้าป่าถือปืนมาหลายปี กระทั่งหลังนโยบาย 66/23 จึงเริ่มยุติการต่อสู้ในที่สุด
พออ่านมาถึงหัวข้อ สุภาพบุรุษนายร้อย จปร. พบว่า ในการเลือกเหล่าและที่ลงเพื่อบรรจุเข้ารับราชการมีขึ้นหลังจากนักเรียนนายร้อยสำเร็จการศึกษาแล้ว ผู้ได้คะแนนสูงมีสิทธิเลือกเหล่าและที่ลงก่อน
อย่างไรก็ดี กล่าวสืบต่อกันในเชิงสนุกสนานว่าเหล่าที่จะลงมี 2 เหล่า คือ 1. เหล่าที่อยู่ใกล้บ้าน (The corps that is closest to home) 2. เหล่าที่อยู่ใกล้หัวใจ (The corps that is closest to the heart)
ด้วยความสงสัย “เหล่าที่อยู่ใกล้หัวใจ” คืออะไร จึงไปแชทถามนายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อย จปร. ในเฟซบุ๊กมีอยู่ 2 คน
คนแรก เป็น เสธ. อยู่ชายแดนใต้ ตอบกลับมาว่า ตอนจบเคยได้ยินแต่ที่อยู่ใกล้บ้าน ใกล้หัวใจไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าให้แปลทั่วไปๆ ก็คงเลือกไปอยู่ในจังหวัดที่แฟนอยู่ พอดีจบมาแล้วกว่า 15 ปี มันอาจมีอะไรแปลกใหม่เพิ่มขึ้นมา
อีกคนหนึ่ง เป็นผู้กองอยู่ในภาคอีสาน ชื่อเล่นเหมือนผู้เขียน ตอบกลับมาว่า “เหล่าที่ชอบนั่นแหละครับ”
เขากล่าวว่า เลือกที่ทำงานใกล้บ้าน หรือ เลือกที่ทำงานตามใจชอบ บางคนอาจจะอยากได้ตำแหน่ง หน้าที่การงานที่ดี ก็เลือกแบบหนึ่ง บางคนชอบงานสบายๆ ก็แบบหนี่ง
บางคนอยากอยู่ใกล้แฟน ใกล้บ้าน ใกล้ครอบครัว ก็อีกแบบหนึ่ง แต่บางคนก็ต้องเลือกเหล่าที่เพื่อนเลือกให้ คือ เพื่อนเหลืออะไรให้ก็เลือกอันนั้น
เมื่อถามว่า ได้ตรงกับเหล่าที่ต้องการไหม นายทหารคนนี้ก็ตอบกลับมาว่า “ได้ครับ ผมชอบเหล่ารบ และก็อยากลงภาคอีสานใกล้บ้าน”
ถือว่าสมหวังกันไปนะ ...
ทั้งหมดนี้เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้รับหลังกลับจากพิพิธภัณฑ์ โรงเรียนนายร้อย จปร. หากใครสนใจผ่านไปแถวนครนายก ก็เลี้ยวรถเข้าไปชมได้ หรือหากจะเที่ยวชมบรรยากาศด้านใน ถือเป็นเขตทหารที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
อย่างน้อยเพียงแค่เข้าใจผู้อื่น ก็ลดอัตตาในตัวเองลงได้.
หมายเหตุ : พิพิธภัณฑ์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ณ อาคาร รร.จปร. 100 ปี เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ สอบถาม โทร. 0-3739-3010 ถึง 4 ต่อ 62745 และ 62390
ติดต่อเที่ยวชม รร.จปร. สอบถามได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โทร. 0-3739-3185 โทรสาร 0-3739-3312 หรือ 02-241-2691 ถึง 4 เว็บไซต์ tourismcrma.com