วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
สัปดาห์นี้ผมเดินทางมาที่สิงคโปร์ เพื่อร่วมงาน Google News Lab APAC Summit 2017
งานนี้เป็นการรวมบุคลากรข่าวจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไล่เรียงตั้งแต่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ปากีสถาน ไปจนถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
News Lab APAC Summit รวมบุคลากรในวงการข่าว ทั้งนักข่าว บรรณาธิการ ผู้บริหารสื่อ สถาบันการศึกษา แล็บสื่อ เอ็นจีโอ ทั่วเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 170 คน 160 องค์กร จาก 15 ประเทศ โดยถือเป็น Event ด้าน {ข่าว+เทคโนโลยี} ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเอเชียแปซิฟิกในรอบปี โดย สื่อไทยที่เข้าร่วม นอกจาก สื่อเครือผู้จัดการ แล้วยังมีสื่อไทยจากทั้งภาครัฐและเอกชนอีกราว 5-6 เจ้า
มาสิงคโปร์ครั้งนี้ผมได้เจอเพื่อนเก่าหลายคน คนแรกคือ แอนดี้ บูดิแมน กรุ๊ปมีเดียซีอีโอของ Kompas Gramedia Group สื่อยักษ์ใหญ่จากอินโดนีเซีย อีกคนนึงคือ โม่ ชุง กรรมการบริหารของ Next Digital บริษัทซึ่งเป็นเจ้าของ Apple Daily (蘋果日報) สื่อทรงอิทธิพลของเกาะฮ่องกง และไต้หวัน
เราสามคนรู้จักและคุยกับถูกคอกันตั้งแต่งาน News Lab APAC ครั้งที่แล้วที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผมถามเขา เขาถามผม แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันทุกเรื่องทั้งในเรื่องความก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ เรื่อยไปจนถึงการเมือง ภาวะเศรษฐกิจ ครอบครัว ฯลฯ
เช้าวานนี้ระหว่างที่นั่งอยู่บนรถบัส เพื่อเดินทางไปประชุม เฟซบุ๊กฟีดของผมก็ขึ้นภาพและข้อความของ “พี่ใหญ่” สุรัตน์ ปรีชาธรรม บรรณาธิการข่าวจีนของผู้จัดการและสถานีโทรทัศน์นิวส์วันประจำกรุงปักกิ่งเล่าเรื่องสัพเพเหระประจำวันว่า “อยู่เมืองจีนไม่ต้องพกเงินสดกันแล้ว จะซื้อฝักบัวข้างถนน ก็ใช้มือถือจ่ายตังค์ได้ (สแกน QR Code)”
เรื่องสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และการจ่ายเงินผ่านมือถือ (Mobile Payment) ในจีน ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนหนึ่งเคยได้ยินและได้เห็นมาสักพักนึงแล้ว โดยไม่เพียงแต่ร้านขายของสด หรือร้านขายของชำข้างถนนในจีนที่เดี๋ยวนี้ไม่เกี่ยงที่จะรับเงินดิจิทัลเท่านั้น เพราะแม้แต่ขอทานตามแหล่งต่างๆ ที่แปะ QR Code ไว้บนขัน เพื่อรับเงินบริจาคเราก็เคยเห็นกันมาแล้ว
ในส่วนของการประชุมสื่อใหญ่ๆ เรื่องนี้ก็พูดถึงกันมาหลายครั้งว่า จีนเป็นผู้นำในเรื่องสังคมไร้เงินสดของโลก โดยแอปพลิเคชันที่ถูกพูดมากที่สุดก็คือ วีแชต (WeChat) ซึ่งแม้แต่บุคลากรในแวดวงไอทีของตะวันตกก็ยอมรับว่า ปัจจุบันวีแชตไม่ได้เป็นเพียงแอปฯ สนทนาธรรมดาๆ อีกแล้ว แต่เป็นไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม (Lifestyle Platform) ที่ผสมผสานเรื่องต่างๆ ได้อย่างลงตัว และที่สำคัญปรับเปลี่ยนวิธีคิดและยกระดับวิธีการใช้ชีวิตของคนจีนไปอีกขั้นหนึ่ง โดยความก้าวล้ำของวีแชตนั้นถือกว่าแซงโลกตะวันตกไป 2-3 ปีก็ว่าได้
หลังจากเห็นฟีดเรื่องความนิยมในการจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนด้วยการสแกน QR Code ในจีน ผมจึงหันไปถาม โม่ ชุง ผู้บริหารของแอปเปิล เดลี จากฮ่องกงถึงสถานการณ์เรื่อง Mobile Payment ในฮ่องกงหรือไต้หวันว่าขยับล้ำหน้าไปแบบจีนใช่หรือไม่?
คำตอบของเขาก็คือ “ไม่”
ตอนนี้แอปพลิเคชันแชตที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดสำหรับชาวฮ่องกงก็คือ วอตส์แอป (Whatsapp) ขณะที่วีแชต ซึ่งโด่งดังเป็นพลุแตกในจีนนั้นปัญญาชนชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งไม่ค่อยชอบใช้ เพราะถูกตีตราว่าเป็นของ “จีนแผ่นดินใหญ่” ขณะที่ในส่วนของชาวไต้หวัน แอปพลิเคชันแชตที่ได้รับความนิยมสูงสุดกลับเป็นแอปฯ ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือ ไลน์ (LINE) ส่วนวีแชตนั้นแม้จะเป็นที่รู้จักและมีติดเครื่อง แต่คนฮ่องกง/ไต้หวัน ก็ไม่ได้ใช้งานบ่อยและหนักหน่วงเหมือนกับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ว่ากันว่าส่วนใหญ่ใช้งานวีแชตเป็นประจำทุกวัน เฉลี่ยยาวนานถึงวันละ 4 ชั่วโมง! [1]
“ผมเข้าใจได้นะเรื่องคนฮ่องกง/ไต้หวัน ไม่อยากใช้วีแชต แต่ผมสงสัยว่าทำไม นวัตกรรมใหม่อย่าง Mobile Payment ที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และแทรกเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของชาวจีน และเกาหลีใต้ถึงไม่ได้รับความนิยมในฮ่องกงและไต้หวัน?” ผมถามหนุ่มฮ่องกงต่อ
“ความเห็นส่วนตัวของผมนะ ฮ่องกงกับไต้หวัน ผ่านช่วงเวลาของการใช้บัตรเครดิตมาค่อนข้างยาวนาน ยาวนานกว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งคนส่วนใหญ่เพิ่งใช้บัตรเครดิตได้ราว 10 ปีเท่านั้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Mobile Payment จึงไม่ได้ยากลำบากอะไรมากนัก ... จะเปรียบไปก็เหมือนกับการเปลี่ยนผ่านของประเทศระบบโทรคมนาคมของบางประเทศที่ก้าวกระโดดจากการไม่มีเครือข่ายโทรศัพท์เลย อยู่ๆ ก็ก้าวกระโดดไปสู่ระบบเครือข่ายไร้สาย 3G หรือ 4G ภายในระยะเวลาชั่วพริบตา” โม่ ชุง ผู้บริหารสื่อใหญ่ของฮ่องกง ที่มีพื้นหลังเคยทำงานให้กับยาฮู ฮ่องกงมาก่อนให้คำตอบอย่างน่าสนใจ
น่าสนใจจนผมต้องกลับมาถามตัวเองว่า แล้วสังคมไทยล่ะจะเป็นแบบไหน จีนแผ่นดินใหญ่ หรือ ฮ่องกง/ไต้หวัน เพราะตอนนี้แค่เดินเข้าเซเว่น อีเลฟเว่นหน้าปากซอยทุกคนก็เห็นป้าย WeChat Pay, Alipay มาจ่อตรงหน้าแล้ว?
อ้างอิง :
[1 ]Tencent Dominates in China. Next Challenge Is Rest of the World; https://www.bloomberg.com/news/features/2017-06-28/tencent-rules-china-the-problem-is-the-rest-of-the-world