xs
xsm
sm
md
lg

โทรทัศน์ของโลกยุคใหม่ ที่กฎหมายอาจจะตามไม่ทัน

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ความพยายามของภาครัฐไทยที่จะควบคุม “สื่อใหม่” สองยักษ์แห่งวงการ คือ YouTube และ Facebook ก็ยังคงเป็นได้แค่ความพยายามอยู่นั่นเอง

หน่วยงานที่ตีความว่าตัวเองมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปควบคุมยักษ์ทั้งสอง ก็คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.นั้น ตอนแรกก็ออกมาขึงขังตึงตัง ตีความกฎหมายว่ายักษ์ใหญ่สองรายถือเป็นผู้ประกอบการโทรทัศน์ในรูปแบบหนึ่ง ที่จะต้องมาทำการลงทะเบียนกับทาง กสทช.ภายในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ หาไม่แล้วจะถือว่าเป็น “ทีวีเถื่อน” ที่ห้ามเอเยนซีโฆษณาคบค้าสมาคมทำธุรกิจด้วย เพราะเท่ากับจะกลายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งมีโทษด้วยสองในสามตามกฎหมาย

แต่ทำไปทำมาก็ “เลื่อน” ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างว่าจะต้องยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการ OTT แล้วเสนอบอร์ด กสทช.และนำเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะเสียก่อน

ท่าที “ชักออก” ของ กสทช.ในครั้งนี้ จึงทำให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ กสทช.จะยื่นมือเข้ามาควบคุม YouTube และ Facebook นี้ ยิ้มเยาะไปตามๆ กัน

เพราะไม่มีใครเชื่ออยู่แล้วว่า “อำนาจรัฐ” ขององค์กรดังกล่าว จะสามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้งสองได้

โดยเฉพาะเมื่อยักษ์ใหญ่ทั้งสองนั้น ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันแล้ว ความพยายามในการควบคุม จึงเหมือนกับจะไปสร้างเขื่อนกั้นมหาสมุทรอย่างนั้นแหละ

แม้ทุกฝ่ายอาจจะยอมรับตรงกันว่า ควรจะมีอะไรสักอย่างมากำกับดูแล “สื่อใหม่” ในรูปแบบดังกล่าว เพราะเราก็ได้เห็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีนี้ในทางที่ผิด เช่นการ Live การฆาตกรรม ฆ่าตัวตาย การกระทำลามกอนาจาร ปลุกระดมหรือชักชวนให้คนไปกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในหลายประเทศก็มีการออกกฎหมายหรือมาตรการมาเพื่อควบคุมอยู่บ้างแล้ว

แต่ “วิธีการ” ในการควบคุมล่ะจะเป็นอย่างไร ที่จะเป็นไปอย่างเท่าทันเทคโนโลยี สามารถปกป้องสังคม แต่ก็ไม่ไปกระทบกระเทือนถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพในการแสดงออก

ทั้งนี้ สถานะของการกระจายภาพและเสียงผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ทั้ง YoutTube และ Facebook live นั้น ถือว่าเป็นเรื่องก้ำกึ่ง ถ้าเอากฎหมายและโลกทัศน์ของโลกที่มีวิทยุเป็นกล่อง โทรทัศน์เป็นตู้ๆ มาจับ

เพราะมันไม่ใช่ “โทรทัศน์” ในแบบที่เราเคยรู้จัก แต่มันก็ไม่ได้แตกต่างออกไปหากมองกันที่สาระสำคัญ นั่นคือมันเปลี่ยนจากการที่แปลงภาพและเสียงให้เป็นคลื่นวิทยุโทรทัศน์ แล้วฝ่ายผู้รับต้องมีตัวรับอยู่ในเครื่องโทรทัศน์ เปลี่ยนมาเป็นการแปลงภาพและเสียงให้เป็นสัญญาณข้อมูลดิจิตอล และกระจายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้รับจะต้องมีตัวรับในรูปแบบ Application บนอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ที่สามารถรัน Application นั้นได้

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ทาง กสทช.ตีความว่า นี่คือการประกอบกิจการโทรทัศน์ในรูปแบบหนึ่ง ตามนิยามของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ว่า “กิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรทัศน์ซึ่งให้บริการการส่งข่าวสารสาธารณะหรือรายการไปยังเครื่องรับที่สามารถรับชมและฟังการให้บริการนั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะส่งโดยผ่านระบบคลื่นความถี่ ระบบสาย ระบบแสง ระบบแม่เหล็กไฟฟ้า หรือระบบอื่น ระบบใดระบบหนึ่ง หรือหลายระบบรวมกัน หรือกิจการอื่นทำนองเดียวกันที่ กสทช.กำหนดให้เป็นกิจการโทรทัศน์”

ถ้าตีความตามกฎหมายก็ถือว่าพอจะเข้าเค้าอยู่

อย่างไรก็ตาม ถ้าตีความว่า YouTube และ Facebook ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาตินั้นเป็น “ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์” ก็จะมีปัญหาทางกฎหมายขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ท่านหนึ่ง ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า การตีความเช่นนี้ จะไปขัดกับกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 7 และ 8 ที่ว่า ผู้ใดประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ต้องได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.แต่มีสิทธิผู้ขอรับใบอนุญาตนั้นจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น

ดังนั้นจึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นมาทันที ถ้าตีความว่า Facebook และ YouTube ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ เป็นการประกอบกิจการโทรทัศน์ก็จะขัดกับกฎหมายดังกล่าว

ดังนั้นการให้ผู้ประกอบการที่ กสทช.ตีความว่าเป็นโทรทัศน์ระบบ Over-the-top (OTT) แล้ว ผู้ประกอบการเหล่านั้น โดยเฉพาะที่เป็นนิติบุคคลจากต่างประเทศ จะอยู่ในสถานะใด การ “ขึ้นทะเบียน” ถือเป็นการขอใบอนุญาตตามกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือไม่ ถ้าไม่ แล้วการ “ขึ้นทะเบียน” ดังกล่าวจะมีสถานะใดทางกฎหมาย

นี่คือปัญหา “กฎหมาย” ที่ร่างขึ้นในปี 2551 ในยุค 2G นั้นคาดเดาไม่ถึงว่าในอนาคตอีกไม่ถึง 10 ปีนั้น รูปแบบของวิทยุและโทรทัศน์จะเปลี่ยนไปแค่ไหนอย่างไร

ผู้ให้บริการโทรทัศน์ ไม่ต้องมีสถานีหรืออุปกรณ์รับส่งอะไรใหญ่โตเหมือนในสมัยที่มีการร่างกฎหมาย เพียงแค่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนราคาหลักพัน ก็เป็น “ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง” ได้แล้ว

ใครๆ ก็เป็นเจ้าของช่องโทรทัศน์ได้ จะรายงานข่าว วิเคราะห์การบ้านการเมือง เล่นดนตรี ร้องเพลง ทำอาหาร ทำรายการท่องเที่ยวก็ได้ ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งตัวกฎหมาย หรือคนร่างกฎหมายก็ไม่ผิด เพราะถ้าเอาตัวเรากลับไปอยู่ในยุค 2550 - 2551 นี่เราก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าโลกจะไปไกลขนาดนี้ เพราะในตอนนั้น โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นของเล่นประเภทแกดเจ็ตราคาแพง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพิ่งจะแพร่หลาย (ซึ่งความเร็วสูงในสมัยนั้นก็ช้ากว่าสมัยนี้ราว 10 เท่า) iPhone เพิ่งออกรุ่นแรกมาซึ่งไม่รองรับ 3G ด้วยซ้ำไป

เพราะกฎหมายที่เหมือนจะขัดกัน คล้ายว่าจะไปไม่ทันเทคโนโลยีเช่นนี้ ความพยายามในการเข้าไปควบคุม Facebook และ YouTube รวมถึงโซเชียล มีเดียหรือระบบดูหนังดูซีรีย์ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น นอกจากจะพบกับความยากในทางพฤตินัยที่บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเขาไม่ยอมมา “คุย” หรือพูดแรงๆ คือ “ไม่ให้ราคา” กับหน่วยงานภาครัฐของไทยแล้ว

ในทางนิตินัย คือกฎหมายเองก็มีปัญหาว่าเอาเข้าจริงๆ อาจจะไปขัดกันเอง จนทำอะไรจริงจังไม่ได้ เว้นแต่จะมีการแก้ไขกฎหมายทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ซึ่งอันนั้นแหละครับ งานยากของจริงๆ

ถ้ายังเป็นเช่นนี้ เราก็คงได้เห็นรายการขู่แล้วขู่อีกจาก “อำนาจรัฐ” ของไทย ที่จะมีต่อโซเชียล มีเดียระดับโลกเช่นนี้ต่อไป

โดยที่ก็คงจะทำอะไรจริงจังไปไม่ได้มากกว่านี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น