xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อใครหรืออะไรก็ได้ อาจกลายเป็นอาวุธจู่โจม

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ข่าวช็อกโลกเกิดขึ้นถึงสองระลอก เริ่มต้นที่กรุงอังการา เมืองหลวงของประเทศตุรกี เมื่อเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำอังการา นาย Andrei Karlov ไปพูดเปิดงานนิทรรศการแสดงภาพถ่ายในแกลอรีแห่งหนึ่ง แล้วถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาคนจำนวนมาก โดยนาย Mevlut Mert Altintas เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลที่อยู่นอกการปฏิบัติหน้าที่

หลังจากก่อเหตุ ผู้ยิงก็ชูนิ้วขึ้นฟ้า ประกาศว่า อย่าลืมอเลปโป อย่าลืมซีเรีย จนกว่าประเทศของเราจะปลอดภัย พวกคุณจะไม่มีวันปลอดภัย มีแต่ความตายเท่านั้นที่จะหยุดผมได้ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดในครั้งนี้จะต้องชดใช้

ก่อนที่จะถูกยิงตายตกไปตามกันโดยตำรวจหน่วยพิเศษ

นี่คือการก่อการร้ายและการสังหารทูตที่อุกอาจที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของตุรกีและรัสเซีย รวมทั้งชะตากรรมของชาวเมืองอเลปโปด้วย เพราะทางการรัสเซียจะต้องปฏิบัติการแก้แค้นแน่นอน

ยังไม่ทันที่ประชาชนพลเมืองโลกจะหายจากการตกตะลึง ก็มีข่าวพร้อมกันว่า ที่เบอร์ลิน เยอรมนี มีผู้ขับรถบรรทุกพุ่งชนตลาดคริสต์มาสซึ่งจัดกันเป็นประเพณีช่วงปีใหม่ของชาวยุโรปจนมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 9 ราย

เหตุการณ์นี้ถูกนำไปเทียบเคียงกับการโจมตีที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่มีผู้ก่อการร้ายขับรถบรรทุกพุ่งเข้าไปในงานจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองวันชาติของฝรั่งเศส ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีคนตายกว่า 70 คน บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

นับว่าเป็นปีที่ชาวโลกต้องเผชิญกับความหวาดกลัวของการก่อการร้ายจริงๆ

และที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือการก่อการร้ายอาจจะเกิดเมื่อไร ที่ไหนก็ได้ จากใครก็ได้ และด้วยวิธีใดก็ได้ จนยากที่จะป้องกัน

นึกถึงครั้งหนึ่งที่ได้ฟังคุณหมอท่านหนึ่งกล่าวว่า โรคมะเร็งนั้นน่ากลัวกว่าโรคติดเชื้อ

การป่วยไข้จากการติดเชื้อ ที่เชื้อโรคนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย และร่างกายก็จะมีวิธีการจัดการออกไปด้วยระบบภูมิคุ้มกัน หรือในกรณีที่ไม่ไหวจริงๆ ก็มียามีอะไรที่มาเพื่อฆ่าหรือสยบเชื้อนั้น

แต่กรณีของมะเร็งแตกต่างออกไป เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุใดที่ทำให้เซลล์ปกติในตัวเราจะแปรเปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็ง และลุกลามออกมาทำร้ายเซลล์อื่นๆ

ยุคก่อนสงครามก่อการร้าย ภัยจากสงครามนั้นเป็นเรื่องตรงไปตรงมา คือเป็นการรบระหว่างชาติหนึ่งกับอีกชาติหนึ่ง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันชัดเจน มีการบุกโจมตี ระบุฝั่งระบุฝ่ายได้ชัด ว่าเป็นการรบกันระหว่างใครกับใคร

หรือแม้แต่ในสงครามเย็นซึ่งเป็นเหมือนสงครามอุดมการณ์ แต่ก็มีรูปแบบการแบ่งแยกฝักฝ่ายและต่อสู้กันที่ชัดเจน

สงครามก่อการร้ายนั้นเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะไม่มีการแบ่งฝักฝ่ายที่ชัดเจน และไม่รู้ว่าเป้าหมายจะตกที่ไหน ผู้ก่อการจะเป็นใคร ไม่สามารถแยกแยะได้

การก่อการร้ายหลายครั้งนั้นผู้ก่อเหตุเป็นคนธรรมดาที่เดินปะปนอยู่กับฝูงชนทั่วไป แล้วอยู่ดีๆ ก็กดระเบิดฆ่าตัวตาย หรืออย่างกรณีของการสังหารทูตรัสเซียที่ตุรกีก็เช่นกัน คนยิงก็ปะปนอยู่กับตำรวจและประชาชนทั่วไป อยู่ดีๆ ก็ควักปืนขึ้นมายิงสดๆ ต่อหน้าสาธารณชนกันเลยทีเดียว

และที่ร้ายยิ่งกว่านั้น คืออาวุธในการก่อการร้ายก็อาจจะพัฒนาไปเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถทำร้ายคนหรือทำให้คนตาย เช่นกรณีการขับรถบรรทุกเข้าใส่ฝูงชนที่นีซและที่เบอร์ลิน

หรือหากจะย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์สำคัญที่เหมือนกับการเปิดฉากยุคก่อการร้ายของโลก คือเหตุการณ์ 911 ก็เป็นลักษณะของการใช้ “เครื่องบินโดยสารพาณิชย์” แปรรูปไปเป็นขีปนาวุธทำลายอาคารสำคัญทั้งของภาคธุรกิจและการทหาร

ยิ่งกว่านั้น “ฝักฝ่าย” ในสงครามก่อการร้ายก็ยังไม่ชัดเจน ไม่ใช่กรณีของ “ชาติศัตรู” หรือ “อุดมการณ์ทางการเมือง” แต่จะบอกว่าเป็นเรื่องศาสนาก็ไม่ใช่อีก เพราะเป็นเรื่องของฝ่ายสุดโต่งไม่กี่กลุ่ม

จึงแทบจะเป็นการยากที่จะป้องกันการก่อการร้ายได้อย่างเด็ดขาด เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คนที่มายืนดูการแข่งขันวิ่งมาราธอน คนที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ ยืนชมภาพเขียน หรือรถบรรทุกคันไหนที่วิ่งมาจะเป็นผู้ก่อการร้าย หรืออาวุธที่ใช้ในการก่อการร้าย

โลกคงตกอยู่ในความหวาดกลัวด้วยความรู้สึกเช่นนี้เอง ว่าต่อไปนี้ ใครก็ได้รอบตัวอาจจะมือสังหาร และอะไรก็ได้ที่อยู่แถวนั้นอาจจะกลายเป็นอาวุธสังหาร

ในส่วนของประเทศไทยเรานั้น อาจจะมีประสบการณ์ในการก่อการร้ายในรูปแบบนี้หลายครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในกรุงเทพฯ เมื่อเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลพระพรหมแยกราชประสงค์ หรือก่อนหน้านั้นก็มีการลอบวางระเบิดในช่วงเคาท์ดาวน์ปีใหม่ 2550 ซึ่งต่อไปนี้ การรับมือกับการก่อการร้ายก็จะยากขึ้นไปอีก ซึ่งทางป้องกันก็เห็นจะต้องมาจากการข่าวที่ดี แต่การออกข่าวไปว่าอาจจะมีการก่อการร้ายให้ประชาชนระมัดระวังนั้นก็เป็นดาบสองคม เพราะจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวหรือการใช้ชีวิตติดต่อทำธุรกิจโดยปกติของประชาชนได้

ส่วนการก่อการร้ายอีกแบบหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ถือว่าเริ่มเป็นภัยคุกคามต่อรัฐแล้ว คือการโจมตีทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือที่เราอาจจะถือว่าเป็นการก่อการร้ายไซเบอร์ ซึ่งหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับ ก็ปรากฏว่ามีการโจมตีทางไซเบอร์มาสู่เว็บไซต์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของรัฐหลายแห่ง ทั้งในรูปของการแฮกเข้ามายึดเว็บไปดื้อๆ หรือการระดมยิงข้อมูลการใช้งานเข้ามาพร้อมกันจนทำให้ระบบเว็บหรือคอมพิวเตอร์เครือข่ายนั้นล่ม

การโจมตีดังกล่าว อ้างว่ามาจากกลุ่ม Anonymous หรือกลุ่มแฮกเกอร์นิรนาม ที่อ้างว่าโจมตีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่กฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนจนเกินสมควร

แต่การโจมตีทางคอมพิวเตอร์ดังกล่าวก็ถือเป็นอาชญากรรมอยู่ดี และถ้าเป็นการกระทำกับเครือข่ายระบบที่มีไว้เพื่อบริการประชาชนแล้ว ก็ไม่รู้ว่านี่คือการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพด้วยวิธีการลิดรอนเสรีภาพของคนอื่นหรือไม่

และที่สำคัญคือเราไม่อาจรู้เลยว่าตัวผู้กระทำนั้นเป็นใคร เพราะอาจจะเป็นใครก็ได้ ที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ระบบพรางอัตลักษณ์ของเครือข่ายอันซับซ้อนในไซเบอร์สเปซ

ผู้ก่อการร้ายดิจิตอลที่เข้าโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยราชการไทย จึงอาจจะเป็นหนุ่มเนิร์ดใส่แว่นที่นั่งพิมพ์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอยู่ในร้านกาแฟหรูหราราคาแพงที่ไหนก็ได้ในเมืองหลวง.
กำลังโหลดความคิดเห็น