แม้การดำเนินนโยบายโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) จะยังคงมุ่งเน้นไปที่การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องรูดบัตร เพื่อให้เข้าถึงและใช้บริการชำระเงินได้อย่างทั่วถึง สะดวก และปลอดภัย แต่นวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น การใช้บัตรพลาสติกอาจดู “ล้าสมัย” ในทันที
ที่สำคัญ การเปลี่ยนบัตรเดบิตแบบชิปการ์ด ยังคงมีเรื่องปวดหัว ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงถูกลูกค้าร้องเรียนว่า ถูกธนาคารพาณิชย์บางแห่งบังคับให้ทำบัตรเดบิตแบบพ่วงประกันอุบัติเหตุ โดยอ้างว่า บัตรแบบธรรมดาหมด และต้องรอนาน ทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงกว่าหลายร้อยบาท
ทุกวันนี้ แบงก์ชาติก็แก้ปัญหาแบบ "ลูบหน้าปะจมูก" ด้วยการส่งหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ขอความร่วมมือเพิ่มปริมาณสำรองบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตธรรมดา ให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า แต่ก็เชื่อว่าปัญหา "บัตรหมด" แบบเดิม ๆ จะกลับมาอีกครั้งไม่รู้จบ
ย้อนกลับไปที่งานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป 2016 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกจากจะเป็นงานมือถือลดราคางานใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของปีแล้ว สิ่งที่น่าสนใจหนึ่งในนั้นก็คือ การเปิดตัว “ซัมซุงเพย์” ระบบการชำระเงินแบบใหม่ของซัมซุง แม้ข่าวแบตเตอรี่ระเบิดของ “กาแลคซี่ โน้ต 7” จะเกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์ลงไปบ้าง
“ซัมซุงเพย์” (Samsung Pay) เป็นระบบชำระเงินที่เก็บข้อมูลบัตรเครดิต ได้แก่ เลขที่บัตร 16 บัตร, ชื่อผู้ถือบัตร, เดือนที่หมดอายุของบัตร และรหัส CVV 3 หลัก ไว้บนตัวเครื่อง จากนั้นเวลาใช้งานในร้านค้า เพียงแค่สไลด์หน้าจอ สแกนลายนิ้วมือ แล้วนำมือถือไปวางหรือแตะข้างเครื่องรูดบัตร โดยไม่ต้องหยิบบัตรจริงออกมาจากกระเป๋าสตางค์อีกต่อไป
ซัมซุงเพย์ เปิดตัวในเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ก่อนขยายไปยังสหรัฐอเมริกา จีน สเปน ออสเตรเลีย เปอร์โตริโก บราซิล และสิงคโปร์ โดยจะเปิดให้บริการในไทยตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2559 เริ่มต้นกับบัตรเครดิตของธนาคารชั้นนำ 6 แห่ง สามารถใช้ซัมซุงเพย์ได้ที่ห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป สยามพิวรรธน์ และร้านค้าที่ร่วมรายการ
สำหรับประเทศไทย จุดแข็งของซัมซุงเพย์ก็คือ รองรับทั้งระบบ MST และ NFC วิธีการใช้งานเพียงนำมือถือแนบข้างเครื่องรูดบัตร (ประมาณ 1/2 นิ้ว) เพื่อเชื่อมต่อกับคลื่นแม่เหล็กจำลอง ซึ่งเครื่องรูดบัตรเครดิต EDC ในไทยส่วนใหญ่เป็นระบบนี้ หรือหากเป็นระบบ NFC เช่นเดียวกับ VISA Paywave หรือ MasterCard payPass ก็ให้นำโทรศัพท์วางใกล้ ๆ กับจุดอ่านบัตร
เทียบกับ แอปเปิลเพย์ (Apple Pay) ของค่ายแอปเปิล รองรับเฉพาะเครื่องอ่านบัตรแบบ NFC เท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยจะพบเห็นตามร้านค้าบางแห่ง ที่สำคัญ แอปเปิลเพย์ยังไม่เปิดให้บริการกับธนาคารพาณิชย์ในไทย เว้นแต่ว่าจะใช้บัตรจากธนาคารต่างประเทศ กับร้านค้าที่รับบัตรในไทย โดยต้องเสียค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5%
แต่สำหรับคนที่อยากใช้ซัมซุงเพย์ในไทยแบบไม่ต้องรออนาคต นอกจากมือถือรุ่นที่รองรับแล้ว ในช่วงเริ่มต้นยังใช้ได้เฉพาะบัตรเครดิตบางธนาคารเท่านั้น ถ้าไม่อยากสมัครแบบปกติ คือ ยื่นเอกสารทางการเงิน และรายการเดินบัญชีย้อนหลัง ก็ต้องใช้วิธีเอาเงินฝากค้ำประกันบางธนาคารตามวงเงินที่ต้องการ แล้วรอเรียกทำสัญญา โดยธนาคารจะเก็บสมุดบัญชีเอาไว้
แม้ว่าการเปิดตัวของซัมซุงเพย์จะไม่น่าตื่นเต้นสำหรับมนุษย์เงินเดือนธรรมดาทั่วไป เพราะจำกัดเพียงแค่บัตรเครดิตบางธนาคาร แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่หากสามารถพัฒนาให้รองรับไปถึงบัตรเดบิตในอนาคต เราจะสามารถใช้จ่ายผ่านร้านค้า เพียงแค่พกมือถือเครื่องเดียว ตามแบบอย่างของ “สังคมไร้เงินสด” ที่ภาครัฐและเอกชนกำลังร่วมกันผลักดัน
ที่สำคัญ หากมือถือสามารถถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มได้ โดยไม่ต้องใช้บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต ที่คิดค่าธรรมเนียมรายปีในราคาแพง ตั้งแต่ 200 บาท ไปจนถึงหลักพันบาท ในอนาคต “บัตรพลาสติก” ไม่ว่าจะเป็นบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต อาจจะไม่จำเป็นต้องพกในกระเป๋าสตางค์อีกต่อไป
ที่ผ่านมา ค่ายมือถือ หรือสถาบันทางการเงิน ต่างพยายามออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบ “ไร้บัตรพลาสติก” มากขึ้น เช่น บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตเสมือน (Virtual Card) สำหรับช้อปออนไลน์ มีให้บริการในอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ บัตรเครดิตกรุงศรีและบัตรในเครือ บัตรเครดิต KTC
ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่เป็นชิ้นเป็นอัน พอยกตัวอย่างได้ก็จะเป็นบัตรเครดิต K-WAVE NFC กสิกรไทย ซึ่งไม่ใช่บัตรพลาสติก แต่เป็นสติกเกอร์ สำหรับติดมือถือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วนำไปใช้งานเฉพาะร้านค้าที่รับบัตร VISA PayWave เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ โดยยอดใช้จ่ายต้องไม่เกิน 1,500 บาทต่อรายการ
ถึงกระนั้น การใช้ VISA PayWave หรือ MasterCard PayPass ในประเทศไทยก็ยังประสบปัญหา แม้จะใช้บัตรเครดิตตัวจริงก็ตาม เนื่องจากร้านค้าที่รองรับบัตร NFC ยังมีน้อย เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อนำไปใช้จริงปรากฏว่าร้านค้ากลับปฏิเสธรับบัตร อ้างว่าใช้งานไม่ได้บ้าง เครื่องรับบัตรเพย์เวฟไม่รองรับบัตรธนาคารอื่นบ้าง ซึ่งไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้
อีกด้านหนึ่ง เอไอเอสก็เคยร่วมกับแรบบิท บริษัทในกลุ่มบีทีเอส ออกซิมการ์ด AIS mPAY Rabbit ที่พ่วงกับบัตรแรบบิท ใช้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส และร้านค้าที่รับบัตรแรบบิท ด้วยการนำฝาหลังมือถือแตะกับเครื่องอ่านบัตร ใช้กับมือถือที่รองรับระบบ NFC โดยเฉพาะมือถือซัมซุง ที่เป็นเฟิร์มแวร์ประเทศไทยเท่านั้น
แต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา แรบบิทเพิ่งร่วมลงทุนกับไลน์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Rabbit LinePay ซึ่งในอนาคตมีแผนจะสร้างระบบชำระเงินผ่านมือถือ เช่น QR Code บนมือถือแตะที่เครื่องอ่านบัตรแรบบิท เพื่อโดยสารรถไฟฟ้า บีทีเอส หรือชำระเงินที่ร้านค้าต่าง ๆ วิธีการนี้จะสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ทุกรุ่นที่เล่นไลน์ได้ ต้องรอต่อไปว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ
ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากแอปพลิเคชั่นธนาคารต่าง ๆ จะได้รับความนิยมในการโอนเงิน จ่ายบิล หรือเติมเงินมือถือแล้ว แอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินบางธนาคารยังสามารถชำระเงินผ่านร้านค้าโดยใช้มือถือเพียงอย่างเดียว เช่น แอปพลิเคชั่น UP 2 ME ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ใช้ชำระเงินในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เซน และร้านอาหารอีก 4-5 ร้าน
ส่วนแอปพลิเคชั่น Wallet ของ ทรูมันนี่ (TrueMoney) หลังก่อนหน้านี้ได้พัฒนาให้สามารถจ่ายบิล เติมเงินทรูมูฟเอช ซื้อบัตรเงินสดทรูมันนี่ รวมทั้งพัฒนาบัตร WeCard ทั้งแบบบัตรเสมือน และบัตรพลาสติกของมาสเตอร์การ์ดแล้ว ล่าสุดยังพัฒนาระบบบาร์โค้ดในเมนู “จ่ายเงิน” เพื่อชำระค่าสินค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้อีกด้วย
ขณะที่ทรูมูฟ เอช ร่วมกับบริษัทในเครือ แอสเซนด์ นาโน เปิดทดลองสินเชื่อ “ฮีโร่ แคช” วงเงินใช้ซื้อของในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นล่วงหน้า 300 - 500 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ผ่านแอปพลิเคชั่น True ID แล้วชำระคืนเต็มจำนวนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป โดยหักจากบัญชีทรูมันนี่ ซึ่งได้เปิดทดลองใช้งาน 6 เดือนแก่ลูกค้าที่เปิดซิมใหม่แบบเติมเงิน
บริษัท แอสเซนด์ นาโน ผู้ให้บริการโครงการฮีโร่แคช ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลอง ที่เชื่อว่าทุกคนสามารถสร้างเครดิตได้ ด้วยการรักษาวินัยทางการเงิน ดังนั้นหลังจากครบ 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่สมัครบริการ จะไม่มีการคิดดอกเบี้ย หรือค่าบริการใด ๆ โดยลูกค้าทีมีประวัติการชำระเงินตรงเวลาจะได้รับการเรียนเชิญให้รับบริการทางการเงินใหม่ ๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การให้สินเชื่อแก่ลูกค้ามือถือ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ เอ็มเปย์ บริษัทลูกของเอไอเอส เคยร่วมมือกับร้านเจมาร์ท ให้วงเงินลูกค้า 3,000 บาทสำหรับซื้อสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เสริมในร้านโดยไม่มีดอกเบี้ย แล้วชำระเงินผ่านหักบัญชีกระเป๋าเงิน mPAY เดือนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
หรือหากเฉพาะค่าโทรมือถืออย่างเดียว ดีแทคได้ออกบริการที่เรียกว่า “ใจดีให้ยืม” เมื่อปี 2547 โดยให้ค่าโทรฉุกเฉิน 30 บาท แล้วจะหักออกไปเมื่อมีการเติมเงินเข้ามา โดยคิดค่าบริการ 2 บาทต่อครั้ง ปรากฏว่าในช่วงเปิดตัวมีผู้ใช้งานมากกว่า 3 - 4 ล้านรายทุกเดือน เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลของ GSMA และมีหลายประเทศเอาไปใช้ด้วย
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีการให้สินเชื่อผ่านมือถือแบบเป็นจริงเป็นจัง แต่ในอนาคตหากเศรษฐกิจดีขึ้น คนไทยรักษาวินัยทางการเงินเพื่อสร้างเครดิตได้มากขึ้น ก็อาจจะมีการให้สินเชื่อแบบวงเงินทดรองจ่าย (ออกเงินแทนไปก่อน หรือ Advance Payment) บนมือถือ โดยไม่ยึดติดกับฐานเงินเดือนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
พูดถึงการชำระเงินแล้ว มาถึงการถอนเงิน ในอนาคตถ้าไม่มีบัตรเดบิต แล้วจะถอนเงินยังไง?
ถ้าเป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีบริการ “บัตรไม่ต้อง” ผ่านกรุงศรีออนไลน์ โดยกรอกเบอร์มือถือผู้รับเงิน และจำนวนเงิน เพื่อให้ปลายทางรับเงินที่เครื่องเอทีเอ็มกรุงศรี หรือจะเป็นธนาคารกรุงไทย ที่มีบริการ “รับเงินสด E-Cheque” ผ่าน KTB Netbank ซึ่งรวมไปถึงกรณีถอนเงินจากกระเป๋าเอ็มเปย์ รับเงินสดที่เครื่องเอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย
แต่ก็เป็นไปในลักษณะ “การโอนเงิน” มากกว่าการถอนเงิน ซึ่งค่าธรรมเนียมแพงพอ ๆ กับโอนเงินต่างธนาคาร ไม่ได้เป็นการถอนเงินสดโดยตรง ทุกธนาคารในไทยยังคงพึ่งพาบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิตอยู่ดี แตกต่างจากอีกหลายประเทศเริ่มที่จะใช้ระบบ Cardless ATM ทั้งรูปแบบนำมือถือมาสแกน หรือการสแกนลายนิ้วมือโดยไม่ต้องสอดบัตรกันแล้ว
ยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่น ธนาคารเซเว่น แบงก์ เตรียมเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มเป็นแบบไม่ต้องใช้บัตร 22,000 ตู้ทั่วประเทศ ภายในต้นปี 2560 โดยใช้โทรศัพท์มือถือสแกนรหัส QR Code ที่หน้าจอเอทีเอ็ม หลังจากนั้นใส่รหัสประจำตัว ก็สามารถใช้บริการได้ทันที นอกจากนี้ ธนาคารคาโกชิมะ และ ธนาคารอิออน ก็ได้ทดลองใช้งานเครื่องเอทีเอ็มแบบไร้บัตร โดยใช้ลายนิ้วมืออีกด้วย
ส่วนที่สหรัฐอเมริกา แบงก์ ออฟ อเมริกา เครื่องเอทีเอ็มที่นั่นมีสัญลักษณ์ Contactless (ใบพัด 4 ขีดโน้มไปทางขวา) โดยใช้โทรศัพท์มือถือสแกนลายนิ้วมือบริเวณดังกล่าว แล้วกดรหัสส่วนตัวเพื่อทำธุรกรรม โดยโทรศัพท์ต้องรองรับทั้ง แอปเปิลเพย์, แอนดรอยด์เพย์ (ต้องรองรับระบบ NFC และ HEC), ซัมซุงเพย์ และ ไมโครซอฟท์ วอลเลท
ด้านออสเตรเลีย ธนาคารคอมเวลท์แบงก์ ให้ลูกค้าใช้แอปพลิเคชั่นของธนาคาร เข้าเมนูค้นหาเครื่องเอทีเอ็มที่ใกล้ที่สุด ถ้าต้องการถอนเงินก็กด “Get Cardless Cash” เลือก “I will collect my cash” เลือกจำนวนเงินที่ต้องการแล้วกดยืนยัน ระบบจะสร้างรหัส 8 หลักสำหรับรับเงิน และรหัส OTP 4 หลักทาง SMS โดยมีอายุ 30 นาที ก่อนถอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม
ย้อนกลับมาในประเทศไทย หากจะใช้ระบบนี้จริง คงต้องเปลี่ยนเครื่องเอทีเอ็มที่มีอยู่มากกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศให้รองรับระบบ Contactless หรือระบบสแกนลายนิ้วมือทั้งหมด ในช่วงที่ผ่านมา มีการจัดซื้อเครื่องเอทีเอ็มรุ่นใหม่ที่รองรับระบบชิปการ์ดไปบ้างแล้ว บางยี่ห้อ เช่น DIEBOLD ก็มีรุ่นที่รองรับระบบ Contactless อยู่บ้าง แต่ระบบสแกนลายนิ้วมือยังไม่มี
ถึงกระนั้น ถ้าจะให้เป็นสังคมไร้บัตรพลาสติกอย่างแท้จริง แม้จะเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากรายได้ของธนาคารส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าบัตรเดบิตที่มีต้นทุนผลิตบัตรแค่ 10 บาท แต่ต้องนำรายได้จากค่าธรรมเนียมอย่างน้อย 200 บาท ไปพัฒนาส่วนอื่น เช่น ค่าบริหารจัดการเงินสด ค่าขนเงิน ค่าบำรุงรักษาเครื่องเอทีเอ็ม ฯลฯ
ในเบื้องต้น การใช้โทรศัพท์มือถือถอนเงินสด หรือทำธุรกรรมผ่านเครื่องเอทีเอ็ม จึงเป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากบัตรเดบิต เอาแค่ในสหรัฐฯ ต้องใช้ควบคู่กับระบบชำระเงินอย่าง แอปเปิลเพย์ ซัมซุงเพย์ ฯลฯ ที่จำเป็นต้องกรอกรายละเอียดบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตของธนาคารนั้น ๆ อยู่แล้ว
ถ้าหากวัฒนธรรมการใช้เงิน สามารถสร้าง “สังคมไร้เงินสด” ไม่ใช่เฉพาะนโยบายเนชั่นแนล อี-เพย์เมนท์ ยังรวมไปถึงนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้น การผลักดัน “สังคมไร้บัตรพลาสติก” เช่น จากโทรศัพท์มือถือ หรือจากการสแกนลายนิ้วมือ ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย
แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานหรือองค์กร จะรับมือกับภัยคุกคามทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างไร ซึ่งก็คงไม่ต่างจากบริการพร้อมเพย์ที่มีสารพัดคำถาม โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล แม้ทางการยืนยันว่ามีมาตรการความปลอดภัยสูงระดับสากลก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่เปิดบริการโอนเงินระหว่างบุคคล ก็คงยังไม่เห็นข้อบกพร่องตรงนี้