xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกที่ท่าขี้เหล็ก : คนไทยเข้าพม่าทั้งทีมีแต่เสียเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


(1)

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงโยกย้ายถิ่นฐานและประชากรของพม่า อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจาก 100 ประเทศ ที่ถือวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วีซ่า) สามารถเดินทางเข้าพม่าทางบกได้ 3 แห่ง ได้แก่

เมืองท่าขี้เหล็ก (Tachileik) รัฐฉาน ตรงข้ามกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

เมืองเมียวดี (Myawaddy) รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก

และ เมืองเกาะสอง (ก้อต่าวง์ หรือ Kawthaung) เขตตะนาวศรี กับ อ.เมืองฯ จ.ระนอง

โดยพม่าคาดหวังว่า การเพิ่มช่องทาง อี-วีซ่า ในด่านตรวจคนเข้าเมืองยอดนิยม 3 แห่ง จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้ 5.5 ล้านคนในปีนี้ จากปีที่แล้ว (2558) มีนักท่องเที่ยวมาเยือนพม่ามากถึง 4.7 ล้านคน

6 เดือนแรกของปี 2559 พม่ามีนักท่องเที่ยว 1.69 ล้านคน แบ่งออกเป็นจากประเทศไทย สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่นรวมกันราวร้อยละ 70 ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป

หลายคนสงสัยว่า แค่เอาพาสปอร์ตไปให้เจ้าหน้าที่ประทับตรา แล้วเข้าประเทศเขา เหมือนกับลาว กัมพูชา และมาเลเซียอย่างเดียวหรือ ...

ขอบอกว่า ไม่ใช่เลย

ต้องไปทำ อี-วีซ่า ผ่านเว็บไซต์กับทางการพม่าก่อน ที่เว็บไซต์ http://www.evisa.moip.gov.mm ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพงมาก แต่เหมาะสำหรับชาวต่างชาติ ที่ต้องการอยู่เที่ยวในพม่านานกว่า 1 สัปดาห์

ถ้าเป็นวีซ่าท่องเที่ยว คนละ 50 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,750 บาท) อยู่ได้นาน 28 วัน แต่ถ้าเป็นวีซ่าธุรกิจ คนละ 70 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2,450 บาท) อยู่ได้นาน 70 วัน ใช้ระยะเวลาพิจารณาออกวีซ่า 3 วันทำการ

อันที่จริง ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ได้รับการยกเว้นเดินทางเข้าประเทศพม่า และพำนักได้นาน 14 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า มีทั้งหมด 7 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย

แต่สำหรับประเทศไทย กำหนดให้เข้าประเทศพม่าได้ เฉพาะทางเครื่องบิน ผ่านท่าอากาศยานนานาชาติ 3 แห่ง ได้แก่ ย่างกุ้ง (Yangon) มัณฑะเลย์ (Mandalay) และ เนปิดอว์ (Nay Pyi Taw) เท่านั้น

นอกนั้น ถ้าไม่อยากเสียเงินทำวีซ่าราคาแพง เวลาจะข้ามฝั่งไปพม่า ต้องใช้ “หนังสือผ่านแดน” (Border Pass) ที่มีทั้งหนังสือผ่านแดนถาวร เฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาติดกับชายแดนประเทศนั้น ๆ เสียค่าธรรมเนียม 200 บาท

และ หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) เป็นเอกสารกระดาษ A4 ใช้ได้ครั้งเดียว เสียค่าธรรมเนียม 30 บาท

พำนักได้เฉพาะเมืองที่อยู่ติดกับชายแดนไทย - พม่า 7 วัน และต้องส่งคืนให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย

สำหรับการทำวีซ่าเข้าประเทศพม่า สมัยก่อนต้องไปทำที่สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ถนนสาทรเหนือ (บีทีเอส สถานีสุรศักดิ์) เปิดทำการวันธรรมดาตั้งแต่ 09.00 - 12.00 น.

ใช้หนังสือเดินทางและรูปถ่าย 2 นิ้วพื้นหลังสีขาว 2 ใบ โดยมีค่าใช้จ่าย วีซ่าท่องเที่ยว คนละ 810 บาท และวีซ่าธุรกิจ คนละ 1,440 บาท

ใช้ระยะเวลาพิจารณาออกวีซ่า 3-7 วันทำการ โดยจะระบุวันนัดให้ไปรับหนังสือเดินทางที่สถานทูตในช่วงเย็น ตั้งแต่ 15.30 – 16.30 น.

ทางการพม่าใช้ระบบ อี-วีซ่ามาตั้งแต่ 1 กันยายน 2557 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

โดยใช้รูปถ่ายที่สแกน ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตออนไลน์ รับเอกสารผ่านอีเมล และพิมพ์เพื่อแสดงตนไปรับสติกเกอร์วีซ่าที่ปลายทางได้เลย

แม้การเพิ่มช่องทางเข้าพม่าผ่านอี-วีซ่า อาจไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นสำหรับคนไทย เพราะถ้าอยากเข้าพม่าแบบฟรีวีซ่า ต้องเข้า-ออกผ่านสนามบินเท่านั้น

แต่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก สำหรับคนที่จะเดินทางไปยังเมืองอื่นของพม่าทางบกได้

(2)

นับตั้งแต่ที่ทำพาสปอร์ตมา ในชีวิตนี้ไปเมืองนอกมาแค่ 2 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ลาว และเวียดนาม

การไปพม่าทางด้านท่าขี้เหล็กครั้งนี้ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปตั้งแต่แรก แต่เป็นเพราะลาพักร้อนบินไปเชียงใหม่ 4 วันแล้วไม่รู้จะไปไหน ก็เลยออกมาแบบฉุกละหุกเช่นเคย

การเดินทางไปพม่าครั้งนี้ตัดสินใจอยู่นาน เพราะเท่าที่อ่านกระทู้พันทิป มีแต่ความน่ากลัวอยู่ตรงหน้า เรื่องของก๊อป ของห่วย ไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่เพราะไม่ได้ซื้อของ ตั้งใจจะไปชมบรรยากาศเท่านั้น

แต่ที่น่ากลัวก็คือ มีการยัดยาเสพติด ยาปลุกเซ็กซ์ แล้วถูกตำรวจพม่าเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการไม่ต้องติดคุก รวมทั้งเรื่องของมิจฉาชีพล้วงกระเป๋านักท่องเที่ยว

เพื่อนที่อยู่เชียงราย เมื่อทราบข่าวว่าจะไปเที่ยวพม่า ก็โทรศัพท์แนะนำด้วยความเป็นห่วงว่า จะซื้อของไปซื้อตรงไหน ร้านอะไร ของที่ควรซื้อ ไม่ควรซื้อ

รวมทั้งแนะนำว่า ถ้ามีคนชวนไปเที่ยวเจดีย์ชเวดากอง ไม่ต้องไป เพราะเป็นของปลอม

หลักคิดที่ว่า “ไม่สบตา ไม่เจรจา ปัญหาไม่เกิด” ที่ได้มาจากไกด์ตอนเที่ยวเวียดนาม จึงถูกนำมาย้ำเตือนอีกครั้ง

จากสถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ อาเขต 3 มีรถของกรีนบัสไปแม่สายวันละ 8 รอบ ตั้งแต่ 07.15 น. เที่ยวสุดท้าย 17.00 น.

แต่ถ้าจะไปให้ทันข้ามฝั่งไปเที่ยวท่าขี้เหล็ก ไปตั้งแต่เช้าดีที่สุด เพราะใช้เวลาเดินทางเกือบ 5 ชั่วโมง

ที่สำคัญ รถกรีนบัสเต็มเร็วมาก ควรใช้วิธีจองผ่านเว็บไซต์เสียแต่เนิ่น ๆ แล้วนำ SMS ไปรับตั๋วที่เคาน์เตอร์กรีนบัสในวันเดินทาง เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้ที่นั่งแน่ ๆ

ตั๋วที่จองผ่านเว็บไซต์เสียค่าโดยสารไป 319 บาท ออกจากเชียงใหม่ 09.30 น. ตลอดทางได้แต่นั่งหลับ มีบางจังหวะต้องตื่นเพราะเมื่อเข้าเขต จ.เชียงราย จะมีด่านตรวจ ตำรวจจะเรียกขอดูบัตรประชาชน

เช่น ด่านแม่โถ ถนนสาย 108 เชียงใหม่-เชียงราย ห่างจากเชียงใหม่ 58 กิโลเมตร หรือเมื่อผ่านตัวเมืองเชียงรายไปประมาณ 25 กิโลเมตร จะต้องเจอด่านกิ่วทัพยั้ง ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 956 อ.แม่จัน

และด่านสุดท้าย ด่านตรวจถ้ำปลา กิโลเมตรที่ 980 ก่อนเข้าตัวเมืองแม่สายประมาณ 15 กิโลเมตร

เหตุที่มีการตั้งด่านตรวจเยอะขนาดนี้ เพื่อป้องกันการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการลำเลียงยาเสพติดเข้ามาในกรุงเทพฯ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

แต่ถ้าเราบริสุทธิ์ใจก็ไม่มีอะไรต้องกลัว

มาถึงแม่สายตอนบ่ายสองโมงเศษ ๆ หลังลงจากรถเป็นธรรมดาที่บรรดามอเตอร์ไซค์และรถรับจ้าง ต่างพากันเรียกผู้โดยสาร

แต่เราเลือกที่จะนั่งรถสองแถวสีเลือดหมูคาดเหลือง เพื่อไปทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว ที่ว่าการอำเภอแม่สาย

ปัจจุบัน ที่ อ.แม่สาย มีจุดบริการทำหนังสือผ่านแดนเพียงแห่งเดียว ให้บริการตั้งแต่ 06.30 – 19.00 น. เพียงนำบัตรประชาชนมาแสดงพร้อมชำระเงิน 30 บาท ก็จะได้หนังสือผ่านแดนชั่วคราวมา 1 ใบ

ทีแรกสงสัยว่า เราใช้พาสปอร์ตอย่างเดียวหรือไม่ ปรากฎว่าที่นั่นติดประกาศเอาไว้ว่า เงื่อนไขการใช้หนังสือเดินทางสำหรับคนไทย บุคคลนั้นต้องมีวีซ่าพม่า หากไม่มีวีซ่าพม่าต้องทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว

สรุปว่า พาสปอร์ตที่ทำมาเล่มละพันกว่าบาท คราวนี้ก็ไม่ต้องใช้ ... ง่ายดี

นึกเสียดายที่ไม่มีตราประทับเข้าประเทศในพาสปอร์ต แต่ถ้าจะทำอย่างนั้น ต้องเสียเวลาไปขอวีซ่าพม่าที่สถานทูตจากกรุงเทพฯ ก่อนเดินทาง เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

เทียบกับทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว 30 บาท รับได้ทันที แต่ก็ต้องแลกด้วยการที่เมื่อเหยียบแผ่นดินไทยแล้ว ต้องคืนหนังสือผ่านแดนชั่วคราวให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ก่อนเข้าประเทศ

จะเก็บไว้ติดตัวเป็นที่ระลึกก็ไม่ได้

หลังเข้าที่พักในตัวเมืองแม่สาย เก็บสัมภาระเรียบร้อยแล้ว ได้เวลาผจญภัยเข้าไปในฝั่งพม่า เริ่มรู้สึกกังวลว่าจะเจอเรื่องที่เราไม่คาดฝันหรือไม่

ความกลัวจากการอ่านกระทู้ในเว็บบอร์ดเริ่มทำให้รู้สึกลังเล

แต่เมื่อเราเดินทางมาได้ตั้งเหนือสุดในสยามแล้ว จะไม่ข้ามฝั่งไปพม่าเลยก็กระไรอยู่

ที่สุดแล้วเราจึงต้องเดินหน้าไปสัมผัสบรรยากาศที่ท่าขี้เหล็ก แผ่นดินพม่าสักครั้งในชีวิต


(3)

การเข้าพม่าด้วยหนังสือผ่านแดนชั่วคราวเป็นไปอย่างง่ายดาย ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย จะมีช่องทางชาวไทย ชาวต่างชาติ และชาวพม่าแยกส่วนกัน

ช่องทางชาวไทยอาจจะต่อคิวนาน เพราะจะต้องเจอกลุ่มทัวร์ต่อคิวเป็นหมู่คณะ

เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหยิบบัตรประชาชนเสียบเข้าที่เครื่องอ่านบัตร และประทับตราหนังสือผ่านแดนชั่วคราว

แล้วก็เดินข้ามสะพานข้ามแม่น้ำสาย ข้ามไปยังฝั่งพม่า เจ้าหน้าที่ประทับตราพร้อมเก็บค่าธรรมเนียมเข้าพม่าคนละ 10 บาท

สะพานข้ามแม่น้ำสาย หรือสะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 1 สร้างขึ้นเมื่อปี 2501 แล้วเสร็จเมื่อปี 2504 ปัจจุบันเป็นช่องทางหลักในการสัญจรทำการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ

แต่เมื่อสะพานเดิมคับแคบ จึงได้สร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่าเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง สำหรับรถขนส่งสินค้า เปิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549 อยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร

เรามาถึงวงเวียนเล็ก ๆ ซึ่งเป็นจุดแรกเมื่อมาถึงท่าขี้เหล็ก เราเดินย้อนไปทางริมสะพาน ก็พบร้านค้าจำนวนมาก ขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แผ่นซีดี แต่เราก็ได้แค่มองผ่านไปอย่างรวดเร็ว

กระทั่งเดินออกไปนอกเมือง ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 สังเกตเห็นธนาคารพม่าเข้ามาตั้งสาขาในท่าขี้เหล็กกันแล้ว

เดินบนถนนหนทางก็ต้องคอยหลบรถที่มาจากด้านหลัง เพราะที่นั่นขับรถช่องทางขวา บางครั้งก็โดนบีบแตรไล่ก็มี

ประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงไฟแดงแรกก็ไม่กล้าไปต่อ ด้วยความที่เราไม่เคย กลัวว่าหากไปไกลกว่านี้แล้วจะมีปัญหา

ขณะนั้น เริ่มหิวน้ำ นึกในใจว่าเราไม่ได้แลกเงินมาด้วย เกิดรับแต่เงินพม่าจะทำอย่างไร

เจอมินิมาร์ทอยู่แห่งหนึ่ง ถามคนขายที่เป็นผู้หญิงว่า “รับเงินไทยไหมครับ” คนขายก็ตอบว่า รับ จากนั้นเราจึงซื้อน้ำอัดลมกระป๋อง

ส่วนใหญ่ที่วางขายจะเป็นสินค้าไทย มีสินค้าบางอย่าง เช่น เครื่องดื่มกระป๋อง มาจากมาเลเซีย

เราสังเกตไปทางทิศเหนือ เห็นเจดีย์สีทอง คล้ายกับ “เจดีย์ชเวดากอง” บนภูเขา จึงถามเขาว่าใช่เจดีย์ชเวดากองไหม เขาตอบว่าเป็นเจดีย์จำลอง

ถ้าจะเดินย้อนเข้าไปจะมีทางเดินอยู่ทางขวามือ อยู่ไม่ไกลมากนัก

นึกถึงกระทู้ที่มีคนบอกว่า ถ้าเข้าไปท่าขี้เหล็กแล้วมีคนชวนไปเจดีย์ชเวดากองก็อย่าไป เพราะเป็นเจดีย์ของปลอม

แต่คิดดูอีกที ไหน ๆ ก็เดินเท้ามาแล้ว ขึ้นไปดูเลยดีกว่าเพราะอยู่ไม่ไกล และไม่ต้องนั่งรถรับจ้างด้วย

เราเดินเท้าผ่านชุมชนเล็ก ๆ ก่อนที่จะขึ้นเขาไปประมาณ 1 กิโลเมตร ไม่นานนักก็เห็นเจดีย์สีทองตั้งตระหง่าน

ขณะจะถอดรองเท้าเข้าไปในเจดีย์ หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งพยายามเข้ามาหา ขายดอกไม้ ธูป เทียน ชุดละ 10 บาท

แต่ปกติเราไหว้พระไม่ได้เพราะนับถือคนละศาสนาอยู่แล้ว จึงตอบปฏิเสธไป

เราเดินวนรอบเจดีย์ชเวดากองจำลอง พร้อมกับชมทัศนียภาพของเมืองท่าขี้เหล็ก พบว่าเจริญเทียบเท่าบางอำเภอในประเทศไทย

เริ่มมีตึกสูงที่เป็นโรงแรมให้เราเห็นบ้าง อีกทั้งยังเห็นตึกรามบ้านช่องฝั่งไทย อ.แม่สอดอีกด้วย

เดินออกมาสักพัก ตั้งใจว่าจะซื้อเหล้า เบียร์ จากพม่ามากินเอง เพราะคิดว่าถ้าซื้อเหล้านอก จะเจอแต่เหล้าเถื่อน

เราจึงซื้อเหล้าที่ร้านมินิมาร์ทเจ้าหนึ่ง ที่เป็นร้านจำหน่ายของชำทั้งขายปลีกและขายส่ง

สังเกตเห็นราคาเหล้า พบว่าเหล้ายี่ห้อของพม่า ขวดเล็กเท่าน้ำยาบ้วนปากขวดละ 45 บาท ขวดใหญ่ 750 มิลลิลิตรแค่ 70 บาทเท่านั้น

ถามเขาว่าเอาเข้าไปในไทยได้ไหม เขาตอบว่าขนาดเท่านี้ก็เอาเข้าไทยได้แล้ว

ส่วนเบียร์กระป๋อง พบว่าราคาไม่ต่างจากไปกินเบียร์ลาวที่แขวงบ่อแก้วสักเท่าไหร่ กระป๋องขนาด 330 มิลลิลิตร กระป๋องละ 30 บาท ส่วนแบบขวด ขวดละ 50 บาท เลยซื้อมาสักกระป๋อง

แต่ตอนออกจากร้านนึกขึ้นได้ว่า ศุลกากรบ้านเราห้ามนำเข้าสุราเกิน 1 ลิตรนี่หว่า

ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 5 โมงเย็น ซึ่งปกติถ้าจะมีอารมณ์กินเหล้าเบียร์ก็ต้องเป็นช่วงกลางคืน

แต่ในตอนนั้นหาทางออกไม่ได้ สุดท้ายจึงต้องจำใจดื่มเบียร์ที่ซื้อมากระป๋องนั้นให้หมด เหลือแต่เหล้าขวด 750 มิลลิลิตรเข้าประเทศ

สภาพในตอนนั้นรู้สึกมึนพอสมควร แต่ก็ประคองสติเอาไว้ได้

ก่อนจะถึงวงเวียนหน้าด่านพรมแดน สังเกตเห็นอนุสาวรีย์อะไรสักอย่าง เป็นรูปปั้นสีทอง ด้านหลังเป็นต้นไม้ใหญ่ดูสง่างาม จึงขึ้นไปดู

สักพักมีชาวพม่ารายหนึ่งเดินเข้ามา เหลือบไปมองป้ายระบุว่า “ค่าเข้าชม 5 บาท”

เขากล่าวกับเราว่า “คนละ 5 บาทครับ” จึงต้องควักเหรียญห้าที่เหลืออยู่เหรียญเดียวจ่ายเงินไป

ทราบภายหลังว่าเป็น อนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์นักรบ นักปกครองของพม่า

และเป็นหนึ่งในตัวละครของนิยายจากพงศาวดารชื่อดัง “ผู้ชนะสิบทิศ” ซึ่งจะเห็นอนุสาวรีย์พระเจ้าบุเรงนองแบบนี้ทั่วพม่า ไม่ใช่แค่ท่าขี้เหล็ก

3 - 4 ชั่วโมงในเมืองท่าขี้เหล็กของพม่า แม้จะถือว่าน้อยเกินไป แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือ เอาเข้าจริงเมืองท่าขี้เหล็กไม่ได้อันตรายมากมาย อย่างที่ในกระทู้บรรยายจนน่ากลัว

หากรู้จักป้องกันตัวเอง นอกนั้นบรรยากาศก็ไม่ต่างไปจากเมืองไทย

นอกจากจะมีสินค้าไทย เบียร์ไทยแล้ว สัญญาณมือถือจากไทย ของ 3 ค่ายยักษ์ส่งสัญญาณข้ามแดนกันครบ (แนะนำให้ปิดบริการโรมมิ่งเพื่อไม่ให้เกิดบิลช็อก)

และไฟฟ้าในท่าขี้เหล็กก็มาจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแม่สาย บ้านเรานี่เอง

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากไทย คือ มีบ่อนกาสิโนด้วย แต่เราเป็นคนไม่ชอบเล่นการพนัน เลยไม่ได้สนใจอะไร

เกิดความคิดอย่างหนึ่งว่า หากมีโอกาสข้ามไปยังฝั่งท่าขี้เหล็กอีก จะขออยู่ที่นั่นสักคืน เผื่อจะได้เห็นบรรยากาศในยามค่ำคืนที่แตกต่างไปจากบ้านเราบ้าง

และหากเดินทางไปยังเมืองอื่นได้ ก็อยากจะสัมผัสบรรยากาศในพม่าสักครั้ง

(4)

เมื่อดูทำเลเมืองท่าขี้เหล็ก จะพบว่าเป็นเมืองชายแดนที่มีศักยภาพเมืองหนึ่งของพม่า

นอกจากจะเชื่อมต่อกับชายแดนไทยแล้ว ยังมี สะพานมิตรภาพลาว - พม่า ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็ก 100 กิโลเมตร ไปยังแขวงหลวงน้ำทา

ทราบมาว่า เพียงแค่มีพาสปอร์ต ชาวลาวสามารถข้ามไปยังฝั่งพม่าได้ ชาวพม่าสามารถข้ามไปยังฝั่งลาวได้ รวมทั้งชาวเวียดนามจะเข้าพม่าผ่านลาวก็สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมี สนามบินท่าขี้เหล็ก ซึ่งมีสายการบิน 4 แห่งให้บริการวันละ 10 เที่ยวบิน ได้แก่ แอร์เคบีแซด, เอเชียน วิงส์ แอร์เวย์, โกลเด้น เมียนมาร์ แอร์ไลน์, มาน ยาดานาร์พอน แอร์ไลน์ ไปยังย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เฮโฮ (รัฐฉาน) และเชียงตุง

แต่เมื่อดูราคาค่าตั๋วเครื่องบินแล้ว มนุษย์เงินเดือนสัญชาติไทยอย่างเราหมดสิทธิ์

เพราะลองเสิร์ชตั๋วเครื่องบินแล้ว คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ประมาณ 4-5 พันบาทขึ้นไป และส่วนใหญ่บินด้วยเครื่องบินใบพัดทั้งนั้น

บินจากท่าอากาศยานในไทย อย่างสุวรรณภูมิ ดอนเมือง หรือเชียงใหม่ ไปยังพม่าจะดูง่ายกว่า

สำหรับคนไทย แม้จะข้ามฝั่งไปยังลาว รวมทั้งเวียดนามได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า แต่เวลาจะเข้าพม่ายังจำกัดที่สนามบินนานาชาติ 3 แห่ง

กลับกันชาวพม่าหากจะเข้ามาในไทยโดยใช้หนังสือเดินทาง ต้องผ่านทางสนามบินนานาชาติในไทย 23 แห่ง

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะตั้งแต่แรก ทางการพม่าต้องการให้ฟรีวีซ่าครอบคลุมไปถึงการผ่านแดนทางบกด้วย

แต่ฝ่ายไทยเห็นว่ายังไม่ควรใช้ ให้ทดลองผ่านทางอากาศไปก่อน ก็เลยได้ข้อสรุปที่เป็นเช่นนั้น

ทุกวันนี้ คนไทยที่จะข้ามไปท่าขี้เหล็ก ต้องใช้หนังสือผ่านแดนชั่วคราว อนุญาตให้ไปได้ไกลสุดถึงด่านหมากยาง ห่างจากตัวเมืองท่าขี้เหล็กไปทางทิศเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร

ส่วนชาวพม่า ที่ข้ามฝั่งมายังประเทศไทย ทั้งคนและยานพาหนะ สามารถไปได้ไกลที่สุดถึงเพียงแค่ด่านตรวจถ้ำปลาเท่านั้น จะเห็นได้จากรถทะเบียนพม่า ป้ายภาษาอังกฤษและตัวเลขสีดำ มีให้เห็นกันอยู่เฉพาะตัวเมืองแม่สาย

นอกจากแม่สายกับท่าขี้เหล็กแล้ว การทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวชายแดนไทย-พม่า ยังปฏิบัติแบบนี้เช่นเดียวกัน เช่น ด่านแม่สอด จ.ตาก ข้ามไปยังเมืองเมียวดี, ท่าเรือสะพานปลา จ.ระนอง ข้ามไปยังเกาะสอง

หรือแม้กระทั่งจุดผ่อนปรนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี สามารถทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราวข้ามไปยังเมืองทะวาย เขตตะนาวศรี หรือแม้กระทั่งด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังใช้ข้ามไปยังเมืองมะริด เขตตะนาวศรีได้เช่นกัน

ถึงกระนั้น หนังสือผ่านแดนชั่วคราว ไม่สามารถข้ามแดนทางบกไปได้ไกลถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเนปิดอว์ หรือกรุงย่างกุ้งได้

เช่นเดียวกับพาสปอร์ต หากไม่มีวีซ่าพม่า หมดสิทธิ์เข้าไปถึงใจกลางพม่าสถานเดียว
จุดผ่านแดนถาวรแม่สอด จ.ตาก ข้ามสะพานมิตรภาพไปยังเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
แม้พม่าเพิ่งจะเปิดประเทศ ชาติตะวันตกยกเลิกคว่ำบาตร จะทำให้การเดินทางเข้าพม่าง่ายกว่าในอดีต

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสามารถข้ามแดนเข้าไปในพม่าได้จากช่องทางบก และยังสามารถเดินทางกลับออกมาได้ในทุกช่องทาง

และการใช้ระบบ อี-วีซ่า ที่พบว่านักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ต่างใช้บริการมากที่สุด รวมทั้งได้ลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่ากับบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

แต่ก็ดูเหมือนว่า ไทยกับพม่าต่างก็สงวนท่าทีในการเดินทางไป-มาระหว่างกัน ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงและสาธารณสุข เช่น ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม การค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และโรคระบาดต่าง ๆ
จุดผ่อนปรนบ้านพุน้ำร้อน อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี ที่ไปได้แค่เมืองทะวาย เขตตะนาวศรี
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาระหว่างกันที่ทำให้ไม่สามารถเปิดจุดผ่านแดนถาวรเพิ่มเติมได้ อาทิ ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเพียงแค่จุดผ่อนปรนพิเศษ เนื่องจากปัญหาเส้นแบ่งเขตแดน ที่ไทยยึดสันปันน้ำ แต่พม่ายึดแผนที่อังกฤษ

หรือจะเป็นช่องทางกิ่วผาวอก บ้านอรุโณทัย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้กองทัพภาคที่ 3 ปิดด่านในช่วงการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ปัจจุบันเพิ่งเปิดได้แค่แผงค้าขายแบบตลาดนัดเท่านั้น

ตอนนี้คนไทยอาจจะต้องยอมเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินไปก่อน หวังไว้ในใจว่า ความเจริญแบบก้าวกระโดดของพม่า จะทำให้สักวันคนไทยจะเข้าพม่าได้ทุกช่องทางสะดวกขึ้น

ใช้พาสปอร์ตเพียงเล่มเดียว ไม่ต่างจากลาว กัมพูชา เวียดนาม และ มาเลเซีย.





หมายเหตุ : วิธีคนไทยเข้าไปพม่า

1. ฟรีวีซ่า (พำนักได้ 14 วัน)

ใช้แค่หนังสือเดินทาง โดยไม่ต้องขอวีซ่า เข้า - ออกพม่าเฉพาะท่าอากาศยานนานาชาติ 3 แห่ง ได้แก่ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และ เนปิดอว์ เท่านั้น

2. หนังสือผ่านแดนชั่วคราว (พำนักได้ 7 วัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเมืองจะอนุญาตหรือไม่)

ใช้บัตรประชาชน ทำที่จุดทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว ตามที่ทำการปกครองกำหนด เสียค่าใช้จ่าย 30 บาท ไปได้เฉพาเมืองที่ติดกับชายแดนไทยเท่านั้น กรณีด่านแม่สาย คิดค่าผ่านแดนเข้าพม่า 10 บาท

3. วีซ่า (พำนักได้ 28 วัน)

ใช้หนังสือเดินทาง และรูปถ่าย 2 นิ้ว พื้นสีขาว 2 ใบ ทำที่สถานทูตพม่าประจำประเทศไทย (แผนกวีซ่าเปิด 09.00-12.00 น.) วีซ่าท่องเที่ยวเสียค่าใช้จ่าย 810 บาท ได้รับภายใน 3 วันทำการ (มีบริการรับได้ภายในวันเดียวกัน แต่ค่าใช้จ่ายสูง นำไปแสดงตนได้ที่สนามบิน หรือจุดผ่านแดนถาวร

4. อี - วีซ่า (พำนักได้ 28 วัน)

ทำที่เว็บไซต์ http://www.evisa.moip.gov.mm เลือกจุดรับวีซ่าได้ 6 จุด ได้แก่ สนามบินย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และ เนปิดอว์, ด่านพรมแดนไทย - พม่า ที่แม่สาย แม่สอด และเกาะสอง วีซ่าท่องเที่ยวเสียค่าใช้จ่าย 50 เหรียญสหรัฐฯ ชำระผ่านบัตรเครดิตออนไลน์ จะได้รับเอกสารทางอีเมลภายใน 3 วันทำการ ให้พิมพ์ออกมาเป็นกระดาษ แล้วนำไปแสดงพร้อมหนังสือเดินทางที่จุดรับวีซ่าในวันเดินทาง


กำลังโหลดความคิดเห็น