xs
xsm
sm
md
lg

ลมหายใจสุดท้ายของนิตยสารกับวิสัยทัศน์คุณสนธิ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ข่าวการปิดตัวลงของนิตยสารอายุเกินครึ่งศตวรรษอย่าง “สกุลไทย” สร้างความสั่นสะเทือนและโศกเศร้าเสียใจให้แก่คนในวงการ ทั้งวงการอ่าน วงการเขียน และวงการนิตยสารเป็นอย่างยิ่ง

โดยนิตยสารสกุลไทยฉบับสุดท้าย จะหยุดตัวเลขไว้ที่ฉบับ 3237

สำหรับนักอ่านที่ติดตามกันมาประจำ ส่วนใหญ่คนที่อ่านสกุลไทยจะเป็นคนในวัย 40 ขึ้นไปจนถึงรุ่น 80 - 90 หรือแม้แต่คนอายุร้อยปีก็เป็นไปได้

กลุ่มคนอ่านกลุ่มนี้เท่ากับจะต้องบอกลานิตยสารที่เคยอ่านเป็นประจำมากว่าครึ่งค่อนชีวิต นิตยสารที่มีความหลากหลายทั้งข่าวสาร สารคดี บันเทิง รวมถึงนิยายชั้นยอดต่างๆ ของนักเขียนที่เรียกว่าเป็นระดับยอดฝีมือของวงการวรรณกรรมไทย

นวนิยายเรื่องสำคัญๆ หลายเรื่องที่เป็นนิยายอมตะ สร้างเป็นละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์มาแล้วหลายรอบ ส่วนใหญ่ก็เคยผ่านเวที “สกุลไทย” มาแล้วทั้งสิ้น

ส่วนวงการนักเขียนและคนวรรณกรรม ก็เท่ากับเป็นการหายไปของเวทีนวนิยายและเรื่องสั้นไปอีกเวทีหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันก็เหลือน้อยยิ่งกว่าน้อยอยู่แล้ว

เหตุผลที่ทางกองบรรณาธิการออกแถลงการณ์มาเมื่อวาน วันที่ 14 กันยายน 2559 ให้เหตุผลไว้ว่าเหตุที่ต้องยุติการพิมพ์นั้น เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเอเยนต์จัดจำหน่ายที่ลดลง ทำให้นิตยสารกระดาษค่อยๆ ลดบทบาทลงในยุคของสื่อดิจิตอล

และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการสูญเสียเจ้าของและผู้ร่วมก่อตั้ง คือคุณประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นอกจากนั้นก็ได้ทราบมาว่า นิตยสารสกุลไทยขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนมาตลอด ซึ่งสำหรับนิตยสารทั่วไปก็เป็นเช่นนี้ ซึ่งราคาทุนกับราคาขายจะขาดทุนอยู่บ้าง แต่อาศัยรายได้จากค่าโฆษณา แต่สกุลไทยนั้นหากใครติดตามอ่านคงทราบว่าไม่ค่อยมีโฆษณาในเล่ม อาจจะเพราะนโยบายของทางนิตยสาร

โดยนิตยสารสกุลไทยตั้งแต่แรกก่อตั้งนั้นหมายให้เป็นนิตยสารสาระบันเทิงสำหรับสุภาพสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก หากต่อมากลุ่มเป้าหมายของสกุลไทยก็ขยายตัวไปเป็นคนทุกเพศทุกวัย

เช่นนี้การปิดตัวลงของนิตยสารสกุลไทยนั้นจึงสร้างแรงกระเพื่อม เป็นข่าวสำคัญที่ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก

สัญญาณขาลงของนิตยสารกระดาษนั้นเริ่มต้นมาได้สักสองสามปีแล้ว เมื่อนิตยสารหัวต่างๆ เริ่มปิดตัวลงไป หรือไม่ก็ปรับรูปเล่มเสียจนบางแทบจำไม่ได้

นิตยสารชื่อดังหลายเล่มที่มีชื่อเสียงมาหลายสิบปี จัดว่าเป็นนิตยสารระดับตำนาน ก็เริ่มประกาศข่าวปิดตัวกันมาเรื่อยๆ เช่น นิตยสารแนวแฟชั่นอย่าง “เปรียว” “IMAGE” “Cosmopolitan” ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นนิตยสารที่ยืนยงอยู่บนแผงหนังสือเกิน 20-30 ปีทั้งสิ้น หรือแม้แต่นิตยสารที่เราเห็นประจำตามร้านตัดผมอย่าง “บางกอก” ก็ไม่พ้นชะตากรรมนี้

กระทั่งในวงการหนังสือการ์ตูนก็ไม่มีข้อยกเว้น ล่าสุดนิตยสารการ์ตูนเล่มสุดท้ายของไทยอย่าง C-KID ก็ประกาศปิดตัวลงไปเมื่อเร็วๆ นี้ เท่ากับเป็นการปิดตำนานนิตยสารการ์ตูนไทยที่มีอายุกว่า 30 ปีลงไปโดยสมบูรณ์ กล่าวคือไม่มีนิตยสารการ์ตูนหลงเหลืออยู่บนแผงอีกแล้ว

เราคงต้องยอมรับว่า โลกยุคโซเชียลและอินเทอร์เน็ต เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันไปมาก และที่สำคัญที่สุดคือพฤติกรรมการอ่านและการเขียน

ความรวดเร็วของข่าวสาร และความครบครันแบบ Multimedia ทำให้ทุกสิ่งที่เคยหาอ่านได้ในนิตยสารนั้น สามารถหาอ่านได้ในเว็บหรือโซเชียลมีเดียทั้งหมด

เดี๋ยวนี้แม้แต่หนังสือพิมพ์รายวัน คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอ่านกันแล้ว เพราะอาศัยอ่านนิวฟีดจากเฟซบุ๊กเอา

แม้ข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายโซเชียลเหล่านี้จะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือหรือคุณภาพของข่าว แต่ผู้อ่านสมัยใหม่ก็หาได้สนใจอะไรไม่ เพราะการอ่านหรือเสพข่าวในยุคปัจจุบันนี้มาเร็วไปเร็ว เรื่องดังในวันนี้อีก 3 วันก็ลืม

ดังนั้น “ความถูกต้องสมบูรณ์” แบบสื่อเก่า จึงแพ้ “ความเร็ว” ของสื่อใหม่

และเมื่อเราพูดกันถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก การเปลี่ยนผ่านของสื่อเก่าสื่อใหม่นี้ ก็ทำให้ผมอดคิดถึง “วิสัยทัศน์” ของคุณสนธิในเรื่องนี้เสียมิได้

คุณสนธิเล็งเห็นตั้งแต่สมัยที่อินเทอร์เน็ตแพร่หลายในประเทศไทยใหม่ๆ แล้ว ว่านี่แหละคือสิ่งที่จะเปลี่ยนโลกของเรา รวมถึงวงการสื่อสารมวลชนไปตลอดกาล

ด้วยวิสัยทัศน์นี้ เว็บไซต์ผู้จัดการ www.manager.co.th จึงถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2542 หรือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ในยุคที่คนยังใช้อินเทอร์เน็ตผ่านระบบ Modem ต้องหมุนโทรศัพท์อยู่เลยครับ

และนอกจากเว็บไซต์ของผู้จัดการแล้ว คุณสนธิยังสนับสนุนให้เกิดเว็บไซต์ในลักษณะของ “นิตยสารออนไลน์” หรือ Web Content อีกหลายหัว โดยร่วมมือกับนักวิชาการระดับสุดยอดของแต่ละวงการ เช่นเว็บ “ทะเลไทย” ของ อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ “เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย (pub-law.net)” ของท่านอาจารย์นันทวัฒน์ บรมานันท์ และเว็บไซต์วรรณกรรมของคุณ Marcel Barang รวมถึงเว็บข่าวภาษาอังกฤษ Asia time ที่เคยกล่าวถึงไปแล้วด้วยเว็บไซต์เหล่านี้ก่อตั้งในราวปี 2543-2544 ซึ่งเป็นเว็บ Content กลุ่มแรกๆ ของไทย

เว็บไซต์เหล่านี้ปัจจุบันหลายเว็บก็ยังอยู่ และเติบโตได้ด้วยตนเอง จากเมล็ดพันธุ์ที่คุณสนธิช่วยเพาะไว้ในช่วงแรก รวมถึงเว็บไซต์ของผู้จัดการ Manager ก็ติดอันดับหนึ่งของเว็บไซต์ข่าวติดต่อกันนับสิบกว่าปี โดยเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเยอะกว่าหนังสือพิมพ์เสียอีก กล่าวคือเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่มีข่าวสารออนไลน์ที่ไม่ใช่แค่เอาข่าวในหนังสือพิมพ์มาแปะเหมือนเว็บหนังสือพิมพ์ทั่วไปในสมัยนั้น

ปัจจุบันเว็บไซต์ของผู้จัดการ ก็เป็นเว็บข่าวที่ครบเครื่องที่สุด มีข่าวทุกด้านและทุกแง่มุมมากที่สุดเท่าที่เราจะนึกได้ ทั้งการเมือง อาชญากรรม ข่าวภูมิภาค กีฬา วงการเทคโนโลยี วงการเกม การศึกษา บันเทิง วัฒนธรรมและววรรณกรรม

แม้ในช่วงหลังเว็บไซต์ผู้จัดการจะ “เสียแชมป์” ไปบ้าง เพราะการมาถึงของการทำเว็บข่าวแนว “Clickbait” ที่ใช้การพาดหัวให้หวือหวา หลอกให้คนคลิ้กเข้าไปอ่านข่าวที่จริงๆ ไม่ค่อยมีอะไร ซึ่งน่าภูมิใจว่าเว็บผู้จัดการไม่เคยทำแบบนั้น ยังคงรักษารูปแบบธรรมเนียมในคุณภาพในการทำข่าวและพาดหัวข่าวอย่างตรงไปตรงมาไว้เช่นเดิม อย่างที่เคยเป็นมาตลอดเกือบ 20 ปี

ภาพของโลกยุคปัจจุบันนี้ ที่สื่อกระดาษเริ่มทยอยกันสลายหายไป สื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่ วิถีของผู้คนที่อ่านข่าวจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต การตลาดและการโฆษณาที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่คุณสนธิได้มองเห็นอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และเตรียมพร้อมรับมือปูพื้นฐานเหนียวแน่นไว้ให้แล้วตั้งแต่วันนั้น

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “วิสัยทัศน์” จริงๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น