xs
xsm
sm
md
lg

รับน้องใหม่ “เวียตเจ็ทแอร์” โลว์คอสต์สุวรรณภูมิ ยุคเศรษฐกิจซบ เจ้าตลาดยุบเส้นทาง - ลดเที่ยวบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ชื่อของ “เวียตเจ็ทแอร์” สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) สัญชาติเวียดนาม เคยสร้างความฮือฮาไปทั่วโลกด้วยการจัดชุดลูกเรือแต่งกายด้วยชุดบิกีนีเพื่อโปรโมตเส้นทางใหม่จนกระทาชายฮอร์โมนพุ่งปรี๊ดมาแล้ว

เวียตเจ็ทแอร์เข้ามาในแผ่นดินสยามประเทศ ด้วยการเปิดเส้นทางแรก โฮจิมินห์ - กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2556 วันละ 1 เที่ยวบิน ก่อนที่จะเปิดเส้นทาง ฮานอย - กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556

เส้นทางจากโฮจิมินห์ ไปยังกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ได้รับความนิยมอย่างมาก วันที่ 18 พฤษภาคม 2558 จึงได้เพิ่มเที่ยวบินเป็น 2 เที่ยวบิน กระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ได้เพิ่มเป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน

เวียตเจ็ทแอร์วาดฝันว่าจะเข้ามาขยายเส้นทางบินในประเทศไทย แต่หลังพบกับ “โรคเลื่อน” มาอย่างยาวนาน

ผ่านไป 3 ปี ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เปิดทำการบินเส้นทางในประเทศไทยเสียที

โดยชิมลางเปิดเที่ยวบินใหม่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - ภูเก็ต ทุกวัน และ ภูเก็ต – เชียงราย ทุกวันอังคาร, พฤหัสบดี และเสาร์ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2559

ต่อด้วยเส้นทาง กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - เชียงใหม่ ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2559

ก่อนที่จะเปิดเส้นทางไปเวียดนามเพิ่มอีกเส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - ไฮฟอง ทุกวันจันทร์, พุธ, ศุกร์ และ อาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเส้นทางนี้สามารถย่นระยะเวลาไปสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างฮาลองเบย์ได้

เมื่อดูการแข่งขันเส้นทางกรุงเทพฯ – ภูเก็ต เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย บางกอกแอร์เวย์ 9 เที่ยวบิน และ การบินไทย 5 - 6 เที่ยวบิน โดยมีไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินแบบไลต์พรีเมี่ยม ให้บริการเพียงแค่ 3 เที่ยวบินเท่านั้น

จึงเป็นช่องว่างที่ทำให้เวียตเจ็ทแอร์ หันลงมาสู้ศึกโลว์คอสต์ในเส้นทางนี้ แม้ในช่วงแรกจะได้เพียงแค่วันละ 1 เที่ยวบิน และเวลาไม่แน่นอน เพราะสล็อตของท่าอากาศยานภูเก็ตเต็ม

แต่หลังจากวันที่ 30 ตุลาคม 2559 เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - ภูเก็ต จะเพิ่มเป็น 3 เที่ยวบินต่อวัน

ส่วนที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายการบินโลว์คอสต์ ประกอบด้วย แอร์เอเชีย 16 เที่ยวบิน, นกแอร์ 6 เที่ยวบิน, ไทยไลอ้อนแอร์ 5 เที่ยวบิน และไทยสมายล์ 3 เที่ยวบิน

เหตุที่แอร์เอเชียกลายเป็นขาใหญ่ในเส้นทางภูเก็ต เพราะที่นั่นเป็นฮับการบิน ซึ่งมีเส้นทางในประเทศอย่างกรุงเทพฯ (ดอนเมือง), เชียงใหม่ และเส้นทางระหว่างประเทศอย่างกัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย), ฮ่องกง (จีน) และสิงคโปร์

ขณะที่เส้นทางเชียงใหม่ เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย การบินไทย 3 เที่ยวบิน ไทยสมายล์ 3 เที่ยวบิน บางกอกแอร์เวย์ 7 เที่ยวบิน

ซึ่งเวียตเจ็ทแอร์จะขอบินวันละ 2 เที่ยวบินไปก่อน คือช่วงเช้ากับค่ำ

ส่วนที่สนามบินดอนเมือง พบว่าไทยไลอ้อนแอร์ แม้จะมาที่หลัง แต่ก็มีเที่ยวบินมากที่สุดถึง 11 เที่ยวบิน ตามมาด้วยแอร์เอเชีย 10 เที่ยวบิน, นกแอร์ 7 เที่ยวบิน และ ไทยสมายล์ 3 เที่ยวบิน

ส่วนเส้นทาง ภูเก็ต - เชียงราย ถือเป็นเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จากเดิมมีเพียงบริการต่อเครื่องของนกแอร์

แต่เส้นทางอื่นพบว่า "แอร์เอเชีย" เพิ่งเปิดเที่ยวบิน หาดใหญ่ - เชียงราย วันละ 1 เที่ยวบิน ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา

คาดว่าน่าจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตเป็นหลัก เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมมากมาย รวมทั้งยังสามารถข้ามฝั่ง สปป.ลาว ไปหลวงพระบางได้อีกด้วย

การเปิดตัวเส้นทางในประเทศไทย ของเวียตเจ็ทแอร์ครั้งนี้ แม้จะไม่มีลูกเรือสาวนุ่งน้อยห่มน้อยเหมือนอย่างในเวียดนาม แต่ก็ได้ใช้สงครามราคาในช่วงเดียวกับที่แอร์เอเชียได้ออกแคมเปญ BIG SALE ด้วยการจัดโปรโมชั่นราคา 0 บาท ทั้ง 4 เส้นทาง รวม 1 ล้านที่นั่ง ผ่านเว็บไซต์ www.vietjetair.com

นับเป็นโปรโมชั่น 0 บาทที่เราไม่ได้เห็นแอร์เอเชียจัดโปรโมชั่นในเส้นทางยอดนิยมอย่างเชียงใหม่ และภูเก็ตนานแล้ว

เพราะเอาเข้าจริงทุกวันนี้โปรโมชั่น 0 บาท ล่าสุดมีแต่เส้นทางสายรองลงมาอย่าง เชียงราย และ หาดใหญ่ เท่านั้น นอกนั้นก็ราคารวมเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย

อีกทั้งระยะหลังดูเหมือนโปรโมชั่นนี้จะไม่ตื่นเต้น เพราะสายการบินอื่นต่างก็ออกราคาไม่ถึง 1 พันบาท ถึง 1 พันบาทต้นๆ ซึ่งไม่ต้องจองล่วงหน้าแบบข้ามปี

และบางสายการบินยังมีการทำราคาแบบยืดหยุ่นโดยไม่ต้องออกโปรโมชั่น 20 ที่นั่งแรกราคาต่ำสุด ก่อนที่ราคาจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสาร และหากที่นั่งเหลือยังเลหลังให้เสี่ยงดวงได้อีก

ทุกวันนี้มีเว็บไซต์ที่เปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบินมากมาย แม้กระทั่งแอปพลิเคชั่นยอดนิยมอย่าง ThaiFlight หากซื้อแอปพลิเคชั่นแล้ว ยังสามารถเทียบราคาได้อย่างไม่จำกัดระยะเวลาอีกด้วย

จากการทดลองจองตั๋วเครื่องบิน โดยเลือกเส้นทาง ภูเก็ต - กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) พบว่าค่าโดยสารแม้จะราคา 0 บาทจริง แต่จะมีค่าใช้จ่ายยิบย่อย

เช่น ค่าบริการสำรองที่นั่ง (Admin Fee) ภาษีสนามบิน ค่าธรรมเนียมในการชำระผ่านบัตรเครดิต รวมแล้วต้องชำระเงินทั้งหมด 257.20 บาท

แตกต่างจากแอร์เอเชีย ที่แม้จะไม่มีค่าบริการสำรองที่นั่ง เพราะได้ยกเลิกไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 แต่ที่ผ่านมาแต่ค่าธรรมเนียมในการชำระผ่านบัตรเครดิต (Processing Fee) ยังแพง

แม้กระทั่งบัตรเครดิตร่วมแอร์เอเชียธนาคารกรุงเทพ ก็ยังไม่ยกเว้นให้ แตกต่างจากชาวมาเลเซีย ยังมีบัตรเครดิตและพรีเพดการ์ดที่จองตั๋วแอร์เอเชียแล้วไม่มีค่าธรรมเนียม

ถึงกระนั้น ก็ยังมีช่องทางชำระเงินอื่นๆ ที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่า เช่น หักจากบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สำหรับลูกค้าที่สมัครบริการ SCB Easy Net รวมทั้งชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

ปัจจุบัน เวียตเจ็ทแอร์ ชำระเฉพาะผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เช่น วีซ่า มาสเตอร์การ์ด เท่านั้น

อีกทั้งที่น่ากังวลคือ ในบางธนาคาร เมื่อชำระผ่านบัตร ระบบจะทำรายการหักจากบัตรทันที ไม่มีเข้าสู่ระบบความปลอดภัย เช่น Verified by VISA หรือ MasterCard SecureCode

ซึ่งถือว่าเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ หลังทำรายการ หากต้องการซื้อน้ำหนักสัมภาระเริ่ม พบว่ายังไม่มีเมนูซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่ม หากต้องการซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มต้องซื้อที่สนามบิน หรือติดต่อคอลล์เซ็นเตอร์ (ที่เขาว่ากันว่าโทรติดยากมาก ไม่มีผู้รับสาย) ซึ่งยังไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “หมายเลขจอง 8 หลัก” ที่ได้รับทางอีเมล พร้อมข้อมูลส่วนตัว ต้องเก็บไว้เป็นความลับ เนื่องจากหากมีผู้ที่เดาชื่อ นามสกุล และเส้นทางการบินได้ถูกต้อง ก็จะสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลในเว็บไซต์ได้

คงต้องดูกันต่อไปว่า ทางสายการบินจะรับมือกับปัญหาที่จะตามมาจากลูกค้าอย่างไร ในเมื่อระบบไม่รองรับให้ลูกค้าทำรายการด้วยตัวเอง และหากค่าธรรมเนียมซื้อน้ำหนักสัมภาระแพงกว่าค่าโดยสารเหมือนบางค่ายก็จะมีปัญหาตามมาอีก

อันที่จริง เวียตเจ็ทแอร์ ได้รับใบอนุญาตจากกรมการบินพลเรือน ให้ทำการบินเส้นทางในประเทศไทยมานานแล้วหลายเส้นทาง แต่ติดปัญหาอยู่ที่การหาผู้ร่วมทุนที่เป็นคนไทย จึงไม่ได้ทำการบินเสียที

เมื่อปี 2556 เวียตเจ็ทแอร์ ได้ร่วมทุนกับ กลุ่มกานต์นิธิฯ ของ ร.อ.สมพงษ์ สุขสงวน เจ้าของสายการบินกานต์แอร์ จัดตั้ง บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท

โดยกลุ่มกานต์นิธิฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และเวียตเจ็ทแอร์ 49%

แต่เมื่อเวียตเจ็ทแอร์จัดหาเครื่องบินล่าช้า โดยมีเครื่องบินเพียงลำเดียว ซึ่งหากจะเปิดบินแบบประจำ ต้องมีเครื่องบินอย่างน้อย 2 ลำขึ้นไป ประกอบกับแนวคิดในการบริหารและการตลาดไม่ตรงกัน

หากยิ่งเปิดบินได้ช้า ก็ยิ่งเสียเปรียบ

ในที่สุดเมื่อต้นปี 2558 กลุ่มกานต์นิธิฯ จึงได้ขายหุ้นไทย เวียตเจ็ทฯ ให้กับ นายสถิระวัฒน์ พลนาค และ น.ส.อัญชิตา กมลเกียรติ์กิตติ ให้ไปบริการจัดการต่อ รวมทั้งนักธุรกิจรายอื่น ๆ แล้วหันมาขยายเส้นทางการบินของกานต์แอร์

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเวียตเจ็ทแอร์ในการเปิดเส้นทางบินในประเทศไทยยังไม่จบ ตัดสินใจต่อใบอนุญาตกับกรมการบินพลเรือนอีกครั้ง กระทั่งได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 โดยมีเส้นทางในประเทศ 3 เส้นทางข้างต้น

ปัจจุบัน บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด มี นางเหวียน ถิ ถวี บิ่ง รองประธานสายการบินเวียตเจ็ท เวียดนาม พร้อมด้วย นายสถิระวัฒน์ พลนาค และ น.ส.อัญชิตา กมลเกียรติ์กิตติ เป็นกรรมการบริษัท

โดยมีผู้ถือหุ้นคนไทย 4 ราย มูลค่าการลงทุน 104 ล้านบาท คิดเป็น 52% และผู้ถือหุ้นต่างชาติ 8 ราย มูลค่าการลงทุน 96 ล้านบาท คิดเป็น 48%

แต่ข้อมูลผู้ถือหุ้นต้องไปค้นกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่กระทรวงพาณิชย์อีกที

ในวันเปิดตัวเส้นทางบินใหม่ในประเทศไทย นางเหวียน กล่าวว่า ตั้งเป้าว่าในปีนี้ทั้ง 4 เส้นทางจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน

และเตรียมเปิดเส้นทางการบินอีก 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - หาดใหญ่ และ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) - อุดรธานี

หากกวัดกันเฉพาะเส้นทางในประเทศ ไทยเวียตเจ็ทแอร์ น่าจะเป็นโลว์คอสต์แอร์ไลน์เพียงส่วนน้อยที่มีเส้นทางบินเริ่มต้นที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ

ขณะที่สายการบินอื่น อย่างเช่น ไทยแอร์เอเชีย, นกแอร์, ไทยไลอ้อนแอร์ ยังคงใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่เช่นเดิม

ส่วนไทยสมายล์ สายการบินลูกของการบินไทย ยังคงมีเที่ยวบินที่ดอนเมือง 3 เส้นทาง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต ส่วนหลายเส้นทางในประเทศยังอยู่ที่สุวรรณภูมิ

แม้การเข้ามาของไทยเวียตเจ็ทแอร์จะถูกมองว่าล่าช้าเกินไป เมื่อเทียบกับสายการบินอื่น อย่างแอร์เอเชีย และนกแอร์ได้ขยายเส้นทางหัวเมืองรองไปแล้ว

แต่เมื่อจุดเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือว่าได้เปรียบในระดับหนึ่ง

เพราะปัจจุบันนอกจากไทยสมายล์แล้ว แทบจะไม่มีสายการบินโลว์คอสต์เจ้าใดที่บินตรงไปยังสุวรรณภูมิ เพื่อต่อเครื่องไปยังประเทศต่างๆ

หรือหากมาจากต่างประเทศ ต้องการต่อเที่ยวบินไปยังจังหวัดต่างๆ ต้องต่อรถชัทเทิลบัสของ ทอท., รถโดยสารประจำทาง, รถตู้ หรือแท็กซี่ ไปขึ้นเครื่องที่ดอนเมือง

ซึ่งเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายของผู้ที่ต้องการเดินทางจากต้นทางดอนเมือง ที่เน้นความสะดวกในการขึ้น – ลงเครื่องบิน เพราะมีรถประจำทางหลายสาย และรถไฟวิ่งผ่าน รวมทั้งยังใกล้กับใจกลางกรุงเทพฯ มากกว่า

ถึงกระนั้น การแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์ ที่เน้นเรื่องคุณภาพการให้บริการ และความยืดหยุ่นด้านราคา มากกว่าการใช้สงครามราคาในอดีต

การเปิดตัวเส้นทางใหม่ของไทยเวียตเจ็ท 0 บาทในครั้งนี้อาจจะหวือหวาในระยะหนึ่ง

แต่หากมีโปรโมชั่นแรงๆ ถี่เกินไป ผู้บริโภคก็จะรู้สึกว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่ และถูกมองข้ามไป หากไม่สร้างกลยุทธ์อื่นนอกจากสงครามราคา การแข่งขันของไทยเวียตเจ็ทแอร์กับสายการบินอื่นก็คงเป็นเรื่องลำบาก

เมื่อมาดูสายการบินเจ้าอื่น แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีการเปิดเส้นทางบินในประเทศใหม่ จากต้นทางต่างจังหวัด เช่น อู่ตะเภา ไป เชียงใหม่ หาดใหญ่ และ อุดรธานี

แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังชะลอตัว นักท่องเที่ยวลดลง ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง อีกทั้งเส้นทางใหม่ทำให้ผู้โดยสารกระจัดกระจายไปในเส้นทางอื่น จึงทำให้บางเส้นทางที่มีอยู่เดิมต้องถูกลดไฟล์ทบินลง

นอกจากนี้ การเลือกเปิดเส้นทางใหม่ในหลายสายการบิน ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อทดลองตลาด หากเส้นทางไหนบินแล้วไม่คุ้ม ผู้โดยสารน้อย

สุดท้ายก็จะยุบเที่ยวบินแล้วเปิดเส้นทางใหม่ หรือเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางเดิม แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

เช่น เส้นทางอุดรธานี นอกจากก่อนหน้านี้ บางกอกแอร์เวย์ จะปิดตำนานโดยยุบเส้นทาง เชียงใหม่ - อุดรธานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 และ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – อุดรธานี ไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 แล้ว

ล่าสุด แอร์เอเชีย ก็ยุบไฟล์ทลงเช่นกัน เหลือเพียงแค่ 2 เที่ยวบิน แตกต่างจากนกแอร์ที่มีวันละ 5 เที่ยวบิน และไทยไลอ้อนแอร์วันละ 4 เที่ยวบิน

จากเดิม เส้นทาง ดอนเมือง - อุดรธานี มีวันละ 3 เที่ยวบิน ได้แก่ 08.10 น., 11.30 น. และ 20.30 น. แต่หลังวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ได้ยุบไฟล์ทเช้า เหลือเพียง 2 เที่ยวบิน คือ 10.35 น. และ 17.15 น. เท่านั้น

ส่วนเส้นทาง อุดรธานี - ดอนเมือง วันละ 3 เที่ยวบิน ได้แก่ 09.45 น., 13.00 น. และ 22.00 น. ได้ยุบไฟล์ทสาย เหลือเพียง 12.05 น. และ 18.50 น. เท่านั้น

ส่วนหนึ่งที่ยุบไฟล์ท อาจเป็นเพราะมาจากการที่แอร์เอเชียมีเที่ยวบินตรง ดอนเมือง - เวียงจันทน์ ของ สปป. ลาว โดยออกจากดอนเมือง 12.05 น. และเที่ยวกลับ 14.15 น. ด้วยค่าโดยสารไม่ถึง 2,000 บาทเท่านั้น

ทำให้ลูกค้าแอร์เอเชียชาวลาวส่วนหนึ่ง ที่เคยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาขึ้นเครื่องที่อุดรธานี เลือกที่จะขึ้นเครื่องที่เวียงจันทน์แทน เพราะจากสนามบินวัดไต ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์เพียงแค่ 5 - 6 กิโลเมตรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แอร์เอเชียยังมีเส้นทาง อู่ตะเภา (พัทยา) - อุดรธานี วันละ 1 เที่ยวบินในช่วงเช้า และเส้นทาง ภูเก็ต - อุดรธานี วันละ 1 เที่ยวบินในช่วงเย็น

นอกจากเส้นทางอุดรธานีแล้ว เส้นทางสกลนคร จากอดีตที่แอร์เอเชียเคยเปิดตัว 2 เที่ยวบิน เช้ากับเย็น ยุบเหลือเพียงแค่ไฟล์ทเช้า 1 เที่ยวบิน ออกจากดอนเมือง 06.55 น. และออกจากสกลนคร 08.10 น. เท่านั้น

นอกนั้นนกแอร์บิน 3 เที่ยวต่อวัน ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 สลับกับเครื่องบินแบบใบพัดรุ่น Q400 โดยออกจากดอนเมืองเวลา 08.05 น., 12.45 น. และ 18.30 น. ออกจากสกลนครเวลา 09.45 น., 14.25 น. และ 20.05 น.

ส่วน เส้นทางขอนแก่น จากกระแสเปิดตัวด้วย “ณเดชน์ คูกิมิยะ” ด้วยทำเลศูนย์กลางทางราชการและสถานศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้แอร์เอเชียยังคงขายดี

ปัจจุบันเส้นทาง ดอนเมือง - ขอนแก่น มีให้บริการวันละ 4 เที่ยวบิน มากกว่านกแอร์ที่มีเพียงแค่ 2 เที่ยวบินเท่านั้น รวมทั้งได้เปิดเส้นทาง ขอนแก่น - เชียงใหม่ และ ขอนแก่น - หาดใหญ่ อีกด้วย

แต่สำหรับ ไทยสมายล์ พบว่าตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2559 ทุกเที่ยวบินจาก ดอนเมือง - ขอนแก่น กลายเป็นราคา Smile Flexi คือ 2,780 บาท

ซึ่งราคานี้ เปลี่ยนแปลงวันและเวลาเดินทางได้ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินได้ (มีค่าธรรมเนียม)

ทราบมาว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะไทยสมายล์เตรียมที่จะยุบเส้นทาง ดอนเมือง - ขอนแก่น โดยให้ลูกค้าไปใช้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) – ขอนแก่น ซึ่งมีให้บริการวันละ 5 เที่ยวบินแทน

ส่วนเส้นทาง ดอนเมือง - เชียงใหม่ และ ดอนเมือง - ภูเก็ต ไทยสมายล์ยังคงมีให้บริการตามเดิม

ขึ้นอยู่กับนโยบายสายการบินว่าจะถอนเส้นทางออกจากดอนเมืองทั้งหมด ทำการบินเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอย่างเดียวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูข้อมูลจากกรมการบินพลเรือน พบว่าในปี 2559 ไทยสมายล์ได้รับใบอนุญาตทำการบินแบบประจำ เส้นทาง กรุงเทพฯ – ร้อยเอ็ด อยู่ในมือ

แต่ยังเป็นไปในลักษณะ CODE SHARE กับนกแอร์ ยังไม่ได้ทำการบินโดยตรง

การเปิดตัวเที่ยวบินในไทยของเวียตเจ็ทแอร์ ท่ามกลางสายการบินเจ้าตลาดปรับตัวเช่นนี้ น่าคิดว่าการแข่งขันในยามเศรษฐกิจซบเซาจะเป็นอย่างไร จะมีรายไหนเจ็บตัวหรือไม่ น่าจับตามองอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น