xs
xsm
sm
md
lg

Alone in Kyoto ๒.๐ : Nishi hongan ji วัดนี้ไม่ธรรมดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน
Alone in Gifu ๑.๐ : กว่าจะถึงทาคะยะมะ ...
Alone in Gifu ๑.๑ : ตะลุย หมู่บ้านชาวฮิดะ Hida no sato
Alone in Gifu ๑.๒ : มรดกโลก Shirakawa go
Alone in Gifu ๑.๓ : Sanmachi เขาว่าที่นี่ Little Kyoto
Alone in Chubu : ข้าวหน้าทะเล สุดอลัง!! ที่ Kanazawa

๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ : สถานีรถไฟเจอาร์ คานะซะวะ จ.อิชิกะวะ

รถไฟด่วนพิเศษธันเดอร์เบิร์ด กำลังพาผมจากเมืองคานะซะวะ ข้าม จ.อิชิกะวะ ผ่าน จ.ฟุกุอิ เข้า จ.ชิงะ เลาะริมทะเลสาบบิวะ (Biwa lake) ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เพื่อมุ่งหน้าสู่เกียวโต เมืองเก่าของเราแต่ก่อน จิตใจอาวรณ์ มาเล่าสู่กันฟัง ...เดี๋ยวๆ นั่นมันเพลงอยุธยารำลึก

ตลอดเส้นทางนี้นอกจากวิวของทะเลสาบทางด้านซ้ายมือแล้ว เราจะได้เห็นไร่นาชาวบ้าน และบ้านเรือนแบบชนบทของญี่ปุ่น บางบ้านอยู่หลังเดียวโดดๆ กลางทุ่งนาก็มี ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่าๆ รถไฟสายด่วนก็มาจอดยังสถานีรถไฟเกียวโต ปลายทางของเราในวันนี้

จริงๆ แล้วถือเป็นครั้งที่ ๒ ที่ผมได้กลับมาที่นี่ นับตั้งแต่ตอนมาญี่ปุ่นคราแรก ซึ่งผมก็เคยเล่าให้อ่านกันไปแล้วในหลากๆ สถานที่ที่ถือว่าเป็นแลนด์มาร์กของเมืองทั้งวัดคิโยะมิสุ , ย่านอาระชิยะมะ กับป่าไผ่ และรถไฟสายโรแมนติก , ย่านกิอง ,วัดคินคะคุ ,ศาลเจ้าคิตะโนะ , ศาลเจ้าฮิระโนะ และ ศาลเจ้าฟุชิมิ อินะริ ... ก็กวาดไปเยอะเหมือนกันแฮะ

แล้วผมมาอีกทำไม?

อย่างที่เคยบอกไว้ว่าเกียวโตเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อน ฉะนั้นก็ย่อมมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกหลายๆ แห่งที่ผมพลาดไป และอีกอย่าง ในครั้งนั้นผมก็ไม่ได้นอนที่นี่ด้วย คราวนี้ก็จะได้ถือโอกาสสัมผัสเมืองนี้ด้วยการนอน (หือ?) และตามเก็บสถานที่ที่น่าสนใจเพิ่ม แต่ก่อนอื่นผมต้องปฏิบัติภารกิจนี้ก่อนครับ นั่นคือไปหาซื้อตั๋วรถเมล์แบบตั๋ววัน ที่นี่เรียกว่า เกียวโต ซิตี้บัส ออล เดย์ พาส (Kyoto City bus all day pass) จำหน่ายที่สถานีรถไฟใต้ดิน หรือ บริเวณท่ารถ เป็นบัตรโดยสารในราคา ๕๐๐ บาท สามารถขึ้นรถเมล์สีเขียวยี่ห้อ เกียวโตบัสได้ทั้งวัน โดยเขาจะมีแผนที่มาเป็นไกด์บุ๊กระบุสายใดไปแหล่งท่องเที่ยวไหนได้บ้างแนบมาให้ด้วย แต่... ผมยังไม่ได้ใช้ตอนนี้ครับ เก็บไว้พรุ่งนี้พี่จะนั่งให้คุ้มเลย ...

จากสถานีรถไฟเกียวโต ผมมุ่งหน้าสู่ที่พักด้วยรถเมล์สาย ๕๐ นั่งไปไม่ไกลนักก็ถึง ที่พักผมชื่อ “เกสต์เฮาส์ ยาฮะตะ” (Guesthouse Yahata) อยู่ในซอยเล็กๆ บนถนนนิชิโนะโตะอิน (Nishinotoin dori) เป็นลักษณะคล้ายกับบ้านเก่ามาต่อเติมทำเป็นบ้านพัก พอเปิดเข้าที่พักเจอสาวชาวต่างชาติมาคอยต้อนรับด้วย โอ้ อินเตอร์ซะไม่มี สอบถามน้องเป็นชาวอิตาลี เป็นนักศึกษาอยู่ในเกียวโต มาทำงานพาร์ทไทม์ดูแลเกสต์เฮาส์นี้ ก่อนจะพาผมขึ้นไปบนห้อง ซึ่งอยู่ชั้นบนสุด เป็นห้องใต้หลังคาครับ ติดบันไดเลยทีเดียว เป็นห้องกึ่งเปลือย เพราะผนังด้านหน้าเป็นไม้ตีเว้นช่อง ดูคล้ายลูกกรงช่างคุ้นตาเหลือเกิน ... ส่วนภายในห้องมีแค่เตียงกับหมอนและผ้าห่ม ซึ่งหัวเตียงนี่แทบจะติดกับหลังคาเลยทีเดียว ผมต้องขยับเขยื้อนหามุมในการนอนใหม่เพื่อไม่ให้หัวชนกับคานไม้ท่อนใหญ่ เออ ก็แปลกดีเหมือนกัน ห้องอาบน้ำและห้องน้ำมี ๒ ห้องอยู่ชั้นล่าง และไม่มีที่ฉีดก้นอัตโนมัติ

พอจัดแจงที่นอนเสร็จก็ได้เวลาไปตามหาของอร่อยๆ กินล่ะครับ แถวนี้จากที่สำรวจในเว็บทะเบะล๊อคก็มีหลายร้านที่ได้รับความนิยม แต่ผมมีกระเพาะเดียว คงต้องเลือกเอาแต่สิ่งที่อยากกินเป็นหลัก และเมนูที่ผมจะทานเป็นมื้อเย็นวันนี้ก็คือ สึเคะเม็ง เจ้าหนึ่งที่เขาว่าอร่อยในย่านนี้ แต่ค่อนข้างจะไกลจากที่พักพอสมควร มันอยู่ในซอยเล็กๆ บนถนนชิโจะ (Shijo Dori) ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟใต้ดินคะระสุมะ (Karasuma) ร้านชื่อว่า “วาโจะเรียวเม็ง สุงะริ” (和醸良麺 すがり)

ภายในซอยร้านเป็นซอกเล็กๆ แบบไม่คิดว่ามันจะมีร้านเด็ดอยู่ในนี้ด้วย และที่แปลกกว่านั้นคือ หน้าร้านเป็นบ้านสไตล์ญี่ปุ่นติดกระจก มีซี่ลูกกรงไม้มองเห็นภายในมีคนกำลังทานอาหาร ประตูทางเข้าอยู่ด้านข้าง เปิดเข้ามาเจอทางเล็กๆ พาไปสู่สวนหลังบ้าน ตรงนี้เราต้องไปเลือกสินค้าที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติตามแบบฉบับของร้านราเม็งทั่วไป ไอ้ผมก็ยืนโง่ๆ อยู่สักพัก เพราะมันเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วนๆ จนมีคนเดินเข้ามาก็เลยเอาภาพอาหารให้เขาดูแล้ววานให้ช่วยกดหน่อย เขาก็จัดการให้พร้อมให้เราหยอดเหรียญเอง หมดเงินไปมื้อนี้ ๙๐๐ เยน

พอกดเสร็จก็ได้ตั๋วไปนั่งรอคิวกับชาวบ้านเขา ที่เห็นมีอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าคนได้ แล้วในร้านมีโต๊ะนั่งรอบๆ เคาน์เตอร์บาร์ไม่ถึง ๑๐ ที่!! ไอ้เราจะสละคิวไปกินร้านอื่นก็ไม่ได้อีก เสียตังค์ไปแล้ว (แพงด้วย) ก็ต้องอดทนรอมันไป .... ๔๐ นาที!! โอ้...ชีวิต ถ้ามันไม่อร่อยนะ ....

ที่เคาน์เตอร์มีพ่อครัว ๒ คนกำลังชุลมุนปรุงบะหมี่ พอเก้าอี้ว่างก็เรียกคิวต่อไปให้มานั่ง ถ้ามากันเป็นคู่ หรือกลุ่ม ก็ให้รอจนกว่าจะมีเก้าอี้ว่างติดกันจนครบจำนวน ไม่ได้เรียกให้คนอื่นมาลัดคิว พอถึงตาผมเขาก็ขอตั๋วกลับไป ที่ผมสั่งก็คือ “โมะสึ สึเคะเม็ง” (もつつけ麺) แล้วถามผมว่า จะเอาเส้นแบบไหน ที่นี่มีให้เลือก ๒ เส้นคือ โซบะ กับราเม็งเส้นใหญ่ ผมเลือกราเม็งเพราะไม่ชินกับโซบะ แล้วเขาก็เริ่มกระบวนการผลิต คนหล่อๆ ทำหน้าที่ลวกเส้น ส่วนคนอ้วนๆ นำชิ้นเนื้อมาเผาไฟและปรุงน้ำซุป

ไม่นานนักบะหมี่ที่สั่งก็นำมาเสิร์ฟ แยกเป็น ๒ ถ้วย ถ้วยหนึ่งใส่เส้นราเม็ง ๑.๕ ขีด มีต้นหอมญี่ปุ่นแปะมานิดหน่อย ส่วนอีกชามเป็นน้ำซุปสีน้ำตาลข้น คาดว่าเคี่ยวจากกระดูกหมูและปลา มีเนื้อที่เผาไฟผสมอยู่ชิ้นน้อยๆ วิธีกินก็เอาเส้นจุ่มน้ำแล้วทาน ซุปรสข้นเหมือนสีจริงๆ เค็มๆ มันๆ อร่อยดี โดยเฉพาะเนื้อนี่เหนียวนุ่มดีจัง ชอบๆ ทานเรื่อยๆ จะเริ่มเค็มมากๆ เขามีบริการนำน้ำชาร้อนเติมใส่ในน้ำซุป!!! ให้เจือจางลง เออ เอาอย่างนั้นเลยเหรอ? ซึ่งมันก็จืดลงจริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียรสซุปเลยแฮะ เอาจริงๆ โดยรวมชามนี้ก็อร่อย แต่ถ้ารู้ว่ารอนานขนาดนี้ ถ้าหิวจัดๆ ก็คงขอบาย ...

กินเสร็จจากร้านแรกก็ปาเข้าไปเกือบสามทุ่ม แผนการที่วางไว้ว่าจะต่อร้านโน้นร้านนี้เป็นอันสิ้นสุดลงแทบทั้งหมด เพราะอีกไม่กี่นาทีร้านเหล่านั้นก็จะปิดให้บริการ ผมเหลือบดูในแผน ... ยังเหลืออีกร้านที่พอจะยังเข้าไปนั่งได้ กับร้านขายเกี๊ยวซ่า ที่ชื่อว่า “สุเกะมะสะ” (亮昌) อยู่ในซอยย่อยบนถนนนิชิโนะโตะอิน ไม่ไกลจากที่พักเท่าไหร่ ถ้าพูดอย่างนี้ก็คงนึกว่าเป็นรถเข็นหรือร้านเล็กๆ ... แต่ไม่ใช่ครับ เป็นร้านอาหาร มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งทานหลายที่ แต่ขายเกี๊ยวซ่าอย่างเดียวเนี่ยล่ะครับ มีทั้งแบบเดี่ยวและเป็นเซ็ตพร้อมข้าวด้วย เออ งงมากทานข้าวกับเกี๊ยว เท่าที่เห็นหลายโต๊ะมักสั่งพร้อมเบียร์เป็นเครื่องดื่มด้วยแฮะ สงสัยจะเป็นที่นิยมกัน

ส่วนตัวผมนั้น .. ดื่มชาเขียวฟรีอย่างเดียวดีกว่า ... สั่งเกี๊ยวซ่าเปล่าๆ ๑ จาน ราคา ๓๒๐ เยน ก็ไม่แพงมากนัก ไม่นานก็นำมาเสิร์ฟ มี ๖ ชิ้น ดูจากภายนอกเป็นเกี๊ยวที่ถูกทอดให้กรอบเพียงแค่ฝั่งเดียว ส่วนอีกด้านนั้นนิ่ม ตามแบบญี่ปุ่น ชิมคำแรกสัมผัสถึงความกรอบนอกนุ่มในได้ดี ไส้หมูสับผสมเครื่องปรุงและผัก รสเค็มหน่อยๆ เอาจริงๆ ก็คล้ายๆ กับที่ขายในร้านฮาจิบังบ้านเรา ตัวน้ำจิ้มรสเค็มกับเปรี้ยวแหลม ไม่ค่อยถูกปากเหมือนจิ๊กโฉ่วบ้านเรา

นั่งละเลียดไปเรื่อยๆ พลางใช้ไวไฟฟรีวีดิโอคอลกลับไปยังที่บ้านยั่วเล่นๆ ให้หายคิดถึง ไปๆ มาๆ อยู่จนถึงร้านปิดตอนสี่ทุ่ม ก็ได้เวลากลับไปนอนพักผ่อนที่เกสต์เฮาส์ ไปเจอเจ้าของเขาอยู่ที่เคาน์เตอร์พอดี เลยสอบถามว่าจะขอฝากกระเป๋าไว้แล้วช่วงเย็นจะมารับได้หรือไม่ เจ้าของผู้ชายเขากลับแย่งบอกว่า ให้เอาไว้ได้ไม่เกินบ่าย ๒ โมง ผมก็แอบงง ... เฮ้ย มีงี้ด้วย? เพราะปกติเท่าที่เจอหลายแห่งก็ยินดีที่จะให้ฝากอย่างช้าที่สุดก็ให้มาเอาตอนหัวค่ำ ซึ่งเขาอ้างว่า ทางเดินมันแคบเดี๋ยวแขกที่มาก่อนเวลาเช็กอินจะไม่สามารถวางกระเป๋าได้ .. โอเค เราก็พอเข้าใจ ไม่ว่ากัน ... แค่กลับไปนั่งวางแผนใหม่เท่านั้นเอง

๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ : เกสต์เฮาส์ ยาฮะตะ นครเกียวโต

ผมตื่นแต่เช้าเก็บสัมภาระทำธุระส่วนตัวแล้วลงไปเช็กเอาท์ ที่น่าแปลกคือ ตรงเคาน์เตอร์ไม่มีพนักงานอยู่เลยครับ เขาให้เอากุญแจใส่ไว้ในที่ตระกร้าเฉยๆ เราก็คืนกุญแจแล้วเอากระเป๋าวางตรงที่เขาให้วางเอาไว้ เสร็จแล้วก็ออกเดินทาง เรากำลังจะไปวัดเก่าแก่ที่อยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ครับ ชื่อ “วัดนิชิ ฮงงัน” (Nishi Honganji)

วัดนี้อยู่บนถนนโฮะริคะวะ (Horikawa dori) เป็นวัดที่มีความสำคัญระดับประเทศ ถูกขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก รวมทั้งยังเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งเมืองเกียวโตโบราณด้วย เป็นวัดต้นแห่ง นิกายโจะโดะ ชินชุ (Jodo shinshu) ที่มีอยู่ทั่วญี่ปุ่น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๔ โดยฮิเดะโยะชิ โทะโยะโทะมิ ขุนพลผู้ถืออำนาจสูงสุดในขณะนั้น

ซึ่งนิกายนี้เคยถูกกวาดล้างในสมัยโนะบุนะงะ โอดะ ในสงครามปราบปรามกลุ่ม อิกโกะ อิกกิ (ikko ikki) ที่เหล่าชาวนากับพระจับมือลุกขึ้นสู้ต่อต้านระบบซามูไร มีการปิดล้อมวัดอิชิยะมะ ฮงงัน ที่ต่อมากลายเป็นปราสาทโอซาก้า โดยรบกันนานหลายปี จนในที่สุดโนะบุนะงะ ก็สามารถจัดการทำลายได้สำเร็จ แต่ทว่าอีกไม่กี่ปีต่อมาหลังจากโนะบุนะงะ ถูกลอบสังหาร ฮิเดะโยะชิ คนสนิทของเขาขึ้นมามีอำนาจสูงสุด กลับได้บริจาคที่ดินในแห่งนี้ให้แก่นิกายเพื่อสร้างวัดฮงงัน โดยในปี ๒๑๔๘ โชกุน อิเอะยะสุ โทกุงะวะ ได้ตัดสินใจแบ่งวัดฮงงัน เป็น ๒ คณะสงฆ์ ก็คือวัดนี้ นิชิ ฮงงัน เป็นวัดฝั่งตะวันตก กับอีกวัด ชื่อ ฮิงะชิ ฮงงัน เป็นวัดฝั่งตะวันออก เพื่อลดทอนอำนาจ

สารภาพตามตรงว่า ตอนแรกเดินหลงทิศครับ ... เฉิ่มมากๆ เหม่อไปหน่อยเลยเดินผิดซอย ไปๆ มาๆ มาโผล่วัดฮิงะชิ ฮงงัน ซะงั้น จนต้องเอาแผนที่ไปถามชาวบ้านตลอดทาง กว่าจะกลับเข้าสู้เส้นทางหลักได้ก็เสียเวลาไปหลายนาทีเหมือนกัน โดยเส้นทางที่ผมเดินมานั้นจะผ่านซุ้มประตูขนาดใหญ่ อยู่ปากซอย ฝั่งตรงกันข้ามกับวัด โดยมีถนนใหญ่คั่นกลาง อันที่จริงแล้ว ประตูนี้ คือ ทางเข้าเดิมของวัดนี้ หรือ โซะมง (Somon) ครับ แต่ก่อนอาณาเขตยาวมาถึงนี่ ต่อมาได้มีการตัดถนนใหญ่ พี่เขาก็ผ่าวัดกันไปเลย โดยทางเข้าปัจจุบันนั้น เรียกว่าประตู โกเอะอิ โดะ และ ประตูอมิตะ โดะ (Amida do) เชื่อมสู่ ๒ วิหารหลักของวัด


วัดนี้น่าจะมีพื้นที่ใหญ่มากๆ ครับ จากกำแพงเท่าที่เห็นตามแนวถนนนี่ก็ยาวหลายสิบเมตรอยู่เหมือนกัน ผมข้ามถนนเข้าทางประตูโกเอะอิ โดะ เห็นวิหารไม้ ๒ หลังใหญ่โตตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า มีต้นไม้ขนาดใหญ่มีกิ่งก้านสาขามากมายยืนต้นโดดเด่น อยู่ ๑ ต้น แต่ละกิ่งถูกไม้ค้ำเอาไว้ไม่ให้หักโค่นลงมา นั่นคือ ต้นแปะก๊วยอายุกว่า ๔๐๐ ปี แหม่ ... เขาอนุรักษ์ต้นไม้ไว้ดีจัง ... หันมาดูบ้านเราแล้วก็ ... ได้แต่ร้อง เฮ้อ




ผมเดินเข้ามาสักการะภายในวิหารโกเอะอิ (Goei do) เป็นที่แรก ที่นี่ก็มีธรรมเนียมคล้ายกับที่ว่าการเมืองทาคะยะมะเก่า นั่นคือต้องถอดรองเท้าใส่ถุงพลาสติกแล้วถือเข้าไป ไม่มีรับฝากหรือห้ามวางเกะกะที่บันได ซึ่งวิหารนี้เคยถูกไฟไหม้เมื่อพ.ศ.๒๑๖๐ ก่อนจะสร้างใหม่จนเสร็จเมื่อปี ๒๑๗๙ และเพิ่งทำการปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อปี ๒๕๔๒ ใช้เวลา ๑๐ ปีเสร็จ มีความสูง ๒๙ เมตร กว้าง ๖๒ เมตร และลึก ๔๘ เมตร ภายในเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีการแกะสลักไม้บนผนังใต้คานประตูชั้นใน ตรงกลางประดิษฐานรูปสลักไม้หลวงพ่อชินรัง โชนิน (Shinran Shonin) ผู้ประสาทวิชาโจะโดะ ชินชุ ซึ่งวิหารหลังนี้ก็ถูกจดทะเบียนเป็นสมบัติชาติไว้ด้วย








ถัดมาอีกวิหารหนึ่งที่อยู่ติดกัน คือ วิหารอมิตะ (Amida do) ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอมิตภะ สลักจากไม้ ที่นี่ก็เคยถูกไฟไหม้เช่นเดียวกัน ก่อนจะสร้างขึ้นใหม่จนเสร็จในปี ๒๓๐๓ ต่อมามีการปฏิสังขรณ์ใหม่จนแล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๕๒๘ มีความสูง ๒๕ เมตร กว้าง ๔๕ เมตร และ ลึก ๔๒ เมตร ใช้ประกอบศาสนพิธีทางพุทธ ที่นี่ก็เป็นสมบัติของชาติญี่ปุ่นเช่นดียวกัน โดย ๒ วิหารนี้มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างกันด้วย




นอกจากนี้ก็ยังมีสมบัติชาติอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในวัดแห่งนี้ นั่นก็คือ ซุ้มประตูคาระ มง (Kara mon) ซุ้มประตูเก่าแก่สถาปัตยกรรมสไตล์จีน คาดว่าถูกสร้างมาตั้งแต่ในช่วงต้นของยุคอะซุจิ โมะโมะยะมะ ช่วงปี ๒๑๑๖ – ๒๑๕๗ แต่ซุ้มนี้ไม่ได้อยู่ที่นี่มาตั้งแต่แรกนะครับ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทฟุชิมิ โมะมะยะมะ (Fushimi Momoyama jo) ที่อยู่ของขุนพลฮิเดะโยะชิ ในช่วงบั้นปลายชีวิต แต่ภายหลังในยุคของโชกุนตระกูลโทกุงะวะ ก็ได้สั่งรื้อถอนปราสาทดังกล่าวเมื่อปี ๒๑๖๖ โดยนำชิ้นส่วนกระจายไปตามวัดต่างๆ และซุ้มประตูนี้ก็เป็น ๑ ในนั้น



จริงๆ วัดนี้นอกจากของเก่าแล้ว ยังเป็นสถานที่ศึกษาธรรมะที่สำคัญของนิกายนี้อีกด้วย แต่สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างผม คงได้เพียงแค่ชื่นชมความงามจากสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือมาให้ชนรุ่นหลังได้ดูได้เรียนรู้นี่ก็พอใจแล้วครับ



ที่นี่ยิ่งสายยิ่งมีผู้มาเยือนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น และฝรั่ง ไม่ค่อยเห็นชาวเอเชียโดยเฉพาะคนไทยเท่าไหร่ ผมก็เดินเพลินจนเกือบเลยเวลาที่ต้องเดินทางต่อไปยังสถานที่สำคัญอีกแห่ง อยู่ไม่ไกลกันนัก แต่คราวนี้เราจะเปลี่ยนจากการเดินเป็นนั่งรถเมล์ไปที่นี่ครับ ปราสาทนิโจะ

อ่านต่อฉบับหน้า

ข้อมูลบางส่วน : http://www.hongwanji.or.jp/english/ , http://www.japan-guide.com/e/e3920.html
กำลังโหลดความคิดเห็น