xs
xsm
sm
md
lg

การคุกคามด้วยการเชิญชวนให้ทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์

เผยแพร่:   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน


ทุกวันนี้เราได้รับโทรศัพท์และเอสเอ็มเอสแปลก ๆ ทั้งขายประกัน การเชิญชวนให้ใช้บริการสินเชื่อ หรือเสนอให้ใช้บัตรเครดิตของธนาคารต่างๆ คำถามว่า คนเหล่านี้เอาข้อมูลเรามาจากไหน เพราะเขารู้ทันทีว่าเราชื่ออะไรเป็นใคร จนจับใจความได้ว่าเขาน่าจะรู้ถึงตับไตใส้พุงของเราด้วย

คำตอบก็คือข้อมูลของเราถูกเอาไปขายเมื่อเราเผลอไปกรอกเอกสารตามงานต่างๆ ติดต่อหน่วยงาน หรือทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวที่ผิดกฎหมาย

แม้ปัจจุบันกสทช.จะออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกระทําที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากําไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ พ.ศ. 2558แล้วก็ตาม

(5) การกระทําโดยการโทรศัพท์หรือส่งข้อความการโฆษณามายังเครื่องโทรคมนาคมหรือ อุปกรณ์ของผู้บริโภคจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้บริโภค หรือโดยมิได้รับอนุญาตหรือ ความยินยอมจากผู้บริโภค เว้นแต่เป็นการแจ้งเงื่อนไขการให้บริการหรือข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของ ผู้บริโภค หรือแจ้งเหตุเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ รวมถึงเพื่อประโยชน์สาธารณะ

แต่ดูเหมือนจะมุ่งการคุ้มครองที่การส่งเอสเอ็มเอสจนเบาบางลงไปแล้ว แต่การที่บางองค์กรเอกชนที่ได้ข้อมูลของเรามาโดยไม่ชอบแล้วถือวิสาสะโทรเข้ามาเพื่อขายสินค้าหรือบริการกับเรายังไม่เบาบางลงเลย เพราะประกาศนั้นดูจะมุ่งเน้นที่ป้องกันการรบกวนจากผู้ประกอบการโทรศัพท์มากกว่า

การโทรเข้ามาถึงตัวเท่ากับเราถูกคุกคามเป็นการรุกล้ำสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นส่วนตัวของเรา ยิ่งกว่าเอสเอ็มเอสอีก แต่ทำไมจึงยังเกิดขึ้นได้จนเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา และนับวันยิ่งมีมากขึ้นด้วยซ้ำไป

แล้วเราจะป้องกันการละเมิดส่วนบุคคลนี้ได้อย่างไร

ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ระบุว่า “ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม หรือประวัติการทํางาน บรรดาที่มีชื่อของผู้นั้น หรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทําให้รู้ตัวผู้นั้นได้เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคนหรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่เรากำลังจะทำประชามติ มาตรา 32 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ

แม้ว่าเราจะมีกฎหมายที่ครอบคลุมข้อมูลส่วนบุคคลอยู่บ้างแล้ว แต่ในทางความเป็นจริงเรากลับถูกละเมิดตลอดเวลา และส่วนใหญ่กระทำโดยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เช่น องค์กรธุรกิจด้านการเงินหรือธนาคารนั่นเอง นี่เป็นข้อมูลจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมนะครับ เพราะส่วนใหญ่โทรศัพท์ที่ผมได้รับมักเป็นการโทรมาขอให้ใช้บัตรเครดิตหรือให้สินเชื่อจากธนาคารต่างๆและการขายประกันสัปดาห์ละหลายราย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สังคมกำลังตั้งคำถามอยู่คือ เรากำลังยกระดับสู่ National E-Payment รวมทั้งการทำธุรกรรมการเงินรูปแบบใหม่ พร้อมเพย์ (PromptPay)โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนในการโอนเงินและรับโอนเงินจากคนอื่น โดยไม่ต้องมีเลขที่บัญชีธนาคารนั้นเรามีมาตรการด้านความปลอดภัยและละเมิดการเป็นส่วนตัวอย่างไร

การทำธุรกรรมดังกล่าวธนาคารเจ้าของบัญชีนอกจากได้ค่าธรรมเนียมแล้วยังแทบจะรู้พฤติกรรมของเราทุกกระเบียดนิ้วว่าไปใช้เงินที่ไหนบ้าง เราจะไม่ถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวยิ่งกว่าเก่าหรือ

โดยการทำธุรกรรมที่เรียกว่า พร้อมเพย์ (PromptPay)นี้ภาครัฐเตรียมจะเปิดลงทะเบียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้แล้ว และจะเปิดให้บริการในวันที่ 31 ตุลาคม

จนผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาตั้งคำถามถึงแผนรับมือทางด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง หรือการสร้างระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพื่อกำกับดูแลในเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ว่ากฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ในการคุ้มครองประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ซึ่งไม่ใช่แค่ห่วงว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเราจะถูกนำไปขายในทางธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการตั้งคำถามถึงการป้องกันด้านอาชญากรรมด้วย โดยมองว่า พรบ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายที่ล้าสมัยไปแล้ว

นั่นเป็นคำถามว่า เราพร้อมเข้าสู่การเป็น National E-Payment จริง ๆ หรือ

ในขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ โดยร่างกฎหมายนี้ให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ประวัติการทำงาน หรือประวัติกิจกรรม และเลขหมาย รหัส หรือสิ่งที่บอกลักษณะอื่นที่จะทำให้รู้ตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ลายนิ้วมือแผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคน รูปถ่าย ซึ่งคลอบคลุมไปถึงบุคคลที่ถึงแก่กรรมด้วย ทั้งนี้บุคคลที่ถึงแก่กรรมจะให้ทายาทหรือคู่สมรสของมีสิทธิเสมือนเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นๆ ได้

ถ้าเราจะเดินหน้า National E-Payment นอกจากควรแก้ไขกฎหมายด้านการทำธุรกรรมอิเลคทรอนิกส์ให้รัดกุมแล้ว เราควรจะเร่งให้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลผ่านมาเป็นกฎหมายก่อนดีไหม เพื่อเป็นหลักประกันว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเราจะมีความปลอดภัย และเราจะไม่ถูกคุกคามผ่านโทรศัพท์อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น