xs
xsm
sm
md
lg

การหย่าร้างระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

ช่วงนี้ไม่ว่าจะไปนั่งในวงเสวนาวงไหนไม่ว่าจะที่ออฟฟิศหรือวงเม้าท์ในกลุ่มเพื่อนฝูงก็มีแต่คนพูดถึงเรื่องอังกฤษที่เพิ่งจะทำประชามติว่าจะอยู่กับอียูต่อหรือจะออกจากอียูไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นทอล์คออฟเดอะเวิล์ดกันเลยทีเดียว นักวิเคราะห์มากมายต่างออกมาแสดงทัศนะกันไว้หลากหลายแง่มุม

สหภาพยุโรปพัฒนามาจาก ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป เมื่อปี ค.ศ.1952 มีสมาชิกก่อตั้ง 6 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก แล้วพัฒนาเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรป(EEC) ในปี 1958 ต่อมาปี 1993 มีการรวมเป็นตลาดเดียว เปลี่ยนเป็นประชาคมยุโรป(EC) และลงนามสนธิสัญญามาสตริกท์ เปลี่ยน เป็นสหภาพยุโรป ในปี 1992 เพื่อร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ โดยการจัดตั้งตลาดร่วม ยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิก ใช้นโยบายการค้าและการจัดเก็บภาษีศุลกากรระบบเดียวกัน

โครงสร้างของสหภาพยุโรปมีลักษณะเหนือชาติ หรือ Supranational มีสถาบันที่มีอำนาจเหนือรัฐสมาชิก คือ สภายุโรปซึ่งเลือกตั้งจากพลเมืองของชาติสมาชิกทุก 5 ปี และยังมีคณะมนตรีความมั่นคง คณะกรรมาธิการ ศาลยุติธรรม

สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ ไม่ใช่ประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง แต่เข้าเป็นสมาชิกปี 1973 หลังจากการก่อตั้งถึง 21 ปี และเป็นประเทศสมาชิกที่เลือกใช้เงินปอนด์ของตัวเอง ไม่ใช้เงินสกุลยูโร ก่อนหน้านี้ มีการทำประชามติเรื่องการใช้สกุลเงิน ในปี 2011 ประชาชนอังกฤษ 60% โหวตให้ใช้เงินปอนด์

ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิก 28 ประเทศ สมาชิกที่เพิ่มเข้ามาภายหลัง ส่วนใหญ่เป็นเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก เช่น ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย บัลกาเรียและประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจการเมือง อย่าง กรีซ สมาชิกบางประเทศไม่ใช้เงินสกุลยูโรเช่นเดียวกับอังกฤษ มีสมาชิกที่ใช้เงินยูโร 19 ประเทศเท่านั้น

อังกฤษเป็นชาติแรกที่ลาออกจากประวัติศาสตร์ 60 ปีของอียู ด้วยการทำประชามติ ซึ่งผลรวมคะแนนทั้ง 382 เขต ประกาศผลการนับคะแนนในทุกเขตครบถ้วน ปรากฏว่า ผู้ออกเสียงที่เลือก “แยกตัว” ชนะผู้ที่ต้องการ “คงอยู่” ในอียู 51.9% ต่อ 48.1% มีผู้โหวตให้ออกจากอียู 17.4 ล้านคน ส่วนผู้ลงคะแนนให้เป็นสมาชิกต่อไปมี 16.1 ล้านคน

ผลจากประชามติก็ทำให้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ต้องจำใจประกาศจะขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลประชามติในครั้งนี้ นี่แหละครับสปิริตทางการเมืองของผู้นำในประเทศชาธิปไตยอย่างอังกฤษ

ขณะเดียวกันทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคนไทยไม่ต้องตื่นเต้นกับเรื่องนี้เลย เพราะประเทศไทยนั้นมีการค้ากับอังกฤษน้อยมากๆ คิดเป็นเพียง 2% ของยอดการส่งออกทั้งหมด ซึ่งแปลว่าไม่ว่าอังกฤษจะยังอยู่ในสหภาพยุโรปหรือไม่ ก็ไม่กระทบกับคนไทยสักเท่าไร

สำหรับคนไทยที่ไปเรียนต่อที่อังกฤษกันเยอะครับ เมื่ออังกฤษออกจากอียูแบบนี้ ก็ทำให้ค่าเงินปอนด์ตกลง แปลว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ช่วงนี้ก็จะถูกลงไปด้วย ค่าเงินปอนด์ถูกลงค่าใช้จ่ายก็น่าจะถูกลงด้วย เป็นความโชคดีของนักเรียนไทยที่อังกฤษในตอนนี้

ค่าเงินปอนด์ถูกลงอีกอาชีพหนึ่งที่กระทบหนักคือนักฟุตบอลที่จะเลือกมาค้าแข้งในเวทีฟุตบอลอังกฤษ เมื่อค่าเงินถูกลงค่าตัวต่ำลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทั้งในและนอกยุโรป แต่คงไม่นานหรอกครับ ค่าเงินปอนด์คงปรับตัวขึ้น ที่ผ่านมาอังกฤษใช้เงินปอนด์มาตลอด ไม่เคยใช้เงินยูโร แม้จะเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปก็ตาม

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนทั่วไปในอังกฤษด้วยเพราะเมื่อก่อนเวลาจะขอเวิร์คเพอร์มิตเพื่อทำงานในอังกฤษนั้น ผู้ถือพาสปอร์ตสัญชาติอื่นๆในยุโรปไม่มีปัญหามากมายในการมาทำงานในอังกฤษ แต่เมื่ออังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ข้อยกเว้นนี้อาจจะถูกยกเลิก และการได้มาซึ่งเวิร์คเพอร์มิตในอังกฤษก็จะยากขึ้นตามไปด้วย

ปัญหาผู้อพยพก็เป็นเรื่องที่ชาวอังกฤษกังวลกันมาก เพราะช่วงหลังๆมานี้ผู้อพยพชาวซีเรียที่หนีภัยสงครามเข้าไปในประเทศต่างๆในยุโรป สร้างความปวดหัวให้กับหลายประเทศ อังกฤษเป็นประเทศชาตินิยมจ๋า แถมยังเป็นเจ้าอาณานิคมอีกต่างหาก ยิ่งต้องการกำหนดนโยบายของตนเอง ไม่อยากให้ใครเข้ามามีอำนาจเหนือประเทศของพวกเขา

จริงๆแล้วผลประชามตินี้อาจจะสะท้อนถึงการรวมกลุ่มกันของสหภาพยุโรป ที่หลายประเทศเองก็คนเห็นว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้น เช่นปัญหาที่เกิดกับประเทศกรีซ ซึ่งกลายเป็นเหมือนประเทศที่เศรษฐกิจล่มสลายไปแล้ว แต่ก็เพราะการยังคงจับกลุ่มกันของประเทศสหภาพยุโรป ก็แน่นอนละครับว่าเรื่องแบบนี้ก็จะต้องรับผิดชอบร่วมกันช่วยเหลือประคับประคองกัน

กรณีอังกฤษมีประชามติออกจากสหภาพยุโรป เป็นบทเรียนให้ไทยและประชาคมอาเซียนได้เหมือนกันว่าการจับกลุ่มกันมีผลประโยชน์หรืออำนาจต่อรองร่วมกันมันคุ้มหรือไม่กับระยะทางอีกไกลที่ต้องกอดคอกันเดิน ยิ่งวันไหนที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเริ่มหมดแรงที่จะเดินต่อ และบางประเทศอาจจะเหนื่อยที่ต้องฉุดดึงประเทศอื่นๆให้เดินตามกันไปให้ตลอดรอดฝั่ง

เมื่ออังกฤษออกจากสหาภาพยุโรป ย่อมมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ หลายชาติในยุโรปเริ่มมีแนวคิดทำประชามติเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าต่อไปดวงดาวบนธงสหภาพยุโรปจะเหลือสักกี่ดวง เพราะท่าทางงานนี้อาจมีดาวกระจายเพิ่มขึ้น

จะว่าไปประเทศไทยเองก็กำลังจะมีประชามติ เรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปู่มีชัย ภายใต้การจัดการของนายกลุงตู่ ผลออกมายังไงก็ยังไม่ทราบ แต่ผมละกลัวจริงๆว่าคนบางคนจะเอากรณีของอังกฤษมาเป็นข้ออ้างให้ลุงตู่มีมาตรฐานเดียวกับเดวิด คาเมรอน ที่ต้องลาออกหลังพ่ายแพ้ในประชามติครั้งนี้

มองแบบขำๆตอนนี้อังกฤษกับสหภาพยุโรปก็เหมือนคู่แต่งงาน ตอนแต่งกันใหม่ๆอังกฤษไม่ค่อยมีใจอยากร่วมหอลงโรงด้วยสักเท่าไร ดูท่าทีอยู่นานปี อยู่ไปนานเข้าความรักจืดจางลง ทัศนะไม่ตรงกัน และกำลังจะหย่าร้างกัน โดยมีสก๊อตแลนด์ เวลล์ และนอร์ทไอร์แลน์ คือลูกๆทั้งสาม โดยตอนนี้ก็กำลังจะจัดการสินสมรส ผลประโยชน์ต่างๆของทั้งสองฝ่าย ลูกๆที่คิดต่างกันใครจะยังคงอยู่กับพ่อ หรือใครจะอยู่กับแม่

เรื่องเหล่านี้ก็คงได้แต่ดูกันยาวๆต่อไป ว่าสหภาพยุโรปจะหาทางง้ออังกฤษแบบไหน หรือสุดท้ายหลังการหย่าครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้นตามมา ล่าสุดประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้งหกประเทศมีท่าทีอยากให้อังกฤษดำเนินนการออกไปเสียเร็วๆ ส่วนผู้นำเยอรมันมีท่าทีต้องการให้สหภาพยุโรปยังคงเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ
กำลังโหลดความคิดเห็น