xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นเสียงในมุมมองของเทรนด์วัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: โลกนี้มีคนอื่น


ในวันที่กระแสแผ่นเสียงมาแรง มีรุ่นน้องมาชวนคุยว่า กระแสนี้มันมาได้อย่างไร และจะอยู่นานแค่ไหน เขาบอกด้วยว่า ที่เขาถามมาเช่นนี้ก็เพราะผมเคยบอกเอาไว้เมื่อห้าหกปีก่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ครั้งนั้นเขาหัวเราะและบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่พอมันแรงขึ้นมาระดับหนึ่ง เขาจึงสงสัยว่ามันจะไปได้ถึงแค่ไหน

ผมบอกไปว่า กระแสฟังแผ่นเสียงนั้นเกิดขึ้นมาสองพื้นที่ควบคู่กัน พื้นที่แรกคือในฐานะเป็น ฟอร์แมทหนึ่งของการบรรจุเสียงเพลง ส่วนอีกฐานะหนึ่งคือ กระแสที่เติบโตมาพร้อมกับเทรนด์ทางวัฒนธรรม

พูดถึงฐานะแรกในฐานะที่เป็นฟอร์แมท หรือรูปแบบหนึ่งของการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งต่อเพลง ทำหน้าที่เหมือนเทปในสมัยก่อน และซีดีในยุคถัดมา หรืออย่างต่อมาในยุคปัจจุบัน คนนิยมฟังตรงจากไฟล์ผ่านอุปกรณ์สมัยใหม่อย่างไอพอด หรืออุปกรณ์ฟังเพลงในแบบต่างๆ แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันให้ทำงานในฐานะอุปกรณ์ฟังเพลงไปพร้อมเครื่องมือสื่อสาร

ถ้านึกว่าแผ่นเสียงเป็นแค่ตัวกลางเหมือนอย่างซีดี ดังนั้นถามว่าดียังไงก็คือ มันดีตรงที่แผ่นเสียงได้รับการยอมรับกันในเรื่องคุณภาพเสียงว่าดีกว่าซีดี ซึ่งตรงนี้เข้าใจก่อน ถ้าจะสงสัยว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร เทคโนโลยีสมัยเก่ากับสมัยปัจจุบันเนี่ยนะ ก็ต้องบอกว่า มันเป็นไปได้ครับ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป พิสูจน์กันเรียบร้อยแล้ว แต่อย่าไปยาวเลยนะ สรุปแบบฟังสั้นๆ ง่ายๆ แค่เรื่องเดียวในความคิดของผม ก็คือ สิ่งที่นักฟังหูทองที่ชอบทดสอบเครื่องเสียงว่ากันจนติดปากก็คือ มิติมันสมจริงกว่า

ถ้าว่ากันง่ายๆ เป็นภาษาชาวบ้านก็คือ เสียงมันเหมือนดนตรีจริงมากกว่านั่นเอง คือกระบวนการมันมาจากความพยายามที่จะส่งผ่านดนตรีที่เป็นต้นฉบับมาเข้าหูเรา ส่วนกระบวนการผลิตซีดีหรือย้อนกลับไปที่ต้นทางคือการทำเพลงในยุคหลังนั้น ใช้ระบบเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามา หลักๆ เลยผมคิดว่าเพื่อตอบสนองเรื่องของความทันใจ ความเล็กกะทัดรัด และความสะดวกสบาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหัวใจหลักของวัฒนธรรมโลกในยุคเปลี่ยนผ่านช่วงก่อนและหลังปี2000 นั่นเอง

ในแง่มุมนี้ แผ่นเสียงไม่ได้สำคัญเท่าเพลงในแผ่น แผ่นเสียงถือเป็นเพียงภาชนะ นั่นก็หมายถึงว่า เรื่องสำคัญไปกว่าก็คือ เพลงที่อยู่ในแผ่นเสียงนั้นเองอันเป็นหัวใจหลัก ถ้าเพลงไม่ถูกใจก็ไม่มีประโยชน์ ก็ตามมาด้วยเรื่องที่ว่า เพลงเพราะแล้วก็มาถึง จะฟังเพลงนั้นกันอย่างไร

ดังนั้นแผ่นเสียงในมุมนี้คือเป็นแค่อุปกรณ์ที่คนฟังเพลงกลุ่มหนึ่งเชื่อในฟอร์แมทที่จะทำหน้าที่ส่งผ่านได้มาถึงมืออย่างเข้าถึงของจริงมากที่สุด แม้ว่าใหญ่เทอะทะ มีความยุ่งยากในการฟัง และวุ่นวายในการเก็บรักษา แต่ก็แลกมาซึ่งคุณภาพสมจริง มีมิติที่สร้างเหมือนเราฟังดนตรีสดได้มากกว่า

เมื่อพูดถึงเพลงสำคัญกว่าแผ่นที่เป็นเพียงภาชนะ ยังมีที่นอกเหนือจากนั้น คนกลุ่มนี้ยังเน้นที่เพลงจนไม่ได้ใส่ใจเรื่องลำดับเวลาเลยด้วย นั่นหมายถึง คนกลุ่มนี้บางส่วนจึงหันไปหา “เพลงเก่า” ซึ่งเพลงต่างๆ เหล่านั้นอยู่ในฐานะ “เพลงที่ไม่เคยฟัง” นั่นก็หมายถึงว่า เพลงป๊อปในยุคปัจจุบันที่เพิ่งทำออกมาใหม่ กับเพลงลูกกรุง หรือลูกทุ่งเก่าๆ ที่คนกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 40 บวก/ลบ ยังไม่เคยฟัง หรือแม้จะได้ยินบ้างพอจำได้แต่ยังไม่ถึงกับเอามาฟังจริงๆ จังๆ คนกลุ่มนี้จึงตีคุณสมบัติเอาไว้เท่ากันโดยไม่ยึดถือลำดับของเวลามาเป็นสาระ เพลงเก่าเหล่านั้นจึงถูกเสาะหามาฟังกัน

ส่วนในกรณีเพลงใหม่ที่อาศัยกระแสโดดเข้ามามีส่วนร่วม ก็จะเห็นว่าหากถูกใจคนฟังก็จะขายดี แต่ถ้าไม่โดนก็จะลุ่มๆ ดอนๆ ไปเรื่อยเนื่องจากกระแสพอมี คนก็อาจจะซื้อหามา แต่ถ้าเพลงมันไม่ถูกใจก็จะมุ่งไปหาเพลงเก่าไปเลย ทำให้ปัจจุบันนี้ตลาดแผ่นเสียงเพลงเก่าของไทยจึงมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ และหายากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยให้กันฟรีๆ หรือขายกันอยู่หลักร้อยเมื่อห้าหกปีก่อน ก็กลายเป็นหลักพัน และบางแผ่นที่ครบองค์ประกอบ “เพลงดี-อัดเสียงดี-หายาก” ก็ขึ้นไปถึงหลักหมื่นก็มี

นอกเหนือจาก เพลงดี ก็มีอย่างเรื่องอัดเสียงดี อย่างแผ่นเพลงไทยสมัยเก่าที่ได้รับการยอมรับก็จะดูกันง่ายๆ เป็นแบรนด์ไป อย่างแผ่นไทยลูกกรุงรุ่นแรกส่วนใหญ่นั้นมีเลเบล หรือป้ายวงกลมที่แปะกลางแผ่นบอกชื่อเพลงและรายละเอียดนั่นเอง บริษัทที่ทำหน้าที่ผลิตเจ้าดังที่ได้ยอมรับในยุคแรกก็คือ NC เลเบลสีแดงที่ผลิตจากญี่ปุ่น ต่อมาคือโคลัมเบีย เลเบลสีเขียว ที่ผลิตจากประเทศอินเดีย หรือแผ่นคาเธ่ ตรามงกุฎรุ่นที่ผลิตจากญี่ปุ่น พวกนี้ก็จะมีราคาสูงกว่ายุคหลังที่ผลิตกันในประเทศไทยแล้ว ท้องตลาดตอนนี้ส่วนใหญ่ถ้ามีแผ่น NC สภาพแผ่นสวยปกสวยเข้ามา ราคาส่วนใหญ่ซื้อขายกันเกินหมื่นบาท ส่วนโคลัมเบียอินเดียก็หย่อนหมื่นอยู่ไม่เท่าไร ส่วนใหญ่ผมจะเห็นอยู่บ่อยๆ ที่บรรดาเมียของนักเล่นแผ่นที่พอรู้ราคาเข้าก็มักจะตกใจตาโตพร้อมกับด่าสามีของตนว่า บ้าซื้อมาได้อย่างไร (อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าแผ่นเสียงกลุ่มนี้มีอนาคตที่สดใส)

หรือในกรณีเรื่องความหายาก สำหรับแผ่นหายากที่บวกกับกระแสค่อนข้างไปทางของสะสมด้วยอย่างคาราบาว ท.ทหารอดทน แผ่นรุ่นแรกที่ออกมาในยุคโน้นก็เคยซื้อขายกันหลายหมื่น ว่ากันว่าเคยมีราคาถึงเจ็ดหมื่นบาท แต่ผมเคยขายไปราคาที่ได้รับเงินสดสำหรับประสบการณ์จริง ผมได้มาประมาณสี่หมื่นบาท ส่วนแผ่นคาราบาวที่หยิบเอามาทำในยุคใหม่นั้นไม่ได้รับความนิยมมากนัก

แต่ทั้งนี้ต้องพึงทราบด้วยว่า อย่างไรก็ดี ราคาแผ่นเสียงในยุคเฟื่องฟูนี่ก็เหมือนหุ้น คือมีการปั่นกันให้ได้ราคากันอยู่บ้างเป็นบางโอกาส

และถ้าจะพูดถึงเพลงของวงดนตรียุคใหม่หน่อยที่โดดเข้ามาในกระแสแผ่นเสียง ก็มีหลายแผ่นที่กลายเป็นของแพงและหายาก โดยเฉพาะพวกวงยุค 90 ที่กลุ่มคนของยุคนี้เริ่มเติบโตและมีกำลังซื้อสูง ยกตัวอย่างแผ่นของโมเดิร์นด๊อก หรือแผ่นของวงพราว ซึ่งส่วนตัวผมว่าการบันทึกเสียงไม่ได้ดีเด่นมากมายอะไรนัก แต่แผ่นของโมเดิร์นด๊อกก็เหยียบหมื่น และของวงพราวที่เพิ่งทำขายกันไม่นานนี้เอง ผมซื้อมาพันแปดและยกให้น้องสะใภ้ไป ตอนนี้ราคาซื้อขายน่าจะอยู่ที่ใกล้ๆ เจ็ดแปดพัน แบบที่หาซื้อไม่ได้ ออกมาทีไรแย่งกันซื้อจะเป็นจะตาย จนผมรู้สึกเสียดายแทบอยากจะขอคืนเอามาปล่อยขายแต่ก็เกรงใจ 555

และนี่ผมกำลังจะก้าวเข้ามาพูดถึงในพื้นที่ต่อมาที่จะพูดถึงในฐานะเทรนด์ของสังคม กระแสแผ่นเสียงในมุมมองวัฒนธรรม

ดังที่ผมกล่าวมาข้างต้น กระแสของแผ่นเสียงเกิดขึ้นมาด้วยกระบวนการพยายามจะถ่ายทอดดนตรีต้นฉบับ และต่อมาเพลงในยุคซีดี เป็นตัดทอนความยุ่งยากให้สอดคล้องกับโลกยุคนั้นที่คนในสังคมต้องการสปีดที่เร็ว ต้องการความกะทัดรัดที่ตอบสนองว่าทันสมัยได้ดีกว่าอุปกรณ์ชิ้นใหญ่ และต้องการความสะดวกสบายแค่ปลายนิ้ว ดังนั้นยุคนี้แผ่นซีดีจึงก้าวมาแทนที่อย่างฉับพลันแทบจะพริบตา

อย่างไรก็ดี ต่อมา อาจจะสะท้อนเริ่มจากยุค90 ทื่มีวัฒนธรรมที่เรียกหากันติดปากว่า “อัลเทอร์ฯ” นั่นก็คือทางเลือกใหม่ที่ต้องการความแตกต่างไปจากของเดิมที่น่าเบื่อหน่าย บวกกับในยุคถัดมาซึ่งเทคโนโลยีมันพัฒนาไปอีกก้าวใหญ่มากๆ จนถึงขั้นเทคโนโลยีมันล้ำสมัย จากที่เคยฮิตอะไรที่มัน “เร็ว-เล็ก-สะดวกสบาย” คนก็เกิดตั้งคำถามว่ามันใช่จริงหรือ? มันคือคำตอบของสิ่งที่เราอยากดำเนินชีวิตจริงหรือ? พอมีการตั้งคำถาม มันจึงเกิดแนวทางที่แยกเดินออกมาในการต้องการความแตกต่างในทางที่จะค่อนข้างตรงกันข้าม

นั่นก็คือเทรนด์ยุคปัจจุบันที่ว่า...
หันมาหาของใหญ่ขึ้นแต่ถนัดมือ
หันมาหาของช้าลงแต่แน่นอนกว่า
และหันมาเข้าใจกับเรื่องที่ว่า สะดวกสบายเกินไปอาจจะไม่ดี


พอทำความเข้าใจอีกมุม ก็เกิดเทรนด์ใหม่ เช่น มือถือมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้มีจอที่ใช้งานได้หลากหลายขึ้น ใช้คล่องและถนัดกว่าพวกเล็กดูทันสมัยในยุคก่อนหน้า อาหารฟาสต์ฟูดนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ นิยมกินคลีนฟูด ยอมปรุงอาหารที่ช้ากว่าแต่คิดว่ามันดีกว่า ละเลยอะไรที่สะดวกสบายแค่ปลายนิ้ว หันมาหาอะไรที่ยุ่งยากมากขึ้นบ้าง นิยมความช้าอย่างที่เรามักจะได้ยินฮิตติดหูอยาก “สโลว์ไลฟ์” หรืออย่างเรื่องยอมเหนื่อยวิ่งออกกำลังให้ร่างกายแข็งแรงอะไรต่างๆ

เรายอมที่จะช้า ยอมที่จะยุ่งยากขึ้น ก็เนื่องจากการปรับความคิดของคนในเทรนด์ปัจจุบันนั่นเอง

การฟังเพลงจากแผ่นเสียงมันตรงกับการนี้พอดิบพอดี

ดังนั้น ผมจึงบอกว่า แผ่นเสียงนี้เป็นทั้งส่วนที่เป็นความชอบทางการฟังเพลงของคนกลุ่มหนึ่งจริง และยังเป็นเทรนด์ที่ดึงดูดของคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่กลุ่มทุนที่สนใจเทรนด์ ที่จะเข้ามาในฐานะนักสะสม มองเป็นสินทรัพย์ที่เข้าข่ายการลงทุนอย่างมีวัฒนธรรม (คือนอกเหนือจากการใช้เงินปกติแล้วมันยังดูมีรสนิยมด้วย) มันเป็นเรื่องของทั้งวัฒนธรรมเพลงและกระแสเชิงแฟชั่นของยุคสมัยเข้ามาสู่พื้นที่นี้ในเวลาพร้อมกันด้วยความหนักหน่วงและรุนแรงเอาการ

ส่วนถามว่าจะอยู่นานแค่ไหน ในส่วนแรก ผมว่าแผ่นเสียงมันจะมีกลุ่มนักฟังเพลงที่เข้ามาและยังอยู่ยั้งยืนยงไปได้จำนวนหนึ่ง ด้วยจำนวนที่ไม่น้อย แต่ก็อาจจะไม่มากถึงขั้นเป็นกลุ่มใหญ่โตอะไรนัก เพราะมีจำนวนหนึ่งคือกลุ่มหลังที่เป็นกลุ่มของวัฒนธรรมเทรนด์นี้ก็เป็นเรื่องปกติที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่เทรนด์อื่น

โลกก็จะหมุนไปตามปกติ จะพัดผลัดเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างหนึ่งจากไป แต่ยังคงหลงเหลือไว้ในบางส่วนที่ตั้งรกรากปักหลักฐานไปแล้วในบางพื้นที่ และคงไว้ซึ่งแนวทางวัฒนธรรมของวัฒนธรรมกลุ่มย่อยที่อาจจะเล็กลงเชิงปริมาณและเข็มแข็งขึ้นในบางมิติที่ยังคงรักษาตัวรอดปลอดภัยอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น