xs
xsm
sm
md
lg

ต่อไปนี้ใครใช้เงินสดไม่ใช้การ์ดจะต้องจ่ายแวตแพงขึ้น

เผยแพร่:   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน


ช่วงนี้มีคนพูดถึงระบบอีเพย์เม้นท์(e-Payment)กันมากจนต้องไปค้นดูว่ามันคืออะไร พบว่าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.58 ที่ผ่านมาได้เห็นชอบหลักการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)

พูดง่ายๆว่าต่อไปรัฐจะสนับสนุนให้คนไปใช้เงินผ่านบัตรหรือการ์ดมากขึ้นแทนการใช้เงินสด เท่าที่ฟังข่าวจากหน่วยงานรัฐบอกว่า ประชาชนจะใช้การ์ดซื้อสินค้าได้ตั้งแต่20บาทเป็นต้นไป รูปแบบที่ใช้มีทั้งบัตรแบบเติมเงินและแบบบัตรเดบิต

ว่ากันว่าถ้าทำให้ประชาชนหันไปใช้การ์ดแทนเงินสดได้จะต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดรวมๆ กันแล้วสูงถึง 75,000 ล้านบาท โดยต้นทุนเหล่านั้นเกิดขึ้น นับตั้งแต่การพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การจัดเก็บรักษาและการทำลายพันธบัตรที่เสื่อมสภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เองก็ต้องมีการบริหารจัดการเงินสดที่ได้ ทั้งการเก็บรักษา ระบบรักษาความปลอดภัย การจ้างแรงงานและรถขนเงินเพื่อนำเงินสดไปบรรจุในตู้เอทีเอ็ม

เงิน 75,000 ล้านเป็นต้นทุนที่แบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์ต้องแบกรับ

โดยรัฐบาลได้สั่งการให้เดินหน้าระบอีเพย์เม้นท์ ทั้งระบบให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีครึ่ง โดยแยกเป็น 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการแรกที่จะเดินหน้าก่อน คือ โครงการระบบการชำระเงินแบบใช้หมายเลขใดก็ได้ หรือ “เอนี ไอดี”(Any ID) โดยเบื้องต้นจะใช้เลขที่บัตรประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์ในการโอน จ่าย ชำระเงิน ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป กระทรวงการคลังจะเปิดให้ประชาชนทั้งประเทศ ลงทะเบียนระบบการชำระเงินแบบ “เอนี ไอดี” (Any ID) โดยประชาชนที่ลงทะเบียน “เอนี ไอดี” จะต้องมีข้อมูลอยู่ 3 อย่าง ได้แก่

- เลขที่บัตรประชาชน

- เบอร์โทรศัพท์มือถือ

- และ เลขที่บัญชีธนาคาร

บุคคลจะสามารถมี “เอนี ไอดี” ประกอบด้วย บัญชีธนาคารบวกกับเลขที่เลขที่บัตรประชาชนเป็นหนึ่ง“เอนี ไอดี” และเบอร์มือถือสูงสุดได้ 3 เบอร์ เพื่อผูกเข้ากับบัญชีธนาคารรวม1คนมี“เอนี ไอดี”ได้สูงสุด 4 บัญชี

คุณกิตตินันท์ นาคทอง เขียนอธิบายเรื่อง “เอนี ไอดี”ไว้แล้ว ในหัวข้อ"ลงทะเบียน Any ID : เรื่องที่ประชาชนไม่เคยรู้ ธนาคารไม่ค่อยจะบอก" มีคนสนใจเข้าไปอ่านเรื่องนี้กว่า 2 แสนครั้ง

ส่วนโครงการที่สอง คือ การขยายการใช้บัตร โดยจะทำให้ร้านค้าต่างๆทั้งขนาดใหญ่และเล็ก มีเครื่องรูดบัตร หรือ EDC เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงการใช้ได้งานและครอบคลุมทั่วประเทศ

เครื่องรูดบัตร หรือ EDC นั้นปัจจุบันมีการประเมินกันว่า ร้านค้าทั่วประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 2 ล้านร้านค้า เพิ่งติดตั้ง EDC ไปได้เพียง 300,000 เครื่อง ยังเหลืออีก 1.7-1.8 ล้านร้านค้า เพิ่งติดตั้ง EDC ไปได้เพียง 300,000 เครื่อง ยังเหลืออีก 1.7-1.8 ล้านร้านค้าที่ยังไม่มีเครื่องดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขนาดเล็ก หรือห้องแถว แผงลอย ที่มียอดขายสินค้าน้อยทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการลงทุนของสถาบันการเงิน เนื่องจาก EDC มีราคาแพง เครื่องละ 3,000-4,000 บาท จึงให้มีการจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมค้า (Consortium) พูลเครื่อง EDC ระหว่างกัน โดยตั้งหน่วยงานกลางเพื่อสร้างระบบเคลียร์ริ่ง หรือระบบชำระเงินระหว่างสถาบันการเงินขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีเครื่อง EDC เป็นของตนเอง และใช้บัตรของตัวเองในการรูดซื้อสินค้า ก็จะเปลี่ยนเป็นเครื่องที่สามารถรูดได้ทุกบัตรและทุกสถาบันการเงิน

ส่วนโครงการที่สาม คือ ในส่วนของระบบภาษีของสรรพากร โดยภาคเอกชนที่ขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก็สามารถนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรได้โดยไม่ต้องส่งเป็นเอกสารเช่นเดียวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น โดยจะมีอธิบดีกรมสรรพากรในการดูแลในเรื่องดังกล่าว

ส่วนโครงการที่สี่ คือ โครงการอีเพย์เม้นท์ภาครัฐ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เมื่อภาครัฐจะจ่ายเงิน หรือรับเงิน จะเปลี่ยนเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ส่วนที่สอง คือ การบูรณาการสวัสดิการ จะทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อย สามารถรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

โครงการที่ห้า คือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ โดยจะ ให้สิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ใช้ในช่วงเริ่มต้น ที่จะทำให้เกิดความสนใจในการใช้บริการดังกล่าว โดยจะมีเป้าหมาย เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน ให้มีประสิทธิภาพ และลดการหลีกเลี่ยงภาษี โดยคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ประโยชน์ที่รัฐจะได้รับก็คือ ลดต้นทุนในการพิมพ์ธนบัตร การเก็บรักษาธนบัตรและทำลายธนบัตร เพราะถ้าคนหันไปใช้การ์ดมากขึ้นธนบัตรก็จะลดน้อยลง รัฐจะรู้ว่า ร้านค้ามีรายรับเท่าไหร่สามารถประเมินภาษีได้ตามความเป็นจริงมากขึ้น รัฐจะรู้ว่าประชาชนแต่ละคนมีกำลังจ่ายเท่าไหร่ใครมีกำลังจ่ายมาก แต่จ่ายภาษีน้อยก็จะถูกตรวจสอบ ใครมีรายจ่ายมากแต่ยังขึ้นรถเมล์ฟรีอยู่จะทำไม่ได้ เพราะต่อไประบบอีเพย์เม้นท์จะเชื่อมกับบัตรรถโดยสารประเภทต่างๆด้วย หรือมีรายจ่ายเยอะแปลว่ามีเงินเยอะแต่ยังใช้บริการ30บาทรักษาโรคอยู่เป็นต้น พวกนี้ก็จะถูกตัดสิทธิ์

สำหรับธนาคารก็คือ การลดต้นทุนในการเก็บรักษา ระบบรักษาความปลอดภัย การจ้างแรงงานและรถขนเงินสด ประชาชนจะต้องเอาเงินไปฝากไว้ในแบงก์เพื่อให้สามารถใช้การ์ดได้เพราะระบบอีเพย์เม้นท์ที่ใช้การ์ดแทนเงินสดนั้นจะเหมือนกับบัตรเดบิตคือต้องมีเงินในธนาคารจึงจะไปรูดซื้อสินค้าได้ ธนาคารก็ได้ประโยชน์เพราะคนต้องเอาเงินไปฝากไว้กับแบงก์ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากนั้นเป็นศูนย์จุดกว่าๆหรือต่ำมากจนเกือบเป็นศูนย์ แบงก์ก็เอาเงินไปปล่อยกู้คือดอกเบี้ย7%กว่า ซึ่งรัฐก็ปล่อยให้ธนาคารเอาเปรียบในส่วนต่างของดอกเบี้ยอยู่มาก โดยไม่เข้าไปควบคุมเพื่อให้เกิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่สมดุล

ที่ธนาคารจะได้รับนอกจากเงินฝากแล้วก็จะได้รับค่าธรรมเนียมจากการใช้บัตรมากขึ้น รัฐบอกว่า จะเจรจาให้ธนาคารลดค่าธรรมเนียมลงมา แต่เมื่อคนใช้มากขึ้นธนาคารก็ต้องได้ค่าธรรมเนียมที่มากอยู่ดีแม้จะลดอัตราค่าธรรมเนียมลงมาก็ตาม

แล้วสำหรับประชาชนละได้ประโยชน์อะไร ที่เห็นๆก็คือ ต่อไปไม่ต้องพกเงินสดติดตัวไปไหนมาไหนให้เสี่ยงถูกจี้ปล้นอีก หรือเวลารัฐโอนเงินคืนภาษีก็ไม่ต้องจ่ายผ่านเช็คแต่จ่ายเข้าบัญชีตามที่ลงทะเบียน“เอนี ไอดี” (Any ID)ได้เลย หรือจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราได้โดยตรง

ตอนแรกผมก็เฉยๆนะครับ เมื่ออ่านข่าวนี้ รัฐจะทำก็ทำไป เพราะเป็นคนชอบใช้เงินสดมากกว่าบัตร ก็คิดว่าใครอยากจะใช้บัตรก็ใช้ไปตามแต่ละคนถนัด แต่ผมไม่เห็นด้วยเมื่ออ่านข่าวเจอนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังบอกว่า เพื่อจูงใจให้คนไทยใช้อีเพย์เม้นท์ ถ้าใครชำระเป็นเงินสด จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% แต่ถ้าจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเสียแวตแค่ 7%แล้วผมว่านี่มันเกินไปแล้ว

เพราะนี่เป็นมาตรการบีบบังคับทางอ้อมให้คนไปใช้บัตรแทนเงินสด

ต่อไปใครไปกินข้าวที่ร้านอาหารหรือซื้อสินค้าเขาก็จะถามว่าใช้บัตรหรือเงินสด ถ้าใครใช้บัตรก็จะจ่ายเงินได้ถูกลง แต่ใครใช้เงินสดก็จะแพงขึ้น3%กลายเป็นเรื่องสองมาตรฐานและความไม่เท่าเทียมกัน

สรุปง่ายๆก็คือ รัฐจะบังคับให้คนเอาเงินไปใส่ธนาคารหรือเอาเงินไปใส่บัตรเดิมเงินไว้ล่วงหน้า ซึ่งดูแล้วธนาคารจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้เต็มๆ นอกจากธนาคารได้ลดต้นทุนแล้ว ยังได้เงินฝากที่เพิ่มขึ้น เอาเงินไปหมุนปล่อยกู้ในส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวโดยที่รัฐไม่เคยเข้าไปควบคุมดูแล แล้วทำธุรกรรมแต่ละครั้งยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ธนาคารอีก คนที่ได้ประโยชน์เต็มๆก็คือ กลุ่มทุนธนาคารนั่นเอง

ไม่ทราบทำไมรัฐบาลนี้จึงชอบเอาใจกลุ่มทุนนัก

ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่านี่เป็นความเห็นของปลัดคลังคนเดียวหรือเป็นความเห็นของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังด้วย

แล้วถามว่าทำไมต้องออกมาตรการทางภาษีเพื่อบีบบังคับให้คนไปใช้บัตรอีเล็กทรอนิกส์แทนเงินสดด้วยเพื่อประโยชน์ของใครและทำไม
กำลังโหลดความคิดเห็น