xs
xsm
sm
md
lg

นิตยสาร-ตายแล้ว-ไปไหน?

เผยแพร่:   โดย: โลกนี้มีคนอื่น


วันก่อนมีข่าวนิตยสารเลิกกิจการไปสองสามฉบับ ที่พูดถึงกันมากเพราะถือเป็นหัวใหญ่ในหมวดนิตยสารแฟชั่น แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสองสามปีมานี้ นิตยสารจะทยอยปิดตัวลงมากขึ้น แต่รอบนี้บังเอิญว่ามีหัวใหญ่พร้อมใจประกาศในวันเดียวกัน งานนี้จึงมีผู้เชี่ยวชาญผู้คร่ำหวอดออกมาวิเคราะห์กันเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างน่าสนใจหลายเรื่องราว

ผมรู้สึกว่าส่วนใหญ่ตั้งคำถามและพยายามค้นหาคำตอบว่า ทำไมเหตุการณ์นี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ด้วยซ้ำ เพราะจะว่าไปเราก็พอรู้ถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมกันอยู่แล้ว แต่สำหรับการอธิบายลงรายละเอียด หรือในเชิงสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็ถือเป็นข้อมูลข่าวสารที่น่าติดตามอยู่

แต่ส่วนน้อยหรือแทบจะไม่มีการพูดถึงเลย หรือไม่ค่อยมีการตั้งคำถามแล้วหาคำตอบกันสักเท่าไร ก็คือ นิตยสารตายแล้ว (กองบก.)ไปไหน?

ซึ่งผมกำลังพูดถึง หนึ่ง กองบรรณาธิการ ที่ทั้งหมดหมายถึง บุคลากรผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสายนี้ ทั้งส่วนของมือเก่า มือใหม่ กับ สอง ผู้ที่จะเตรียมการก้าวเข้าสู่วงการนี้ ที่ผมกำลังหมายถึงนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ตั้งเป้าอย่างเข้ามาสู่แวดวง ซึ่งบางส่วนเองก็ต้องยอมรับว่าเดินเข้าสู่สายการศึกษาไปเรียบร้อยแล้ว รอวันจบการศึกษาเพื่อเข้ามาสู่สายงานดังกล่าว พวกคนเหล่านี้เตรียมการมาก่อนกระแสที่นิตยสารจะก้าวสู่วิกฤตการณ์ถดถอย พื้นที่สำหรับหางานในตลาดนิตยสารและสิ่งพิมพ์น้อยลง แต่คนเหล่านี้ยังคงมีจำนวนเท่าเดิม

สำหรับในข้อแรก มันคงไม่ใช่แค่คำตอบง่ายๆ ว่า “ก็ตกงานสิ” หรือ “ไปหาอะไรอย่างอื่นทำ” ส่วนข้อสอง ครูบาอาจารย์ก็อาจจะบอกว่า “พวกเธอต้องลองหาสายอาชีพอื่นๆ” ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้น ส่วนใหญ่ตอนนี้จะได้ยินคำตอบยอดนิยมก็คือ การย้ายสายงาน เช่นไปสู่บริษัทเอเจนซี่โฆษณา กับประเด็นการหาทางออกที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอ นั่นคือ การแปรรูปสู่ดิจิตอล

อย่างไรก็ดี ผมจะบอกว่า การแปรรูปสู่ดิจิตอลไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าว่ากันจริงๆ ถ้าเทียบระหว่างการแปรเปลี่ยนของเดิม เช่นนิตยสาร A จะแปรรูปไปสู่ดิจิตอลมีเดีย A เพื่อหาทางรอด กับการเริ่มต้นใหม่ไปเลยนั้น ผมคิดว่าการเริ่มใหม่ไปเลยอาจจะง่ายกว่า เพราะการแปรเปลี่ยนไปสู่ดิจิตอลนั้น จะว่าไปแล้วคนมีทีมหรือคอนเทนท์เดิมนั้นได้เปรียบกว่าคนเริ่มจากศูนย์ก็จริง แต่การปรับเปลี่ยนนั้นก็ยากกว่าการเริ่มต้นใหม่ในอีกรูปแบบ ไม่เชื่อลองถามช่างก่อสร้างว่าการรีโนเวทบ้านเก่า กับสร้างบ้านใหม่ อะไรง่ายกว่า

แต่ก็ไม่ใช่ว่าการแปรรูปสู่นิตยสารเดิมสู่เส้นทางดิจิตอลไม่ใช่เรื่องทำไม่ได้นะครับ ทำได้ครับ ถ้าได้แล้วจะยิ่งดีกว่าทำใหม่ด้วยซ้ำ เพราะแต้มต่อมันมีเยอะกว่า ยกตัวอย่างตามเรื่องสร้างบ้านข้างต้น การรีโนเวทบ้านไม้ลายฉลุเก่าแถวสาทรให้เสร็จจะดูยิ่งใหญ่ตระการกว่าไปสร้างใหม่ใหญ่โตแถวชานเมืองแน่นอนอยู่แล้ว ผมเพียงแต่บอกว่ามันไม่ง่ายครับ มันซับซ้อนซ่อนเงื่อนราวกับละครสืบสวนสอบสวน

บางครั้งบางจังหวะ การที่ข้าวโพดล้นตลาด การแปรรูปข้าวโพดไปสู่น้ำข้าวโพด หรือข้าวโพดกระป๋องนั้น กระบวนการไปสู่ตรงนั้นมันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากเราตัดสินใจรื้อถาง แล้วเอาบุคลากรชาวไร่ทีมเดิม รถไถคันเดิม แหล่งน้ำเดิม ตลอดจนเครื่องมือเครื่องไม้ หรือแม้แต่ตลาดที่เคยขนไปขายตลาดเดิม แต่เปลี่ยนเป็นปลูกมะพร้าว อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกได้ ไม่แพ้การตัดสินใจแปรรูปนั่นแหละ

มาคิดอีกที จะว่าไป ผมอาจเปรียบเทียบเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากเกินไป เอาเป็นลงรายละเอียดตัวบุคคลเลยก็ได้ เอาเป็นว่า ผมสมมุติสถานการณ์เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าแบรนด์หนึ่งเลิกกิจการเพราะปัญหาว่าขายไม่ออก โดยปัญหาอาจจะเกิดจากแฟชั่นเสื้อผ้าของโลกเปลี่ยนแล้วแบรนด์ปรับตัวไม่ทัน แบรนด์เสื้อผ้าเจ๊ง

คำถามมีอยู่ว่า คนงานเย็บผ้าไปไหน

คนงานเย็บถ้าผู้มีทักษะในการร่ายมนต์ผ่านฝีเข็ม เชี่ยวชาญการเย็บผ้า ก็ไปเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าร้านเล็กๆ แถวบ้านได้นะครับ หรือแม้แต่เปลี่ยนไปเย็บอย่างอื่นที่ไม่ใช่เสื้อผ้า เช่นเย็บม่านเย็บมุ้ง เย็บหมอนเย็บผ้าห่มเย็บที่นอน หรือเย็บสินค้าอะไรอื่นๆ ที่ทำจากผ้า หรือแม้แต่จะไปเย็บวัสดุอื่น เช่นหนังเลยก็ยังได้

ผมพูดเรื่อยเปื่อยไปเสียเยอะ เอามาสู่ตอนสรุปเลยแล้วกัน เรื่องของเรื่องคือผมจะบอกว่า กองบรรณาธิการนิตยสารนั้น สามารถใช้ทักษะที่ตัวเองมีอยู่ โดยเฉพาะหลักใหญ่คือ การชำนาญเรื่องการค้นคว้า การรู้จักแหล่งข่าว ตลอดจนฝีมือการเขียนหนังสือ หรือถ่ายภาพ มีโอกาสไปทำอย่างอื่นได้อีกเยอะ

คิดให้เหมือนเวลาเรารับจ็อบนอกงานประจำแล้วสรรพากรเรียกเก็บภาษีเราแหล่ะครับ เค้าเก็บเราในหมวดรับจ้างทำของ

ใช่เลย ทักษะที่ผมว่ามาข้างต้นของกองบรรณาธิการสามารถไปทำอย่างอื่นได้ และผมคิดว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีทักษะที่จะไปพัฒนาส่วนงานใหม่ในองค์กรต่างๆ ได้ด้วย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมว่าในหน่วยงานต่างๆ ของเมืองไทย เรายังขาดองค์ประกอบอะไรบางอย่างอยู่ ถือโอกาสนี้แหละครับ ช่วยกันทำความเข้าใจและพัฒนาสิ่งที่ผมกำลังเอ่ยถึงนี้ นั่นก็คือหน่วยงานในการส่งเสริมด้านข้อมูลความรู้ในทางกว้าง ความรับรู้ต่อสถานการณ์ของสังคม ของโลก ติดอาวุธให้กับการเรียนรู้ประสบการณ์รับรู้ด้านวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้แต่ก่อนคนในสังคมทั่วไปเก็บข้อมูลจากนิตยสารนั่นแหละ

ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้ฟังสักสองสามหัวข้อ เช่น คนทำงานนิตยสารสามารถหันเหไปสู่ สายงานสถาบันการศึกษา ไม่ใช่บอกว่าจำเป็นต้องไปเป็นอาจารย์สอนนะครับ แต่อาจจะมีประสิทธิภาพกว่าถ้าสถาบันการศึกษาใดสถาบันหนึ่งจัดตั้งทีมงานสำหรับเป็น “ผู้ช่วยสอน” ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์มานะสงสัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา อาจารย์มานะแค่ถามไปยังทีมงานช่วยสอน ทีมงานก็จะจัดการข้อมูลมาให้เสร็จสรรพ ถ้ายังไม่รู้ก็เร่งหา เผลอๆ มีทีมงานเลย์หน้า ทำกราฟฟิกเวอร์วังอลังการ์มาให้อาจารย์มานะฉายขึ้นกระดาน หรือเป็นแอปลงไอแพดให้ลูกศิษย์ได้อีก มันเป็นทักษะที่ “กองบรรณาธิการทำได้” ทั้งนั้นเลยครับ

หรือแม้แต่ผันไปทำ วารสารภายในองค์กร เรื่องนี้อาจะเป็นเรื่องสำคัญในโลกสมัยใหม่ ที่แต่ละองค์กรควรมีอะไรแบบนี้ในลักษณะที่อยู่ในรูปแบบไลฟ์สไตล์แมกกาซีนเลยนะครับ คือวารสารภายในตอนนี้ของหลายแห่งดูเป็นทางก๊านทางการ แต่ถ้าหากปรับไปเหมือนแมกกาซีนที่วางขายอยู่ในท้องตลาดเลยหล่ะ แต่ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า เป็นกางเกง สำหรับหน่วยงานของคุณโดยเฉพาะ มันจะโซคูลขนาดไหน (อ่า ว่าจะเปิดบริษัทรับทำอยู่ อิอิ)

นอกจากนี้ก็ยังไปเป็น ทีมงานสนับสนุนบริษัทธุรกิจ ได้ ไม่ใช่เพียงคุณจะเป็นบริษัทใหญ่ หรือบริษัทเล็ก เพียงคุณเจียดงบแค่สำหรับทีมงานจำนวนไม่มากมาย ให้พวกเขาทำหน้าที่เหมือนนักข่าวที่ประจำอยู่ในสื่อต่างๆ ให้แต่ละคนรับผิดชอบหน่วยงานเฉพาะที่บริษัทคุณเกี่ยวข้อง นึกภาพที่ปัจจุบันนักข่าวเค้าไปนั่งรอหาข่าวแล้วป้อนเข้าสื่อหัวที่เขาสังกัด แล้วคุณนั่งรออ่านข่าวนั้นในวันรุ่งขึ้น (หรือหลังจากนั้นหนึ่งชั่วโมงในออนไลน์) แต่ในอนาคต นักข่าวเหล่านั้นไปหาข้อมูลแล้วกลับออฟฟิศมาเขียนรายงานให้เฉพาะบริษัทคุณหล่ะครับ สงสัยอะไรถามได้ อยากรู้อะไรเพิ่มสั่งให้ตามต่อได้ ไม่ต้องนั่งงงเวลาสื่อเขากั๊กบอกไม่หมด มันสว่างกระจ่างตากว่ากันเยอะ

พวกเราสายอาชีพกองบรรณาธิการทั้งหลายจงยืนหยัดครับ ส่วนน้องๆ ที่กำลังศึกษาในสายงานนี้ก็จงอย่าหมดหวัง ผมว่าสังคมนี้ยังมีพื้นที่ให้กับทีมงานที่จะเสริมสร้างข้อมูลความรู้อยู่นะครับ งบประมาณการจ้างในส่วนนี้ไม่มากไปกว่างบประมาณที่คุณจ่ายไปในแต่ละปีเพื่อเอนเตอร์เทนลูกค้า หรือผู้หลักผู้ใหญ่อะไรทั้งหลายหรอกครับ

ใครจะว่าไงไม่รู้ ถ้าสังคมไทยยุคใหม่เดินไปในแนวทางนี้ผมว่าเวิร์คครับ แต่ทั้งนี้ก็ต้องร่วมมือกันในทุกส่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น