xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู CNN ปักธงอินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


คนไทยรู้จักสถานีข่าว 24 ชั่วโมงชื่อดังระดับโลกอย่าง “ซีเอ็นเอ็น” (CNN) หรือที่มีชื่อเต็มว่า CABLE NEWS NETWORK จากสหรัฐอเมริกา ที่เจ้าของคือ เทอร์เนอร์ บอร์ดคาสติ้ง ซิสเต็ม ในเครือไทม์วอร์เนอร์เป็นอย่างดี

แม้คนที่มีโอกาสรับชม จะมีเฉพาะสมาชิกโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก เพียงแค่ทรูวิชั่นส์เพียงแห่งเดียว (และดูได้เฉพาะแพ็คเกจโกล์ด และแพลทินัมขึ้นไป) แต่สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีบางช่องก็เอาสัญญาณภาพมาออกอากาศอยู่บ้าง

โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญจากต่างประเทศ เช่น กรณีเครื่องบินโดยสารถล่มอาคารเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ หรือสงครามที่สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองอิรัก ก็มักจะนำภาพจากซีเอ็นเอ็นมารายงานข่าวให้เห็น

นอกจากนี้ ซีเอ็นเอ็นเคยเซ็นเอ็มโอยูกับสำนักข่าวไทย อสมท. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างองค์กร และเนื้อหาข่าวต่างประเทศของซีเอ็นเอ็น ก็ยังเคยนำมาใช้ในหลายสถานี เช่น ช่องทีเอ็นเอ็น 24 หรือ ช่องโมโน 29 เป็นต้น

ซีเอ็นเอ็นที่ออกอากาศในทรูวิชั่นส์บ้านเราจะเป็น “ซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล” (CNN International) โดยสถานีหลักอยู่ที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา สลับกับรายงานจากลอนดอน อังกฤษ ฮ่องกง และกรุงอาบูดาบีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

แต่ซีเอ็นเอ็นยังร่วมลงทุนตั้งสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบบริษัทร่วมทุน และรูปแบบแฟรนไชส์ อาทิ “ซีเอ็นเอ็น ออง เอสปันญอล” ร่วมทุนกับบริษัทสื่อสารรายใหญ่ แคเนล พลุส ในสเปน เมื่อปี 2541

“ซีเอ็นเอ็น เติร์ก” ร่วมทุนกับสื่อยักษ์ใหญ่ โดแกน มีเดีย กรุ๊ป ในตุรกีเมื่อปี 2542, “ซีเอ็นเอ็น ชิลี” ร่วมทุนกับวีทีอาร์ ชิลี บริษัทในกลุ่มสื่อสารยักษ์ใหญ่ ลิเบอร์ตี้ โกลบอล ในชิลี

มาถึงเอเชีย ซีเอ็นเอ็นร่วมกับ เจแปน เคเบิล เทเลวิชั่น (JCTV) แปลรายการจากซีเอ็นเอ็นเป็นภาษาญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “ซีเอ็นเอ็น ยูเอส” (CNN-US) และผลิตเนื้อหาเป็นภาษาญี่ปุ่นผ่านเว็บไซต์ในชื่อ “ซีเอ็นเอ็น เจ” (CNNJ)

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมผลิตกับ อินเดียน บอร์ดคาสติ้ง เน็ตเวิร์ค ออกอากาศช่อง “ซีเอ็นเอ็น-ไอบีเอ็น” (CNN-IBN) เมื่อปี 2548 สัญญา 10 ปี โดยมีผู้ชมในอินเดียมากกว่าซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนลเสียอีก ปัจจุบันเพิ่งจะได้รับการต่อสัญญาต่อไปอีกวาระหนึ่ง

ซีเอ็นเอ็นได้เข้าไปสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน และฟิลิปปินส์ ที่มีประชากรเกือบ 100 ล้านคน



เริ่มกันที่ ซีเอ็นเอ็นเซ็นสัญญาร่วมกับ ทรานส์ มีเดีย (Trans Media) บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย ร่วมก่อตั้งสถานีข่าว “ซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย” (CNN Indonesia)

ทรานส์มีเดีย เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจสื่อและบันเทิง ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี ตร๊านซ์ เตเว (Trans TV) และซื้อกิจการสถานี เตเว ตูจู (TV 7), โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก ตร๊านซ์ วิชัน (Trans Vision) และเว็บท่า เดอติก ด็อท คอม (detik.com)

ถ้าถามถึงเจ้าของทรานส์มีเดีย ก็คือ ชัยรุล แทนจุง (Chairul Tanjung) มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซีย เจ้าของกลุ่มซีที คอร์ป มีทั้งธุรกิจธนาคารเม็กกา (Bank Mega), ซีที โกลบอล รีซอร์ส ธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมเกษตร

ทรานส์ คอร์ป โฮลดิ้งธุรกิจบันเทิง โรงแรม สินค้าอุปโภคบริโภค และศูนย์การค้า โดยเฉพาะคาร์ฟูร์ ห้างค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส กลุ่มซีที คอร์ปได้ซื้อกิจการจากบริษัทแม่ พร้อมก่อตั้งศูนย์การค้าที่ชื่อว่า "ทรานส์มาร์ท" (Trans Mart)



ซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย ออกอากาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของการประกาศอิสรภาพ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ผ่านโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก ตร๊านซ์ วิชัน

รูปแบบของสถานีข่าวจะเป็นรายการข่าวภาคภาษาอินโดนีเซีย ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง (แต่มีรายการรีรันในช่วงหลังเที่ยงคืน) โดยมีผู้ประกาศย้ายมาจากฟรีทีวีช่องต่างๆ นับสิบคน อาทิ อารซีทีไอ, เมโทร ทีวี, เอสซีทีวี ฯลฯ

หนึ่งในนั้นก็คือ เดซิ อันวา (Desi Anwar) พิธีกรข่าวหญิงเหล็กวัย 54 ปี ปัจจุบันนอกจากเป็นผู้ประกาศในช่วงไพร์มไทม์แล้ว ยังมีรายการนิวส์ทอล์คเป็นของตนเองในชื่อ INSIGHT WITH DESI ANWAR ในช่วงสี่ทุ่มของคืนวันจันทร์ – ศุกร์



รายการข่าวบางรายการยังเอามาออกอากาศผ่านฟรีทีวีช่อง ตร๊านซ์ เตเว อาทิ ชั่วโมงข่าว CNN Indonesia News Report ในช่วงเที่ยง และ CNN Indonesia Prime News ในช่วงเย็น นอกจากนี้ ในช่วงเย็นยังมีวีทีอาร์บทสวดอาซานในช่วงเวลาละหมาดอีกด้วย



สำนักงานของซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย ตั้งอยู่ที่ใจกลางกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย แบ่งออกเป็นสำนักงานใหญ่ สตูดิโอ และสำนักงานสาขา (ศูนย์ข่าว) อีก 6 แห่งทั่วประเทศ มีผู้สื่อข่าวประมาณ 100 คน แร้อมเทคโนโลยีที่ทันสมัย


เท่าที่นั่งดูช่อง ซีเอ็นเอ็น อินโดนีเซีย ทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารูปแบบรายการทำได้เร้าใจดี โดยเฉพาะกราฟฟิกที่เรียบง่ายแต่ทันสมัย แต่โฆษณาเข้ามีน้อย เท่าที่นับได้ก็คือ โฆษณาธนาคารแบงก์ เมก้า และศูนย์การค้าทรานส์มาร์ท คาร์ฟูร์ ธุรกิจของมหาเศรษฐีแทนจุง

ก็คงไม่ต่างไปจากช่องทีเอ็นเอ็น 24 ในบ้านเรา ที่ออฟฟิศชอบเปิดแช่ไว้ในเวลางาน นอกจากรายการข่าวแล้ว โฆษณาก็มีแต่ธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารซีพี, มือถือทรูมูฟ เอช ฯลฯ



อีกประเทศหนึ่ง คือ ฟิลิปปินส์ ซีเอ็นเอ็นเซ็นสัญญาร่วมกับ ไนน์ มีเดีย คอร์ปอเรชั่น และเรดิโอ ฟิลิปปินส์ เน็ตเวิร์ค (RPN) ตั้งสถานีโทรทัศน์ “ซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์” (CNN Philippines)

เบื้องต้นสัญญาแบรนด์ไลเซนซิ่งของซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์ มีอายุ 5 ปี สิ้นสุดปี 2563 โดยฝ่ายของไนน์ มีเดีย จะจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือนต่อซีเอ็นเอ็น โดยไม่เปิดเผยตัวเลข ในการซื้อรายการและความเชี่ยวชาญจากซีเอ็นเอ็น สหรัฐฯ



ไนน์มีเดียจะผลิตรายการข่าว สถานการณ์ประจำวัน และไลฟ์สไตล์ ตามมาตรฐานซีเอ็นเอ็น บุคลากรจะได้รับการฝึกอบรมจากซีเอ็นเอ็น ที่แอตแลนตาและจอร์เจีย และจะมีส่วนร่วมรายงานข่าวทางซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล และเครือข่าย

นอกจากนี้ ซีเอ็นเอ็นจะมีส่วนช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับไนน์ มีเดีย และสถานีวิทยุอาร์พีเอ็น รวมทั้งเว็บไซต์ข่าวของช่อง 9 ฟิลิปปินส์ ก็จะดีไซน์ และเปลี่ยนชื่อใหม่



ซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์ ออกอากาศแทนที่ช่องไนน์ทีวีเดิม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ผ่านระบบดิจิตอลช่อง 19 และอนาล็อกช่อง 9 ปัจจุบันออกอากาศมาได้ 1 ปี มีการเปลี่ยนกราฟฟิกรายการตามยุคสมัย

แต่เส้นทางของซีเอ็นเอ็น ฟิลิปปินส์ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ก่อนหน้านี้ไนน์ มีเดียก็มีการปรับลดพนักงานไป 70 คน จากทั้งหมด 600 คน หลังความร่วมมือกับซีเอ็นเอ็นผ่านไป 11 เดือน เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรและรายการข่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่มีช่องซีเอ็นเอ็นในท้องถิ่น คือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ นอกนั้น ถ้าไม่เป็นสถานีข่าวที่มาจากนายทุนในประเทศ ก็เป็นประเทศที่มีการควบคุมสื่อโทรทัศน์

อาทิ สิงคโปร์ มีสถานีข่าว แชนแนล นิวส์เอเชีย (Channel News Asia) ของกลุ่มมีเดียคอร์ป สื่อชั้นนำของสิงคโปร์ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลตนเอง ส่วนเวียดนาม มีสถานีข่าว TTXVN ของสำนักข่าวเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย แม้ในไทยจะมีสถานีข่าวทั้งทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน 6 ช่อง ทีวีดาวเทียม รวมทั้งช่องรายการวาไรตี้ที่มีรายการข่าว แต่ส่วนมากจะเป็นสถานีข่าวที่มาจากนายทุนในประเทศ

ส่วนสำนักข่าวต่างประเทศ มีเพียงผู้สื่อข่าวต่างชาติเข้ามาทำข่าว และส่งข่าวไปยังส่วนกลางเท่านั้น ยังไม่มีการตั้งสถานีในประเทศไทย และที่ผ่านมาสำนักข่าวในไทยมักจะเป็นไปในลักษณะเป็นเจ้าของเดี่ยว ไม่ได้มีทุนต่างชาติร่วมด้วย

ถ้าถามความเป็นไปได้ หากซีเอ็นเอ็นจะมีการตั้งสถานีในประเทศไทย

บอกได้คำเดียวว่า ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย



ที่ไม่ยากก็คือ คงเป็นไปในลักษณะที่นายทุนสื่อไปซื้อลิขสิทธิ์ แบรนด์ไลเซนซิ่งของ เทอร์เนอร์ บอร์ดคาสติ้ง ซิสเต็ม แล้วออกอากาศภายใต้ชื่อ “ซีเอ็นเอ็น ไทย” (CNN Thai) โดยลงทุนด้านบุคลากรและอุปกรณ์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก

แต่ที่ไม่ง่ายคือ โทรทัศน์บ้านเราไม่ยืดหยุ่นเหมือนกับต่างประเทศ ด้วยข้อจำกัดหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด กสทช. ออกมาจัดระเบียบทีวีดาวเทียม โฆษณาเฉลี่ยไม่เกิน 6 นาทีต่อชั่วโมง ส่วนทีวีดิจิตอล โฆษณาเฉลี่ยไม่เกิน 12 นาทีต่อชั่วโมง

อีกทั้งบ้านเราเสถียรภาพทางการเมืองไม่นิ่ง เสรีภาพสื่อยังมีข้อจำกัด เวลาเกิดปัญหา เช่น รัฐประหาร พอทหารพร้อมอาวุธบุกสถานี ทีวีทุกช่อง วิทยุทุกคลื่นก็ออกอากาศต่อไม่ได้ ซึ่งต่างชาติมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

หากเป็นแพลตฟอร์มทีวีดิจิตอล คงเป็นไปในลักษณะร่วมทุนกับฟรีทีวีดิจิตอลที่มีอยู่เดิม ตามระเบียบของ กสทช. โดยสามารถแบ่งเวลาให้เช่ากับบริษัทต่าง ๆ หรือหาพันธมิตรมาร่วมทุนได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 40 เท่านั้น

ส่วนแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียม หรือเอ็กซ์คูลซีฟคอนเทนต์ของดาวเทียมช่องนั้นๆ ปัจจุบันมีเพียงทรูวิชั่นส์ที่ซื้อลิขสิทธิ์ ซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล ภาคภาษาอังกฤษ มาออกอากาศ ซึ่งทรูคอร์ปฯ เองก็มีสถานีข่าว ทีเอ็นเอ็น 24 อยู่แล้ว

นอกจากนี้ หากไม่นับช่วงวิกฤตการเมืองในช่วงที่ผ่านมา คนไทยไม่ได้บริโภคข่าวเยอะเหมือนต่างประเทศ แม้จะมีทีวีดิจิตอลช่องรายการข่าวและสาระ แต่ก็เรตติ้งไม่ดี คนไทยยังคงนิยมรายการประเภทละคร และภาพยนตร์

และเมื่อบทบาทของสื่อโทรทัศน์มีแนวโน้มลดลง หากแพลตฟอร์มยังคงเป็นไปในลักษณะจำกัดฐานผู้ชม เช่น ทีวีดาวเทียม ทำไปมีแต่จะเจ๊ง เอาแค่ทีวีดิจิตอลทุกวันนี้ นายทุนสื่อแต่ละค่ายก็กระอักเลือดพออยู่แล้ว

ในประเทศไทย เนื้อหาข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศที่เป็นเรื่องเป็นราว ก็คงจะเป็นรายการสื่อวิทยุ เช่น วอยซ์ ออฟ อเมริกา (VOA) ภาคภาษาไทย จากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา หรือ เอ็นเอชเค (NHK) ภาคภาษาไทย จากกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น

แม้สื่อโทรทัศน์ในยุคนี้มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่รายการแบบออนดีมานด์ ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์รายวันมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ก็ตาม แต่การบริโภคข่าวสารของคนไทยยังคงขาดความน่าเชื่อถือ ที่สื่อกระแสหลักมีโอกาสเติมเต็ม

เมื่อบีบีซี ไทย มีโครงการผลิตข่าวแบบดิจิตอลเซอร์วิสเต็มรูปแบบ ทั้งเนื้อหาข่าว ภาพ เสียง วีดีโอ และโซเชียลมีเดีย หลังเปิดเฟซบุ๊ก “บีบีซี ไทย” แล้วได้รับความนิยม ก็มีสำนักข่าวชาติอื่น เช่น สำนักข่าวซินหัวของจีน เข้ามารุกโซเชียลมีเดียตาม

ไม่แน่ว่าในอนาคต ซีเอ็นเอ็น อาจจะมีโอกาสเข้ามาสร้างแบรนด์ ตั้งสถานีข่าวภาคภาษาไทยบ้างก็ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น