รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ถือฤกษ์งามยามดี 12 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ทำพิธีเปิดใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ช่วงพิษณุโลก-หล่มสัก โฉมใหม่ ที่โรงเรียนแคมป์สนวิทยาคม อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
วันนี้( 12 มีนาคม 2559) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดทางหลวงหมายเลข 12 สายพิษณุโลกห...
Posted by กรมทางหลวง on Friday, March 11, 2016
ทางหลวงสายนี้มีระยะทาง 104 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้าง 1 กุมภาพันธ์ 2556 แบ่งเป็น 5 ตอน ค่าก่อสร้าง 3,386.52 ล้านบาท ใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และงบประมาณของประเทศครึ่งต่อครึ่ง แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2558
ความลำบากคือการก่อสร้างบนพื้นที่ภูเขาสูงและหน้าผาต่างๆ รวมทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่ผลที่ได้นอกจากถนนที่กว้าง 4 ช่องจราจร ทำความเร็วได้เพิ่มขึ้น ปลอดภัยมากขึ้นแล้ว เมื่อผ่านพื้นที่ภูเขาและหน้าผา ก็ถูกยกให้เป็นถนนที่สวยที่สุด
นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางที่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ น้ำตกสกุโณทยาน (วังนกแอ่น), น้ำตกแก่งซอง, น้ำตกปอย, น้ำตกแก่งโสภา ขนานกับลำน้ำเข็ก, อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง, วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว และมีทางแยกไปภูทับเบิก
ทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงพิษณุโลก - หล่มสัก ขณะนี้กรมทางหลวง ได้ดำเนินการก่อสร้างขยาย จาก 2 ช่องจราจร เป็น4 ช่องจราจรแล้วเส...
Posted by กรมทางหลวง on Thursday, October 15, 2015
ภาพมุมสูงของทางหลวงหมายเลข 12 ตอน พิษณุโลก - หล่มสัก ครับ ขอบคุณภาพ จาก The king communication ที่เอื้อเฟื้อภาพ
Posted by กรมทางหลวง on Thursday, November 19, 2015
ในช่วงที่ไปภูทับเบิกเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสใช้เส้นทางนี้จากหล่มสักไปยังบ้านแคมป์สน พบว่าสวยงามสมคำร่ำลือ เพราะเป็นถนนที่กว้าง ฝั่งหนึ่งคือหน้าผา ส่วนเบื้องล่างคือเหว แต่ได้มีแผงกั้นคอนกรีตเพื่อความปลอดภัย
แต่ช่วงที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ไปยังพิษณุโลก ทราบมาว่ากรมทางหลวงจัดทำสะพานสัตว์ข้ามบริเวณเขตอุทยานแห่งชาติที่กิโลเมตรที่ 65, 68 และ 80 น่าจะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้อยู่บ้าง
เป็นถนนที่เหมาะสำหรับขับรถเที่ยวระหว่างภาคเหนือกับภาคอีสานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในฤดูหนาว นอกเหนือจากเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้า และการคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค และเชื่อมระหว่างพม่า กับลาว และเวียดนาม
ถนนสายนี้นอกจากจะเรียกว่า ถนนพิษณุโลก - หล่มสัก แล้ว ยังมีอีกชื่อหนึ่งก็คือ ถนนมิตรภาพ (Friendship Rd.) ก่อสร้างเมื่อปลายปี พ.ศ. 2500 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยความร่วมมือระหว่างไทย กับสหรัฐอเมริกา
ถนนมิตรภาพสายแรก คือ สระบุรี - นครราชสีมา เชื่อมระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน ระยะทาง 148 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2498 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2500 เพื่อแสดงถึงมิตรภาพของไทยกับสหรัฐอเมริกาในการก่อสร้างถนนร่วมกัน
แต่กว่าจะมาเป็นถนนสายนี้ขึ้นมาได้ ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย
สุรพล เทวะผลิน เคยเขียนบทความ “ทางยุทธศาสตร์เหนือเชื่อมอีสาน” ในวารสารทางหลวง ระบุว่า สมัยก่อนการเดินทางจากภาคเหนือไปยังภาคอีสาน ต้องอ้อมลงมาภาคกลางก่อนแล้วค่อยขึ้นมาภาคอีสาน
ในยุคนั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์จากจีนแผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่เวียดนาม ลาว และเขมร โดยมีแนวโน้มที่จะเข้ามาทางภาคเหนือและภาคอีสาน สหรัฐอเมริกาจึงต้องหาทางหยุดยั้ง ก่อนที่คอมมิวนิสต์จะใช้ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง
สหรัฐอเมริกามองว่า ต้องสร้างเส้นทางคมนาคมเป็นพื้นฐานอันดับแรก เพื่อให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงเข้ามา แล้วประชาชนจะรู้สึกว่า รัฐไม่ทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย
ปลายปี พ.ศ. 2500 กรมทางหลวงจึงได้เริ่มก่อสร้างถนนมิตรภาพสายที่สองเกิดขึ้น จากในเมืองพิษณุโลกใกล้แม่น้ำน่าน และวัดพระศรีรัตนมหาราช ทอดตัวในที่ราบตามแนวถนนเก่าจนถึง อ.วังทอง
ต่อจากนั้นเริ่มตัดถนนแนวใหม่เป็นลูกเนินและเขา ผ่านบ้านเข็กใหญ่ เริ่มเป็นเขาสูงชัน ผ่านอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โดยช่วงบ้านแคมป์สน ถึง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
ความลำบากอยู่ที่ถนนช่วงแคมป์สน ถึงหล่มสัก แต่เดิมไม่มีถนน เป็นภูเขาสูงชันและมีป่าไม้ทึบ มีแต่กลุ่มชาวเขาอยู่อาศัย ไม่สามารถออกแบบ กำหนดแนวทางและความลาดของถนนได้จากแผนที่ ต้องอาศัยการสำรวจเบื้องต้นด้วยการเดินเท้า
ทีมวิศวกรต้องเดินเท้าถึง 2 ครั้ง เข้าไปในป่าสูงทึบ มีความชื้นสูง ตัวทากชุกชุม และยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้มาลาเรีย ยังพบหน้าผาหินและทางน้ำผ่านมากมาย ต้องเสียเวลาทดสอบแนวทางลงหลายแนว
ในช่วงนั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ก่อตัวตั้งฐานปฏิบัติการขยายอิทธิพลจากป่าสู่เมือง กรมทางหลวงได้ตั้งศูนย์เครื่องมือกลหล่มสักเพื่อสร้างทาง ผู้ก่อการร้ายได้ต่อสู้ขัดขวางการสร้างทางตลอดมาหลายปี แต่สุดท้ายกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็ยอมสลายตัว
ภาพจาก Google Street View
หลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง คือ "หลักกิโลเมตร" บริเวณใกล้เชิงสะพานนเรศวร อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลก ระบุข้อความ “กรมทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงหมายเลข 24 สร้างเสร็จบริบูรณ์ พ.ศ. 2503 COMPLETED A.D. 1960”
ด้านล่างระบุข้อความ “สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย” ก่อนที่ในภายหลังจะเปลี่ยนเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 จนถึงปัจจุบัน
มาถึงรัฐบาลออสเตรเลีย ให้ความช่วยเหลือไทย ภายใต้แผนการโคลัมโบก่อสร้างถนน เริ่มจากปี พ.ศ. 2505 ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลขอนแก่น ก่อสร้างทางสายขอนแก่น – ยางตลาด ระยะทาง 59 กิโลเมตร และถนนสายอื่นรวม 170 กิโลเมตร
ปี พ.ศ. 2509 ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลตาก ก่อสร้างทางสาย ตาก – แม่สอด ตัดผ่านภูเขาสูงชันสู่ชายแดนพม่า ระยะทาง 87.5 กิโลเมตร ไทยใช้งบประมาณ 210 ล้านบาท ออสเตรเลียสนับสนุน 130 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2513
จากนั้น ศูนย์เครื่องมือกลหล่มสัก กรมทางหลวง ได้ก่อสร้างถนนช่วง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ถึง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2513 ระยะทาง 103.4 กิโลเมตร ฝ่ายไทยออกงบประมาณ 366 ล้านบาท รัฐบาลออสเตรเลียสมทบ 164 ล้านบาท
โครงการนี้ถือได้ว่าเชื่อมภาคเหนือกับภาคอีสานเข้าด้วยกัน และยังตัดผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ใช้เวลาก่อสร้างรวม 6 ปี แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2518 เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2520
โดยมีผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียร่วมงาน กับนายช่างฝ่ายไทยในด้านต่าง ๆ เช่น งานออกแบบ งานก่อสร้าง และงานบริหาร รวมทั้งยังจัดหาเครื่องจักรกล และอะไหล่ให้อีกส่วนหนึ่งด้วย
จุดเด่นของเส้นทางสายนี้ก็คือ “สะพานห้วยตอง” หรือ สะพานพ่อขุนผาเมือง ที่มีตอม่อสูงถึง 50 เมตร มากที่สุดในประเทศไทย การก่อสร้างต้องใช้เครื่องจักรหนักเป็นจำนวนมาก เพื่อตัดเขาเป็นงานดินถึง 4 ล้านลูกบาศก์เมตร
รวมทั้งต้องทำการระเบิดหินอีก 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร นับว่ามีปริมาณมากเมื่อเทียบกับความยาวของระยะทางเพราะต้องทำการก่อสร้างที่ตัดภูเขาสูงชัน และสลับซับซ้อนมาก
ปัจจุบัน สะพานห้วยตอง แม้จะเป็นจุดชมวิวที่สวยแห่งหนึ่งบนเส้นทางสายดังกล่าว แต่เมื่อสะพานมีลักษณะเป็นทางโค้งยาว 200 เมตร จึงเป็นจุดเสี่ยงที่จะเกิดโศกนาฎกรรมอุบัติเหตุร้ายแรงโดยไม่คาดคิด
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 รถประจำทางสายขอนแก่น – เชียงราย ของบริษัท สมบัติทัวร์ ออกจากสถานีขนส่งขอนแก่น เมื่อถึงสะพานห้วยตอง รถเกิดเสียหลักตกลงจากสะพาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 29 ราย ผู้บาดเจ็บ 4 ราย
ในปีนี้กรมทางหลวงมีแนวคิดที่จะขยายถนน โดยได้เสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ช่วงผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวไปแล้ว พร้อมเสนองบประมาณปี 2560 ดำเนินการ วงเงิน 5,400 ล้านบาท คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2562
ต้องดูกันต่อไปว่า กรมทางหลวงจะแก้ปัญหาจุดเสี่ยงบริเวณสะพานห้วยตองอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกลายเป็นโศกนาฎกรรมซ้ำขึ้นมาอีก
สะพานพ่อขุนผาเมือง หรือสะพานห้วยตอง เป็นสะพานที่มีตอม่อสูงที่สุดในประเทศ (50 เมตร) อยู่บนทางหลวงหมายเลข 12 ที่เชื่อมภาคเ...
Posted by กรมทางหลวง on Sunday, March 6, 2016
หลังก่อสร้างทางหลวงสายหล่มสัก – ชุมแพ แล้ว ในปี พ.ศ. 2518 ยังได้ก่อตั้งศูนย์เครื่องมือกลลำปาง เพื่อก่อสร้างทางสายลำปาง – เด่นชัย ระยะทาง 77 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2518 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525
โดยงบประมาณค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 497 ล้านบาท รัฐบาลออสเตรเลีย ให้ความช่วยเหลือ 9 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 203 ล้านบาท) และ รัฐบาลไทยจัดงบประมาณสมทบอีก 294 ล้านบาท
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ปัจจุบันถูกให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor) อีกทั้งยังยกให้ช่วงระหว่างตาก ถึงมุกดาหาร เป็นทางหลวงสายเอเชีย หมายเลข AH16
โดยนำเอาทางหลวงแผ่นดินทั้งหมด 9 ช่วง ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และ มุกดาหาร มารวมกันเป็นทางหลวงสายเดียว ระยะทาง 793.391 กิโลเมตร
สภาพเส้นทางในปัจจุบัน ช่วงแม่สอด – ตาก ช่วงกิโลเมตรที่ 49 - 73 กำลังก่อสร้างขยายเป็น 4 ช่องจราจร โดยมีการระเบิดหินบริเวณดอยรวก ซึ่งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งที่สุด เป็นเวลา 9 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2560
และในช่วงที่รัฐบาลกำลังผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็มีโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอดพร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ไปทางทิศเหนือของ อ.แม่สอด เชื่อมต่อกับถนนเมียวดี - กอกาเรก ในพม่า ระยะทาง 21 กิโลเมตร
ช่วง ตาก - สุโขทัย - พิษณุโลก เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร โดยได้สร้างทางเลี่ยงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ทดแทนถนนเส้นเดิม คือ ถนนจรดวิถีถ่อง ที่ไม่สามารถขยายได้อีก เนื่องจากติดเขตโบราณสถาน
ช่วง ชุมแพ - ขอนแก่น และ ขอนแก่น - กาฬสินธุ์ ปัจจุบันเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร ส่วนช่วง กาฬสินธุ์ - สมเด็จ กำลังขยายถนนระยะทาง 13 กิโลเมตร ขณะนี้การก่อสร้างล่าช้า เพราะติดปัญหาต้นไม้หวงห้ามในเขตทาง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงที่ตัดผ่านจังหวัดใหญ่ๆ ได้มีการสร้างทางเลี่ยงเมืองเป็นรูปแบบคล้ายถนนวงแหวนเอาไว้ด้วย เช่น ทางเลี่ยงเมืองพิษณุโลก ทางเลี่ยงเมืองขอนแก่น ทางเลี่ยงเมืองมุกดาหาร
ที่น่าสนใจก็คือ ช่วง กาฬสินธุ์ - มุกดาหาร กรมทางหลวงเลือกที่จะทำโครงการตัดถนนเส้นใหม่ แทนการขยายช่องจราจร เพื่อหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดิน และย่นระยะทางเดิมให้สั้นลง
เริ่มจากการตัดทางหลวงแนวใหม่ จากหลักกิโลเมตรที่ 626 หน้าห้างโกลบอลเฮ้าส์ ห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ 6 กิโลเมตร ไปทางทิศใต้ สิ้นสุดที่ถนนปัทมานนท์ (กาฬสินธุ์ - ร้อยเอ็ด) ระยะทาง 7.8 กิโลเมตร ขณะนี้กำลังก่อสร้าง
ส่วนช่วงต่อมา จากถนนปัทมานนท์ ถึงบ้านนาไคร้ อ.กุฉินารายณ์ ระยะทาง 71 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์ และจากบ้านนาไคร้ ถึง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร
เมื่อมองภาพรวมแล้ว กว่าที่โครงข่ายเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก จะสมบูรณ์แบบรองรับปริมาณรถเชื่อมต่อทั้งสองภูมิภาคยังคงต้องรอนานอีกหลายปี แต่สภาพเส้นทางถือว่าดีกว่าแต่ก่อนมาก
ถึงกระนั้น แม้ด้านหนึ่งจะสามารถเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ไปยังแขวงสะหวันนะเขต ต่อเนื่องไปถึงภาคกลางของเวียดนามได้โดยสะดวก แต่ในฝั่งพม่าดูเหมือนยังมีปัญหากับกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงอยู่
นอกจากนี้ ทางการพม่ายังไม่เปิดให้เข้าประเทศทางรถยนต์ นอกจากรถบรรทุกขนส่งสินค้า คงต้องรอให้พม่ามีประชาธิปไตยเกิดขึ้นสักระยะ จึงจะสามารถพิจารณาเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือคมนาคมได้อย่างเสรี
เชื่อว่าหากชาติอาเซียนเปิดประเทศกันถ้วนหน้าแล้ว ทางหลวงหมายเลข 12 สายนี้ จะหลั่งไหลไปด้วยความเจริญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ
ถือเป็นเส้นทางแห่งอนาคตที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง.
OOO
การขับรถบนทางหลวงหมายเลข 12 จาก อ.แม่สอด จ.ตาก ไปยัง จ.มุกดาหาร ระยะทางรวมประมาณ 800 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยไม่แวะพักประมาณ 10-11 ชั่วโมง แต่หากแวะพักจะใช้เวลาประมาณ 14-15 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม สามารถแบ่งเวลาแวะพักค้างคืนตามแหล่งท่องเที่ยวระหว่างทางได้ ซึ่งจะมีสถานที่ท่องเที่ยวระหว่างเส้นทางที่น่าสนใจ อาทิ
จ.ตาก ได้แก่ ตลาดริมเมย วัดโพธิคุณ เนินพิศวง ศาลเจ้าพ่อพะวอ ตลาดสินค้าพื้นเมืองชาวเขาดอยมูเซอ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หาดทรายทอง (แม่น้ำปิง)
จ.สุโขทัย ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตลาดสุโขทัย ศาลพระแม่ย่า
จ.พิษณุโลก ได้แก่เขื่อนนเรศวร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (พระพุทธชินราช) สี่แยกอินโดจีน น้ำตกสกุโณทยาน น้ำตกแก่งซอง น้ำตกแก่งโสภา อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
จ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ เขาค้อ วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว ภูทับเบิก อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง อนุสรณ์สถานเมืองราด อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว สะพานห้วยตอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จุดชมวิวพระอาทิตย์ตก ถ้ำผาหงษ์
จ.ชัยภูมิ ได้แก่ น้ำผุดนาเลา เขื่อนจุฬาภรณ์
จ.ขอนแก่น ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน บึงศรีฐาน (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ประตูเมืองขอนแก่น บึงแก่นนคร บึงทุ่งสร้าง
จ.กาฬสินธุ์ ได้แก่ สวนสาธารณะบึงอร่าม เขื่อนลำปาว
จ.มุกดาหาร ได้แก่ น้ำตกตาดโตน ตลาดอินโดจีน สะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 2
รถประจำทาง เส้นทางที่ต้นทางจากแม่สอด ถึงมุกดาหาร ไปตามทางหลวงหมายเลข 12 เป็นหลัก ได้แก่ สาย 829 แม่สอด - มุกดาหาร ของเพชรประเสริฐทัวร์ ผ่าน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก หล่มสัก ชุมแพ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร
มีรถประจำทางให้บริการวันละ 1 เที่ยว ต้นทางออกจากแม่สอด 18.20 น. ถึงมุกดาหารประมาณ 08.25 น. ต้นทางออกจากมุกดาหาร 16.45 น. ถึงแม่สอดประมาณ 06.45 น. ใช้เวลาเดินทาง 14 ชั่วโมงเศษ
อย่างไรก็ตาม ยังมีรถประจำทางที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือและภาคอีสานอีกหลายบริษัท สามารถรอขึ้นรถได้ที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารตาก สุโขทัย พิษณุโลก หล่มสัก ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และ มุกดาหาร
รถไฟ ทางหลวงหมายเลข 12 มีเส้นทางรถไฟตัดผ่านที่สถานีรถไฟพิษณุโลก ทางรถไฟสายเหนือ และ สถานีรถไฟขอนแก่น ทางรถไฟสายอีสาน ไป จ.หนองคาย
เครื่องบิน สนามบินที่ใกล้ทางหลวงหมายเลข 12 ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก, ท่าอากาศยานสุโขทัย, ท่าอากาศยานพิษณุโลก, ท่าอากาศยานขอนแก่น ส่วน จ.มุกดาหาร จะอยู่ใกล้กับท่าอากาศยานนครพนม และ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี
ความเป็นมาของทางหลวงหมายเลข 12 - ในอดีต มีการกรุยทางล้อทางเกวียนเลียบแม่น้ำยม จาก อ.สวรรคโลก ลงมายังที่ว่าการอำเภอเมืองและตลาดสุโขทัย จากนั้นข้ามสะพานแม่น้ำยม ที่เรียกว่า สะพานพระร่วง ตรงไปยังอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ผ่านที่ว่าการอำเภอบ้านด่านลานหอย สิ้นสุดที่บ้านระแหง จ.ตาก เรีกว่า "ถนนจรดวิถีถ่อง" - พ.ศ. 2479 ก่อสร้างถนนจากตัวเมืองพิษณุโลก ไปยังตัวเมืองสุโขทัย เรียกว่า “ถนนสิงหวัฒน์” - พ.ศ. 2493 ก่อสร้างถนนพหลโยธินจาก จ.ลพบุรี ขึ้นไปยัง จ.ลำปาง เชื่อมถนนจรดวิถีถ่อง บริเวณค่ายวชิรปราการ จ.ตาก ปัจจุบันคือ สี่แยกทางหลวง - พ.ศ. 2493 กรมทางหลวงตั้งชื่อถนนสายขอนแก่น-ชุมแพ-เลย–เชียงคาน ว่า "ถนนมลิวรรณ" เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกมล มลิวรรณ นายช่างกำกับแขวงการทางอุดรธานี ดูแลการสร้างถนนระยะทาง 255 กิโลเมตร จนแล้วเสร็จ - พ.ศ. 2495 ประกาศเวนคืนที่ดิน 88 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินสายตาก - แม่สอด, ทางหลวงแผ่นดินสายพิษณุโลก - วังทอง - ด่านซ้าย จ.เลย, ทางหลวงแผ่นดินสายชัยภูมิ - ชุมแพ, ทางหลวงแผ่นดินสายผานกเค้า - เลย - เชียงคาน, ทางหลวงแผ่นดินสายเลย - หล่มสัก - พ.ศ. 2500 - 2503 ก่อสร้างถนนสายพิษณุโลก - หล่มสัก โดยความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อสู้เอาชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ ระยะทาง 135 กิโลเมตร เป็นทางหลวงหมายเลข 24 ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 - พ.ศ. 2505 - 2509 ก่อสร้างถนนสายขอนแก่น – ยางตลาด โดยความช่วยเหลือของรัฐบาลออสเตรเลีย ตามแผนการโคลอมโบ ระยะทาง 59 กิโลเมตร ก่อนจะกำหนดให้เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 209 - พ.ศ. 2509 - 2513 ก่อสร้างถนนสายตาก - แม่สอด โดยความช่วยเหลือของรัฐบาลออสเตรเลีย ระยะทาง 87.5 กิโลเมตร ก่อนจะกำหนดให้เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 105 โดยกรมทางหลวงก่อสร้างถนนต่อไปยังท่าสองยาง สบเมย ถึง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน - พ.ศ. 2513 - 2518 ก่อสร้างถนนสายหล่มสัก - ชุมแพ โดยความช่วยเหลือของรัฐบาลออสเตรเลีย ระยะทาง 103.4 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับถนนมะลิวัลย์ (เดิมคือถนนสายขอนแก่น - เลย - เชียงคาน) ก่อนจะกำหนดให้เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 - พ.ศ. 2513 ได้ขนานนามทางหลวงสายมหาสารคาม - กาฬสินธุ์ - สกลนคร ว่า "ถนนถีนานนท์" เพื่อเป็นเกียรติแก่นายไสว ถีนานนท์ อดีตนายช่างกำกับแขวงการทางมหาสารคาม - พ.ศ. 2551 กรมทางหลวงได้นำทางหลวงสายอื่นๆ เช่น ถนนสายตาก - แม่สอด, ถนนสายขอนแก่น – ยางตลาด, ถนนสายมหาสารคาม–กาฬสินธุ์-สกลนคร (ช่วงสี่แยกยางตลาด ถึงสี่แยกสมเด็จ) และถนนสายสมเด็จ–มุกดาหาร เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 เพื่อให้สอดคล้องกับเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เต็มทั้งโครงการ โดยให้กิโลเมตรที่ 0 ตั้งอยู่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มาของข้อมูล : - สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสวรรคโลก. ประวัติศาสตร์ชุมชนอำเภอสวรรคโลก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : คลิกที่นี่ (วันที่ค้นข้อมูล : 13 มีนาคม 2559). - ราชกิจจานุเบกษา. พระราชกฤษฎีกาประกาศแนวทางหลวงแผ่นดิน 88 สาย พ.ศ. 2495. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : คลิกที่นี่ (วันที่ค้นข้อมูล : 13 มีนาคม 2559). - จอมพล ป. พิบูลสงคราม "เรื่องตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินและสะพานขนาดใหญ่." ราชกิจจานุเบกษา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : คลิกที่นี่ (วันที่ค้นข้อมูล : 13 มีนาคม 2559). - สุรพล เทวะผลิน. "ทางยุทธศาสตร์เหนือเชื่อมอีสาน." วารสารทางหลวง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : คลิกที่นี่ (วันที่ค้นข้อมูล : 13 มีนาคม 2559). - รองศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์. ท่องเที่ยวเส้นทาง 12 พิษณุโลก - หล่มสัก. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2557. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : คลิกที่นี่ (วันที่ค้นข้อมูล : 13 มีนาคม 2559). - ศูนย์สร้างทางลำปาง กรมทางหลวง. ประวัติศูนย์สร้างทางลำปาง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : คลิกที่นี่ (วันที่ค้นข้อมูล : 13 มีนาคม 2559). - ศูนย์สร้างทางหล่มสัก กรมทางหลวง. ประวัติศูนย์สร้างทางหล่มสัก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : คลิกที่นี่ (วันที่ค้นข้อมูล : 13 มีนาคม 2559). |
หมายเหตุ : ภาพโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 สายกาฬสินธุ์-บ้านนาไคร้ ตอน 1 อภินันทนาการจาก คุณวัชรพล โคตรจันทร์