xs
xsm
sm
md
lg

จริยธรรมสื่อ ทุน และวิถีประชาในโลกโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่พูดถึงข่าวเรื่องผู้เล่าข่าวชื่อดัง ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาให้มีความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของพนักงานในองค์กรกระทำความผิดด้วยการปิดบังการโฆษณาเกินเวลา มีโทษจำคุก 20 ปี แต่ศาลมีเหตุควรปรานีว่าให้การเป็นประโยชน์ในชั้นพิจารณา จึงลดโทษเหลือ 13 ปี 4 เดือน แต่ไม่รอการลงโทษให้

เมื่อคำพิพากษาออกมา สาธารณชนก็จับตามองว่า ตัวนักเล่าข่าวผู้นั้นและสื่อโทรทัศน์ต้นสังกัดจะมีท่าทีตอบสนองอย่างไร

ผลก็ออกมาตามคาด คือ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตัวผู้เล่าข่าวชื่อดังก็ยังออกรายการตามปกติ โดยอ่านข่าวเรื่องที่ตัวเองถูกศาลพิพากษาให้จำคุกเหมือนกับเป็นข่าวๆ หนึ่งที่จะต้องรายงาน และสรุปง่ายๆ ว่าขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังไม่ถึงที่สุด

ส่วนสถานีต้นสังกัดก็อ้างว่า ตอนกระทำความผิดนั้นยังไม่ได้มาทำงานกับบริษัท ดังนั้นก็ไม่สามารถเอาผิดได้ ง่ายๆ แค่นี้

คำตอบลักษณะนี้คาดหมายได้อยู่แล้วในยุคการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของโทรทัศน์ดิจิตอล รายการคุยข่าวยามเช้าของผู้เล่าข่าวท่านนั้นเป็นจุดแข็งมหากาฬของสื่อช่องนั้น ซึ่งหากจะให้พักหน้าจอไป อย่าว่าแต่รอคำพิพากษาของศาลสูงเลย เอาแค่เดือนสองเดือนก็มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทางช่องแล้ว ถ้าเปรียบเป็นเครื่องบิน ก็เหมือนให้ดับเครื่องยนต์ไปหนึ่งจากสองตัวเลยทีเดียว

ในมุมมองของการดำเนินธุรกิจแบบทุนนิยม ซึ่งวัดผลกันผ่านตัวเลขกำไรขาดทุน และตัวเลขเรตติ้ง นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดจนไม่ต้องเถียง ส่วนเรื่องจริยธรรมอะไรนั้น ก็น่าเสียดายว่ามันไม่ได้เขียนลงไปในงบการเงินด้วย ก็ไม่ต้องไปซีเรียสกับมันก็ได้

ส่วนองค์กรควบคุมจริยธรรมของสื่อ ในที่นี้ได้แก่สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยนั้น ก็มีข้อที่ถือเป็นช่องว่างคือ เป็นรูปแบบการควบคุมกันเอง ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่มีกฎหมายกำหนดสภาพบังคับไว้ ไม่เหมือนกรณีแพทยสภาหรือสภาทนายความ ที่ถ้าผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวกระทำผิดจริยธรรม สภาองค์กรผู้ควบคุมก็มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งก็ส่งผลให้ผู้ถูกลงโทษไม่อาจทำงานนั้นได้ต่อไป เพราะผิดกฎหมาย ถ้าฝืนทำมีโทษอาญาถึงจำคุก แถมถ้าเป็นกรณีทนายความเถื่อนใครจ้างไปว่าความกระบวนพิจารณานั้นก็จะเสียเปล่า นี่คือสภาพบังคับขององค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายและอำนาจรัฐรับรอง

แต่สำหรับสื่อนั้น มีหลักสำคัญคือ เสรีภาพของสื่อนั้นใครจะแทรกแซงเสียมิได้ อำนาจรัฐจะเข้ามาควบคุมก็ไม่ได้ เพราะหากมีการใช้อำนาจรัฐสามารถ “แบน” หรือห้ามสื่อได้ ก็ง่ายต่อการเข้ามาควบคุมเท่านั้น

การควบคุมทางวิชาชีพของสื่อมวลชนจึงไม่มีสภาพบังคับโดยรัฐและกฎหมาย ดังนั้น ผู้ที่ถูกลงมติว่ามีปัญหาทางจริยธรรม วิธีง่ายๆ คือลาออกจากสมาคมนั้นไปก็จบ หรือถึงไม่ออก ก็อาจถูกขับออก แต่การลาออกหรือถูกขับออกนั้นจะมีผลอะไร ในเมื่อสามารถทำงานนั้นได้อยู่ หากมีคนจ้าง หรือมีคนซื้อ หรือยังมีผู้ชมผู้อ่านติดตามอยู่... ก็แล้วจะทำไง

บางคนก็เอาเรื่องนี้ไปเทียบกับข่าวต่างประเทศที่พิธีกรรายการตลกชื่อดังของเกาหลีใต้คนหนึ่ง ชื่อ คัง โฮ ดง โดนข้อหาเลี่ยงภาษี ซึ่งผู้กล่าวหาคือกรมศุลกากรของเขาเท่านั้นนะครับ และยังเป็นแค่ชั้นกล่าวหาด้วยซ้ำ ยังไม่ถึงศาลเลย แต่เขาก็ออกมาขอโทษประชาชน และขอพักงานตัวเอง

นี่คือมาตรฐานแบบต่างประเทศ แต่ทำไมมาตรฐานไทยๆ เราไม่ไปถึงขั้นนั้น ก็แน่นอนละครับ ว่ามาตรฐานทางจริยธรรมนั้น มันไม่ใช่มาตรการทางกฎหมาย ผู้ที่มีอำนาจที่จะบังคับทางจริยธรรมได้ ก็คือ “สังคม” นั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นสังคมภายใน คือคนในวงการ หรือสังคมภายนอก คือประชาชนทั่วไป ที่ถือเป็นเหมือน “ลูกค้า” หรือ “ผู้สนับสนุน”

ในต่างประเทศที่เราเห็นว่าจริยธรรมเขาสูงนั้น มันเริ่มมาจากการที่สังคมทั้งภายในภายนอก “ไม่ยอมรับ” ผู้มีมลทินทางจริยธรรม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะผิดกฎหมายหรือไม่ ถูกศาลตัดสินหรือยัง เพียงแต่ถ้ามีข้อกล่าวหา และข้อกล่าวหานั้นมีมูล ก็ถือว่าเป็นเรื่องมีมลทินแล้ว

เมื่อมีมลทิน “สังคม” เขาไม่ยอมรับนะครับ ไม่ว่าจะสังคมภายใน คือ คนในวงการ ถ้าคนที่มีมลทินนั้นยังขืนจะทำงานต่อไป ก็อาจจะไม่มีใครร่วมงานด้วย สมมติเป็นดารา ก็ไม่มีใครยอมมาแสดงประกบด้วย เป็นพิธีกรก็ไม่มีใครยอมมาออกรายการ

ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะ “สังคม” ภายนอกเขาก็ล้อมสังคมภายในอีกที คือ ผู้คนในสังคมนั้นเขาไม่ยอมรับผู้มีมลทินเลย ให้ออกมาหน้าจอเขาก็ไม่ดู โฆษณาสินค้าอะไรก็ไม่น่าใช้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมภายในก็รู้เองว่า ถ้าแสดงคู่กับคนนี้ หรือปล่อยให้คนนี้มาออกทีวีอยู่ เรตติ้งก็ตก โฆษณาก็ขายไม่ได้ เขาก็ต้องเลิกจ้างหรือเลิกคบค้าสมาคมกันไปเองโดยอัตโนมัติ

และเมื่อเป็นเช่นนี้ ใครก็ตามที่ต้อง “มลทิน” เสียแล้ว ไม่ว่าจะในทางการเมือง หรือในทางสาธารณะ เขาก็ไม่รอให้ถูกลงโทษถึงขั้นนั้นหรอก สู้รีบมาขอโทษประชาชน รับผิดด้วยการลาออกหรือพักงานไป จนกว่าจะพิสูจน์ตัวเองได้จะหล่อกว่า ดีกว่าดื้ออยู่จนถูกแบนยกวงการ

แต่ในกรณีของไทยเล่า? ในเมื่อผู้ต้องคดีถึงขนาดมีคำพิพากษาของศาลก็แล้ว แม้ยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม แต่ก็ยังอ้างว่าต้องรอ 3 ศาลให้สะเด็ดน้ำ แล้วก็ทำงานต่อหน้าตาเฉย ต้นสังกัดก็เชื่อว่า เรตติ้งก็ยังดี ก็เฉย บริษัทห้างร้านองค์กรธุรกิจที่อยากโฆษณาในช่วง prime time ก็เฉย เพราะเชื่อว่าปล่อยโฆษณาในรายการของคนนี้ ลูกค้าเห็นได้เยอะ จริยธรรมอะไรนั่นพับไว้ก่อน มองวัตถุประสงค์เป็นหลัก

และสำคัญที่สุด ก็คือ “คน” ครับ ถ้ายังมีคนติดตามชมล้นหลาม มันก็วนกลับไปวัฏจักรเดิมๆ ก็เมื่อเรตติ้งไม่ลด โฆษณาก็ไม่ลด เมื่อทั้งสองอย่างไม่ลด แล้วทางต้นสังกัดจะเลิกจ้างหรือพักงานให้โง่เหรอ และแน่นอนครับ เมื่อทุกอย่างไม่มีผลกระทบ แล้วเจ้าตัวเขาหยุด ก็เหมือนตีไพ่โง่

สุดท้ายก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครโง่นะครับ

แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายอยู่ ในยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้

เราได้เห็นการตื่นตัวเคลื่อนไหว การกระจายข่าว การสร้างไวรัล จนเป็นกระแสไปทั่วอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะนี่ก็อาจจะเป็นครั้งแรกด้วยกระมัง ที่เกิดเรื่องท้าทายเชิงจริยธรรมสื่อขนาดนี้ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ก็ไม่แน่ว่าถ้ากระแสติดได้จริงๆ มันจะกระทบกระเทือน “ลูกค้า” คือบริษัทห้างร้านต่างๆ บ้างไหม หรือจะกระทบกระเทือนกับพวกแขกรับเชิญไหม ว่า กระแสกำลังแรง อย่าเพิ่งไปออกสื่อ หรืออย่าเพิ่งโฆษณาเลย

อาจจะเหมือนการหวังลมๆ แล้งๆ แต่ใครจะไปรู้ครับ สมัยนี้โฆษณาออกมาถูกด่าเละทางโซเชียล เช่น โฆษณาชูคนขาวเหยียดคนดำกลายเป็นกระแสขึ้นมา เจ้าของสินค้ารีบลบรีบเก็บสื่อโฆษณานั้นออกจากระบบแทบไม่ทัน เพราะรู้ว่าเดี๋ยวนี้กระแสโซเชียลมันไม่ใช่แค่ปากต่อปาก แต่มันลามไปถึงคนเป็นหมื่นเป็นแสนที่มีสมาร์ทโฟน ดังนั้นไม่เสี่ยงหาเรื่องกับโลกโซเชียลจะดีกว่า

เรื่องนี้ก็อาจจะได้ลองวัดพลังว่า ระหว่าง “ทุน” และ “สื่อ” รูปแบบเดิมกับวิถีประชาในโลกโซเชียล ใครจะแข็ง ใครจะชนะ.
กำลังโหลดความคิดเห็น