xs
xsm
sm
md
lg

แอปเปิ้ล VS เอฟบีไอ เมื่อศึกในต้องนำออกมา (เล่า)

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

ช่วงนี้รู้สึกว่าตัวเองจะหมกมุ่นคิดเรื่องของวิทยาศาสตร์มากไปซะหน่อย เขียนเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์มาสองเรื่องติดๆกัน วันนี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้บริษัทแอปเปิ้ลปลดล็อคโทรศัพท์ไอโฟน 5 ซี ของนายซาอิด ฟารุค มือปืนกราดยิง 14 ศพ ที่เมืองซาน แบร์นาดิโน เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว  เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในคดีกราดยิงจากไอโฟนที่ไม่ทราบรหัสผ่าน หากเจ้าหน้าที่เดารหัสผ่านผิดบ่อยครั้งเกินไป ข้อมูลของฟารุก ก็จะเสี่ยงถูกลบไปด้วย เป็นเหตุผลว่าทำไมเอฟบีไอจึงต้องการให้แอปเปิลช่วยเหลือ

พอมีข่าวนี้ออกมา นายทิม คุก ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแอปเปิ้ล ออกมายืนกรานและยืนยันว่า ความต้องการของเอฟบีไอละเมิดนโยบายของบริษัทที่ต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และเกินขอบเขตอำนาจของกฎหมาย อีกทั้งยังเสี่ยงเกินไป ที่จะให้ความช่วยเหลือทางการสหรัฐในเรื่องนี้

เมื่อนายทิม คุกออกมาพูดแบบนี้ทำให้ได้รับความสนับสนุนจากบริษัทร่วมวงการทั้งเฟซบุ๊ก กูเกิ้ล และทวิตเตอร์

ในเวลาต่อมานายจอห์น แม็คอาฟี่ ชื่อคุ้นๆไหมครับเขาคืออดีตผู้ก่อตั้งบริษัทแม็คอาฟี่ ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาซอฟแวร์หรือโปแกรมที่มีไว้สแกนและฆ่าไวรัสคอมพิวเตอร์รายใหญ่รายหนึ่งของตลาด ถึงขนาดที่ออกมาพูดเลยว่ายินดีช่วยเอฟบีไอถอดรหัสให้แบบฟรีๆ แถมถ้าทำไม่ได้จะขอกินรองเท้าโชว์ออกทีวีไปเลย ชักสนุกละครับ แน่ไม่แน่ไม่รู้ แต่กล้ามากครับชายคนนี้

หากย้อนกลับไป หลายท่านที่เคยใช้ไอโฟนคงทราบว่า เมื่อก่อนไอโฟน มีรหัสผ่าน 4 หลัก ฉะนั้นโอกาสจะเดารหัสผ่านถูกจึงมีเพียง 1 ใน 1 หมื่นครั้งเท่านั้น แต่ปัจจุบัน ระบบiOS 9 มีรหัสผ่านเพิ่มเป็น 6 หลัก โอกาสที่จะเดารหัสถูกจึงเหลือเพียง 1 ในล้านเท่านั้นเองครับ และเมื่อในอดีตแอปเปิ้ลเก็บ encryption key เอาไว้เปิดเครื่องโดยไม่ต้องใช้รหัสผ่านในกรณีจำเป็นหรือฉุกเฉิน แต่ปัจจุบัน แอปเปิ้ลเลิกใช้ระบบ encryption key ไปแล้ว

วิธีที่จะทำให้สามารถเปิดเครื่องได้ จึงต้องใช้ brute-force ซึ่งก็คือการไล่ใส่รหัสไปเรื่อยๆ (ตั้งแต่ 0000-9999 หรือ 00000-99999) แต่ถ้าหากใส่รหัสผ่านของไอโฟนผิดบ่อยๆ เครื่องจะปิดตัวเองไม่ให้ใส่รหัสไปชั่วขณะหนึ่ง และถ้าใส่ผิดมากๆเข้า ข้อมูลทั้งเครื่องจะถูกลบทิ้งโดยอัตโนมัติครับ

เมื่อ FBI ไม่สามารถ brute-force รหัสผ่านด้วยตัวเองได้ ก็เลยขอคำสั่งศาล เพื่อบังคับให้บริษัทซึ่งเป็นผู้ผลิตมาช่วยทำการแฮกตัวเครื่อง วิธีที่ศาลและฝั่งเอฟบีไอเสนอให้ แอปเปิ้ลคือการทำ software update ของ iOS เวอร์ชันพิเศษที่ตัดฟีเจอร์รักษาความปลอดภัยออกไป เพื่ออนุญาตให้เอฟบีไอ สามารถ brute-force รหัสผ่านได้ ส่วนฝั่งแอปเปิ้ลนั้นบอกว่าทำได้นะในทางเทคนิคแต่ไม่ทำซะงั้นเลย

ทางแอปเปิ้ลได้ออกจดหมายชี้แจงเรื่องนี้ว่า ถ้าบริษัทยอมทำให้ตามที่รัฐบาลขอ แสดงว่าบริษัทมีกุญแจพร้อมหยิบยื่นให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเมื่อตราบเท่าที่รัฐบาลต้องการ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลต้องการข้อมูลของใคร แอปเปิ้ลก็ต้องเปิดให้

ในหนังสือที่สั่งให้ศาลไปเร่งให้แอปเปิ้ลทำตามคำสั่งศาล กระทรวงยุติธรรมสหรัฐกล่าวโต้ว่า นโยบายความเป็นส่วนตัวของแอปเปิ้ล ก็คือการตลาดเท่านั้น

เมื่อมองในกรณีที่แอปเปิ้ล สามารถวาง backdoor ไว้ในอุปกรณ์ตัวเองได้ (คือทางลัดสำหรับเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ต้องใช้รหัสผ่าน) และรัฐบาลจะเก็บไว้ใช้คนเดียวเท่านั้น แต่ไม่มีใครเชื่อว่ารัฐบาลจะทำได้จริงๆ อย่างที่ทิม คุกเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าผู้ไม่หวังดีรู้ว่ามี backdoor เขาจะไม่หยุดถ้าหาไม่เจอ เท่ากับว่าใครก็ตามถ้ารู้วิธีก็สามารถใช้ backdoor ล้วงข้อมูลบนไอโฟนได้หมด

จากมุมมองของสิทธิส่วนบุคคล ถ้าแอปเปิ้ลยอม ก็เท่ากับผู้ใช้แอปเปิ้ลไม่สามารถเก็บรักษาปกป้องข้อมูลส่วนตัวได้ ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ทั่วโลก  ในประเด็นระหว่างประเทศ หากรัฐบาลสหรัฐ สามารถออกคำสั่งให้แอปเปิ้ลเจาะระบบสินค้าตัวเองได้ รัฐบาลจีน และรัสเซียก็อาจจะขอความร่วมมือในลักษณะนี้ได้เช่นกัน  แอปเปิ้ลยอมให้สหรัฐ ก็ต้องยอมให้รัฐบาลอื่นๆอย่างรัสเซีย จีน ฯลฯด้วย

เรื่องนี้ยังไม่จบครับยังต้องตามกันต่อ เสรีภาพกับอำนาจรัฐเป็นอะไรที่ขัดกันเสมอ ผลประโยชน์ของธุรกิจบริษัทยักษ์ใหญ่มีพลังอำนาจไปทั่วโลก มันซับซ้อนซ่อนเงื่อนไม่ธรรมดาหรอกครับ เอฟบีไอกับแอปเปิ้ลใครจะเหนือกว่ากัน ใครจะซูเอี๋ยกับใครหรือไม่ ต้องตามอย่างไม่กระพริบตากันละครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น