วันก่อน ผมแวะเข้าไปนั่งกินข้าวกลางวันในร้านอาหารแห่งหนึ่งแถวบ้าน โต๊ะข้างๆ มีคนกลุ่มใหญ่นั่งอยู่ ดูรูปการณ์แล้วทั้งหมดนั้นน่าจะเป็นเพื่อนกัน ระหว่างที่ผมใกล้จะจัดการข้าวกะเพราเนื้อสับไข่ดาวของผมหมดจาน ก็ได้มีโอกาสประสบสบเหตุโต๊ะข้างๆ ที่ว่าเป็นเพื่อนกันนั้นมีเหตุการณ์เถียงกันเสียงดัง จนในที่สุดสองคนที่เถียงกันถึงขั้นมีฮึดฮัดทำท่าจะวางมวย แต่อาจจะเพราะทั้งสองเป็นเพื่อนและมีคนอื่นห้ามปราม เหตุการณ์จึงไม่เลยเถิดไปถึงขั้นรุนแรง
บอกตามตรงว่าตอนแรกไม่ได้สนใจฟังโต๊ะข้างๆ เขาคุยกันเรื่องอะไร แต่หลังจากเหตุการณ์เกือบเกิดศึก ต่อมเผือกจึงกำเริบ แรกทีเดียวผมเดาไว้ก่อนว่า น่าจะเป็นเรื่องการเมืองแหงๆ เพราะช่วงหลังเพื่อนกันคุยเรื่องการเมืองแล้วผิดใจกันเยอะ แต่แล้วผิดคาดครับ หลังจากได้นั่งฟังไปเรื่อยๆ เผือกน้อยอย่างผมจึงพบว่า “เค้าทะเลาะกันเรื่องบอลไทย”
ฝั่งนึงเป็นบุรีรัมย์ อีกฝั่งเป็นเมืองทอง
สารภาพว่า ผมเองก็เพิ่งรู้ว่ามันมีความไม่ลงรอยระหว่างแฟนบอลสองฝั่งกันถึงขนาดที่จะมีวงสนทนาที่นั่งเถียงกันจนเกือบจะวางมวยได้ก็คราวนี้
มานั่งนึกๆ ดู จริงๆ แล้วคนเรานี้ชอบใช้ชีวิตอยู่กับการเลือกข้างอยู่เหมือนกัน
ตั้งแต่เล็กจนโต ผมมีประสบการณ์พบเจอบ่อยครั้ง (ซึ่งบางครั้งตัวเองก็เป็น) กับการเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างความเชื่อสองฝั่ง เชื่อไหมครับว่าครั้งหนึ่งผมเคยมีเพื่อนที่ทะเลาะกันจริงจังในเรื่องโค้กกับเป๊ปซี่อะไรรสชาติดีกว่ากัน นี่เรื่องจริงนะไม่ได้พูดเล่น!
พูดง่ายๆ คือมันเริ่มขึ้นจากสถานการณ์ที่บ่มเพาะให้อุบัติ คน-สัตว์-สิ่งของ หรือใดๆ ขึ้นมาก่อนสองอย่างในสถานะขั้วตรงข้าม ยืนปักหลักอยู่สองฝั่ง หลังจากนั้นความแตกต่างในระดับธรรมดา ค่อยๆ บ่มเพาะจนกลายเป็น “ความเชื่อ” ที่อาจจะเลยเถิดไปถึงดีกรีหมกมุ่นศรัทธาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ทีมฟุตบอล หรือสิ่งของอะไรต่างๆ อย่างนักเล่นเครื่องเสียงบางคนเถียงกันแทบตายว่าลำโพงคู่ไหนจะดีกว่ากันถึงขั้นเลิกคบจนไม่เผาผีกันมาแล้ว หรืออย่าทำหัวเราะนะครับ หลังๆ นี่ผมเคยเห็นคนเถียงกันเรื่องระบบมือถือเจ้าที่ตัวเองใช้อยู่ดีกว่าอีกเจ้าหนึ่งที่เพื่อนใช้
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผมเรียกมันว่า “โกลาหลของกองเชียร์”
นั่นคือ จริงๆ แล้ว กองเชียร์อาจจะไม่เกี่ยวเลย แต่บังเอิญมี คน-สัตว์-สิ่งของ (หรือแม้แต่บริการเครือข่ายมือถืออย่างที่ยกมาข้างต้นนี้) เกิดบังเอิญมีวิวัฒนาการจนเกิดเป็นสถานการณ์ให้ยืนอยู่กับคนละฝั่ง แล้วคนเราก็บังเอิญไปยืนอยู่ในพื้นที่ข้างใดข้างหนึ่ง พอยืนอยู่ในพื้นที่ข้างใดข้างหนึ่งที่ว่า สูดหายใจเอาความเชื่อเข้าไปจนก่อสภาวะความศรัทธาใน คน-สัตว์-สิ่งของ หรือใดๆ ขึ้นมา ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกปลุกเร้าโดยสถานการณ์รอบข้าง ไล่ไปตั้งแต่แวดวงใกล้ตัวอย่างครอบครัว เพื่อนฝูง ไปจนถึงการกระตุ้นเร้าจากสื่อต่างๆ เมื่อนั้นเราก็จะกลายสภาพเป็น “มนุษย์กองเชียร์” เข้าไปในทันใด
ลองนึกภาพนะครับ ว่าคนในสังคมแต่ละคนสมัยนี้ พอก้าวเท้าออกจากบ้านจะไปเจอผู้คนและดำเนินวิถีชีวิตในสังคม ตั้งแต่วินาทีแรก เราก็จะหยิบเสื้อกองเชียร์ใดๆ ขึ้นมาใส่โดยไม่รู้ตัว
ไม่ว่าจะเป็น สีเสื้อของฝั่งการเมือง ชอบบอลทีมไหน ใช้มือถือค่ายอะไร ฝากเงินแบงก์ดีกว่าซื้อกองทุน ซื้อทองดีกว่าซื้อหุ้น หลงรักในแฟชั่นแบบไหน แบรนด์อะไร แอร์เมสน่าใช้กว่าชาแนล ...นั่น นู่น นี่ ไปจนถึงกระแสฮิตในปัจจุบัน ...เอาช่วงหรือไม่เอาช่วง ก็กำลังเป็นพื้นที่ยอดฮิตในการที่เร้าใจเราให้ไปปักหลักอยู่ในกองเชียร์นั้นๆ
แล้วมนุษย์กองเชียร์ส่วนใหญ่พอรับเอาความเชื่อความศรัทธาเข้าไปเยอะๆ พออินมากเข้าก็จะเริ่มหลับตาข้างไม่มองหลักการและเหตุผล เริ่มเอาแค่ว่า เราอยู่ในกองเชียร์ฝ่ายไหนก็เข้าข้างฝั่งนั้นไป บางทีภาษาสมัยใหม่เรียกว่าติ่งของนั่น ติ่งของนี่
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความสับสนในสัดส่วนของถูก-ผิด ที่น่ากลัวที่สุดก็คือการเอาสิ่งที่ “ถูกบางส่วน” มานำเสนอว่ามันเป็น “ถูกทั้งหมด” และที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือการนำเอาสิ่งที่ “ผิดบางส่วน” ของอีกฝั่งมาเปรียบเทียบกับ “ถูกบางส่วน” ของฝั่งเรา เพื่อเชิดชูให้สิ่งที่ถูกบางส่วนของฝั่งเราดูถูกทั้งหมดไปมากขึ้นอีก
แท้จริงแล้ว ความขัดแย้งใดๆ ในโลกเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะอยู่ในสถานะขั้วตรงข้าม มวลมนุษย์โลกนั้นเกิดมาบนพื้นฐานของความแตกต่างอยู่แล้ว แต่ “ความโกลาหลของกองเชียร์” นี่เองที่จะเขย่าให้ความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งมันเละเทะและฉิบหายวายป่วง