xs
xsm
sm
md
lg

จะคลิกแชร์ไลค์อย่างไรในวันที่คนทั้งโลกกลายเป็นสื่อ/สุรวิชช์ วีรวรรณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน


เรานั่งคุยกันว่าตอนนี้เราอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลงไหม หลายคนบอกว่าแทบจะไม่ได้อ่านเลย บางคนบอกว่าอ่านน้อยลง ส่วนผมนั้นบอกตามตรงว่า ส่วนใหญ่ก็ข่าวจากเว็บไซต์ อ่านข่าวจากลิ้งค์ในโซเชียล แล้วเลือกอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์เฉพาะข่าวที่อยากรู้เพิ่มเติมหรือสอบทานจากที่อ่านในเว็บไซต์แล้ว

บทสรุปที่ตรงกันก็คือ เดี๋ยวนี้คนอ่านข่าวทางโซเชียลออนไลน์มากกว่าจะอ่านจากหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์เป็นอะไรที่ล้าสมัยไปแล้ว ยกเว้นคอลัมน์วิเคราะห์วิจารณ์ข่าวสารล้วนแต่เป็นข่าวเก่าที่เรารับรู้อยู่แล้ว

เพราะเดียวนี้เราสามารถทราบข่าวสารที่เกิดขึ้นจนเกือบจะเรียกได้ว่าเรียลไทม์ เดี๋ยวนี้ค่ายสื่อหลักก็ไม่กั๊กข่าวแล้ว เช่น เมื่อก่อนได้ข่าวอะไรมากก็เอาไว้ลงในหนังสือพิมพ์ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แต่เดี๋ยวนี้ไม่แล้วได้ข่าวก็เอามาลงเลย แข่งขันกันที่ความเร็วผ่านทางออนไลน์แทน ว่าไปแล้วค่ายผู้จัดการเป็นค่ายแรกที่ทำแบบนี้ คือไม่กั๊กข่าวไว้แต่ได้ข่าวมาแล้วลงเว็บทันที จนปัจจุบันทุกค่ายก็ทำแบบนี้กันหมด

แต่ตอนนี้มีโซเชียลเน็คเวิร์คพวกเฟซบุ้ค ไลน์ ทำให้ภูมิทัศน์ของข่าวเปลี่ยนไป ข่าวสารไม่ได้หลั่งไหลมาจากสำนักงานข่าวเท่านั้น แต่สามารถมาจากทุกทิศทุกทางจากคนที่อยู่ในโลกโซเชียล พูดได้ว่าทุกวันนี้ทุกคนกลายเป็นสื่อ นอกจากนั้นยังมีเว็บไซต์เกิดขึ้นมามากมายล้วนแล้วแต่แข่งกันนำเสนอข่าวที่เน้นสร้างความหวือหวาโดยพาดหัวข่าวเพื่อใครคนเข้าไปอ่าน ที่เรียกกันว่า Clickbait

เว็บไซต์พวกนี้จะเน้นใช้คำพาดหัวที่หวือหวาอ่านและสะดุดตาสะดุดใจจนอดที่จะคลิกเข้าไปดูไม่ได้ แต่เมื่ออ่านเนื้อข่าวแล้วก็ไม่มีอะไรมาก บางทีไม่มีสาระอะไร หรือมีก็เป็นเรื่องราวพื้นๆธรรมดา เหมือนถูกหลอกให้คลิกเข้าไปอ่าน เดี๋ยวนี้มีเว็บไซต์แบบนี้เกิดขึ้นมากจนเขย่าอันดับการเข้าไปดูของเว็บสำนักข่าวหลักๆเลยทีเดียว โดยเว็บไซต์เหล่านี้จะมีรายได้จากยอดคลิกเข้าชมหน้าเพจที่มีโฆษณาแปะอยู่ จำไว้เลยว่ายิ่งคลิกเข้าไปอ่านมากยิ่งส่งเสริมการนำเสนอข่าวสารในวิถีทางที่ผิดๆและทำให้พวกนี้รวยขึ้น

ผมเห็นมีคนพยายามจะแอนตี้เว็บ Clickbait ออกมาเปิดโปงว่า พวกนี้ไม่ใช่สำนักข่าวมาตรฐานแค่หลอกให้คนคลิกเข้าไปอ่านแล้วไปขายโฆษณาจากยอดคลิก แต่เว็บแบบนี้ก็ยังเกิดมากขึ้น จนกระทั่งเดี๋ยวนี้สำนักข่าวหลักๆยังต้องสร้างยอดคลิกให้ตัวเองตัวการพาดหัวข่าวแบบClickbait

ผมเห็นเพื่อนบางคนต่อต้านคนที่เอาข่าวจากเว็บClickbait มาแชร์ ถึงกับยกเลิกความเป็นเพื่อน แต่เอาเข้าจริงแล้วคนที่เสพข่าวเขาไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร เขาเห็นว่าข่าวนั้นน่าสนใจก็คลิกเข้าไปอ่านแล้วแชร์ไปต่อไม่ได้สนใจหรอกว่าสำนักข่าวไหนเป็นสำนักข่าวมาตรฐานหรือไม่มาตรฐาน แล้วเดี๋ยวนี้ก็เริ่มเห็นการพัฒนาของเว็บพวกClickbait ก็คือ พยายามทำให้มีเนื้อหามากขึ้น แต่ยังใช้สไตล์พาดหัวแบบใช้คำดึงดูดให้คนคลิกเข้าไปเหมือนเดิม จนกระทั่งวิธีการพาดหัวแบบนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

การเกิดขึ้นของเว็บข่าวมากมายที่มุ่งนำเสนอข่าวสารเพื่อเอายอดคลิปไปหาโฆษณา และการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทำให้ใครก็กลายเป็นนักข่าว วันนี้เราจะเห็นคนที่เล่าเฟซบุ้คหลายคนมีคนติดตามมาก เพราะพยายามทำตัวเหมือนเป็นสำนักข่าวที่คอยรายงานข่าวสารที่โน้นที่นี่ บางครั้งก็วิเคราะห์ข่าวให้ฟัง บางคนก็รวบรวมเอาจากสำนักข่าวหลัก แต่บางคนก็รายงานจากเหตุการณ์ที่ตัวเองได้พบเห็นอย่างปัจจุบันทันด่วน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้สำนักข่าวหลักก็หันมาหาข่าวในโซเชียลนี่แหละ

บางครั้งข่าวในโซเชียลก็จริงบ้างไม่จริงบ้าง โดยเฉพาะในยุคที่มีกีฬาสีทางการเมืองโซเชียลมีเดียก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่คนที่ติดตามและคนที่ศรัทธาก็เชื่อถือโดยไม่ได้กลั่นกรอง

แม้ผมจะเป็นคนทำงานสื่อมานานกว่า30ปีแล้ว แต่ไม่ได้ตกใจกับปรากฎการณ์ที่ทุกวันนี้ใครก็เป็นสื่อ เพราะโซเชียลเน็ตเวิร์คทำให้ทุกคนเหมือนมีเครื่องมือสื่อสารของตัวเอง

ทุกวันนี้เฟซบุ้คและไลน์กลายเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสารอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีทั้งเรื่องเท็จและเรื่องจริงปะปนกัน แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการสื่อสารมวลชนของโลกและตำรานิเทศศาสตร์

ถ้าเรานำโซเชียลมีเดียมาใช้งานอย่างสร้างสรรค์ก็จะกลายเป็นพลังที่สำคัญของสังคม ทำให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเรื่องน่าประทับใจมากมายจากโซเชียลมีเดีย เช่น เรื่องช่วยหมาที่ตกรถจนเจ้าของกลับมารับ ช่วยกันแชร์เรื่องหมาตกเรือจนมีคนรับไปเลี้ยงดู หรือช่วยกันกดดันกรณีหมอฟันหนีทุน ฯลฯ แต่คนที่ใช้โซเชียลมีเดียเช่นเฟซบุ้ค ไลน์เพื่อสร้างข่าวลวงข่าวเท็จก็เยอะทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ บางคนถูกนำมาประจานในโซเชียลในทางที่เสียหายแต่สุดท้ายความจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เราจะควบคุมจริยธรรมและจรรยาบรรณที่เราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่นำเสนออย่างไร จะดีจะชั่วสื่อกระแสหลักหรือสำนักมาตรฐานนั้นเขามีกฎกติกามารยาทที่สั่งสอนกันมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะคุมกันได้ทั้งหมดนะครับ ออกนอกลู่นอกทางเอาวิชาชีพไปทำมาหากินไปรีดไถก็เยอะ มีคนดีคนไม่ดีในทุกสังคม เพียงแต่คนส่วนใหญ่ยังดีอยู่

ถามว่า จะไปควบคุมให้ทุกคนที่กลายเป็นสื่อในโลกโซเชียลมีจริยธรรมจรรยาบรรณได้ไหม บอกตรงๆว่ายังไม่เห็นหนทาง และไม่น่าจะทำได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ คนที่บริโภคสื่อต้องมีสติ มีการตรวจสอบข่าวสารที่รับมาก่อนจะเผยแพร่ออกไป จะแชร์ต่อต้องรู้แน่นอนแล้วว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริง

จำไว้เลยว่า อย่าแชร์ทุกเรื่องทันทีที่เราได้รับมาจนกว่าจะตรวจสอบว่าเป็นความจริง หรือตัดสินอะไรโดยไม่ได้ตรวจสอบให้รอบคอบ อย่าลืมว่าเมื่อแชร์อะไรไปแล้วจะต้องมีความรับผิดชอบตามมาและอาจกลายเป็นทั้งจำเลยของสังคมและอาจจะมีความผิดทางกฎหมาย

โลกนี้มีเสรีภาพ แต่ต้องมีกติกาในการอยู่ร่วมกันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น