เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมเขียนบทความเล่าเรื่องว่าได้อะไรจากประสบการณ์เลี้ยงหลาน มีเพื่อนคนหนึ่งได้อ่าน แล้วเขาสอบถามในบางประเด็น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นมาด้วย ผมเลยเอามาแลกเปลี่ยนทัศนะกันนะครับ (อ่านบทความเก่าประกอบได้ที่ http://www.manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID=9590000009604)
ผมเขียนไปตอนหนึ่งว่า ผมและเมียพยายามจะไม่เล่นกับหลานด้วยวิธีการแข่งกัน ไม่แข่งกันทำนู่นทำนี่ หลีกเลี่ยงเกมที่จะต้องแข่งกัน แต่ใช้วิธี “เรามาเล่นด้วยกัน” อย่างเวลาจะเล่นโยนลูกบอลเข้าตะกร้า ก็จะไม่พยายามเล่นแบบแข่งว่าใครโยนเข้าได้เยอะกว่ากัน แต่เล่นด้วยการเรามาช่วยกันโยนลูกบอลเข้าตะกร้ากันนะอะไรประมาณนั้น
ที่เขียนไปเช่นนั้น เพื่อนผมตั้งคำถามว่า ผมกำลังจะสอนเด็กให้หลีกเลี่ยงไม่ให้มีประสบการณ์กับการต่อสู้แข่งขันอย่างนั้นหรือ พร้อมทั้งเสนอความเห็นว่า ในโลกปัจจุบันนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอกนะที่จะหลีกเลี่ยงกับการเผชิญหน้ากับคู่แข่ง หรือเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงที่จะต้องพาตัวเองเข้าสู่สนามแข่งขัน
เพื่อนผมยังบอกต่อไปว่า ชีวิตเด็กพอโตขึ้นก็เริ่มแล้วที่จะต้องไปสอบแข่งขันกับคนอื่นเพื่อเข้าเรียน พอเข้าโรงเรียน ผลสอบเป็นประจำทุกปีก็เรียงลำดับที่เรียงตามความสติปัญญาของเด็กในห้องเรียนโดยผ่านระบบการสอบแข่งขัน มีที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม เรียงไปจนถึงที่สุดท้าย หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่าที่โหล่ นอกจากนี้ชีวิตของคนยังต่อดำเนินไปในโลกด้วยการแข่งขันทั้งนั้นแหละ ทั้งในตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือชีวิตประจำวันอื่นๆ อย่าว่าแต่แข่งขันกันเพื่อตำแหน่งในอาชีพการงานเลย บางครั้งหากบังเอิญผู้ชายไปเจอผู้หญิงสวยๆ ยังต้องแข่งกันจีบกับคนอื่นเลย
ชีวิตมันต้องเจอกับการแข่งขันไปตลอดชีวิตแหละ แทนที่จะสอนให้เด็กหลีกเลี่ยง เปลี่ยนเป็นสอนให้เด็กรู้จักการแข่งขันน่าจะดีกว่า จะสอนเรื่องการแข่งขันแบบถูกกติกาอะไรก็ว่าไป
ผมตอบเพื่อนไปว่า ผมเข้าใจและไม่ได้ปฏิเสธโลกแห่งความเป็นจริงที่เพื่อนผมพูดมาทั้งหมดทั้งปวงนั่น เพียงแต่ผมต้องการจะสอนเด็กให้คุ้นเคยกับสิ่งที่เขาจะไม่ค่อยจะมีโอกาสได้สัมผัสเมื่อเขาโตขึ้นไปเจอวิถีชีวิตประจำวันที่สังคมนี้เป็นอยู่ นั่นก็คือโลกแห่งการแข่งขันช่วงชิงตามที่เพื่อนบอกมานั่นแหละ
ผมนั้นคิดว่า มนุษย์กับสัญชาติญานการแข่งขัน อาจจะเรียกได้ว่าเกิดมาคู่กันอยู่แล้ว และผมเชื่อว่าคนเราสามารถคุ้นชินกับการต่อสู้แข่งขันมากกว่าคุ้นชินกับการร่วมมือกันเสียอีก การต่อสู้จึงเป็นเรื่องที่เราคุ้นชินและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของเราไปในที่สุด ส่วนอะไรที่เป็นด้านที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอในชีวิตจริง หากทำความรู้จักกับมันก่อนบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี
ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะความเชื่อที่ว่า แนวโน้มของโลกยุคใหม่ น่าจะเป็นเทรนด์ของความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการต่อสู้แข่งขัน ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อที่ว่า เป้าหมายหรือผลลัพธ์ต่างๆ ที่คนเราจะได้มา อาจจะไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการต่อสู้แข่งขันก็เป็นไปได้เหมือนกัน
ถ้ามองย้อนดูรอบๆ ตัวเรา อย่าแปลกใจที่เราจะมองเห็นอัตราส่วนของคนที่ได้อะไรต่ออะไรมาตามเป้าหมายเพราะคนได้มาจากการมีจังหวะที่ดีมากกว่าได้มาเพราะชนะการแข่งขัน
ในความเห็นของผมเกี่ยวกับประเด็นข้างต้นก็คือ ย้อนไปจากที่ผมกล่าวมาข้างต้นว่า คนเรามีสัญชาติญาณของการแข่งขันสูง และเราผ่านประสบการณ์ของสังคมที่มีการแข่งขันกันมาอย่างดุเดือดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ละคนบนโลกใบนี้จึงโตมาด้วยประสบการณ์เต็มเปี่ยมในมุมของการเตรียมพร้อมที่จะลงสู่สนามการต่อสู้แข่งขัน นอกเหนือจากนั้น โลกปัจจุบันเป็นโลกที่เราเทคโนโลยีมันก้าวล้ำไปมาก ดังนั้น แต่ละคนที่อยู่บนโลกใบนี้จึงมีอาวุธครบมือกันทุกคน เมื่อพวกเรากระโจนเข้าสู่สนามรบเมื่อไรจึงจัดเต็มกันหมด เมื่อจัดเต็ม ความสูญเสียและการเสียหายจากการต่อสู้มันจึงรุนแรงกันทุกฝ่าย
ทั้งนี้ก็เพราะ พอใครก็ตามเข้าสู่กระบวนการแข่งขันแล้วมันอาจจะเป็นไปได้ที่จะแพ้ทั้งคู่ ลองรบกันเมื่อไร มันก็จะบาดเจ็บและมีแผล บางคู่สงคราม เราอาจจะเห็นคนแพ้คอขาดตายเดี๋ยวนั้น แต่ขณะเดียวกันคนชนะก็บาดเจ็บมีแผล และโอกาสที่แผลนั้นอักเสบจนติดเชื้อตายในภายหลังก็มี บ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ชนะนั้น โผล่ขึ้นมาหลังจากคู่ชิงแข่งกันจนบาดเจ็บล้มตายไปทั้งสองฝ่ายก็มี
โลกยุคแรกต่อสู้กันด้วยสงคราม สมัยหินเราใช้กำลังเพื่อต่อสู้แย่งชิงอาหาร จากนั้นก็พัฒนาเรื่องการต่อสู้และการก่อสงครามมาอย่างต่อเนื่อง ใครชนะก็บุกยืดพื้นที่ของคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นอาณานิคม โลกยุคที่ผ่านมาเป็นยุคแห่งการก่อสงคราม ในขณะที่สมัยต่อมาที่มนุษย์รู้จักความโหดร้ายของสงครามดีพอแล้ว โลกยุคถัดมาจึงพยายามจะปรับตัวจากการเอาชนะคะคานกันด้วยสงครามมาเป็นการต่อรองเอาชนะกันด้วยการนั่งโต๊ะเจรจา
คงได้ยินหลายคนกล่าวว่า สงครามโลกครั้งที่สามนี่เหมือนจะมีขึ้นแล้วหลายรอบแต่ก็ไม่เกิดขึ้นสักที ข้อสรุปก็คือสงครามโลกครั้งที่สามนี้เกิดยากมาก เพราะพอโลกผ่านสงครามโลกมาแล้วสองครั้ง และเวลาผ่านมาเราก็เห็นกันอยู่ว่าเทคโนโลยีในการรบนั้นทุกฝ่ายอยู่ในระดับสูงด้วยกันทั้งหมด ถ้าสงครามโลกครั้งที่สามเกิดเราจะไม่เห็นผู้ชนะ เพียงแต่จะมีผู้แพ้มากและผู้แพ้น้อยกว่าอยู่เพียงเท่านั้น พูดง่ายๆ คือไม่มีใครได้อะไรหรอก มีแต่ฉิบหายมากกับฉิบหายน้อยแค่นั้นเอง
ยุคสมัยที่โลกแข่งกันที่จะเสริมเขี้ยวเล็บในเชิง Hard Power นั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เราหมดยุคของการก่อสงครามโดยเอาเครื่องบินไปทิ้งระเบิดใส่กัน ส่งเรือประจัญบานไปประชิดน่านน้ำ หรือส่งรถถังและทหารราบไปยกพลขึ้นบก หรือแม้แต่ยุคถัดมาที่เราหันหลังจาก ฮาร์ด เพาเวอร์ ในทางทหารหรือแข่งขันกันทางวิทยาศาสตร์แย่งกันส่งจรวดไปดวงจันทร์ มาสู่การทำสงครามกันทางเศรษฐกิจ โจมตีค่าเงินอะไรต่อมิอะไร แต่โลกยุคใหม่นั้น เราก้าวสู่ยุคของการเก็บ ฮาร์ด เพาเวอร์ ใส่ลิ้นชักแล้วหันมาฝึกปรือฝีไม้ลายมือในการใช้ Soft Power ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีความหลากมิติกว่า การ Level Up ของแต่ละประเทศที่จะเพิ่มพลังที่เรียกว่า ซอฟท์ เพาเวอร์ หรือการเสริมความแข็งแกร่งให้ตัวเองในทางวัฒนธรรมจนสามารถส่งออกไปสร้างอิทธิพลต่อชาติอื่นได้ ไปจนถึงเรื่องความคิดความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนไลฟ์สไตล์ ที่สามารถขยายขอบเขตของพลังไปสู่วิถีชีวิตของกลุ่มคนอื่นในพื้นที่อื่น
ซอฟท์ เพาเวอร์ นั้น เป็นเรื่องหลากมิติและซับซ้อนกว่าการเพิ่มกำลังรบทางการทหาร การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ หรือการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ ฮาร์ด เพาเวอร์ เอาปืนมาจ่อหัวคุณเพื่อให้คุณจำใจต้องส่งของมีค่าในกระเป๋าส่งให้ แต่ซอฟท์ เพาเวอร์นั้น ร้องเพลงให้คุณฟัง เอามือโอบบ่าและกระซิบที่ข้างหูคุณเบาๆ จากนั้นคุณอาจจะหยิบของในกระเป๋าส่งให้ไปด้วยสีหน้ายิ้มแย้มยินดี
ไม่เพียงแต่เฉพาะในโครงสร้างใหญ่ของโลกเท่านั้น แต่ในพื้นที่เล็กๆ ของแต่ละสังคมไปจนถึงวิถีปฏิบัติของปัจเจกชนคนเล็กๆ อย่างคุณและคนในครอบครัวก็เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ว่ามาข้างต้นนี้ สังคมยุคใหม่จึงเผชิญหน้ากับสภาพการณ์ในอีกรูปแบบที่แตกต่าง วิถีชีวิตของคนปัจจุบันจึงเปลี่ยนไป สมัยก่อนการสะสมอาวุธ หรือพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตลอดจนสร้างฐานทัพทางเศรษฐกิจ บรรดาฮาร์ด เพาเวอร์ อาจจะเป็นเรื่องที่ปฏิบัติการกันอยู่ที่โครงสร้างด้านบนของสังคม แต่ขณะที่เรื่องของซอฟท์ เพาเวอร์ นั้นเป็นเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนไลฟ์สไตล์ เป็นเรื่องทุกเมื่อเชื่อวันที่ล้อมอยู่รอบตัวของพวกเรานี่เอง
สิ่งสำคัญก็คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างมีจังหวะที่เหมาะสมในวิถีชีวิตปกติธรรมดาประจำวัน
ในสังคมยุคใหม่ เราจึงเห็นผู้ที่ประสบความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ผู้ที่บุกบั่นผ่านการแข่งขันมาอย่างดุเดือด แต่มาจากผู้มีจังหวะที่ดี มี Timing ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งมีเครือข่ายคอนเน็คชั่นที่แน่นปึ้ก ...อาจจะเป็นผู้ชนะที่ไม่ได้ผ่านการต่อสู้แข่งขันหรือการต่อสู้ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป