xs
xsm
sm
md
lg

ต้องรีบปิดแผลอุทยานราชภักดิ์

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

บานปลายจนท่าจะจบยากเสียแล้ว กับเรื่องอุทยานราชภักดิ์ที่ทำไปทำมากลายเป็นจุดอ่อนของฝ่ายรัฐบาลและทหารด้วย และเป็นจุดอ่อนที่เปิดช่องให้บรรดา “ขาประจำ” ได้ทีขี่แพะไล่กันมี Event จัดกิจกรรมเรียกแขกกันอย่างสนุกสนาน

อย่างตู่-เต้น จากพรรคเพื่อไทยก็ได้ทีขึ้นมาขย่ม โดยลืมตัวว่ายังมีชนักติดอยู่ เลยต้องโดนจับไปเซ็น MOU กันใหม่

เอาละ เมื่อฝ่ายการเมืองเคลื่อนไหวไม่ได้ “หินก้อนต่อไป” ก็ถูกโยนออกมาจากฝ่ายนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองนำโดย “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา (NDM) ซึ่งกลุ่มดังกล่าว ก็ได้แก่ บรรดานักศึกษาขาประจำนักกิจกรรมหน้าเดิมๆ ที่ปรากฏชื่อกันในข่าวแนวๆ นี้อยู่แล้ว ซึ่งผู้ติดตามหลายคนคงคุ้นเคยกันดี

ใช่ว่ากรณีการทุจริตเกี่ยวกับการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์จะตรวจสอบไม่ได้ หากไม่นับการตรวจสอบภายในจากทางฝ่ายทหารเองแล้ว ก็จะได้เห็นว่า การตรวจสอบจากภาคส่วนอื่นโดยวิถีทางอันเป็นปกตินั้นก็ยังกระทำได้อยู่

ทั้งการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในกรณีที่พบว่าเงินงบประมาณในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์นั้นมาจากงบประมาณแผ่นดิน ก็ยังดำเนินการได้ และดำเนินการอยู่

หรือการตรวจสอบจากภาคเอกชน ภาคประชาชนอื่น เช่น สำนักข่าวอิศรา ยื่นหนังสือสอบถามขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร หรือคุณวีระ สมความคิด ก็สามารถกระทำได้โดยไม่ได้ถูกขัดขวางจับกุมอะไร

ยิ่งกรณีของคุณวีระ นี่ เรียกว่า ถึงขนาดเป็นการ “ยื่นข้อกล่าวหา” ต่อนายทหารใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเชียวนะครับ แต่ก็ไม่มีกรณีจับกุมหรือการคุกคามใดๆ กับคุณวีระ

สองกรณีนี้แตกต่างจากกรณีที่อ้างว่าเป็นการใช้สิทธิในการ “ตรวจสอบ” กรณีทุจริตอุทยานราชภักดิ์ของตู่-เต้น และนักศึกษานักกิจกรรมขาประจำอย่างไร

ก็เพราะว่า กรณีของนายวีระ และสำนักข่าวอิศรานั้น เป็นการใช้สิทธิในการตรวจสอบตามกฎหมายที่ตรงจุด และส่งผลให้เกิดกระบวนการในการตรวจสอบอย่างจริงจัง เช่นที่คุณวีระยื่นข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.ให้มีกระบวนการสอบสวนตามกฎหมาย หรือที่สำนักข่าวอิศรายื่นขอข้อมูลข่าวสารไป ก็เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารมาจับพิรุธ ตามความถนัดในการทำข่าวเจาะของสำนักนี้

แม้ในที่สุดฝ่ายทหารจะ “ปฏิเสธ” แต่มูลนิธิก็อาจไปใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารหรือศาลปกครองต่อไปได้อยู่ดีครับ มันมีกระบวนการของมันอยู่ และจะดำเนินการต่อไปไม่จบง่ายๆ อย่างเรื่องของ ป.ป.ช.ถ้ามีมูลก็อาจจะได้ขึ้นศาลอาญา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างที่เราทราบกัน

แต่การเคลื่อนไหวแบบตู่-เต้น และนักศึกษานั้นจะเกิดผลอะไรในทางการตรวจสอบบ้าง การเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ เพื่อชูป้ายแถลงข่าวส่องไฟ ในที่สุดจะได้อะไรมา นอกจากการได้สร้างกระแส สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคม หรือมองในแง่ร้าย คือการ “วางบิล” ให้ผู้ที่หมายจะขย่มถล่มรัฐบาลนั้นได้ตรวจรับ เพียงเท่านั้นหรือ

การไปดูให้เห็นถึงที่ จะไปส่องไฟหรือทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะใครๆ ก็รู้ก็เห็น ว่ารูปหล่อนั้นมีจริง ต้นไม้ต้นปาล์มก็มีจริงปลูกจริง แต่ที่เรื่องสงสัยคือเรื่องการหักหัวคิวและการเรียกรับผลประโยชน์เข้ากระเป๋าต่างหากที่ยังเป็นปัญหาว่ามีอยู่หรือไม่ ส่งต่อไปถึงใครอย่างไรบ้าง

ไม่เหมือนกับการตรวจสอบรับจำนำข้าวนะครับ! ที่ต้องไปตรวจสอบกันถึงโกดัง เพราะอันนั้น “ข้าวในโกดัง” ถือเป็นหนึ่งในวัตถุพยานในเรื่องการระบายข้าว การมีสต็อกของข้าวอยู่จริง และคุณภาพของข้าว

หากประสงค์กันจริงๆ หลักฐานการทุจริตหากจะมีของเรื่องนี้จะอยู่ในกระดาษ อยู่ในบุคคล มิใช่อยู่ในรูปหล่อจำลองของบูรพกษัตริย์ หรือในต้นปาล์มต้นไม้แต่อย่างใดเลย

นี่คือสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและอ้างว่าประสงค์จะใช้สิทธิตรวจสอบนั้นกำลังหลงประเด็น และพยายามจะทำให้สังคมหลงประเด็นตามไปด้วยนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ดี การที่มีพวกผสมโรงมาป่วน หรือพยายามดึงเรื่องนี้เข้าขยายผลเป็นประเด็นการเมือง เมื่อหมายดิสเครดิตรัฐบาล คสช.หรือจนถึงสถาบันทหาร ก็หาได้เป็นเหตุผลว่าโครงการนี้กระทำไปโดยโปร่งใสไม่

แม้แต่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เอง ก็ยังยอมรับว่า โครงการนี้จะบอกว่าไม่มีการทุจริตได้อย่างไร ในเมื่อผู้ปฏิบัติบอกว่ามีการทุจริต จนคนทุกคนรู้ว่ามันมีการทุจริต

และหากลองสอบทานกระแสจากประชาชนจริงๆ ทั้งในวงสนทนา หรือในโซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนใหญ่ก็ยังมีข้อกังขาคาใจอยู่ และยังคงหวังจะเห็นการตรวจสอบอย่างเต็มที่จริงจังจากทางการและฝ่ายผู้มีอำนาจ

แต่การตรวจสอบเรื่องการทุจริตสำหรับโครงการนี้นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์นี้เกิดจากผู้รับผิดชอบหลายส่วนร่วมกัน ทั้งภาครัฐ กองทัพ และเอกชนที่ได้แก่มูลนิธิที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการจัดสร้าง และเอกชนที่รับงานในการก่อสร้างหรือปรับภูมิทัศน์ต่างๆ และก็อาจจะมีบุคคลประเภทนายหน้าหรือนักวิ่งเต้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ดังนั้น ในส่วนที่เกิดการทุจริตนอกเหนือจากภาครัฐไป ก็อาจจะเป็นการยากที่ทางรัฐบาลหรือทางการทหารจะต้องรับผิดชอบหรือแก้ไขไปด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง คือการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับมา ด้วยการตรวจสอบอย่างโปร่งใสที่สุด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนว่าถ้ามีการทุจริตรั่วไหลนั้นเกิดขึ้นจากใครในขั้นตอนไหน หาเจ้าภาพสักรายเป็นผู้ชี้แจงและอธิบายทุกอย่างด้วยหลักฐานที่มี

เมื่อวานได้ฟังท่านพล.อ.ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อแล้วก็เห็นว่าท่านตอบคำถามได้ดี มีการควบคุมอารมณ์และชี้แจง รับในข้อเท็จจริงที่ประชาชนกังขา และแย้งในส่วนที่ยังเข้าใจไม่ถูกต้อง ซ้ำยังยอมรับหลักฐานและการพูดคุยจากทุกฝ่ายรวมถึงตู่-เต้น จากเพื่อไทยด้วย

ก็คิดว่าถ้าให้ท่านเป็น “เจ้าภาพ” ในการชี้แจงแถลงไขปัญหาเรื่องอุทยานราชภักดิ์นี้ก็อาจจะดี.
กำลังโหลดความคิดเห็น