xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งพม่า และแนวคิดประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งในพม่า ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกตั้งเสรีเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี หากนับจากปี 2533 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy : NLD) ของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากคณะทหารพม่า และได้ทำการยึดอำนาจและกักบริเวณนางอองซาน ซูจี อย่างที่ได้ทราบกัน

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์นั้น เป็นการเลือกตั้งรวดเดียว 3 สภาหรือ 3 ระดับได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนประชาชน สภาชนชาติ หรือเทียบได้กับ ส.ว. 168 ที่นั่ง และสภาท้องถิ่นประจำรัฐและสภากลุ่มชาติพันธุ์ในเขตปกครองพิเศษ

ภาพที่กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของปรากฏการณ์เมื่อวันอาทิตย์ คือภาพที่ชาวพม่าต่างช่วยกันชูนิ้วที่จุ่มลงในหมึกสี ที่แสดงสัญลักษณ์ของการไปใช้สิทธิเลือกตั้งมาแล้ว ซึ่งในยุคแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์ก ภาพเซลฟี่ของหนุ่มสาวชาวพม่าที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายและสมาร์ทโฟนก็ได้รับการเผยแพร่ออกไปทั่วโลกภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง เมื่อเริ่มเปิดคูหาเลือกตั้ง

ผลการเลือกตั้งนั้นคงทราบกันดีเท่าที่รับรองกันแล้ว พรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย คือจากการรับรองผลรอบล่าสุดเมื่อวานนี้ (11 พ.ย. 58) ส.ส. และ ส.ว.ของพรรคเอ็นแอลดีคือ 163 ที่นั่ง พรรครัฐบาลยูเอสดีพีได้ 10 ที่นั่ง พรรคไทใหญ่ SNLD ได้ 4 ที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ติติงว่า ถึงนางอองซาน ซูจี จะชนะไป แต่ก็เหมือนจะไม่ใช่ชัยชนะอย่างสุดทางเสียเท่าไร นั่นเพราะในสภานั้น รัฐธรรมนูญของพม่าฉบับปี ค.ศ. 2008 ยังกำหนดให้มีสภาของพม่าทุกระดับจะประกอบด้วยสมาชิกประเภทแต่งตั้งจากทหารร้อยละ 25 อยู่ดี และการจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีของนางอองซาน ซูจี เองก็ติดด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ คือประธานาธิบดีนั้นนอกจากจะต้องมีสัญชาติพม่าแล้ว แต่ยังต้องไม่มีคู่สมรสหรือบุตรธิดาที่ถือสัญชาติอื่นอีกด้วย นั่นคือเท่ากับเป็นการกีดกันนางอองซาน ซูจีเต็มๆ แบบไม่ต้องปิดบัง ทั้งไม่นับว่ากระบวนการสรรหาแต่งตั้งประธานาธิบดีนั้นยุ่งยากซับซ้อน การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้หากสมาชิกสภาฝ่ายทหารไม่เห็นชอบ ด้วยกลไกของรัฐสภาล็อกสเปกไว้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องได้รับเสียงเกินร้อยละ 75 ของสภา ซึ่งต่อให้สภาทั้งหมดออกเสียงให้แก้ แต่ไม่มีสมาชิกฝ่ายทหารแม้แต่คนเดียวเห็นชอบ ก็ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ดังนั้น นักประชาธิปไตยจ๋า จึงอาจมองโลกในแง่ร้ายอยู่ได้ว่า การเลือกตั้งของพม่านั้นเป็นแค่เปลือกประชาธิปไตยแอบแฝงระบอบเผด็จการซ่อนรูป แต่กระนั้น กระแสความยินดีจากทั่วโลก สถานการณ์และความเป็นไปต่างๆ ทำให้มีความหวังว่าในรอบนี้ทางการทหารของพม่าน่าจะยอมรับการเลือกตั้ง และกลับเข้าสู่กติกาที่เป็นประชาธิปไตยบ้าง โดยทหารยังกุมอำนาจไว้อยู่บ้างส่วนหนึ่งจากเงื่อนไขทั้งหลาย

นักวิเคราะห์การเมืองเชิงปฏิบัติที่มองโลกในแง่ดีหน่อย จึงมองว่า แม้จะเป็นประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็เห็นท่าทีว่าทหารน่าจะปล่อยมือไปได้บ้าง และกำลังจะส่งต่อเปลี่ยนผ่านดีกรีความเป็นประชาธิปไตยให้สูงขึ้น พัฒนาขึ้นต่อไปได้

ล่าสุด ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ก็ออกมาแสดงสปิริตยอมรับในชัยชนะของนางอองซาน ซูจี และสัญญาว่าเคารพและปฏิบัติตามผลการเลือกตั้ง พร้อมถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติวิธี โดยจากนี้ นางอองซาน ซูจี ก็จะได้เชิญพลเอกเต็ง เส่ง ในฐานะประธานาธิบดีพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายฉ่วย มาน ประธานรัฐสภา ให้เข้าร่วมเจรจาเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติต่อไป

เรียกว่าทิศทางการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาธิปไตยของพม่านั้น น่าจะเป็นไปอย่างสวยงาม

จึงย้อนคิดถึงสถานการณ์การเมืองของประเทศไทย ที่ในตอนนี้หลายฝ่ายที่เป็น “ประชาธิปไตยจ๋า” เริ่มออกมาสวดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แพลมๆ ออกมาแล้ว เช่น ข้อเสนอเรื่องการให้กาบัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือที่เปิดโอกาสให้คนนอกสามารถมาเป็นนายกฯ ได้ หากพรรคการเมืองประกาศชื่อไว้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้ง

ทำให้นึกถึงข้อเสนอของนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งยังเป็นหนุ่มอยู่ และอาจจะยังไม่ได้มีชื่อเสียงเท่าไรในวงการ แต่ข้อเสนอของเขาน่าคิดและน่าสนใจมากทีเดียว คือ ความเห็นของ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แสดงทัศนะว่า บางครั้งการออกแบบรัฐธรรมนูญโดยยึดอุดมคติอย่างเดียว หรือการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแบบก้าวกระโดดอาจนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองได้ ในที่สุดก็ไม่มีประโยชน์อะไรถ้ากลุ่มอำนาจเก่าหรือชนชั้นนำดั้งเดิมไม่ยอมรับที่จะอยู่ในระบบ ก็จะออกมาล้มกระดาน ดังนั้นให้กำหนดรัฐธรรมนูญไว้อย่างไรก็ไม่มีประโยชน์เพราะเราไม่สามารถทำให้กลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองสูงในทางความเป็นจริงยอมรับได้

โดยดร.ภูริ สรุปว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญแบบก้าวกระโดดไปสู่ประชาธิปไตยอาจทำให้สะดุดล้ม แต่เสนอทางเลือกให้ถกเถียงว่า เราอาจสร้างประชาธิปไตยครึ่งใบ และเปิดพื้นที่ให้ประชาธิปไตยค่อยๆ เติบโต และเปลี่ยนผ่านแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยค่อยๆ รื้อถอนโครงสร้างที่ไม่ยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตยออกไป โดยหาจุดสมดุลไม่ให้อำนาจกับสถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก ไม่ให้มากเกินไปจนทำลายระบอบประชาธิปไตย หรือน้อยไปจะทำลายเสถียรภาพทางการเมือง

ดร.ภูริ จึงเสนอว่า หรือเราควรจะออกแบบรัฐธรรมนูญในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อลดการต่อต้านประชาธิปไตยลง ให้ฝ่ายที่มีอำนาจยอมรับได้อยู่ในระบบ เช่นรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิพิเศษให้คนบางกลุ่มเข้าไปสู่อำนาจทางการเมืองโดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน หรือแนวคิดสถาบันปรปักษ์เสียงข้างมาก (Counter Majoritarian Institution) เช่น ให้มี ส.ว.แต่งตั้ง หรือ การตั้งองค์กรบางอย่างมีอำนาจควบคุมรัฐบาลในบางเรื่องได้ ซึ่งนับว่าเป็น “นักวิชาการ” จากรั้วมหาวิทยาลัยที่ออกมาเปิดมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาก ซึ่งแตกต่างไปจากแนวคิดของนักประชาธิปไตยสุดโต่ง ที่อย่างไรก็จะเอาแต่เลือกตั้งๆ ประชาชนพลเมืองมีอำนาจล้นพ้น จนไม่พิจารณาสภาพความเป็นจริงว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ก็รักและห่วงใยในแผ่นดินประเทศชาติเหมือนกัน ที่เขาไม่อาจยอมรับทรราชจากเสียงข้างมาก 100% ได้ อย่างน้อยก็ในขณะที่ประชาธิปไตยฝ่ายตัวแทนยังอ่อนแอและมีลักษณะไม่น่าไว้ใจอยู่

ครับ แนวคิดของ ดร.ภูริ ประกอบกับการค่อยๆ เปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยในพม่า อาจจะเป็นคำตอบให้เราได้ดีสำหรับแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยคณะ ครธ.ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับว่า นี่คือการเปลี่ยนผ่านระหว่างการปฏิรูปโดยฝ่ายชนชั้นนำ ประชาชนเสียงข้างน้อยแต่มีอำนาจต่อรองในทางความเป็นจริง และทหาร

เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยเต็มร้อยที่ทุกฝ่ายยอมรับได้อย่างเต็มใจร่วมกันในอนาคต.
กำลังโหลดความคิดเห็น