เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน 2558 ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสออกไปเสพงานศิลปะมาครับ ณ หอศิลป์ส่วนตัวของมหาเศรษฐีท่านหนึ่งคือคุณบุญชัย เบยจรงคกุล ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2555 และให้คนภายนอกได้เข้าเยี่ยมชมด้วย
เหตุผลหลักที่ทำให้คุณบุญชัย เบยจรงคกุลเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (Thai Contemporary Art Museum)หรือ MOCA BANGKOK (Museum of Contemporary Art) อย่างเป็นทางการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี “บิดาแห่งศิลปะไทยร่วมสมัย”
ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยได้แนวความคิดมาจากการนำหินทั้งก้อนมาแกะสลักอย่างประณีตบรรจง ฝีมือการออกแบบของสถาปนิกคนรุ่นใหม่ วรรณพร พรประภา แ ห่ง บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด ซึ่งเรียนจบปริญญาโท ด้านภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา น้องสาวของ นวลพรรณ ล่ำซำ
พิพิธภัณฑ์นี้ ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ติดกับอาคารเบญจจินดา อาคารสูงเท่ากับตึก 10 ชั้น แต่ถูกแบ่งเป็น 5 ชั้นๆ ละ 6 เมตร รูปทรงสามเหลี่ยม พื้นที่ทางด้านทิศใต้กับทิศเหนือของตัวอาคาร ไม่เท่ากัน ผนังประดับด้วยหินสลักลายก้านมะลิและหินฉลุที่เปิดรับแสงอาทิตย์ตลอดวัน ทั้งทางทิศตะวันออกและตะวันตก แสงธรรมชาติสามารถส่องลงมาเหมือนการแสดงของแสงภายในอาคาร สร้างบรรยากาศให้ความรู้สึกที่ต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาและฤดูกาลที่แตกต่างกัน
ด้านหน้าอาคารมีพุ่มดอกบัวสีขาวกลางบ่อ ผลงานประติมากรรมของอาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ปี 2549
ส่วนนอกอาคาร ติดตั้งผลงานประติมากรรมในสวน น่านั่งเพลินๆ มีโรงละครกลางแจ้ง สำหรับการแสดง ชั้นล่างมีการจัดนิทรรศการศิลปะหมุนเวียน
เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้า ผ่านส่วนจำหน่ายบัตรเข้าชม ผ่านห้องที่มีการแสดงของแสงธรรมชาติ มีการติดตั้งรูปปั้นของ ศ.ศิลป์ พีระศรี เจ้าของปรัชญา "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" ซึ่งคุณบุญชัยให้ความเคารพยิ่งในฐานะปูชนียบุคคล ผู้จุดประกายศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทยจารึกไว้เด่นบนผนัง
มีห้องนิทรรศการถาวรของศิลปินแห่งชาติสองท่าน คือ ห้องนิทรรศการถาวรงานประติมากรรมของศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ไพฑรูย์ เมืองสมบรูณ์ และห้องนิทรรศการถาวรแสดงจิตรกรรมของศิลปินแห่งชาติ และศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ
ชั้น 2,3 ,4 และ 5 จัดแสดงนิทรรศการถาวร ชั้นสอง เป็นการนำเสนอผลงานร่วมสมัยจากศิลปินหลากหลายรุ่น ชั้นที่สามเป็นชุมนุมศิลปะเชิงความคิดและจินตนาการทั้งแบบไทยและสากลร่วมสมัย นอกจากนี้ยังมีผลงานของศิลปินแห่งชาติอีกหลายท่านรวมอยู่ภายในชั้นนี้ อีกทั้งยังมีสะพานแห่งจักรวาล ที่ต้องการทำให้ผู้เยี่ยมชมเกิดความรู้สึกเหมือนได้เดินทางออกมาจากไข่ใบใหญ่ เพื่อพบกับภาพไตรภูมิขนาดใหญ่
นี่คือไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ภาพไตรภูมิขนาดใหญ่สูง 7 เมตร 3 ภาพ ผลงานของ สมภพ บุตราช ปัญญา วิจินธนสาร ประทีป คชบัว แสดงโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกนรก ถ้าไม่อยากแหงนคอมอง ก็มีที่สำหรับนั่งชมและซึมซับรายละเอียด
บางภาพศิลปินวาดขึ้นใหม่ เพื่อให้มีขนาดใหญ่ เหมาะกับผนังของห้องนิทรรศการ ตัวอย่างเช่น ผลงานของ ช่วง มูลพินิจ
ในชั้นที่สี่ เป็นห้องจัดแสดงผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี นำเสนอผลงานศิลปะเชิงความคิดและจินตนาการแบบตะวันออก ผสมผสานวิถีชีวิตความเชื่อแบบไทย ห้อง ถวัลย์ ดัชนี แสดงผลงานของอาจารย์ถวัลย์ที่คุณบุญชัยสะสมเอาไว้มากที่สุด จนถือว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่สองของถวัลย์เลยทีเดียว
พิพิธภัณท์แสดงผลงานศิลปินราว 200 คน ศิลปินดังที่มีผลงานอยู่ที่นี่อีกหลายท่าน อาทิเช่น คุณเหม เวชกร นักวาดภาพประกอบ เฟื้อ หริพิทักษ์ ทวี รัชนีกร เดชา วราชุน อิทธิพล ตั้งโฉลก 4 ศิลปินแห่งชาติ ช่วง มูลพินิจกับภาพสุดสวย รวมทั้งศิลปินที่พี่น้องผู้รักชาติต่างก็รู้จักกันดีอย่างงานของอาจารย์อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นต้น
ผลงานของศิลปินบางรายมีให้ชมมากชิ้นและชิ้นใหญ่เป็นพิเศษ จัดแสดงกันแบบยกห้องยกผนังให้ เช่น ผลงานอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ กมล ทัศนาญชลี เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ประทีบ คชบัว ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ สุขี สมเงิน ฯลฯ
ชั้นที่ห้า เป็นการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยจากทวีปต่างๆ ทั้งยุโรป เอเชีย และอเมริกา ซึ่งบางภาพมีอายุเก่าแก่เกือบ 300 ปี
พิพิธภัณท์เปิดวันอังคารถึงศุกร์ เปิด 10.00 น. – 17.00 น. หยุดวันจันทร์ ส่วนวันเสาร์อาทิตย์เปิด 11.00 น. – 18.00 น. และค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 180 บาท และนักเรียน นักศึกษาจ่ายเพียง 80 บาทเท่านั้น และมีแพ็คเกจสำหรับครอบครัวด้วยครับ ส่วนผู้สูงอายุ ผู้พิการ เข้าชมฟรี
การได้ไปยืนมองภาพเขียนภาพวาด งานศิลปะ บางครั้งก็ทำให้เราได้คิดในเรื่องต่างๆ บางภาพมันก็สะท้อนสังคมแบบตรงๆ ไม่ต้องคิดเยอะ บางภาพอาจจะต้องดูกันนานกว่าจะตีความได้ บางชิ้นดูเท่าไรก็ไม่เข้าใจ แต่อย่างน้อยก็ได้ดูมัน
ชีวิตนั้นสั้น ศิลปะนั้นยืนยาว มันก็จริงนะครับ คนเราเกิดมาบนโลกนี้ ไม่ช้าไม่นานก็ตาย ชีวิตไม่ได้ยืนยาว ตายแล้วก็หายไปจากโลก จะเหลืออยู่ก็แต่ผลงานและคุณความดี จะมามัวแต่ทำอะไรที่มันไม่สร้างสรรค์อยู่ทำไม จากไปแล้วยังมีเรื่องดีๆให้คนจดจำ มิดีกว่าหรือ