ART EYE VIEW--เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะที่อยู่ในการครอบครองของ นายเทพ จุลดุลย์ นักสะสมชาวไทยในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ซึ่ง นายกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ นำมาโพสต์ผ่าน facebook ส่วนตัว ในวันนี้ (18 ก.ย.58)
พร้อมๆกับที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อหลายสำนักในช่วงหนึ่งถึงสองวันมานี้ว่า นายกมล ซึ่งขณะนี้พำนักอยู่ที่นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งว่าได้รับการประสานงานจาก น.ส.สิริมา จุลดุลย์ น้องสาวของนายเทพ ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาว่าพี่ชายเคยได้แสดงความจำนงเอาไว้ก่อนเสียชีวิตว่าจะยกผลงานศิลปะที่อยู่ในการครอบครองบางส่วนเป็นสมบัติของประเทศไทย
และนายกมลได้แจ้งเรื่องมายังสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงได้เดินทางไปยังบ้านของ น.ส.สิริมา ทำให้ได้เห็ยผลงานศิลปะที่อยู่ในการครอบครองของนายเทพหลายรายการ
อาทิ ผลงานภาพสเกตช์รูปคนนั่ง ซึ่งเป็นภาพสเกตช์ภาพสุดท้ายของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ได้เขียนไว้ เพื่อสอนนักเรียนก่อนเสียชีวิต 3 วัน พร้อมลงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2505
ภาพวาดผลงานของนายเฟื้อ หริพิทักษ์ ซึ่งวาดขึ้นขณะอยู่ในค่ายกักกัน ที่ประเทศอินเดีย เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นภาพที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพวาดในอินเดีย พ.ศ.2488 และภาพดอกไม้ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2492
ภาพวัดโพธิ์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 ผลงาน ของนายทวี นันทขว้าง
ตลอดจนผลงานภาพพิมพ์ชุดแรกพิมพ์บนกระดาษสา ของนายชะลูด นิ่มเสมอ ซึ่งได้รับรางวัลของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ แห่งเมืองริจิก้า ในการประกวดศิลปกรรมครั้งที่ 5 ที่พิพิธภัณฑ์ลุบยานา ประเทศ ยูโกสลาเวีย พ.ศ.2506
และภาพ Flowera ผลงานของนายสวัสดิ์ ตันติสุข ที่ได้รับรางวัลที่ 2 การประกวดศิลปะนานาชาติครั้งที่ 1 เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม พ.ศ.2505 ฯลฯ
นอกจากนี้นายกมลยังแจ้งว่าได้พบหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ อาทิ บันทึกประวัติการปรับปรุงวงดนตรีกองทัพเรือ และต้นฉบับสมุดโน้ตเพลงชาติไทยฉบับจริง ซึ่ง พระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยะกร) เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทย เขียนด้วยลายมือตัวเอง แล้วมอบให้นายเทพนำไปพิมพ์ดีด คัดลอกต้นฉบับเก็บรักษาไว้ 3 ชุด ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 และต้นฉบับพจนานุกรมเกี่ยวกับดนตรีของโลก จำนวน 2,000 หน้า ซึ่งบันทึกไว้ด้วยลายมือ
หลังจากที่ นายชาย นครชัย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำเรื่องรายงานต่อ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ต้นเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ นายชัยจะเดินทางไปรัฐโอเรกอน เพื่อไปนำงานศิลปะที่นายเทพแจ้งความจำนงจะยกบางส่วนเป็นสมบัติของแผ่นดิน กลับมาประเทศไทย
รวมถึงจะขอซื้ออีกบางส่วน ในนามกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำมาจัดแสดงใน หอศิลป์ร่วมสมัยรัชดา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ.2559 และว่ากันว่าจะเป็นหอศิลป์ที่มีความยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย
"คุณเทพ จุลดุล นักสะสมศิลปะที่ผมรู้จักมากว่า40ปีเดินทางมาอยู่สหรัฐอเมริกา ต้ังแต่ปี1967 อยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี Los Angeles. และย้ายไปอยู่ที่ Portland , Oregon. ประมาณ20 ปี หลังแผ่นดินไหวที่แอลเอ ผมรู้จักครอบครัวและน้องสาวและญาติๆที่อยู่แอลเอ และเคยยืมผลงานส่วนหนึ่งของท่านและนักสะสมศิลป์ Morris Pressและคัดเลือกผลงานแสดง”
คือข้อความของนายกมล ที่โพสต์ผ่าน facebook พร้อมผลงานศิลปะที่อยู่ในการครอบครองของนายเทพ
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews