ทุกวันที่ ๒๒ กันยายนของแต่ละปี หลายคนต่างทราบกันดีว่ามันคือ "Car free day" หรือ "วันปลอดรถ" ในหลายๆ ประเทศต่างร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนลดใช้รถยนต์ส่วนตัวกันให้มากที่สุด ทั้งการสนับสนุน อย่างทางเดียวกันไปด้วยกัน เอื้อเฟื้อเพื่อนบ้านให้นั่งรถคันเดียวกับเรา หรือให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถสาธารณะ ใช้รถจักรยาน รวมทั้งการเดิน เพิ่มขึ้น โดยมีใจความสำคัญก็เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นมาทุกปีๆ
กิจกรรมนี้เดิมทีเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ ที่ประเทศเบลเยี่ยม และ เนเธอร์แลนด์ ภายใต้งาน "car free Sundays" รณรงค์ลดใช้รถยนต์ทุกวันอาทิตย์ เป็นเวลา เกือบ ๓ เดือน ต่อมาหลายชาติได้มีการรณรงค์ถนนปลอดรถกันมากขึ้นทั้ง สหรัฐอเมริกา ,ฝรั่งเศส ,สวิตเซอร์แลนด์ ,เยอรมนี ,แคนาดา ,สเปน ,เดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร มีการประชุมระดับนานาชาติในเรื่องดังกล่าวกันหลายครั้ง จนกระทั่งใน พ.ศ.๒๕๔๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของฝรั่งเศส ได้ร่วมมือกับ ๓๔ เมืองทั่วประเทศ ถือฤกษ์ วันที่ ๒๒ กันยายน รณรงค์ภายใต้โครงการ "En ville, sans ma voiture?" หรือ เมืองจะปลอดรถยนต์สักวันนึงได้ไหม?
ปีต่อมาวันเดียวกันนี้ฝรั่งเศสก็ยังจัดเป็นครั้งที่ ๒ ขณะที่ อิตาลี ก็เริ่มทำเป็นครั้งแรก ส่วน ๒ ประเทศต้นแบบก็เพิ่งเริ่มโครงการนี้ทั่วประเทศโดยยังคงยึดวันอาทิตย์เป็นหลัก ซึ่งทางเนเธอร์แลนด์จัดในวันที่ ๑๙ กันยายน ส่วน เบลเยี่ยม จัดในวันที่ ๒๖ กันยายน จากนั้นในปี ๒๕๔๓ จึงได้มีการประกาศให้ ๒๒ กันยายนเป็นวันคาร์ฟรีเดย์โลกขึ้น เพื่อให้ทุกประเทศ กำหนดให้มีถนนเส้นใดเส้นหนึ่งหรือทั่วทั้งเมืองเป็นเขตปลอดรถเพื่อรณรงค์ โดยประเทศไทยสมัยคุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ร่วมรณรงค์ด้วยการขี่จักรยานจากบ้านพิษณุโลก ไปยังทำเนียบรัฐบาลด้วย *
ซึ่งในแต่ละปีบ้านเราก็มีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง แต่เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตรงวันบ้าง ไม่ตรงบ้าง ส่วนใหญ่จังหวัดและท้องถิ่นจะเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรม
พูดแล้วก็นึกถึงตัวเองสมัยเด็กๆ ถ้าจำไม่ผิด "ชมรมขบวนการหาร ๒" ภายใต้การดูแลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมารณรงค์กันในปี ๒๕๔๓ นั่นเอง ตอนนั้นผมในวัย ม.๕ ได้ร่วมขบวนไปกับเขาด้วย ใส่เสื้อสีขาว ตรงกลางมีลายสัญลักษณ์วันดังกล่าว มีหมวกกระดาษครอบหัว ช่วยกันแจกใบปลิว พร้อมโทรโข่งเปล่าประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่า "พี่คร้าบบบบ มันมีวันคาร์ฟรีเดย์ด้วยนะ" พร้อมพูดถึงข้อดีของการลดใช้รถเพื่อลดการใช้พลังงาน มือก็ช่วยกันถือป้ายผ้าแผ่นใหญ่ๆ เดินไปตั้งแต่สำนักงานฯ ย่าน ถ.อุรุพงษ์ ไปถึงสยามสแควร์ จนย่ำเย็น คิดย้อนไปแล้วก็ขำ
ว่ากันในปีนี้ หลายจังหวัดก็ได้เอาวันสะดวกคือเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กันยายน ที่ผ่านมา เป็นวันจัดกิจกรรมรณรงค์ ผมเห็นข่าวแล้วก็เออ ดีเนอะ ไอ้ที่พวกเราเคยไปร้องแรกแหกกระเชอไม่สูญเปล่า (คิดเข้าข้างตัวเองแท้ๆ ฮ่าๆๆ) แต่...
ผมสังเกตกิจกรรมรณรงค์แทบทุกจังหวัด จะมีลักษณะคล้ายๆ กันในทุกๆ ปี นั่นคือ สนับสนุนให้คนหันมาขี่จักรยาน งานอีเว้นต์จึงมีแต่การ ปั่น ปั่น ปั่น อย่างปีนี้บ้านผมนนทบุรี ก็มีกิจกรรมปั่นไปดูแนวรถไฟฟ้า จากห้างเซ็นทรัลพลาซ่า เวสต์เกต ไปสี่แยกแคราย แล้วกลับมาจุดเดิม มีการเสวนาในเรื่องชุมชนกับการใช้จักรยานมาต่อสถานีรถไฟฟ้า
เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร จัดงานแบบเงียบๆ ปิดถนนบริเวณสนามหลวง หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพระบรมมหาราชวัง เป็นถนนคนเดิน มีดนตรี มีลานกิจกรรม มีรถรางรับ - ส่ง มีขายสินค้าที่เกี่ยวกับจักรยาน และที่สำคัญก็คือการรวมพลังนักปั่นขี่เป็นระยะทาง ๘ กิโลเมตร รอบเกาะรัตนโกสินทร์ อย่างภาคเอกชน อาทิ รถไฟฟ้ามหานคร บีทีเอส และแอร์พอร์ตลิ้งก์ ก็สนับสนุนด้วยการให้คนนำรถจักรยานขึ้นฟรีด้วย
จนหลายคนอาจจะคิดไปไกลกลายเป็นวันรณรงค์ขับขี่จักรยานโลกซะงั้น?
คือ มันก็ดีครับ ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของวันดังกล่าว มันคือเรื่องแค่วิถีการปั่นงั้นหรือ?
ประเด็นสำคัญก็คือ การลดปริมาณรถยนต์และมลพิษทางอากาศบนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด อุบัติเหตุ ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง และการประหยัดพลังงานน้ำมัน รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้คนลดใช้รถล่ะ?
แน่นอนว่าจักรยานน่ะก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี แต่จะดีกว่านี้ถ้าผู้จัด ก็คือส่วนท้องถิ่นและเอกชน ให้ความสนใจกับวิธีแก้ปัญหาอย่างแท้จริง นั่นคือ การรณรงค์ให้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งอาจมีการหามาตรการจูงใจทำให้ผู้ใช้รถยนต์จำเป็นต้องจอดรถไว้ที่บ้านหรือใช้น้อยที่สุดเพื่อมาขึ้นรถสาธารณะ อาทิ ลดค่าโดยสารรถเมล์ของ ขสมก.,เรือด่วนเจ้าพระยา,รถไฟฟ้า ๒๐% ๑ วัน ถ้าจะใจป้ำให้ใช้ฟรีเหมือนที่ให้คนมีจักรยานได้สิทธิ์นั้นก็เยี่ยมเลย หรือ ประชุมผู้ประกอบการทั้งจังหวัดมาคุยกันแล้วออกบัตรโดยสารพิเศษในราคาประหยัด เช่น ๕๐ บาท แต่ขึ้นรถ-เรือสาธารณะที่ร่วมบริการได้ไม่จำกัดในวันเดียว พร้อมโปรแกรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจและหลากหลายรูปแบบในวันนั้น โดยให้ตั้งจุดจำหน่ายตามศูนย์การค้าล่วงหน้า ๒ สัปดาห์ หรือไม่ก็ขอความร่วมมือร้านค้า ร้านอาหาร จัดโปรโมชั่น นำตั๋วโดยสารรถประจำทางมาลดสินค้าในราคาพิเศษ
รวมทั้ง การขอรับสมัครอาสาสมัครเพื่ออธิบายเส้นทางลัดด้วยเครือข่ายบริการสาธารณะ อาจใช้เคมเปญ "ไปกับพี่..เร็วกว่าติดอยู่กับที่นะน้อง" ให้ผู้ใช้รถได้ทราบว่า บางเส้นทางเราใช้บริการเหล่านี้ไปถึงจุดหมายได้รวดเร็วกว่า แม้สะดวกสบายน้อย แต่ก็ประหยัดเวลา ไม่หงุดหงิดมาก แถมได้เปลี่ยนบรรยากาศอีกด้วย
อย่างน้อยผมว่า มันก็น่าจะทำให้คนหันมาทดลองใช้บริการกันมากขึ้น ตรงตามจุดประสงค์และสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันวันอื่นๆ แถมยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายทิศทาง
แค่คิดผมก็ยังรู้สึกสนุกตามเลย แต่ปัญหาก็คือไม่รู้คนจัดเขาจะสนุกตามที่ผมคิดหรือเปล่า หรือว่ามันไม่ได้ภาพที่เป็นจุดขายและโฆษณาองค์กรต่อสาธารณะชนได้.. อันนี้เป็นอีกเรื่อง
*ที่มาข้อมูลบางส่วน วิกิพีเดีย