พักนี้มีข่าวการจับกุมตำรวจและทหารปลอม แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ก็สร้างความฮือฮาแก่ผู้พบเห็น
เมื่อเร็วๆ นี้ ตำรวจอุดรธานีและทหารมณฑลทหารบกที่ 24 จับกุมสองผู้ต้องหาแต่งเครื่องแบบโดยไม่มีสิทธิ โดยรายแรกเป็นชายวัย 25 ปี แต่งเครื่องแบบทหารยศร้อยเอก โดยอ้างตัวว่าเป็นผู้บังคับกองร้อย สังกัดค่ายสีหราชเดโชไชย กรมทหารราบที่ 8 จ.ขอนแก่น ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเป็นพยาบาลสาววัย 35 ปีรายหนึ่งใน จ.หนองคาย
โดยที่ผ่านมาชายคนนี้มาตีสนิทจนคบหาเป็นแฟนได้ประมาณ 1 ปี แต่ละครั้งจะแต่งกายเครื่องแบบเต็มยศทหารมาหา จากนั้นได้ขอยืมเงิน 1 แสนบาท โดยบอกว่าจะเอาไปโอนที่ดิน แต่มักมีนิสัยหลบๆ ซ่อนๆ และหลบมาอยู่กับหญิงอื่นในเขต จ.อุดรธานี จึงแจ้งตำรวจช่วยสืบหาข้อเท็จจริง พบว่าไม่ได้สังกัดค่ายสีหราชเดโชไชย และคาดว่าจะเป็นบุคคลแอบอ้าง
เมื่อออกสืบสวนก็ทราบว่าชายคนนี้พักอยู่ที่หอพักในตัวเมืองอุดรธานี กับนักเรียนหญิงวัย 17 ปีรายหนึ่งที่มาหลอกตีสนิท จึงสะกดรอยติดตาม พบว่าเจ้าตัวกำลังจะซื้อตั๋วโดยสารที่สถานีขนส่งแห่งที่ 2 ถนนรอบเมืองอุดรธานี เพื่อไปหาพยาบาลสาวที่ จ.เชียงใหม่ เพราะรู้ตัวว่าถูกตำรวจสะกดรอยติดตาม แต่ก็มาถูกตำรวจรวบตัวได้ก่อน
เจ้าตัวระบุว่า เคยสอบนายสิบทหารบกแต่ไม่ติด ชอบแต่งเครื่องแบบทหารสร้างความน่าเชื่อถือ เน้นเหยื่อเป็นพยาบาล เมื่อหลงเชื่อก็จะหลอกยืมเงิน เอาทรัพย์สินแล้วตีจากไปในพื้นที่อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู นครราชสีมา เชียงใหม่ ซึ่งเมื่อปี 2551 ได้หลอกคบหากับหญิงสาวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถหลอกยืมเงินไปหลายแสนบาท
รายที่สอง เป็นชายวัย 25 ปี ชอบแต่งตัวเป็นตำรวจและถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก ที่ผ่านมาไปสอบนายสิบตำรวจ 2 ครั้งแต่สอบไม่ได้ จึงได้นำเครื่องแบบของลุงมาใส่แล้วถ่ายรูปลงเฟชบุ๊ก ต่อมาได้รู้จักกับแฟนสาววัย 27 ปี เป็นพยาบาลในโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี จนหลงเชื่อและคบหาดูใจกันมานาน 4 ปี มารับมาส่งเข้าเวรตลอดโดยไม่เคยระแคะระคาย
ในวันนั้นเจ้าตัวได้แต่งตัวเต็มยศเป็นร้อยตำรวจเอก ขับรถเก๋งเข้ามาที่หน้าโรงพยาบาล เพื่อมารับสาวพยาบาลไปถ่ายภาพชุดแต่งงาน ซึ่งมีกำหนดแต่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่สุดท้ายมาถูกจับกุมได้เสียก่อน ยอมรับว่าไม่ใช่ตำรวจจริง ส่วนเครื่องแบบตำรวจเป็นของตนจริง ซื้อมาจากร้านขายเครื่องแบบและเครื่องหมายข้าราชการ
อ่านจากหนังสือพิมพ์หัวสีฉบับหนึ่งทราบมาว่า ระหว่างที่ตำรวจปลอมรายนี้ถูกจับกุม พยาบาลสาวก็พยายามโทรหาว่าทำไมไม่มารับ เจ้าตัวจึงบอกไปว่าอยู่โรงพัก กระทั่งพยาบาลสาวพาเพื่อนมาด้วยหลายคน เพราะคิดว่ามาทำเซอร์ไพรส์ขอแต่งงาน แต่ปรากฏว่าเมื่อทราบความจริงว่าเป็นตำรวจปลอม ก็ถึงกับหน้าซีดก่อนที่จะร้องไห้ออกมาเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว อีกคดีหนึ่งหนึ่งเกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา ตำรวจภูธรภาค 3 จับกุมชายวัย 46 ปี ใช้ชื่อว่า “ผู้การไก่” แต่งกายเจ้าหน้าที่ตำรวจยศพลตำรวจโท ตระเวนหลอกประชาชนมานานกว่า 25 ปี เช่น ไปร่วมงานพิธีต่างๆ บางงานได้รับเชิญเป็นประธานในพิธี โดยอ้างว่าเป็นตำรวจสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิด
อีกทั้งยังมีพฤติกรรมนำพระเครื่องราคาถูกไปขายในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ โดยอ้างว่า เป็นพระเครื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหลอกว่าจะสามารถวิ่งเต้นให้เข้ารับราชการตำรวจ หรือให้เลื่อนยศตำแหน่งของข้าราชการตำรวจได้ โดยมีผู้เสียหายส่วนมากอยู่ในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก สุโขทัย ตกเป็นเหยื่อรวมกว่า 20 ราย
แต่ที่ฮือฮาก็คือ ตอนที่ตำรวจเชิญตัวภรรยา ปรากฏว่าตกใจหน้าซีด ไม่คิดว่าสามีตัวเองจะถูกจับกุม ในข้อหาเป็นตำรวจปลอม และไม่ยอมให้การใดๆ กับเจ้าหน้าที่ บอกแต่เพียงว่า เข้าใจมาตลอดว่าสามีเป็นตำรวจระดับนายพลจริงๆ ไม่คิดว่าสามีจะเป็นตำรวจปลอม ตั้งแต่อยู่กินกันมานานกว่า 20 ปี มีลูกสาว 2 คน สามีไม่ค่อยอยู่กับบ้าน
ก่อนที่เจ้าตัวยอมรับสารภาพแต่โดยดีว่า แต่งกายเลียนแบบตำรวจจริง เพราะคลั่งไคล้เครื่องแบบตำรวจมาตั้งแต่เด็ก
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อในคำให้การ เนื่องจากทุกครั้งที่ “ผู้การไก่” แต่งเครื่องแบบตำรวจออกตระเวนหาหลอกเหยื่อ จะมีภรรยาขับรถให้ทุกครั้ง แต่เนื่องจากเกรงว่าจะมีความผิดจึงปฏิเสธว่าภรรยา และลูกไม่มีส่วนรู้เห็น อีกทั้งที่ผ่านมาเคยเป็นอดีตประธานชุมชน แต่ให้ภรรยารับตำแหน่งแทน อ้างว่ามีภารกิจมาก ทุกคนในชุมชนเชื่อว่าเป็นตำรวจมาโดยตลอด
สอง-สามคดีที่ยกมานี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างคดีแต่งกายและแอบอ้างเป็นทหารปลอม ตำรวจปลอมแบบเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
เพราะช่วงที่ผ่านมาอาจเคยพบเห็นคดีแต่งกายเป็นคนในเครื่องแบบเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อหลอกจีบผู้หญิงที่ชื่นชอบคนในเครื่องแบบ แล้วไปหลอกเอาเงินหรือทรัพย์สิน โดยส่วนมากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะเป็นคนที่มีหน้าที่การงานมั่นคง เช่น พยาบาล หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นเยาวชนโดยการพรากผู้เยาว์
หรือหากเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ก็จะเป็นไปในลักษณะเพื่ออำนวยความสะดวกในการลำเลียงสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด หรือการใช้เครื่องแบบไปแสวงหาผลประโยชน์ เช่น การเรียกเก็บส่วยแรงงานต่างด้าว วินจักรยานยนต์ วินรถตู้
ในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา มีคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับทหารปลอม-ตำรวจปลอม มากถึง 20 คดี ส่วนใหญ่จะแอบอ้างเป็นบุคคลในเครื่องแบบเพื่อกระทำการผิดกฎหมาย เช่น ลักลอบขนยาเสพติด เรียกรับผลประโยชน์ หรือแม้กระทั่งข่มขืนกระทำชำเราและพรากผู้เยาว์ (อ่านล้อมกรอบด้านล่าง)
หากจะกล่าวถึงพฤติกรรมของการแต่งกายในเครื่องแบบว่ามีอาการทางจิตหรือไม่ ผมลองพูดคุยกับหมอที่เป็นเพื่อนกัน อย่าง นายแพทย์ชเนษฎ์ ศรีสุโข ที่มักจะชอบคุยเรื่องอาการทางจิตของคนประเภทต่างๆ ให้ฟัง
เขากล่าวว่า คนที่เป็นทหารปลอม ตำรวจปลอมนั้น อยากได้รับการยอมรับ ซึ่งทางจิตวิทยามีทฤษฎีเรื่องลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's hierarchy of needs)
โดยชั้นแรก คือต้องการปัจจัยพื้นฐานที่จะดำรงชีวิตได้ มีที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม
ลำดับชั้นที่สอง คือต้องการความปลอดภัย
ลำดับชั้นที่สาม ต้องการความรัก ความสัมพันธ์กับคนในสังคม
และลำดับชั้นที่สี่นี่ล่ะ คือ ต้องการการยอมรับ นับถือจากผู้อื่น ส่วนลำดับชั้นที่ห้า ต้องการการบรรลุทางปัญญาสูงสุด
โดยสรุปคือพวกคนที่แอบอ้างเป็นทหาร ตำรวจนี้ ส่วนหนึ่งเขาอยากได้รับการยอมรับ กับอีกส่วน เพราะทำเป็นตำรวจ ทหารปลอม แล้วได้เงิน ได้ทรัพย์สมบัติจากการหลอกลวง
พวกนี้เรียกว่ามิจฉาชีพ รู้ว่าผิดกฎหมายแล้วทำ ก็ลักษณะคล้ายนักพนัน หรือเจ้าของบ่อน เจ้าของอาบอบนวดแบบหนึ่ง ธุรกิจสีเทา
ถามถึงอาการทางจิตไปแล้ว ก็มักจะมีคำถามว่า เราจะสังเกตและจับผิด “ทหารปลอม-ตำรวจเก๊” ได้ยังไง?
สำหรับกรณีตำรวจปลอม ก่อนหน้านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประชาสัมพันธ์ แนะนำวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างตำรวจจริงและตำรวจปลอมไว้โดยง่าย โดยมีวิธีสังเกตดังนี้
1. เครื่องแบบตำรวจ ตำรวจจริงต้องแต่งกายเรียบร้อย มีการติดเครื่องหมาย แพรแถบ และป้ายชื่ออย่างถูกต้องชัดเจน
2. ลักษณะการพูด กิริยาท่าทาง ตำรวจจริงมีความสุภาพ สุขุม ไม่ลุกลี้ลุกลน สายตาไม่ล่อกแล่ก ถ้าพูดจากร่างเกินไป ยิ่งน่าสงสัยว่าไม่ใช่ตำรวจจริง
3. ขอดูบัตรข้าราชการตำรวจ ปัจจุบันเป็นบัตรสมาร์ทการ์ดสีเงิน มีตราครุฑสีแดงในวงกลม ซ้อนด้วยคำว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ตรงกลางบัตรอย่างชัดเจน และมีรูปถ่ายชัด ไม่ใช่ลักษณะบัตรที่เป็นการสแกนรูป
4. การทำงาน สอบถามว่ามาจากสังกัดใด และขอหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานนั้น สามารถตรวจชื่อหน่วยงานและหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทางเว็บไซต์ของกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ www.saranitet.police.go.th
ถ้าเป็นหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานจริงให้สอบถามว่ามีตำรวจนายนี้ ยศ ชื่อ ชื่อสกุล ตำแหน่งอยู่ในสังกัดจริงหรือไม่ และสอบถามถึงรูปพรรณสัณฐานของตำแหน่งผู้นั้น
ส่วนกรณีทหารปลอมนั้น แม้จะยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ออกมาอย่างชัดเจน แต่เท่าที่ถามเพื่อนของผู้เขียนจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นทหารบก กับทหารอากาศ ที่จบมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นเดียวกัน หรือเรียนคณะรัฐศาสตร์ด้วยกัน พบว่าแต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกันไป
บ้างก็บอกว่า ... ทหารของจริงเวลาก้าวจะเท้าซ้ายก่อน บุคลิกท่าเดินจะตัวตรง ไม่แกว่งตัว หากเป็นทหารปลอม ท่าทางการนั่ง การเดินดูไม่มีมาด ไม่สง่างาม
บ้างก็บอกว่า ... ดูที่ทรงผม การแต่งกาย ลักษณะท่าทาง พวกที่ปลอมมักจะไม่ผ่าน 2 อย่าง คือ ติดเครื่องหมายผิดบ้าง แต่งชุดหลวมมากๆ หรือจะเป็นการพกพาอาวุธ ถ้าเป็นทหารจริงๆ ในพื้นที่ปกติจะไม่พกอาวุธ
บ้างก็บอกว่า ... ดูที่การคุยกัน ถามถึงหน่วยเขาว่าเขาอยู่หน่วยไหน ถ้าเขาตอบแบบติดๆ ขัดๆ สงสัยไว้ก่อนเลย
กระทั่งได้ทักทายแหล่งข่าว เป็นทหารยศ "สิบเอก" รายหนึ่ง ที่ทำงานด้านปฏิบัติการจิตวิทยาและการข่าว แม้จะไม่เคยเจอตัวจริง แต่คอนเฟิร์มในระดับหนึ่งว่ามีตัวตน เนื่องจากเคยส่งโปสการ์ดถึงกรมทหารแล้วเจ้าตัวได้รับถึงมือ ประกอบกับเคยพูดคุยสารทุกข์สุกดิบมานานกว่า 2 ปี
เมื่อถามถึงเรื่องทหารปลอม เจ้าตัวแนะนำว่าให้โทรศัพท์คุยกันดีกว่า เพราะรายละเอียดมันเยอะ ...
เขาอธิบายวิธีจับผิดทหารปลอม เริ่มจากการแสดงพฤติกรรม ทหารปลอมมักจะมีลักษณะท่าทางไม่สง่างาม คุยโอ่ทำนองว่าตนเป็นทหาร
ทั้งๆ ที่หากคนเป็นทหารจริงจะไม่ค่อยพูด ค่อนข้างจะเจียมตัว
ยิ่งถ้าเป็นนายสิบจริงๆ เขาจะรู้และเจียมตัวว่าเขาเป็นชั้นผู้น้อย ไม่ค่อยโอ้อวด แต่ทหารปลอมมักจะหลอกว่าเป็นนายสิบ ผู้หญิงบางคนเห็นว่าเป็นนายสิบก็ยอมตกลงให้คบหา แล้วไปหลอกเงินเขามา
“คนที่เป็นทหารจริงๆ มีชีวิตเหมือนคนปกติ ตอนใส่ชุดก็คือทำงานเป็นทหาร พอเสร็จจากเวลาราชการจะเป็นตัวของตัวเอง กลับบ้านคือเปลี่ยนชุดไปรเวท จะไปไหนก็ได้แต่ต้องออกจากชุดนั้นก่อน เพราะเป็นเรื่องน่าอาย ชาวบ้านจะมองว่าไม่ดี แต่ถ้าเป็นทหารปลอม เวลากลับบ้านเจอแฟน เจอผู้คน จะใส่ชุดทหารเต็มยศอย่างเดียวตลอดเวลา”
ต่อคำถามที่ว่า ลักษณะการเดินของทหารเวลาก้าวจะเท้าซ้ายก่อน เขาตอบปฏิเสธแบบขำๆ ว่า "ไม่เป็นอย่างนั้น"
ตอนที่จบมาใหม่ๆ ปีแรกก้าวเท้าซ้ายเหมือนกันหมดเพราะรู้สึกไปเอง แต่นานๆ เข้าเหมือนวินัยหย่อนยาน ก็ปล่อยตัวธรรมดา แต่เวลาเข้าแถวก็คือตามระเบียบแถว ปกติยืนอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีใครก้าวเท้าซ้าย หรือมีก็มีน้อย อาจจะมีแต่ว่ามันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
ประการต่อมาก็คือ เครื่องแบบ ทหารปลอมบางทีเขาจะแต่งเวอร์ๆ เอาเครื่องหมายประดับหน้าอกมาใส่โดยไม่รู้จริง
เขายกตัวอย่างบรรดาทหารเกณฑ์ หรือพลทหารที่มักจะแต่งเครื่องแบบสิบโทไปหลอกสาว โดยซื้อเครื่องหมายประดับหน้าอกอย่างเสือคาบดาบ ที่มีไว้สำหรับทหารที่สำเร็จการฝึกหลักสูตรจู่โจมของกองทัพบก หรือเครื่องหมายปีกร่ม ที่มีไว้สำหรับแสดงความสามารพิเศษนักโดดร่ม
แต่ท่าทางก็ไม่สง่างามอยู่ดี ดูพริบตาเดียวก็รู้!
“หรือจะเป็นชุดวอร์ม พลทหารบางคนจะแต่งชุดวอร์มไปหลอกหญิง โดยที่ไม่รู้ว่าชุดวอร์มของทหารบก แม้จะเป็นสีเดียวกันทั้งหมดก็จริง แต่จะแบ่งตามลำดับชั้น ลำดับยศ คือ พลทหารจะเป็นสีฟ้า นายสิบจะเป็นสีเขียว นายทหารจะเป็นสีแดง นายพลจะเป็นสีม่วง แต่พลทหารจะใส่ชุดวอร์มตราโล่สีฟ้าไป แล้วมาบอกว่าเป็นนายสิบ ก็ได้แต่กระซิบคนที่โดนหลอกกันไป”
อาจมีคนสงสัยว่า เครื่องแบบตำรวจทหารนั้นหาซื้อง่ายขนาดนั้นเชียงหรือ แหล่งข่าวก็กล่าวกับผมว่า หาซื้อได้ง่าย มีทุกจังหวัดที่มีหน่วยทหารทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ ลพบุรี สระบุรี ราชบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ
จะใช้เครื่องหมายอะไรก็ไปซื้อได้ตามร้าน ไม่ต้องแสดงบัตรให้เจ้าของร้านดู ใครจะซื้อก็ซื้อไป
เขาตั้งข้อสังเกตกรณีที่จับกุมตำรวจเก๊ที่หลอกชาวบ้านมากว่า 20 ปีว่า น่าตกใจตรงที่ว่าไม่มีใครรู้มาก่อน โดยส่วนมากเวลาแต่งยศใหญ่ เช่น พลตำรวจโท ความน่าเชื่อถือมันก็ดูได้ว่าคนอายุแค่นี้ ติดยศขนาดนี้ ต้องมีคนรู้จักอยู่แล้ว ยิ่งเป็นตำรวจในพื้นที่เดียวกันไม่มีใครไม่รู้จัก
แต่ปรากฎว่าแต่ไม่มีใครรู้จักเลย มันก็ชัวร์อยู่แล้วว่าเป็นตำรวจปลอม
“หรือจะเป็นที่เชียงใหม่ ก็มีทหารปลอมแต่งกายเป็นยศร้อยตรีจำหน่ายยาบ้า โดยอ้างว่าเป็นนายทหารฝ่ายการข่าว ไปรวมแถวกับทหารทุกวัน บอกว่าเป็นทหารติดต่อกับส่วนราชการอื่น เรียกได้ว่าปลอมแบบเนียนๆ แต่ที่ไม่เนียนคือส่วนสูงแค่ 150 เซนติเมตร และหน่วยในพื้นที่ก็ไม่มีใครรู้จัก ถึงจะเป็นกองข่าวจริงแต่ก็ต้องรู้จักกัน พอสอบสวนก็เลยจับได้ว่าไม่ใช่”
อีกประการหนึ่ง คือ เรื่องทรงผม พวกที่เป็นทหารปลอมทรงผมจะค่อนข้างยาวกว่าปกติ เขาจะไม่ยอมตัดรองทรงที่ถูกระเบียบของกองทัพบก
ทรงผมทหารบก เรียกว่า ข้างขาว คล้ายๆ ทรงนักเรียน เป็นทรงพลทหาร แต่สำหรับนายสิบกับนายทหารสัญญาบัตร จะตัดผมรองทรงต่ำ ไม่ยาวมาก ข้างบนประมาณ 1 เซนติเมตร
เขาเล่าให้ฟังอย่างขบขันว่า ครั้งหนึ่งเวลาตนเที่ยวกลางคืนจะพบกับพลทหาร สังเกตง่ายๆ ตรงที่ทรงผมจะเกรียนๆ เวลาสวมรองเท้าจะเป็นผ้าใบยี่ห้อนันยาง ซึ่งเป็นยี่ห้อที่แจกให้กับพลทหารตอนฝึกใหม่ๆ
เวลาเข้าไปคุย พลทหารเหล่านั้นก็จะอ้างว่าเป็นนายสิบ ตนก็ทำเนียนแกล้งเป็นพลทหารบ้าง ก็ตลกกันไป แต่อีกอย่างเพราะเราไม่มีอำนาจ เนื่องจากคนที่ดูแลภาพลักษณ์กำลังพลโดยตรงคือสารวัตรทหาร (สห.)
ประการสุดท้าย คือ เวลาที่ทหารจริงถามอะไรก็ตอบไม่ได้ เช่น เรียนรุ่นไหน เครื่องหมายอันนี้จบเมื่อไหร่ รุ่นอะไร ก็ไม่รู้เรื่อง คือแบบไม่มีความรู้ด้านนี้
เมื่อเจอคนที่จบเหมือนกันเขาก็ถาม รู้จักครูคนนี้ไหม ก็แบบตอบไม่ได้ ก็จะมีท่าทางลุกลี้ลุกลน ซึ่งจะดูออกว่ามีพิรุธ แววตาท่าทางจะไม่เหมือนเลย
แต่ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าทหารทั้งหมดจะมีรุ่น เพราะทหารที่ไม่มีรุ่นก็มี ประเภทกองหนุนที่สมัครสอบโดยใช้คุณวุฒิต่างๆ เช่น ม.6 ปวช. และคุณวุฒิปริญญาตรี คือทหารสัญญาบัตร ซึ่งไม่ได้อยู่ในรุ่นหรือในโรงเรียน
หลักเกณฑ์ข้อสอบก็คือสอบข้อเขียน วัดสายตาเรียบร้อย ก็จะมีคำสั่งแต่งตั้งยศ หลังจากสอบได้หรือว่าประกาศผลแล้วประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี
เมื่อถามถึงวิธีการตรวจสอบทหารจริงหรือทหารปลอม เขาแนะนำวิธีดูบัตรข้าราชการ โดยส่วนมากบัตรข้าราชการของปลอมจะใช้บัตรเคลือบ นำรูปถ่ายมาติด
แต่ถ้าเป็นบัตรจริงๆ ของข้าราชการกระทรวงกลาโหมจะเป็นบัตรแข็ง เหมือนบัตรประชาชน จะถ่ายติดลงไปเลย ปลอมไม่ได้อยู่แล้ว ถึงมันปลอมได้ก็ต้องลงทุน ต้องมีกระบวนการ
หน้าบัตรจะมีเลข 10 หลัก โดย 1 ตัวเลขหน้าตัวเป็นเลขประจำเหล่าทัพ ส่วนเลข 2 ตัวถัดมาจะเป็นปีที่เข้ามารับราชการทหาร นำตัวเลขเหล่านี้ไปตรวจสอบไปที่กองกำลังพล ของกองทัพบก จะมีแผนก 5 แผนก ได้แก่ ฝ่ายกำลังพล ฝ่ายการข่าว ฝ่ายส่งกำลังบำรุง ฝ่ายยุทธการ และฝ่ายกิจการพลเรือน
เช่น ขึ้นต้นด้วย 151XXXXXXX เลข 1 คือกองทัพบก ตามด้วยปี พ.ศ. คือปีที่ขึ้นทะเบียนกองประจำการ คือ เป็นทหารเมื่อปี พ.ศ. 2551
ถ้าตัวเลขหน้าสุดเป็นเลข 2 คือ กองทัพเรือ, เลข 3 คือ กองทัพอากาศ และ เลข 4 คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนมากคนจะเป็นทหารบกมากกว่า ถ้าคนที่อ้างเป็นตำรวจแล้วระบุเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 หรือเลข 7 แสดงว่าหลอกแน่นอน เลขเหล่าก็ไม่ตรงแล้ว ก็คือจับดูนิดเดียวก็รู้แล้วว่าใช่หรือไม่ใช่
“ในความเป็นจริง การขอดูบัตรข้าราชการกระทรวงกลาโหมนั้น ถ้าไม่ได้เป็นแฟนกันคงเป็นเรื่องยาก บางทีจะไปขอดูบัตรเลยก็ไม่ให้ดู แต่ถ้าเป็นแฟนกันจริงเขาก็ต้องให้ดู ทำนองว่าฝ่ายหญิงขอดูบ้าง ดูได้ ถ้ามันมี มันก็มีทุกคนอยู่แล้ว ไม่มีใครไม่มี แต่โดยส่วนมากที่ไม่ให้ดูเพราะว่ารูปบนบัตรถ่ายอุบาทว์มากกว่า กล้อง ทบ. ถ่ายออกมาไม่หล่อ” เขากล่าวอย่างติดตลก
ส่วนการส่องทางเฟซบุ๊กนั้น เขาตั้งข้อสังเกตว่า คนที่เป็นทหารจริงๆ จะอัพรูปคนละอย่าง
ส่วนมากมันจะมีคนที่เป็นตัวปลอมเอารูปคนโน้นมา แต่ไม่มีหน้า ถ่ายสิ่งที่เกี่ยวกับทหาร ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ถ่ายทั่วไป
บางทีก็เป็นทหารจริงๆ ก็มีแต่ทำตัวลึกลับ ก็เคยเห็น แต่คนที่เป็นจริงๆ ส่วนมากเขาจะไม่อัปเดตบ่อย
“ยิ่งยศใหญ่ๆ นานๆ จะอัปที รูปเดียว เขาก็จะไม่สนใจอะไร ส่วนมากมีไว้แค่คุยกับเพื่อน ไว้ดูนั่นดูนี่ แต่ยศใหญ่ขนาดนั้นเขาไม่ค่อยได้เข้าไปเล่น ส่วนมากจะเห็นร้อยเอก ร้อยโท ร้อยตรี พอขึ้นพันตรีเขาก็ไม่สนใจแล้ว เขามีลูกมีเมียแล้วไง เรียน เสธ. อะไรวุ่นวายหมด เขาก็ไม่ค่อยว่างเท่าไหร่”
ประการสุดท้าย ในเมื่ออาชีพคนในเครื่องแบบมีชายไทยหลายคนถวิลหา แต่ถ้าพลาดโอกาสสอบติดนักเรียนนายร้อยตอนมัธยมปลาย หรือไม่ได้เป็นทหารเกณฑ์ตอนจับใบดำ ใบแดง
เขากล่าวว่า เส้นทางที่เป็นทหารจริง สำหรับคนที่ไม่ได้มาตามเส้นทาง เรียกว่ากองหนุน จะสามารถสอบเป็นสิบตรีได้ถึงอายุประมาณ 32 ปี แต่นักเรียนสัญญาบัตรจะได้ถึงอายุประมาณ 30 ปี ผ่านกรมยุทธศึกษาทหารบก (ยศ.ทบ.)
แต่สำหรับทหารสายดังกล่าวจะไม่ได้อยู่ในหน่วยรบ จะได้อยู่หน่วยสนับสนุนการรบ คือทำหน้าที่ทำหนังสือ เบิกจ่ายสิ่งของ จะเติบโตช้า เกษียณมาก็จะเป็นยศพันโท พันเอก
ต่างจากนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เกษียณมาก็จะเป็นพลตรี พันเอกพิเศษหมด
“สิ่งสำคัญก็คือ คุณวุฒิต้องพร้อม แล้ความสามารถคุณก็ต้องมี ถามว่าสอบยากไหมก็ไม่ยาก”
ถึงกระนั้น การเป็นทหารไม่ใช่แค่วัดกันที่ความสามารถอย่างเดียว แต่ก็มีเรื่องดวงเข้ามาด้วย ซึ่งมันไม่ได้ยาก แต่โอกาสมีสำหรับคนที่พร้อมเสมอ ไม่มีที่ว่างของคนอ่อนแอ ในที่นี้ก็ต้องเข้มแข็งในทุกๆ เรื่อง จริงใจ รับแรงกดดันได้ ไม่ใช่แบบว่าเข้ามาสักพักก็เดินออก ไม่ใช่งานเอกชน คือแบบตกระกำลำบาก ตากแดดได้นะ ตากลมได้
“สมัยตอนผมฝึกเป็นพลทหาร ก็โดดถังเกรอะบ่อยๆ เจอน้ำโสโครกจนชิน แล้วไปนั่งกินข้าว ฝึกโคตรหนักเลย สมัยนี้ฝีกโคตรเบา ใครบอกว่าทหารฝึกหนัก พลทหารสมัยนี้นะ บอกเลยว่าเบามาก ช่วยประชาสัมพันธ์ด้วย บอกว่าโคตรไม่มีห่าอะไรเลย” เขากล่าวอย่างติดตลก
ในตอนท้าย เขากล่าวเอาไว้ว่า ช่องทางในการที่จะเข้ามาสู่รั้วของชาติ เป็นทหารหรือเป็นข้าราชการจริงๆ มีหลายช่องทางมาก ขอแค่เอาความสามารถที่ตัวเองมีมาใช้ในทางที่ถูก ไม่ใช่เอาความสามารถที่มีไปหลอกสาว
“สมมติไม่ได้เป็นข้าราชการทหารจริงๆ ก็สามารถเป็นข้าราชการอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ตีค่าของคนกับยศถาบรรดาศักดิ์ หรือว่าเครื่องแบบ แต่คนก็จะมองความน่าเชื่อถือจาก อาชีพ เงินเดือน มันก็เป็นเรื่องของสังคมมนุษย์ปัจจุบัน” เขากล่าวทิ้งท้าย
เมื่อกำลังพลทั้งทหาร และตำรวจมีอยู่รวมกันทั้งประเทศนับแสนนาย จึงยากที่จะแยกแยะว่าใครคือคนในเครื่องแบบของจริงหรือของปลอม กลายเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ของมิจฉาชีพบางกลุ่ม
การสังเกตตำรวจปลอม หรือทหารปลอมเมื่อพบว่ามีพิรุธ แม้จะถูกมองว่าเป็นเรื่องธุระไม่ใช่ หรือจ้องจับผิด และเสี่ยงอันตรายหากคนร้ายรู้ตัว แต่ก็ถือเป็นหน้าที่พลเมืองดีที่จะช่วยเหลือคนอื่นไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
อีกทั้งยังปกป้องชื่อเสียงของเหล่าทัพ และตำรวจ ไม่ให้ถูกคนนอกแอบอ้างไปก่ออาชญากรรมอีก.
20 คดีตำรวจปลอม-ทหารปลอม ปี 2558 (รวบรวมตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 12 กันยายน 2558) 30 มกราคม 2558 ที่เขตประเวศ กรุงเทพฯ จับกุมนายณัฐพล พูลปาน แต่งกายเครื่องแบบตำรวจปลอม ตั้งแก๊งปล้นทรัพย์ อุ้มรีดค่าไถ่และชอบเบ่งกินฟรี หลังร่วมกับพวกอีก 5 คนจับแรงงานต่างด้าวไปซ้อมและปล้นทรัพย์ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จับกุมนายสุรพล ประสวนศรี อายุ 46 ปี ร่วมกับนายวิริยะ ผิวบาง และนายชัย (ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง) ชวนแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา 4 คน ขึ้นรถแท็กซี่จากขนส่งหมอชิต แล้วอ้างตัวเป็นตำรวจ ข่มขู่นำเงินมาให้แลกไม่ถูกดำเนินคดี 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จับกุมนายกัมปนาท หมัดอาด้ำ อายุ 40 ปี และนายอารักษ์ ละกะเต็บ อายุ 21 ปี ใช้รถยนต์ติดตรากงจักรและบัตรข้าราชการตำรวจปลอมขนยาบ้าและยาไอซ์ 3 มีนาคม 2558 ที่ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ จับกุมนายชาญวิทย์ ตรัยสถิต อายุ 25 ปี และ นายศักดิ์สิทธิ์ เงียบจังหรีด อายุ 30 ปี แต่งกายเครื่องแบบทหารปลอม ล่อลวงว่าสามารถนำบุคคลเข้ารับราชการทหารได้ 12 มีนาคม 2558 ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จับกุมนายพลพิพัฒน์ ประทุมแดง อายุ 37 ปี ทำบัตรข้าราชการตำรวจปลอมและแต่งเครื่องแบบตำรวจ ลักลอบขนยาบ้าจากเอเย่นต์ใหญ่ทางภาคเหนือมาจำหน่ายที่เมืองพัทยา 15 มีนาคม 2558 ที่เขตบางบอน กรุงเทพฯ จับกุมนายกนกพล ชังกะนาค อายุ 21 ปี, นายคาวี หลวงนันท์ อายุ 26 ปี, นายกิตติธัช เพิ่มวรัญญู อายุ 26 ปี และนายชลาธร ภาวนะเจริญสุข อายุ 19 ปี แอบอ้างเป็นตำรวจเรียกตรวจหนังสือเดินทาง ปัสสาวะแรงงานต่างด้าว ปล้นเอาทรัพย์สิน กักขังหน่วงเหนี่ยว และข่มขืนกระทำชำเรา 31 มีนาคม 2558 ที่ อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี จับกุมนายสาโรจน์ ศรีรุ่งเรือง อายุ 45 ปี แอบอ้างเป็นตำรวจยึดรถจักรยานยนต์นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทยเบญจบริหารธุรกิจ ชลบุรี ขณะมาซื้อกับข้าว 22 เมษายน 2558 ที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ จับกุมนายสัญญา ณีวงษ์ อายุ 39 ปี พกบัตรข้าราชการปลอม สังกัดกองทัพอากาศ ยศ พ.จ.อ. เรียกรับเงินจากแรงงานต่างด้าว เก็บค่าคุ้มครองวินรถจักรยานยนต์และเรี่ยไรเงิน 27 เมษายน 2558 ที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ จับกุมนายสิรภพ แสงอรุณ อายุ 50 ปี, นายสมภพ รัตนละมัย อายุ 35 ปี และนายพงศพัศ เกื้อกิจไพบูลย์ อายุ 35 ปี หลังนายสัญญาให้การซัดทอดว่านายสิริภพ เป็นหัวหน้าขบวนการ 17 พฤษภาคม 2558 ที่ อ.เมืองฯ จ.ปทุมธานี จับกุมนายรวีโรจน์ พรมนัสพงศ์ อายุ 40 ปี ปลอมเป็นตำรวจราชสำนักประจำ แอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเรียกรับผลประโยชน์เป็นจำนวนเงินหลักล้านบาท 30 พฤษภาคม 2558 ที่ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ จับกุมนายวรัญญู สายใจ อายุ 27 ปี และนายศักดิ์สยาม อัตรบุตร อายุ 23 ปี อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายชาวไทยใหญ่ หลังเอามือถือถ่ายคลิประหว่างถูกตรวจค้น 12 มิถุนายน 2558 ที่เขตจอมทอง กรุงเทพฯ จับกุมนายพัชรรัฐ สายะศิริ อายุ 53 ปี พบบัตรข้าราชการตำรวจปลอมจ้างทำในราคา 1 พันบาท และปืนบีบีกัน หลอกเด็กหญิงวัย 9 ขวบ ข่มขืนกระทำชำเราตั้งแต่อายุ 3 ขวบ 22 มิถุนายน 2558 ที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม จับกุมนายจิรวัฒน์ ทาธวัช อายุ 42 ปี แต่งกายเครื่องแบบทหารปลอม มาหลอกลวงเก็บส่วยในพื้นที่ จ.มุกดาหาร จ.นครพนม จ.อำนาจเจริญ และ จ.ร้อยเอ็ด 1 กรกฎาคม 2558 ที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา จับกุมนายปราโมทย์ มณีโรจน์ อ้างตัวเป็นตำรวจติดต่อตามวัดต่างๆ ในภาคใต้ เพื่อขอเป็นเจ้าภาพจัดงานบุญทอดกฐินและทอดผ้าป่า โดยขอเงินล่วงหน้าจากวัดก่อนเชิดเงินหนี 3 กรกฎาคม 2558 ที่ อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี จับกุมนายเฉลิมเกียรติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา อายุ 24 ปี, นายพิษณุ สืบปรุ อายุ 36 ปี, นายณรงค์ เวียงสมุทร อายุ 56 ปี, นายสมยศ เจริญชัย อายุ 32 ปี และนายกังวานไพร ไชยพร ใช้รถเก๋งติดไซเรนแอบอ้างเป็นตำรวจ ป.ป.ส. ขอตรวจค้นรถบรรทุกอะไหล่รถยนต์ ก่อนขับหลบหนี 9 กรกฎาคม 2558 ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จับกุม พ.ท.บัญญัติ เบิกบานดี อายุ 48 ปี, ร.อ.สมชาย ขันตี อายุ 49 ปี, จ.ส.ต.วสุพล แจ่มเจริญ อายุ 38 ปี, นายสมศักดิ์ ยิ้มปรีดา อายุ 54 ปี อ้างตัวเป็นทหารชุดเฉพาะกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรวจค้นร้านขายของชำสำหรับแรงงานพม่า โดยที่ คสช. ไม่ได้แต่งตั้ง 7 สิงหาคม 2558 ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จับกุม นายรังสรรค์ เจริญกาศ อายุ 34 ปี อ้างเป็นทหารฝ่ายการข่าว ลักลอบนำยาเสพติดไปจำหน่าย เพื่อรอดพ้นการจับกุม 25 สิงหาคม 2558 ที่ อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา จับกุม นายภูมิพัฒน์ เลิศธนาอนันต์ อายุ 48 ปี แต่งกายเครื่องแบบตำรวจยศ "พลตำรวจโท" ลงเฟซบุ๊ก และหลอกขายพระเครื่องอ้างว่าจัดสร้างโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 8 กันยายน 2558 ที่ อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี จับกุม นายสันทัศน์ อุผำ อายุ 36 ปี แต่งกายเครื่องแบบทหารปลอม ตีสนิทผู้หญิงยืมเงินและหนีหายไป พื้นที่ จ.อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู นครราชสีมา และเชียงใหม่ 8 กันยายน 2558 ที่ อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี จับกุม นายทัตเทพ ครองยุติ อายุ 25 ปี แต่งกายเครื่องแบบตำรวจปลอม เพื่อจีบผู้หญิงที่เป็นพยาบาล ประจำโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี และจะแต่งงานในเดือนพฤศจิกายนนี้. |