xs
xsm
sm
md
lg

"นอนโรงแรมลดหย่อนภาษีได้" เรื่องที่น้อยคนนักจะเข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เทศกาลความวุ่นวายตั้งแต่ต้นปีของมนุษย์เงินเดือน นอกจากการเดินหน้าทำงานตามแผนงานของแต่ละองค์กรที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ในปีนี้แล้ว เรื่องการยื่นแบบภาษีก็ดูจะวุ่นวายไม่แพ้กัน ช่วงนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของออฟฟิศแต่ละแห่งจะเริ่มส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายมาให้เราได้ใช้ประกอบการคำนวณภาษีกันบ้างแล้ว

แม้ในปัจจุบันจะมีช่องทางในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมมากมาย แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีภาระผูกพันใดๆ มาก่อน จะมีเพียงแค่เงินสะสมประกันสังคมเท่านั้น ส่วนใหญ่ต้องเจียดเงินไปลงทุน ซื้อประกันชีวิต ซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือไม่เช่นนั้นก็บริจาคแก่องค์กรสาธารณกุศลบางแห่ง

แต่มาตรการลดหย่อนภาษีบางอย่าง ประชาชนผู้เสียภาษีกลับมองข้าม ตัวอย่างเช่นวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่มีแผนกรับบริจาคโลงศพ หลังบริจาคเงินชุดละ 500 บาท หรือตามกำลังศรัทธา จะมีกระดาษสีชมพูให้เราเขียนชื่อผู้บริจาค กับใบเสร็จรับเงิน ซึ่งมีคนกล่าวว่า ถ้าไม่เอาใบเสร็จรับเงินไปเผาก็เอาไปลดหย่อนภาษีได้ เพราะเป็นองค์กรสาธารณกุศล

คงมีหลายคนพอจะทราบกันแล้วว่า กรมสรรพากรมีมาตรการภาษีใหม่ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทย พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว โดยเปิดโอกาสให้นำค่าบริการมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศเท่านั้น หรือค่าที่พักโรงแรมภายในประเทศมาลดหย่อนภาษี

โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด. 90 หรือ ภงด. 91) ในปีภาษี 2558 ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท


ในใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีสำหรับค่าบริการนำเที่ยวภายในประเทศ หรือค่าที่พักโรงแรมภายในประเทศ ลงวันที่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2558 ให้นำไปใช้ลดหย่อนของปีภาษี 2558 ที่เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559

อธิบายง่ายๆ คือ ไปเข้าพักโรงแรม หรือซื้อแพ็คเกจทัวร์ หลังจากชำระเงินแล้ว กลับบ้านไปก็รวบรวมใบเสร็จเอาไว้จนถึงสิ้นปี แล้วต้นปีหน้า (2559) ก็เอาไปใช้ลดหย่อนภาษีของปี 2558 อีกครั้ง โดยในใบกำกับภาษีต้องระบุชื่อ ที่อยู่สถานประกอบการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ผู้เข้าพักตรงตามทะเบียนบ้าน และจำนวนเงินที่ชำระ

มาตรการนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อต้นปี 2553 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากที่เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบแรก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ แต่เนื่องจากประชาชนรับรู้น้อยมาก ประกอบกับเกิดวิกฤตทางการเมืองรอบสอง ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก ที่สุดจึงไม่ได้ออกมาตรการนี้ในปีภาษีต่อมา

สำหรับคนที่ซื้อแพ็คเกจทัวร์ผ่านบริษัททัวร์ต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ดูเหมือนว่าจะง่ายหน่อย เพราะนอกจากชำระครั้งเดียวแล้วได้เที่ยวตามโปรแกรมที่ได้วางเอาไว้แล้ว ราคาแพ็คเกจทัวร์ยังเป็นตัวเลขกลมๆ ซึ่งรวมค่าเดินทาง และที่พักในราคาพิเศษเอาไว้หมดแล้ว

แต่สำหรับคนที่ชอบเที่ยวแบบอิสระ ไม่มีโปรแกรมผูกมัด ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ดูเหมือนจะเป็นค่าโรงแรมที่พัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าโรงแรมทุกแห่งจะสามารถนำค่าห้องพักไปลดหย่อนภาษีได้ทุกแห่ง ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม คือไปจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว

จะไปเช่าโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้อง ห้องพักรายวัน เกสต์เฮ้าส์ หรือโฮมสเตย์แบบชาวบ้านๆ ก็ไม่สามารถเอาใบเสร็จค่าที่พักไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีโรงแรมที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก อย่างที่เชียงใหม่ และภูเก็ต มีโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องมากกว่าร้อยละ 60 จากจำนวนที่พักทั้งหมด

ที่สำคัญที่สุด สำหรับใครที่จองห้องพักผ่านเว็บไซต์จองโรงแรมออนไลน์ เช่น อะโกด้า แอร์เอเชียโก เอ็กซ์พีเดีย ฯลฯ และชำระเงินกับเว็บไซต์เหล่านั้น ไม่สามารถนำใบเสร็จรับเงินไปลดหย่อนภาษีได้ เพราะเป็นเพียงแค่นายหน้า หรือตัวแทนจำหน่ายห้องพักของโรงแรมเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการโรงแรมหรือธุรกิจนำเที่ยวโดยตรง

โดยทางเว็บไซต์จองโรงแรมออนไลน์จะชำระเงินค่าห้องพักจากลูกค้าโดยหักเปอร์เซ็นต์ค่านายหน้าให้กับโรงแรมอีกที จากนั้นเวลาที่โรงแรมออกใบเสร็จรับเงินก็จะออกในนามผู้ประกอบการเว็บไซต์จองโรงแรมออนไลน์ ไม่ใช่ในนามผู้เข้าพัก เพราะฉะนั้นต่อให้ไปขอใบเสร็จจากโรงแรม เขาก็ไม่สามารถออกใบเสร็จให้คุณได้อยู่ดี

แต่สำหรับเว็บไซต์ที่ให้ลูกค้าไปชำระเงินที่โรงแรมโดยตรง อย่างบุ๊คกิ้งด็อทคอม ทราบมาว่าสามารถร้องขอให้ทางโรงแรมออกใบเสร็จรับเงินในนามผู้เข้าพักได้ เพราะเว็บไซต์ดังกล่าวทำหน้าที่เพียงแค่สำรองที่พักให้ โดยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่โรงแรมจ่ายให้เมื่อหาลูกค้าได้ แม้จะต้องชำระเงินผ่านบัตรเครดิตก่อน โรงแรมจะเป็นฝ่ายรับชำระโดยตรง

เพราะฉะนั้นถ้าจะให้แน่นอน ควรโทรศัพท์สำรองห้องพักกับทางโรงแรมโดยตรง แม้จะราคาแพงกว่าที่จองผ่านอินเตอร์เน็ต แต่ได้ใบเสร็จรับเงินที่ออกโดยโรงแรมในชื่อผู้เข้าพักโดยตรง อีกทั้งการเลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงกับทางโรงแรมโดยตรงจะง่ายกว่าจองผ่านเว็บไซต์ ที่บางครั้งการประสานงานกันอาจบกพร่อง

ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมาการจองโรงแรมออนไลน์ได้รับความนิยมในหมู่คนวัยทำงาน และผู้ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต อันเนื่องมาจากอิทธิพลของสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ที่ให้ลูกค้าชำระเงินก่อนในราคาที่ดีที่สุด ทำให้เว็บไซต์บางแห่งพัฒนาการจองมาเป็นการรวมแพ็คเกจที่พักพร้อมตั๋วเครื่องบินในราคาเดียว

ซึ่งการแสดงราคาห้องพัก ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเปรียบเทียบทั้งราคา ทำเล และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อนำมาประกอบการวางแผนการเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวได้ ซึ่งการชำระเงินค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักล่วงหน้า สามารถลดความกังวลว่า เงินจะเหลือพอจ่ายค่าห้องพักและค่าเดินทางกลับกรุงเทพฯ เหลือเพียงแค่ค่ากินค่าใช้เท่านั้น

ในเมื่อการจองโรงแรมผ่านเว็บไซต์ยอดนิยมไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ หลายคนที่เคยชินกับการจองเช่นนั้นคงจะเสียความรู้สึกกันไปบ้าง แต่ในเมื่อราคาโรงแรมระดับ 3-4 ดาวเฉลี่ย 1-3 พันบาท ระดับ 5 ดาว เริ่มต้น 3 พันบาท ถึงมากกว่า 1 หมื่นบาทต่อคืน จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรจะพิจารณาความคุ้มค่าอีกครั้ง

จากการพูดคุยกับพี่ที่ทำงาน ซึ่งผ่านประสบการณ์เดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ กลับมองว่า การจองเว็บไซต์จองโรงแรมออนไลน์ชื่อดังนั้น ไม่ได้เน้นการจองห้องพักในประเทศเป็นหลัก แต่เป็นการจองห้องพักในต่างประเทศมากกว่า เพราะมีราคาถูก อีกทั้งในเมื่อเว็บไซต์เป็นตัวกลาง จึงไม่ต้องสื่อสารภาษาต่างประเทศกับทางโรงแรมมากนัก

ส่วนการจองโรงแรมในประเทศ มักจะรองานมหกรรมท่องเที่ยว เช่น งานไทยเที่ยวไทย งานเที่ยวทั่วไทย และงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้จัดมากกว่า ซึ่งจะมีโปรโมชั่นจากเครือโรงแรมและรีสอร์ต รวมทั้งบริษัททัวร์เจ้าต่างๆ มาประชันราคาห้องพัก และแพ็คเกจทัวร์กันในราคาพิเศษ

มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการลดหย่อนภาษี จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในการให้ข้อมูลถึงสิทธิประโยชน์ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยจะได้รับในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

เช่น ข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งพบว่าในวันที่เขียนต้นฉบับ เว็บไซต์กรมสรรพากรยังขึ้นข้อความ “อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ขออภัยในความไม่สะดวก” เช่นเดียวกับรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอหักลดหย่อนภาษี ก็ยังไม่ขึ้นเว็บไซต์

ในส่วนของบริษัททัวร์ งานไทยเที่ยวไทยครั้งล่าสุดทราบว่ากรมการท่องเที่ยว สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลาง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะมาตั้งบูธให้บริการตรวจสอบใบอนุญาตนำเที่ยวของผู้ประกอบการท่องเที่ยวภายในงาน เพื่อให้ผู้ชมงานตรวจสอบความถูกต้องก่อนตัดสินใจซื้อแพ็คเกจทัวร์อย่างถี่ถ้วน

สมาคมโรงแรมต่างๆ ที่เคยออกมาตีแผ่ปัญหาของธุรกิจโรงแรมไทยว่า มีโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ในรูปแบบติดป้ายการค้าว่าโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม โครงการวิลล่าริมทะเล เกสต์เฮ้าส์ โฮมสเตย์ เกิดขึ้นจำนวนมากกว่า 60% ควรที่จะใช้โอกาสนี้คัดกรองโรงแรมที่ถูกกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขัน

ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ควรที่จะใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ว่า “จองห้องพักผ่านทางโรงแรมโดยตรง สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้” และควรอำนวยความสะดวกในการให้ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี แก่ลูกค้าทุกครั้งที่ชำระเงิน โดยที่ลูกค้าไม่ต้องร้องขอ

ที่สำคัญ ในยุคที่ผู้บริโภคมักจะตัดสินใจเปรียบเทียบราคาผ่านอินเตอร์เน็ต ผู้ประกอบการโรงแรมควรให้ข้อมูลราคาที่พักและโปรโมชั่น ณ ปัจจุบันผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย รวมทั้งเพิ่มช่องทางสำรองที่พักของโรงแรมเองอีกทางหนึ่ง ทั้งทางโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย เพิ่มเติมจากเว็บไซต์จองโรงแรมออนไลน์ชื่อดัง เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่นักท่องเที่ยว

แม้ว่ามาตรการลดหย่อนภาษีจากค่าแพ็คเกจทัวร์และค่าโรงแรมที่พักจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับมนุษย์เงินเดือน แต่ก็คงเป็นมาตรการที่ออกมาชั่วคราวในช่วงที่เศรษฐกิจไทยซบเซาหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง รวมทั้งการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมาก

ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เพิ่มวันหยุดยาวในช่วงเทศกาล หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยผนวกกับกับวันหยุดราชการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวมาโดยตลอด แทบจะเรียกได้ว่าเที่ยวกันจนหาเงินไม่ทันใช้แล้ว

สำคัญตรงที่ กรมสรรพากรจะใช้มาตรการภาษีตรงนี้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เสียภาษีอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจบ้านเราที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งประชาชนผู้เสียภาษีจะมองเห็นคุณค่าตรงนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาฝ่ายที่มักจะหาช่องทางลดหย่อนภาษีคือคนที่มีฐานะ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง.
กำลังโหลดความคิดเห็น