xs
xsm
sm
md
lg

"อเมริกัน สไนเปอร์" หนังเต็งออสการ์ สะท้อนภาพอเมริกันฮีโร่ในสมรภูมิรบ

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย




ใกล้วันแห่งความรักอีกปีหนึ่งแล้วครับ การหาหนังดูคนเดียวตามสไตล์คนโสดแบบผม ก็เป็นเรื่องปกติมาก ช่วงนี้เวลาดูหนังก็หาหนังที่ไม่ใช่หนังรักหวานๆ จะได้ไม่ต้องอิจฉาคนที่เขามานั่งดูกันเป็นคู่อยู่ข้างๆ

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ วันก่อนผมปลีกตัวไปดูหนังเรื่องหนึ่งซึ่งหลายคนชมกันมาก ตั้งแต่นักวิจารณ์ภาพยนตร์ตัวจริงและนักวิจารณ์สมัครเล่น

หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า อเมริกัน สไนเปอร์ ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือขายดี ประจำปี 2012 เป็นชีวประวัติของคริส ไคล์ มือแม่นปืนแห่งหน่วยซิล ที่ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในสงครามอิรัก

หนังเรื่องนี้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 2015 ถึง 6 สาขาด้วยกัน คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม แบรดลีย์ คูเปอร์, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม, ผสมเสียงยอดเยี่ยม และสาขาตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม

การเข้าชิงออสการ์ ในช่วงสถานการณ์คุกคามจากขบวนการก่อการร้ายที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ ล่าสุดกรณีการกราดยิงที่ทำงานนิตยสารชาลี แอบโด ในฝรั่งเศส การตัดหัวสังหารนักข่าวตัวประกันชาวญี่ปุ่นโดยพวกไอเอส เป็นบรรยากาศคุกรุ่นระหว่างโลกตะวันตกและขบวนการในตะวันออกกลาง เป็นการสังหารพลเรือนที่สะเทือนใจชาวโลก

หนังสะท้อนสมรภูมิรบ สงครามระหว่างอเมริกากับตะวันออกกลาง ยังอยู่ในใจของชาวอเมริกัน การอธิบายความชอบธรรมในการทำสงคราม และการเชิดชูวีรบุรุษสงครามแบบอเมริกัน จากมุมมองของมหาอำนาจอย่างอเมริกาและโลกตะวันตก

น่าสนใจและน่าติดตามว่า นี่อาจจะมีผลต่อการเข้าชิงรางวัลของอเมริกัน สไนเปอร์ และผลการตัดสินรางวัลออสการ์ในปีนี้ อีกไม่กี่วันก็จะรู้ผลกันละครับ

ก่อนจะวิจารณ์วิเคราะห์เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ ต้องดูเรื่องย่อและที่ไปที่มาก่อนสักเล็กน้อยครับ หนังเรื่องนี้สร้างเมื่อปี 2557 เข้าฉายในเมืองไทยเมื่อเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมานี้

อเมริกัน สไนเปอร์ เป็นผลงานล่าสุดของ คลินต์ อีสต์วู้ด นักแสดงผู้มีความสามารถผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับในวัย 85 ปี นับเป็นมือฉมังคนหนึ่งของฮอลลีวูด เขามีประสบการณ์การทำงานมาแล้วอย่างโชกโชน ทำหนังมาแล้วถึง 37 เรื่อง ในฐานะผู้กำกับ เคยคว้ารางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาจากหนังเรื่อง Unforgiven (1992)

ในอเมริกัน สไนเปอร์ เขาพาคุณมันส์เดือดเลือดพล่านไปกับ คริส ไคล์ นำแสดงโดยแบรดลี่ย์ คูเปอร์ นักแสดงฝีมือดี เป็นสุดยอดมือสังหารระดับพระกาฬในประวัติศาสตร์ของกองทัพอเมริกา

ภายใต้ทักษะแม่นปืนของทหาร ผู้เป็นตำนานฮีโร่อเมริกันคนนี้ เขากลับซ่อนเรื่องราวมากมายเอาไว้ให้ติดตามค้นหา เมื่อ คริส ไคล์ พลแม่นปืนสังกัดหน่วยรบพิเศษของสหรัฐอเมริกา (ซีล) ถูกส่งไปยังอิรัก เพื่อปฏิบัติภารกิจ ปกป้องพี่น้องทหาร

ด้วยฝีมือความแม่นยำ ทำให้เขาสามารถรักษาชีวิตเพื่อนทหารในสนามรบนับไม่ถ้วน ความกล้าหาญของเขาเป็นที่เลื่องลือในหมู่เพื่อนทหารหน่วยซีล จนได้รับสมญานามว่า เดอะ เลเจนด์

แม้กระทั่งในแวดวงศัตรูชื่อเสียงของคริสก็โด่งดัง จนถูกตั้งฉายาจากฝ่ายศัตรูว่า ปีศาจแห่งราห์มาดี หรือ เดอะ เดวิลล์ ทำให้เขาถูกตั้งราคาค่าหัวถึง 2 หมื่นดอลลาร์ (ประมาณ 650,000 บาท) และกลายเป็นเป้าหมายหลักของฝ่ายตรงข้าม ถึงแม้ต้องแลกกับอันตราย และการต้องสูญเสียคนรอบข้างผู้เป็นที่รัก

ในสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิรักในตะวันออกกลาง ในสมรภูมิรบในเมืองทะเลทราย คริสยังคงเดินหน้าปฏิบัติภารกิจอันแสนทรมานในอิรักตลอดทั้ง 4 ครั้ง ที่ถูกส่งไป ทำให้เขาเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของหน่วยซีลที่ว่า อย่าทอดทิ้งใคร ทว่าในระหว่างที่เขากำลังจะได้กลับบ้านนั้น คริสก็ค้นพบว่า สงครามต่างหากที่เขาไม่สามารถทอดทิ้งไปได้

เนื่องจากหนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงเป็นอัตชีวประวัติ ทำให้หนังค่อนข้างเดินเรื่องแบบไม่ค่อยจะแปลกใหม่เท่าไร ก็คล้ายๆ หนังที่เกี่ยวสงครามทั่วไป แต่มีจุดเด่นที่การสลับฉากกลับไปมา ระหว่างภารกิจช่วงสงคราม และการใช้ชิวิตกับภรรยาและลูกๆ

การอยู่ในสภาวะตึงเครียดของสงคราม ทำให้เห็นตัวตนและพัฒนาการทางความคิด คริส ไคล์ต้องเจอกับนาทีชีวิตความเป็นความตาย ทำให้ผมนึกถึงคำพูดหนึ่งในหนังสงครามหลายๆ เรื่อง คือสงครามมันเปลี่ยนคน

คนอย่างคริส ไคล์ ที่ก่อนหน้านี้เคยดูเป็นคนร่าเริง ดูสนุกสนาน แต่เมื่อเขาไปทำหน้าที่รับใช้ชาติในช่วงสงคราม ดูเหมือนเขาจะค่อยๆ ถูกสงครามกลืนกินกัดกร่อนเขาไปเรื่อยๆ

เมื่อเขากลับบ้าน ในหัวยังมีแต่ภาพและเสียงกระสุนปืน เสียงระเบิด และภาพของเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บในสงคราม ทุกอย่างเป็นเหมือนสิ่งที่ทำเขาสติแตกเอาง่ายๆ

ในหนัง มีฉากที่กดดันอารมณ์อย่างแรง เมื่อคริสต้องตัดสินใจยิงผู้หญิงและเด็กที่ถือระเบิดอยู่ในมือกำลังและจะปามันใส่รถถัง นี่เป็นงานแรกของเขาซะด้วย มันเป็นอะไรที่ต้องตัดสินใจ เหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ฝังแน่นเหมือนเป็นตราบาปในใจของเขา

หลังจากไปกลับระหว่างบ้านและสมรภูมิ วันหนึ่งเขาได้พบกับอดีตทหารคนหนึ่งเดินมาขอบคุณที่เขาเคยช่วยชีวิต เป็นทหารผ่านศึกพิการใส่ขาเทียม ทำให้เขาฉุกคิดด้วยความสะเทือนใจระหว่างความตายกับความพิการของเพื่อนทหาร

คริสพูดในหนังเสมอว่าสิ่งที่เขาทำคือการปกป้องประเทศ ปกป้องเพื่อนทหารอเมริกันด้วยกัน เขาไม่เคยนับว่าเขาฆ่าไปแล้วกี่คน เขานับแค่ว่าเขาปกป้องทหารคนอื่นๆ ได้มากแค่ไหน แต่จากข้อมูล อย่างน้อยๆ คริสยิงฝ่ายตรงข้ามไปราวๆ 160 คนเลยทีเดียวในเวลาสิบปี

พลังของ อาวุธสงคราม อาวุธปืน ไม่ว่ากระบอกไหน อานุภาพทำลายร้ายแรงแค่ไหน มันก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าคุณหันปืนไปทางไหน เอาไปใช้ฆ่าคน หรือปกป้องชีวิตคน ขึ้นอยู่กับคนถือปืนที่จะใช้มันไปในแง่ไหน

สุดท้าย แม้ชายคนนี้จะจากไป แต่เขาก็จะยังคงเป็นตำนานอยู่ในใจคนอเมริกัน ในฐานะวีรบุรุษสงคราม อยู่ในใจทหารผ่านศึกเพื่อนร่วมรบของเขา มีการจัดงานระลึกถึงคริส ที่คาวบอยสเตเดี้ยม มีประชาชนมาร่วมงานและคอยส่งวีรบุรุษของพวกเขาตลอดเส้นทางเลยทีเดียว

“อะไรละจะยิ่งใหญ่กว่าฮีโร่ละ? ก็คงจะหนีไม่พ้นฮีโร่ที่ตายแล้ว” หนังเรื่องนี้สอนบทเรียนสำคัญบทนี้ ฝากไว้ให้ได้คิด แต่ผมว่า ชาวโลกต้องคิดและตั้งคำถามมากกว่านั้น คือ ผู้คนจะต้องสังเวยชีวิตให้กับสงครามและการก่อการร้ายไปอีกเท่าไร ความขัดแย้งในโลกควรหยุดได้ด้วยสันติวิธีมากกว่าการทำสงครามเข่นฆ่ากันมิใช่หรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น