xs
xsm
sm
md
lg

บทรำพึงว่าด้วยประวัติศาสตร์และความคิดโบราณ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

วันนี้ขออนุญาตมาแบบรำพึงรำพันย้อนอดีตโบราณสักหน่อยครับ

สำนวน ‪“ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย‬” คงไม่ได้หมายถึงความเหมือนหรือละม้ายของเหตุการณ์ใหม่กับในอดีตโดยบังเอิญเท่านั้น หากแต่ยังน่าจะหมายถึงเรื่องราวใหญ่น้อยในโลกต่อให้พัฒนาการซับซ้อนไปมากแค่ไหนก็วนกลับมาสู่หลักการใหญ่แบบเดิมๆ

การเมืองการปกครองเราพูดถึงในทุกวันนี้ ไม่ได้หนีไปไหนจากเมื่อสามสี่พันปีก่อน เอ้า ! จริงๆ นะครับ สมัยกรีกคือก่อนโน่นก่อนค.ศ.ไปอีก รูปแบบการปกครองจากกษัตริย์ยุบเลิกไปกลายเป็นระบบสภา the council of elders / the council of nobles (สภาอาวุโสและผู้ดีมีตระกูล) รากฐานของระบบการเมืองยุคใหม่คือการต่อรองอำนาจ เริ่มจากอำนาจในแวดวงผู้สูงศักดิ์มีเงินทอง กลายเป็น Oligachy หรือคณาธิปไตย

พอบ้านเมืองพัฒนาซับซ้อนขึ้นอีก ชนชั้นสูงไม่ได้มาจากสายเลือดอย่างเดียวต้องมีเงินด้วยพวกมีตังค์นายทุนกรีกเลยเข้าไปมีบทบาทนำในสภาเรียกว่า ธนาธิปไตย Timocracy (หุหุ ไม่ได้เจาะลึกประวัติศาสตร์มากนักเลยไม่รู้ว่ามีทุนสามานย์ธนาธิปไตยไปปู้ยี่ปูยำกรีกกี่มากน้อย)

แล้วที่สุดบ้านเมืองกรีกมันมีหลายฝ่ายเกินไปนี่ก็ใหญ่โน่นก็พวกมากทะเลาะกันไม่จบ การปกครองจากหลายๆ ฝ่ายมีส่วนจัดสรรต่อรองเลยถูกคนที่มีดาบและมือตีนใหญ่ที่สุดยึดอำนาจไปเรียกว่าระบบ Tyranny ไปโน่นเลย

กรีกเป็นตัวอย่างของรูปแบบที่หลากหลาย เป็นรากฐานแรงดาลใจที่มาของปรัชญาการปกครองอื่นๆ ในยุคหลังรวมถึงสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย..(อันมีพวกก้าวหน้าเฉพาะกลุ่มผูกขาดห้ามใครมาแย่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยของฉันยึดมั่นอยู่นี่)

หันไปดูโรมบ้าง...โรมันนี่เป็นรากที่มาของปรัชญาแบ่งแยกอำนาจและระบบตรวจสอบถ่วงดุล Check&Balance ก็ว่าได้

รูปแบบการปกครองของโรมมีหลายยุค ขอกล่าวถึงยุคที่ดูเฟื่องและซับซ้อนเพราะมีการจัดสรร "พหุอำนาจ" ฝ่ายต่างๆ ที่มีในสังคมโรมจริงเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว (คุ้นๆไหมหลักการนี้)

โรมให้น้ำหนักประชาชน ตัวแทนของประชาชนก็คือ Democracy เพราะให้พื้นที่/ช่องทางประชากรโรมมีเสียงออกมาโดยตรง

โรมมีขุนนางอำมาตยาผู้ลากมากดีนักวิชาการ ตัวแทนของกลุ่มนี้คือพวก Aristocracy ออกเสียงผ่านวุฒิสภา Senate

และโรมมีพวกผู้ปกครอง ยุคที่เป็นสาธารณรัฐผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้งแต่ก็มีอำนาจปกครองค่อนข้างเด็ดขาด ก็คือ กงสุล Consul หรือเนื้อแท้คือ Monarchy ภายใต้ผู้ปกครองที่ได้รับเลือก

Check&Balance ดั้งเดิมมีก่อนสมัยมองเตสกิเออร์ ก็คือการบาลานซ์กันระหว่างอำนาจที่เป็นจริงมีอยู่จริงของโรม 3 ฝ่าย คือ เจ้านายหรือผู้ถืออำนาจปกครอง(จากการเลือกตั้ง) /เหล่าชนชั้นนำ ผู้ดีคนรวยคนหลักแหลม/และประชาชน

Consul + Aristocracy +Democracy

การออกแบบการปกครองสังคมพหุอำนาจแบบโรมดูคุ้นๆ ไหมครับ!!?

และถ้าเราไปดูระบบการปกครอง 5 ระบอบที่เพลโต้ได้จำแนกไว้เมื่อ แล้วยิ่งต้องทึ่งกับสติปัญญาของคนโบราณ เพราะเจ้า 5 ระบอบที่ว่าก็คือ Aristocracy อภิชนาธิปไตย, Timocracy ธนาธิปไตย, Oligarchyคณาธิปไตย, Democracyประชาธิปไตย,Tyranny เผด็จการ ยังคงเป็นเนื้อหาสำคัญของการเมืองการปกครองของโลกยุคใหม่ไม่ได้เปลี่ยนแปรไปกี่มากน้อย ยังปรากฏในเนื้อหาของการเมืองในยุคปัจจุบันอยู่ไม่หายไปไหน

บางสังคมที่อาจแค่เพียงซ่อนรูป-หลบรูปอยู่เท่านั้นเอง !

อภิชนาธิปไตยและคณาธิปไตยของเพลโต้ ช่างละม้ายคล้ายคำอธิบายเรื่อง Thailand’s Bureaucratic Polity ของ Fred W. Riggs ที่ว่าในยุคสมัยหลังสงครามโลกประเทศไทยถูกปกครองโดย ตระกูลลูกท่านหลานเธอ อำมาตย์ข้าราชการเทคโนแครตต่อเนื่องกันมาตั้งแต่จอมพล ป.จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ชุดความคิดของเคโนแครตเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศผ่านสภาพัฒน์และกลไกราชการรวมศูนย์ ต่อมานักวิชาการไทยเรียกระบอบนี้ว่าอำมาตยาธิปไตย

ยุคต่อๆ มาแม้ประเทศนี้จะประกาศตัวว่าปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย แต่มันก็เป็นแค่เปลือกเพราะผู้เล่นในเกมอำนาจมีแค่ชนชั้นนำ นักการเมือง และพ่อค้านายทุน อำมาตย์ราชการรวมศูนย์ จำกัดวงอยู่แค่นั้นส่วนประชาชนถูกกันไว้เป็นแค่พิธีกรรมเชิงอำนาจผ่านการหย่อนบัตรเลือกตั้ง 4 วินาที ระบอบการปกครองที่แท้จริงยังเป็น Aristocracy Timocracy Oligarchy ภายใต้เปลือก Democracy หรือวันดีคืนดีอาจมีอีกพวกยึดสถานีโทรทัศน์แปลงมาเป็น Tyranny เต็มตัว แต่ก็ยังจัดสรรแบ่งปันให้กับ Aristocracy Timocracy Oligarchy เหมือนเดิม

ผมตลกขบขันพวกที่ชอบมโนนึกว่าตัวเองเป็นนักคิดนักเขียนนักวิชาการก้าวหน้าประชาธิปไตยตัวยงที่ถือหางขบวนการการเมืองสีเสื้อทักษิณแล้วบอกว่านี่คือการต่อสู้กันระหว่างประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง กับเผด็จการอีกฝ่ายหนึ่ง คนพวกนี้มีพอสติปัญญาและยังมีจริตอยู่พอสมควรเช่นพอรัฐบาลสายทักษิณทำอะไรไม่เข้าท่าก็อ้อมๆ แอ้มๆ บอกเบาๆ ว่าไม่เข้าท่าแต่แล้วก็ยกแม่น้ำทั้งห้ามาเพื่อเป็นข้ออ้างว่าจำเป็นต้องสนับสนุนคณะการเมือง Timocracy + Oligarchy คณะนี้ต่อเพราะเกรงว่าอีกฝ่ายที่มันเป็น Tyranny จะขึ้นมามีอำนาจ…ฮะฮา

พวกองุ่นเปรี้ยวก้าวหน้ารักประชาธิปไตยแบบนี้ยังคงมีอยู่มากมายในสังคมใช้ตรรกะเบี้ยวๆแบบนี้ปลอบประโลมสะกดจิตตัวเองไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่การกระทำนั้นที่แท้ก็คือการช่วยอุ้มชูระบอบประชาธิปไตยแต่เปลือกออกไปเรื่อยๆ ห่างจากจุดหมายประชาธิปไตยที่แท้ออกไปทุกขณะ ไม่ต่างอะไรจากขบวนการเชิดชูรัฐประหารที่ไม่ได้คิดเปลี่ยนแปลงเนื้อหาประชาธิปไตยให้พ้นไปจาก Aristocracy + Timocracy + Oligarchy ตรงไหน

Democracy ถูกนิยามว่าเป็นการปกครองที่อำนาจมาจากประชาชนเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ มีพัฒนาการมายาวนานตั้งแต่หลายพันปีก่อนจนมาถึงประชาธิปไตยยุคใหม่ไม่กี่ร้อยปี แต่ที่สุดเราก็ได้เห็นประชาธิปไตยที่มีเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่จริงๆ น้อยมาก

บทความวันนี้ไม่มีบทสรุปทิ้งท้ายที่เป็นประเด็นข้อเสนอเนื้อหาสาระ ได้แต่รำพึงรำพันว่าโลกยุคใหม่ของเราหมุนมาหลายพันปี ที่สุดยังไม่พ้นเงาของคนโบราณ รูปแบบการเมืองการปกครองระบบสังคมเป็นผลผลิตของยุคสมัยและสภาพแวดล้อม แต่ต่อให้เปลี่ยนแปลงซับซ้อนมากเพียงใดก็ยังไม่พ้นจากหลักการหรือระบบที่มีการจำแนกและปรากฏขึ้นแต่เดิม

ประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่ที่เราบันทึกจำความกันได้ไม่เกิน 5 พันปี บอกถึงการขึ้นและลงของอำนาจ พฤติกรรมช่วงชิง การขึ้นลง การสูญเสียตลอดถึงรูปแบบพฤติกรรมต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันจนบางเรื่องเหมือนกับภาพยนตร์ฉากเดิมที่แค่เปลี่ยนฉากกับนักแสดง ...แต่คนก็ยังไม่จดจำ

ขออนุญาตไม่สรุปขมวดปมหรือชี้ประเด็นอื่นใด เพราะเรื่องบางเรื่องก็ยังไม่ชัดเจน รัฐธรรมนูญใหม่ยังอยู่ในขั้นเขียนเนื้อหา ยังเร็วเกินไปที่จะทุบโต๊ะฟันธงลงในรายละเอียด แต่อย่างไรก็ตามขอสาภาพว่าพอเห็นแนวทางใหญ่พอสังเขปที่กมธ.ประกาศออกมาใจประหวัดไปถึงเพลโต้ กรีก โรมันขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แปลกใจตัวเองอยู่พอสมควร.

.
กำลังโหลดความคิดเห็น