xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางประเทศไทยในปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

คอลัมน์ตอนนี้เป็นชิ้นส่งท้ายแล้วสำหรับปี 2557 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปีที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย

เริ่มตั้งแต่การปิดกรุงเทพฯ ชัตดาวน์เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อต้นปี ต่อสู้กับความดื้อแพ่งต่อการดำเนินกระบวนการตามกฎหมายทุกอย่าง ตั้งแต่ถูลู่ถูกังให้เลือกตั้งที่สุดท้ายเป็นโมฆะ แก้รัฐธรรมนูญโดยมิชอบ ถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนไปแต่หัว ยังเหลือตัวอยู่เป็นผีหัวขาด ลากยาวมาจนถึงกลางปี สุดท้ายก็ต้องให้คณะทหารมาทำรัฐประหาร จึงจะกวาดรัฐบาลเถื่อนตกทำเนียบไปได้

เริ่มยุคสมัยของ คสช.ที่ประกาศว่าจะเข้ามาเพื่อปฏิรูป คืนความสุข คืนประชาธิปไตยให้ประชาชน ด้วยการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จชั่วคราว โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ลงมารับลูกเล่นบทนายกรัฐมนตรีเอง

ด้วยสโลแกนว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน”

ในปี 2558 ที่จะมาถึง เป็นปีสำคัญที่อาจจะเป็นปี “ต่อจากหัวเลี้ยว” ที่จะชี้ว่าประเทศไทยจะเลี้ยวแล้วเดินต่อไปในทิศทางใด เพราะเป็นปีที่ตามโรดแมปของ คสช.แล้ว จะเป็นปีที่รัฐธรรมนูญใหม่จะเห็นเป็นรูปร่าง มีผลใช้บังคับ รวมถึงการปฏิรูปในด้านต่างๆ ก็น่าจะเห็นรูปร่างกันชัดเจนขึ้น

ในช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่มีการ “โยนหิน” ถามทาง ได้แก่ไอเดียในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ บางเรื่องที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้จริงแล้วในตอนนี้ เช่นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งปรากฏว่าหลายฝ่ายตั้งท่าจะไม่เอาด้วย ก็เป็นอันว่าแนวคิดนี้น่าจะแท้งไป

อยากจะขอ “เดาทาง” คาดเดาแนวทางของรัฐธรรมนูญใหม่ จากข่าวต่างๆ ที่ได้ประมวลมาทั้งหมดจนถึงขณะนี้ดังนี้

ในเรื่องรูปแบบรัฐสภาและการได้มาซึ่งฝ่ายบริหาร คือนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ก็น่าจะชัดเจนว่าคงจะใช้รูปแบบเดิม คือในรูปแบบรัฐสภาที่เคยใช้กันมาตลอด โดยการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ ซึ่งคนที่จะมาเป็นนายกฯ ได้ตามหลักก็น่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงที่สุด และให้นายกฯ ไปเลือก ครม.มาอีกที

แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะ “ปลดล็อก” ให้สภาฯ สามารถเลือกบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็น ส.ส. มาเป็นนายกฯ ได้ เหมือนรัฐธรรมนูญบางฉบับในอดีต เนื่องจากการที่กำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเท่านั้น ในบางกรณีก็เป็นการปิดล็อกตัวเองให้การเมืองเข้าสู่สภาพปิดตายได้ เหมือนในช่วงท้ายของรัฐบาลทักษิณ (ก่อนถูกรัฐประหาร ปี 2549) รวมถึงช่วงสุดท้ายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย

ส่วนวุฒิสภา หรือ ส.ว.นั้นน่าจะเป็นแบบผสมเหมือนเดิม คือมีทั้งเลือกตั้งและสรรหา โดยมีความเป็นไปได้ไม่น้อยเหมือนกันที่ ส.ว.จะมาจากการสรรหาทั้งหมด แต่โอกาสที่จะมาจากการเลือกตั้งล้วนๆ เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 มีน้อยมาก เพราะเป็นปัญหาของการเมืองไทยมากในช่วงหลังที่วุฒิสภาจากการเลือกตั้งนั้นเป็นเหมือนสภาผู้แทนที่สอง ที่ ส.ส.ว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน เพราะคนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาทั้งสองสภานั้นเป็นกลุ่มเดียวกัน

ทั้งนี้ ก็มีแนวคิดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงให้ ส.ว.มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบนายกฯ และคณะรัฐมนตรีได้ด้วย อาจจะเป็นรูปแบบใหม่ ที่นายกฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา มิใช่เพียงสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและไม่เห็นชอบรัฐมนตรีบางคนก็ได้

ส่วนข้อเสนอที่ออกจะฮือฮาขึ้นมาไม่กี่วันนี้ คือเรื่องที่มีผู้ออกไอเดียว่า จะให้คง คสช.ไว้โดยแปรรูปไปเป็นคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น เห็นว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นไปได้สูงว่าจะได้รับแรงต้านจากทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนด้วย เพราะเช่นนี้ก็จะเป็นลักษณะการสืบทอดอำนาจที่ชัดเจน ผิดจากการ “ทำตามสัญญา” ที่จะ “ขอเวลาอีกไม่นาน”

เหตุที่ผู้คนยอมรับระบอบ คสช.ซึ่งถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือการปกครองชั่วคราวโดยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ก็เพื่อให้มาแก้ปัญหาของประเทศชาติเป็นการปฏิรูปฟื้นฟูเป็นการชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้าให้สืบทอดอำนาจต่อไปยาว ประชาชนก็ไม่น่าที่จะเห็นด้วย

เรื่องที่น่าเป็นห่วงในปีหน้าสำหรับรัฐบาลและท่านนายกฯ คือปัญหาต่างๆ ที่จะประดังประเดเข้ามา จนกระทั่งความมั่นใจหรือความนิยมของประชาชนที่มีต่อท่าน หรือไว้วางใจให้ท่านดูแลแก้ปัญหาประเทศ อาจจะลดจะถอยลงไป

โดยอาจจะมาจากปัจจัยภายในที่ประชาชนฝ่ายที่เคยสนับสนุน คสช.หรือกระบวนการปฏิรูปอาจจะเริ่มส่งเสียง เพราะรู้สึกว่าการแก้ไขปัญหานั้นไม่จริงจัง ไม่นำผู้กระทำความเสียหายต่อประเทศมาลงโทษอย่างจริงจัง หรือคล้ายจะไม่มีความจริงใจในการปฏิรูปในบางเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ เช่นเรื่องการปฏิรูปพลังงาน

รวมถึงปัจจัยเสริม ที่ได้แก่ปัญหาเศรษฐกิจทำให้คนที่อยู่กลางๆ คนทำมาหากิน ลูกจ้าง อยู่กันไม่สุข ซึ่งแม้จะอ้างได้ว่าเป็นผลมาจากความเสียหายของรัฐบาลก่อนหน้า ทั้งการเสียความเป็นผู้นำในตลาดข้าวไปเพราะนโยบายจำนำข้าว หนี้เสียจากโครงการรถคันแรก และผสมโรงกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอันเป็นปัจจัยภายนอกโดยแท้ แต่ในฐานะของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้

หรือปัจจัยประกอบจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่เห็นดอกออกผลอะไรไปมากกว่าเน้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือสร้างโฆษณาชวนเชื่อ เห็นได้จากเสียงติติงและวิพากษ์วิจารณ์หลายโครงการของรัฐบาลที่เหมือนกับจะใช้เงินไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือมีกลิ่นไม่ค่อยน่าพอใจ เช่น ล่าสุดโครงการสติ๊กเกอร์ค่านิยม 12 ประการที่ให้ประชาชนโหลดฟรีจากภาษี 7 ล้านกว่าบาท ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่จากประชาชนผู้เสียภาษี

ซึ่งหากประชาชนที่เคยเป็นแนวร่วมแนวสนับสนุน หรือแนวที่เป็นกลางๆ ไม่หนุนไม่ต้าน เริ่มออกมาขยับเคลื่อนไหวส่งเสียงดังมากขึ้นแล้ว สุดท้ายฝ่ายต่อต้านจะถือโอกาสผสมโรงและอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ที่รบกวนการบริหารประเทศของรัฐบาลและการปฏิรูปในระยะต่อไปได้ เมื่อความนิยมของตัวท่านนายกฯ ลดลง การกระทำบางอย่างที่เคยขำ เคยรู้สึกไม่ถือสา ก็อาจจะไม่ขำ หรือไม่รู้สึกยอมรับได้อีกแล้ว

นี่คือเรื่องที่รัฐบาลจะต้องระวังตั้งรับต่อไปในปีหน้า

แต่เหนืออื่นใด สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุขสมปรารถนา รักษาตัวไว้โดยดีทั้งกายใจ เพื่อรอรับปีใหม่ที่จะเป็นปีสำคัญต่อประเทศของเราต่อไปในอนาคตอันใกล้.
กำลังโหลดความคิดเห็น