xs
xsm
sm
md
lg

พี่จะขึ้นค่าแท็กซี่ผมไม่ว่า แต่...

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวอะไรที่จะทำให้มนุษย์เงินเดือนชาวกรุง รู้สึกเซ็งไปกว่าเรื่องที่ว่าจะมีการ “ขึ้นราคาแท็กซี่” ซึ่งทางกรมขนส่งทางบกได้แพลมๆ ออกมาว่าจะเริ่มในเดือนสุดท้ายของปีนี้

โดยโครงสร้างใหม่ของราคาค่าแท็กซี่ขึ้นประมาณ ๑๓% แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ในช่วงแรกปรับขึ้น ๗ - ๘ % อัตราเริ่มต้นตั้งแต่ขึ้นรถจนถึงกิโลเมตรที่ ๒ ยังคงก้าว ๓๕ (บาท) เท่าเดิม แต่จากนั้นจนถึงกิโลเมตรที่ ๑๐ จะคิดกิโลเมตรละ ๕.๕๐ บาท เพิ่มขึ้น ๕๐ สตางค์ กิโลเมตรที่ ๑๑ - ๒๐ กม.ละ ๖ บาท กิโลเมตรที่ ๒๑ - ๔๐ กม.ละ ๖.๕๐ กิโลเมตรที่ ๔๑ - ๖๐ กม.ละ ๗ บาท และ กิโลเมตรที่ ๖๑ - ๘๐ กม.ละ ๘ บาท ส่วนช่วงที่รถติดหยุดนิ่งหรือเคลื่อนตัวต่ำกว่า ๖ กม./ชม. จะปรับขึ้นจากเดิมมา ๕๐ สตางค์ เป็น ๒ บาท/กม. ตรงนี้กรมขนส่งฯ ได้สรุปโครงสร้างให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อลงนามกฎกระทรวงประกาศอัตราใหม่แล้ว จากนั้นจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้

ซึ่งคุณธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีฯ ก็ได้อ้างว่า เป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยได้มีการวิเคราะห์จากปัจจัยต่างๆทั้ง ค่าแรงคนขับ, ค่าตัวรถ หรือ ค่าเช่า, ค่าเชื้อเพลิง CNG, ค่าซ่อมบำรุงรักษารถ และอื่นๆ ทั้งนี้ก็คาดว่า อัตราค่าโดยสารใหม่จะสร้างความเป็นธรรมและช่วยให้กลไกทางการตลาดได้ แต่ในระยะที่ ๑ รถแท็กซี่ทุกคันต้องผ่านการตรวจสอบและประเมินคุณภาพตัวรถในเบื้องต้นก่อน จึงจะเข้าสู่การพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารระยะที่ ๒

ในระยะนี้จะมีการตรวจประเมินการให้บริการของแท็กซี่ เช่น ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ แต่งกายสุภาพ สะอาด ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และต้องใช้มาตรค่าโดยสารทุกครั้ง ในส่วนของผู้ประกอบการ จะต้องจัดส่งประวัติผู้ประจำรถทันทีและทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ต้องไม่ให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตขับรถแท็กซี่มาขับรถ และที่สำคัญต้องดูแลสภาพรถให้พร้อมใช้งาน มีอุปกรณ์ ส่วนควบถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

แต่ทว่าข้อเสนอนี้กลุ่มแท็กซี่ก็กลับไม่พอใจซะงั้น เมื่อคุณวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ออกมาอ้างว่า ยังไม่ครอบคลุมการแก้ปัญหา ไม่สะท้อนต้นทุน สร้างความยุ่งยากในการปรับขึ้นค่าโดยสาร จึงขอให้ทบทวนและปรับอัตราเพิ่มที่ ๒๐ % เท่านั้น พูดง่ายๆ จากที่กระทรวงคมนาคม กำหนดให้ตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๒ - ๑๐ จ่ายกม.ละ ๕.๕๐ บาท เป็นกิโลเมตรที่ ๑ - ๑๒ จ่าย กม.ละ ๖.๕๐ บาท ,๑๒ - ๑๘ กม.ละ ๗ บาท ,๑๘ - ๒๖ กม.ละ ๗.๕๐ บาท ,๒๖ - ๓๔ กม.ละ ๘ บาท ,๓๔ - ๔๒ กม.ละ ๘.๕๐ บาท ,๔๒ - ๕๐ กม.ละ ๙ บาท และกิโลเมตรที่ ๕๐ ขึ้นไป กม.ละ ๑๐ บาท ส่วนค่ารถติดจ่าย ๒.๕๐ บาท/นาที พร้อมเรียกร้องอีก ๔ ข้อคือ ให้ปรับขึ้นครั้งเดียว ไม่ต้องจูนมิเตอร์และตรวจสอบสภาพรถหลายครั้ง เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ,เร่งรัดให้มีการประกาศอัตราค่าโดยสารใหม่ ,ต้องปรับให้มากกว่า ๑๓ % และ ขอให้ปราบปรามรถป้ายดำ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางเดือน พ.ย. นี้

ลองคิดเล่นๆ ถ้านั่งจากบ้านพระอาทิตย์ ไปสนามบินนานาชาติดอนเมือง ประมาณ ๒๘ กิโลเมตร ถ้าคิดตามราคาใหม่ของกระทรวงคมนาคมก็จะเสียค่าโดยสารประมาณ ๑๙๑ บาท แต่ถ้าคิดในอัตราของกลุ่มแท็กซี่ก็จะเสียค่าโดยสารประมาณ ๒๓๑ บาท อันนี้คือยังไม่รวมเวลารถติดนะ

ก็ไม่รู้ว่าท้ายที่สุดรัฐบาลเฉพาะกิจจะเคาะออกมาเช่นไร แต่ที่แน่ๆ คนใช้บริการก็บ่นอุบกันไปตามๆ กันในสภาวะที่ข้าวของแพงไปหมด ... อย่างว่าล่ะครับ ไม่ใช่แค่เราที่ได้รับผลกระทบฝั่งเดียว คนขับเขาก็ใช้ชีวิตเหมือนเรา เจอสภาวะเช่นเดียวกับเรา ผมจึงไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่เขาจะขอขึ้นราคา แม้จะอ้างว่า ไม่ได้ขึ้นมา ๑๐ ปี หรืออะไร ก็น่าจะรับฟังได้

แต่ในเมื่อจะได้ขึ้นราคาแล้วมันต้องมีการปรับปรุงตัวด้วยครับ ....

ปัญหาใหญ่หลวงที่ผู้ใช้บริการประสบคงหนีไม่พ้นเรื่องของพี่แท็กซี่ (ส่วนน้อย) ที่เรียกแล้วพี่แกไม่ค่อยไป ด้วยข้ออ้าง นานับประการ อาทิ “ส่งรถ เติมก๊าซ รถติด ไปไม่ถูก” หรืออื่นๆ ที่ใครหลายคนเจอมา รวมทั้งตัวผมเอง จนบางทีเจอบ่ายเบี่ยงหลายๆ คันติดต่อกันนี่โคตรจะหงุดหงิดใจ ยิ่งเฉพาะตอนฝนตกนี่ ไม่ต้องเดาอารมณ์ของผมก็รู้ได้ บางทีเราโบกไม่ไปด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา แต่พอคนข้างหน้าโบกพี่ท่านกลับยินยอมที่จะให้ผู้โดยสารขึ้นนั้นขึ้น มันก็ทำให้เรายิ่งสงสัยว่า เฮ้ย โกหกเหรอเพ่ หรือบางพวกก็ชอบรับแต่ฝรั่ง จนคนยิ่งงง ฝรั่งมันมีดีอะไร โกงได้หรือ สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผู้ใช้บริการเอือมระอาจริงๆ

แล้วคำอ้างที่ว่า "ส่งรถ" เป็นความจริงได้หรือไม่ เท่าที่ผมเคยถามคนขับเขาบอกว่า ถ้าเจอช่วงตี ๔ และ ๔ โมงเย็น นี่มีแนวโน้มสูง เพราะบางอู่เริ่มสตาร์ทให้เช่ารถตอน ๖ โมงเช้าและ ๖ โมงเย็น และอู่รถของแต่ละคันก็กระจัดกระจายกันไปทั่วทั้งเมือง ส่วน "เติมก๊าซ" เป็นเหตุสุดวิสัย โดยหลักแล้วคนขับที่ชำนาญ คือขับมาหลายปี จะรู้ว่าถนนเส้นไหนมีก๊าซบ้าง และสามารถคำนวนได้ว่าจะไปถึงเมื่อไหร่ วิ่งได้อีกกี่กิโลเมตร ฉะนั้นหากเป็นรถที่คิดจะกลับไปอู่ หรือเติมก๊าซจริงๆ ก็จะวิ่งตรงดิ่งไม่รับผู้โดยสารเลย

แต่อย่างว่าล่ะครับ ไหนๆ ก็ขับชะลอสักหน่อย เผื่อโชคดีที่เจอผู้โดยสารจะไปเส้นทางที่เขาจะต้องไปอยู่แล้ว ก็เป็นโชคทิ้งทวนค่าก๊าซก่อนปิดจ๊อบในแต่ละวัน จึงทำให้เรามักถูกปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง ... แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรล่ะ?

ผมมีแนวคิดแบบง่ายๆ สำหรับพี่ๆ แท็กซี่ที่อยากรับผู้โดยสารด้วย แต่ก็ไม่อยากให้ถูกปฏิเสธจนเสียอารมณ์ “ให้พี่ซื้อฟิวเจอร์บอร์ดมา ๒ แผ่น แล้วเขียนเส้นทางที่พี่จะผ่านพกเอาไว้ เวลาพี่จะกลับอู่ ก็ควักมันออกมาแล้วติดบริเวณหน้ากระจก และกระจกข้าง ทางฝั่งผู้โดยสาร เช่น พี่ต้องส่งรถที่อู่พระราม ๒ พี่อาจจะเขียนป้ายว่า "พระราม๒ - บางแค - แสมดำ - บางบอน" ปักไว้” อย่างน้อยคนเขาจะได้เห็นว่า เออ รถคันนี้จะไปไหน ถ้าไปทางเดียวกันก็ค่อยโบกขึ้น ง่ายกว่าเยอะ

ส่วนเรื่องรถที่จอดรับแต่ฝรั่ง แถวถนนพระอาทิตย์นี่ก็เยอะครับ มีพี่คนหนึ่งเชื้อสายจีนเคยเล่าให้ฟังขำๆ ว่า เขาโบกรถแท็กซี่คันหนึ่ง รถคันนี้ก็จอดเขาก็เปิดถามเส้นทาง คนขับชะงักแล้วหันมาบอกว่า อ้าว นึกว่าคนจีน ไม่ไปครับ จะส่งรถ กลายเป็นเรื่องฮาไปเลย... เคยถามคนขับบางคันระหว่างนั่งกลับบ้าน เขาก็บอกว่า จริงๆ ไม่ใช่ว่าจะโกงฝรั่ง ไม่กดมิเตอร์ หรืออย่างไร เพราะเดี๋ยวนี้ฝรั่งเขารู้ แต่เป็นเพราะพวกเขาให้ทิปเยอะ อย่างเงินที่ทอนตังค์บางคนเขาก็ให้เลย จึงทำให้บางคันเลือกที่จะรับแต่ชาวต่างชาติ อันนี้ผมถือว่าพฤติกรรมที่ไม่น่าพิศมัยนัก และเข้าข่ายผิดกฏหมาย พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ สามารถร้องเรียนที่สายด่วน ๑๕๘๔ เมื่อพบได้อีกด้วย

อีกปัญหาหนึ่งที่หนักหนาไม่แพ้กันคือ คนขับที่ชอบไปตามทางของตัวเอง พอผู้โดยสารทัก ก็มักจะพูดว่า "เชื่อผมทางนี้ไวกว่า" แต่ปรากฏว่า ยิ่งช้ากว่าเดิม อ้อมกว่าเดิม และติดกว่าเดิม (อันนี้ เพิ่งเจอมากับตัว แล้วก็มาบ่นว่า ปกติมันไม่เคยติดนี่ครับ ผมวิ่งประจำ) บางรายก็ชอบพาขึ้นทางด่วนจัง แม้กระทั่งยามดึกๆ ดื่นๆ ก็ยังจะพาขึ้นอยู่นั่น พอผู้โดยสารทักท้วง (บ่น) บ่อยๆ ก็ปล่อยลงกลางทาง ผมเคยถามพี่ๆ คนขับหลายๆ คัน ส่วนมากเขาก็มักจะบอกว่า มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บางทีเราฟัง จส.๑๐๐ แล้วมันมีเหตุ เราก็จะแนะนำเขาว่า ให้ไปเส้นทางนี้ดีหรือไม่ ถ้าเขาไม่ตกลง เราก็ไปตามทางที่เรากำหนด แต่ก็มีบางส่วนที่ดึงดันขับไปให้ได้ จนสุดท้ายผู้โดยสารไม่พอใจ ก็มีปากเสียงและเกิดการร้องเรียน วิธีแก้ที่ดีที่สุดก็คือ ขับตามหน้าที่ เสนอแนะข้อมูลเส้นทาง และอดทน

จริงๆ ยังมีเรื่องจิปาถะอีกมากมายทั้งปัญหาใหญ่อย่าง คนขับเอาแต่คุยการเมือง ก็ทำให้มีปัญหากับผู้โดยสารหากไปเจอคนที่เห็นต่าง แต่เอาจริงๆ ผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้นะ คือผมจะเฉยๆ เวลาเขาถามก็ตอบตามข้อเท็จจริง แบบถนอมน้ำใจนิดๆ (ก็กลัวไปไม่ถึงที่หมายบ้าง อะไรบ้าง)

เคยเจอบางคันเอาหลานมาเลี้ยงบนรถด้วย คนขับเป็นลุงอายุน่าจะ ๗๐ ได้ส่วนหลานชายวัยประมาณ ๘ ขวบนั่งเบาะหน้า ตอนโบกแล้วเจอนี่ผงะเลย นึกว่ากุมารทอง มากลางวันแสกๆ ฮ่าๆๆ จนเด็กมันลดกระจกแล้วบอกว่า พี่ขึ้นได้ครับ จึงได้ยอมขึ้น (เพราะอยากลอง) ก็นั่งฟังปู่สอน (บ่น) หลานหลายๆ เรื่อง ผมก็พลางตอบโต้แทนเด็กไปบ้าง สอนเด็กมันบ้าง ราวกับเป็นคนในครอบครัวเขา เออ ประหลาดดี

ความจริงอีกเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือพี่แท็กซี่ (บางคัน) ก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุแห่งการจราจรที่ติดขัดในหลายจุด โดยเฉพาะป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้า ที่พี่ท่านชอบไปจอดแช่รอผู้โดยสารโดยไม่สนใจว่าข้างหลังรถของพี่ๆ จะมีรถอีกหลายๆ คันที่ติดยาวเป็นกิโลหรือไม่ ทำไมผมถึงว่าเช่นนั้น ... หน้าโรงภาพยนต์เมเจอร์ ปิ่นเกล้า เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการไม่เคารพกฏจราจร ในช่วงสายจะมีพี่ๆ เขามาจอดแช่บริเวณใต้สะพานลอย ซึ่งเป็นจุดที่ถูกกำหนดให้รถตู้โดยสารมาจอดส่งผู้โดยสาร นั่นก็ทำให้รถตู้ต้องจอดส่งคนในเลนที่ ๒ เพราะเลนแรกถูกกินพื้นที่ไปแล้ว การจราจรจึงเหลือแค่ ๒ เลน แม้จะมีตำรวจนำป้ายห้ามจอดมาติดขู่ไว้แต่ก็ไม่ได้ผล

ผมเชื่อว่า หลายๆ แห่งก็คงประสบปัญหาไม่ต่างกันนัก แล้วจะแก้กันอย่างไร จะให้ตำรวจมาเฝ้าคอยจับปรับก็คงทำได้เพียงแค่ช่วงแรกๆ ... อาจจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามา อาทิ กล้องวงจรปิดติดไว้จับความเคลื่อนไหว ถ้าหยุดในที่ห้ามจอดเกิน ๑ นาทีโดยที่การจราจรแถวนั้นไม่มีการติดขัดก็สามารถส่งใบสั่งไปที่อู่รถ หรือ บ้านคนขับ ในข้อหาจอดในเขตห้ามจอดได้ แถมยังช่วยสอดส่องปัญหาอาชญากรรมได้อีกแรง

ส่วนผู้โดยสารเองก็ต้องลดความมักง่ายลง ไปโบกในจุดที่เขาอนุญาตให้จอดได้ ตำรวจอาจจะต้องติดป้ายบอกให้ชัดเจน ขอความร่วมมือพนักงานรักษาความปลอดภัยที่โบกรถอยู่ด้านหน้าแนะนำจุดจอดรถแท็กซี่ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง ...

เอาจริงๆ ผมว่า ชีวิตผมเจอแท็กซี่ที่ดีเยอะมากๆ และผมเชื่อว่าในกรุงเทพฯ มีคนขับที่สุภาพ ตามใจ ไม่พาอ้อม อีกเพียบ แต่ปัญหากลับอยู่ที่คนกลุ่มน้อยไม่กี่คนเท่านั้น หากแต่จะให้ผู้โดยสารต้องคอยเผชิญชะตากรรม หรือเอาแต่ร้องเรียนมันก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ทางที่ควรคือพวกพี่ๆ ที่ช่วยเรียกร้องสิทธิ์ให้แก่คนขับก็ควรจะไปตักเตือนผู้ที่มีปัญหาเหล่านั้น ให้ลด ละ เลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีเสียด้วย ก็จะได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อย และความรู้สึกอยากโบกแท็กซี่ก็จะกลับมาเอง โดยไม่ต้องถูกนำไปเปรียบกับบริการแอพพลิเคชั่นเรียกรถที่ไม่จดทะเบียนที่กำลังฮิตอยู่แบบทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น