xs
xsm
sm
md
lg

อีโบลา โรคร้ายคุกคามโลก

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย

โลกไร้พรมแดนในยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้คนทั่วโลก ติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนสามารถติดต่อรับรู้ข่าวสารกันได้ในไม่กี่วินาที เวลา สถานที่ ไม่เป็นอุปสรรคในการติดต่อกันอีกต่อไป

โลกหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การหลั่งไหลทางวัฒนธรรม ทุนข้ามโลก ถ่ายเทเชื่อมถึงกัน จนดูเหมือนโลกจะเล็กลงแคบลงกว่ายุคก่อนๆมาก

สถานการณ์โลกแบบนี้ เมื่อเกิดโรคใหม่ๆ โรคระบาดที่เกิดจากเชื้อโรคขึ้นในจุดใดจุดหนึ่งของโลกจึงแพร่ระบาดขยายวงออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ยากจะควบคุมพื้นที่สกัดจำกัดวงเอาไว้ได้ การระบาดของโรคอีโบลา ในขณะนี้ มีการแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

อีโบลากำลังจะกลายเป็นโรคระบาดที่รุนแรงระบาดเร็วที่สุดในโลกเวลานี้ แถมยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง ทำได้เพียงประคับประคองคนป่วย ให้ยารักษาไปตามอาการเท่านั้น

อีโบลาเกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมีอาการหลังการได้รับเชื้อราว 2 วันถึง 3 สัปดาห์เป็นระยะฟักตัว มีอาการไข้ขึ้น หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัวมาก ตามด้วยคลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง การทำงานของตับและไตแย่ลง และเริ่มมีเลือดออกทางปาก จมูก หู ตา ทวาร

ส่วนการติดเชื้อนั้นติดได้จากการสัมผัสเลือด หรือสารคัดหลั่งจากร่างกาย ทั้งน้ำลาย เหงื่อ อุจาระ อาเจียน และอื่นๆ เข็มฉีดยาปนเปื้อนเชื้อ การสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือรับประทานเนื้อสัตว์หรืออาหารที่มีเชื้อ การสัมผัสผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์พยาบาล และคนใกล้ชิดในครอบครัว

จะว่าไปแล้วอีโบลามีอาการคล้ายๆกับโรคหวัด ผสมกับไข้เลือดออก มาลาเรีย อหิวาตกโรค อยู่เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะวินิจฉัยจำแนกผู้ป่วยอีโบลาออกจากโรคอื่นๆ

อีโบลาระบาดครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นที่ทวีปอาฟริกา ซึ่งเป็นทวีปที่มีปัญหาด้านสารธารณสุขมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ อย่างในประเทศไลบิเรียนั้นมีประชากรราว 5 ล้านคน มีหมอทั้งประเทศเพียง 50 คน

โรคอีโบลาถูกค้นพบครั้งแรกที่ประเทศซูดานและคองโก ในอาฟริกาใต้ เมื่อปี พ.ศ.2519 มีการแพร่ระบาดอีกในปี 2555 และในปี 2557 เป็นรอบที่กำลังระบาดติดต่อมาหลายเดือนแล้ว

ที่สำคัญคือการระบาดรอบนี้ มีคนติดเชื้อแล้วหลายพันคน ความรู้ทางการแพทย์ทั่วโลกยังไม่มีตัวยารักษา ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ วงการแพทย์ยังพยายามค้นคว้าวิจัยทดลองเพื่อผลิตยามาต่อสู้กับโรคนี้

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า มีการระบาดในวงกว้าง 3 ประเทศ คือ กินี ไลบีเรีย เซียราลิโอน รวมทั้งสิ้น 8,973 ราย เสียชีวิต 4,484 ราย พบผู้ป่วยรายแรกหรือมีการระบาดในพื้นที่จำกัด 4 ประเทศ คือ ไนจีเรีย เซเนกัล สเปน และสหรัฐอเมริกา รวม 24 ราย เสียชีวิต 9 ราย

ตอนนี้หลายฝ่ายเริ่มออกมายอมรับแล้วว่าประเมินไวรัสอีโบลาต่ำไป และต้องรีบหาทางแก้ไขให้เร็วที่สุด

การระบาดหลายประเทศในอัฟริกา ซึ่งเป็นประเทศยากจน มีข้อจำกัดความยากลำบากในการรับมืออย่างน่าเป็นห่วง เช่น เตียงสำหรับคนป่วยอีโบลาในอาฟริกายังขาดอีกราว 2,122 เตียง ต้องการอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้ออีกจำนวนมาก

ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีประสบการณ์ เพื่อรับมือกับโรคอีโบลาอีกอย่างน้อย 500-600 คน ซึ่งตอนนี้มีเพียงราว 200 คนในพื้นที่ มีทีมที่จะคอยจัดการเรื่องศพในพื้นที่ตอนนี้มี 50 ทีม ในขณะที่ยังต้องการเพิ่มอีก 50 ทีม เป็นอย่างน้อยและที่ขาดไม่ได้คืองบประมาณ ตอนนี้งบทั้งหมดอยู่ ที่ราว 254 ล้านดอลลาร์ แต่ต้องระดมทุนเพิ่มอีกถึง 734 ล้านดอลล่าร์

ล่าสุด มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก บริจาคเงินไปแล้ว 25 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อต่อสู้กับโรคนี้ ก่อนหน้านี้ มูลนิธิบิล เกตส์ บริจาค 1.6 พันล้านบาทต่อสู้กับอีโบลา เชื่อว่าคนดังและมหาเศรษฐีอีกหลายคนคงบริจาคตามมาเพื่อช่วยกันหาทางรักษาโรคนี้

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงกระแสไอซ์บัคเก็ตทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ระดมทุนเพื่อโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มาคราวนี้ผมอยากเห็นแคมเปญแบบนั้นอีกเพื่อระดมทุนสู้กับโรคอีโบลา โรคร้ายภัยคุกคามมวลมนุษยชาติ ยิ่งถ้าเริ่มที่คนดังระดับโลก โอกาสที่แคมเปญนี้จะขยายไปทั่วโลก เป็นไปได้มากขึ้น

ตอนนี้สหรัฐมุ่งหน้าไปปราบผู้ก่อการร้ายไอสิส ดูไปแล้วสงครามคนสู้กับคน ฆ่าฟันทำลายล้าง คนละขั้วกับเมื่อคนสู้กับเชื้อโรค สงครามพิชิตเชื้อโรค เพื่อช่วยชัวิตมวลมนุษยชาติ ที่มหาอำนาจและประเทศต่างๆทั่วโลกควรรีบเร่งจัดการ

สำหรับประเทศไทย มีหน่วยงานที่รับมือโดยตรง คือ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ สังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีเว็บไซต์ติดตามเผยแพร่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และมีการติดตามเฝ้าระวังคนที่อยู่ในข่ายสงสัยการติดเชื้อในกลุ่มคนที่เดินทางมาจากประเทศทางอัฟริกา หวังว่ากระทรวงสารธารณสุขจะเตรียมพร้อมและมีศักยภาพเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าภูมิใจ น่ายินดีกับความสามารถทางการแพทย์ของไทย เมื่อมีการแถลงข่าว ผลการวิจัยสามารถผลิตแอนตีบอดี้จำเพาะรักษาโรคอีโบลา ของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนายาและวัคซีนรักษาโรคอีโบลาต่อไป

ตราบใดที่ยังไม่มียารักษา และยังไม่สามารถสกัดการแพร่ระบาดของโรคนี้ ก็ต้องเฝ้าระวังและตื่นตัว ติดตามข่าวสาร มีความรู้ในการป้องกันตัวเอง อย่าประมาทกันนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น