ข่าวใหญ่ในวงการไอทีที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้คือ การที่บริษัท Activition ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ของโลก เจ้าของเกมดังอย่าง Call Of Duty, World of WarCraft เข้าไปเทกโอเวอร์บริษัท King เจ้าของเกมบนสมาร์ทโฟนชื่อดังที่ติดกันงอมแงมอย่าง Candy Crush (ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ยังมีคนส่ง Invite เชิญให้ไปเล่นเกมอยู่เลย เอาเข้าสิ) รวมถึงเป็นเจ้าของเกม Bubble Witch และ Farm Heros
ที่น่าตกใจคือ มูลค่าการซื้อกิจการครั้งนี้อยู่ที่ 5,900 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้นเอง!! สิ่งที่ยิ่งน่าตกใจคือบริษัท King มีรายได้ต่อปีแค่ 500 ล้านเหรียญเท่านั้น โดยเหตุผลที่เข้าเทกโอเวอร์เพื่อต้องการได้ฐานข้อมูลของคนเล่นเกมที่ King มีอยู่กว่า 550 ล้านราย มาใช้ในการต่อยอดธุรกิจ (แอบงงว่าคนเล่น Call Of Duty นี่กลุ่มเดียวกันกับ Candy Crush เหรอ?)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการทุ่มซื้อกิจการเกม หรือธุรกิจดิจิตอลที่บันลือโลกขนาดนี้ เพราะตอนที่ MicroSoft ไปซื้อเกม MineCraft (ที่เด็กๆ ติดกันงอมแงม) ก็จ่ายแพงระดับพันล้านเหรียญ ตอนที่ Facebook ไปซื้อ Instragam ก็จ่ายแพงเพื่อให้ได้คนทำงานมาแค่ไม่ถึง 20 คน
คำถามคือ ทำไมคนซื้อกิจการถึงกล้าจ่ายเงินขนาดนี้เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของในสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างซอฟต์แวร์เกม คำตอบคือ บางครั้งสิ่งที่จับต้องไม่ได้อาจจะมีมูลค่ามากกว่าสิ่งที่จับต้องได้เสียอีกครับ หรือการที่เราไปซื้อของอะไรสักอย่าง บางครั้งเราอาจไม่ได้เต็มใจที่จะซื้อของสิ่งนั้นโดยตรง แต่อาจจะอยากได้ “ของแถม” ที่มากับสิ่งนั้น ซึ่งอาจจะมีมูลค่ามากกว่าตัวสินค้าจริงๆ ก็ได้ (ไม่งงนะครับ)
ในทฤษฎีด้านการเงิน นอกเหนือจากการตีมูลค่ากิจการด้วยการนำมูลค่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน เครื่องจักร ตึก อาคาร มาคำนวณแล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่าค่าความนิยม (GoodWill) รวมอยู่ด้วย ซึ่งจะมีเฉพาะบางกิจการเท่านั้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าที่เป็นคอนซูมเมอร์ พูดง่ายๆ คือ พวก “แบรนด์” ต่างๆ ลิขสิทธิ์ต่างๆ ใบอนุญาต หรืออาจรวมถึงตัวผู้บริหาร หรือพนักงานเก่งๆ ในการซื้อกิจการบางดีลถ้าเราอ่านเจอจะมีการตีมูลค่าของ Good Will ต่างๆ เหล่านี้เอาไว้ด้วย
ยกตัวอย่างนะครับ ตอนที่แอปเปิลต้องไปซื้อกิจการบริษัท Next Computer ด้วยมูลค่ากว่า 402 ล้านเหรียญ เป็นเพราะต้องการได้ตัว “สตีฟ จอปส์” กลับเข้ามาอีกครั้ง หรือตอน Facebook ไปซื้อ Instragam นอกจากเหตุผลที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มองว่า Instragam จะกลายเป็นคู่แข่งสำคัญในอนาคตแล้ว เขายังอยากได้ตัวทีมงานมาด้วย คำนวณแล้ว Facebook ใช้เงินซื้อตัวพนักงานของ Instragam ทั้งหมด 13 คน เฉลี่ยหนึ่งคนมีค่าตัว 76 ล้านเหรียญ (พนักงานไอที หรือนักฟุตบอลกันเนี่ย)
ความน่ากลัวของการตีมูลค่าของ Good Will ต่างๆ เหล่านี้คือบางครั้งอาจจะมั่วก็ได้!! แม้จะมีวิธีคำนวณที่เป็นโลจิก เช่น คำนวณจากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ จำนวนลูกค้าที่มีอยู่ ฯลฯ แต่เอาเข้าจริงแล้วมันคือการ “จินตนาการ” ไปล่วงหน้าครับ ไม่มีใครตอบได้ครับว่าการซื้อกิจการเพื่อให้ได้สิ่งที่ยังมองไม่เห็นจะคุ้มค่าหรือไม่ ในอดีตก็มีให้เห็นแล้วว่าบริษัทซอฟต์แวร์ที่ดังๆ มีแววรุ่งแต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด อย่างเช่น Rovio ผู้ทำเกมที่เคยฮิตอย่าง Angry Bird (ตอนนี้ยังมีคนเล่นอยู่ไหม555)
ในฐานะนักลงทุนถ้าเราต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจซื้อกิจการ ลองไต่ตรองดูดีๆ ครับว่า จะมีคนใช้เงินของเราไปซื้ออนาคตที่จับต้องไม่ได้หรือไม่ แต่จะว่าไปของแบบนี้ก็ตอบยากนะครับ เพราะของที่แพงในวันนี้อาจจะแพงกว่าในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ใครจะรู้
นเรศ เหล่าพรรณาย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง