xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” จี้ผู้นำอินโดฯ พัฒนา “การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต” ในแดนอิเหนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (ซ้าย) มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ค (ขวา)
เอเอฟพี/มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ค กดดันว่าที่ผู้นำของอินโดนีเซีย พัฒนาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ โดยระบุว่า เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์และเว็บไซต์อื่นๆ ของเขาสามารถช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจแดนอิเหนาได้

ซัคเคอร์เบิร์ก พบประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ที่พึ่งชนะการเลือกตั้งมาหมาดๆ ที่สำนักงานของเขาในกรุงจาร์กาตา ก่อนที่ทั้ง 2 ซึ่งต่างยังคงใส่ชุดสูท จะเดินทัวร์ผ่านตรอกแคบๆ ของตลาดผ้าอันจอแจท่ามกลางฝูงชนที่ให้ความสนใจคอยรุมล้อม

การเยี่ยมเยือนอย่างกะทันหันเช่นนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของ วิโดโด หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า โจโควี ผู้มีภาพลักษณ์เป็นคนของประชาชน สิ่งซึ่งช่วยให้เขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยเขาจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า

ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ค กล่าวว่า การสนทนาของพวกเขา “ให้ความสนใจกับคำถามที่ว่าถ้าเพียงทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้จะสร้างโอกาสได้มากขนาดไหนกัน และเรื่องบริการพื้นฐานต่างๆที่ประชาชนใช้ติดต่อระหว่างกัน อย่างเช่นส่งข้อความและบางอย่างที่เหมือนกับเฟสบุ๊ค

“ถ้าเราลงมือพัฒนาแล้ว ผมคิดจริงๆ ว่า เราจะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในขอบเขตขนาดใหญ่ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายลำดับต้นๆของ วิโดโด ” เขากล่าวเสริม

ผู้เชี่ยวชาญ เชื่อว่าการเข้าถึงเว็บไซต์ได้ดีขึ้น จะมีส่วนช่วยอย่างยิ่งให้เหล่านักธุรกิจเข้ามาแข่งกันดำเนินกิจการในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีเกาะเล็กเกาะน้อยแพร่กระจายอยู่เกือบ 17,000 เกาะและมีทั้งหมด 3 เขตเวลา

ข้อมูลจากสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตของประเทศนี้ ระบุว่า ในปี 2013 มีชาวอิเหนาเพียงร้อย 28 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ อย่างไรก็ตามในบรรดาของผู้ที่เข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมากเป็นผู้ที่ใช้งานเฟสบุ๊ค สื่อสังคมออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในแดนอิเหนา

ขณะนี้ ซัคเคอร์เบิร์ก กำลังอยู่ระหว่างการเยือนอินโดนีเซียเพื่อโปรโมทแอพพลิเคชัน “ internet.org” ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ด้อยพัฒนาสามารถเข้าถึงการบริการออนไลน์ขั้นพื้นฐานได้

เฟสบุ๊คไดเปิดตัวแอพฯนี้เมื่อช่วงก่อนหน้าในปีนี้โดยร่วมมือหุ้นส่วนหลายบริษัท และขณะนี้กำลังมีการทดลองใช้ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง รวมถึงอินโดนีเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น