ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันแทนเงินสด ด้วยข้อดีคือความสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำในการชำระเงิน อีกทั้งยังช่วยชาติประหยัดต้นทุนในการจัดการเงินสดอีกด้วย เพราะมูลค่าของเงินไม่เสื่อมสลายเหมือนธนบัตรหรือเหรียญที่เราใช้กันอยู่ ซึ่งต้องคอยผลิตหมุนเวียนแทนธนบัตรหรือเหรียญที่เก่าและชำรุดอยู่เรื่อยๆ
ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน ในปี 2542 ธนาคารพาณิชย์ได้ออกบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีเงินฝาก ด้วยข้อดีคือนอกจากเบิกถอนเงินสดและโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มแล้ว ยังสามารถรูดบัตรแทนเงินสดได้อีกด้วย กระทั่งสามารถออกบัตรเดบิตในไทยสูงถึง 1 ล้านใบภายใน 1 ปี มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมด 25,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำได้หันมาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นี้ โดยบางแห่งยกเลิกให้บริการบัตรเอทีเอ็มโดยสิ้นเชิงก็มี
วิวัฒนาการของบัตรเดบิตตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาคุณสมบัติ และสิทธิประโยชน์มากมาย ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีไมโครชิพ EMV ติดลงบนตัวบัตรเพื่อป้องกันการปลอมแปลงบัตร บางธนาคารออกแบบหน้าบัตรได้เอง และหลายธนาคารหันมาใช้วิธีเพิ่มความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุโดยได้บวกเบี้ยประกันกับค่าธรรมเนียมรายปี แต่ถึงกระนั้นไลฟ์สไตล์ของคนไทยยังคงใช้บัตรเดบิตเบิกถอนเงินสดเป็นหลัก ส่วนการใช้ชำระค่าสินค้าแทนเงินสดมีน้อยมาก
ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นบัตรเงินสด ในปี 2548 ด้วยความร่วมมือของร้านสะดวกซื้อชื่อดัง โดยเป็นบัตรติดชิปหรือสมาร์ทการ์ด ใช้แทนเงินสดซื้อสินค้าและบริการต่างๆ พร้อมสิทธิประโยชน์ทั้งการสะสมแต้ม และส่วนลดต่างๆ กระทั่งมีผู้ให้บริการขนส่งมวลชนเจ้าหนึ่งพัฒนาบัตรเงินสดโดยใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีคอนแทคเลส เพื่อใช้โดยสารรถไฟฟ้า และซื้อสินค้าแทนเงินสดอีกด้วย ซึ่งเทคโนโลยีนี้ยังนำมาพ่วงกับบัตรเดบิต และบัตรเครดิต สามารถใช้งานได้ในบัตรเดียว
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่การค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ในไทยได้มีร้านค้าออนไลน์ชั้นนำมากขึ้น เทคโนโลยีการชำระเงินก็พัฒนาตามไปด้วย แต่สำหรับคนที่ไม่มีบัตรเครดิต การซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ยังคงมีข้อจำกัด ซึ่งต้องหันมาพึ่งวิธีชำระเงินผ่านช่องทางอื่น อาทิ โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งยุ่งยากและสลับซับซ้อน ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่เรียกว่า “บัตรเสมือนบัตรเครดิต” (Virtual Card) ที่ออกแบบมาเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่รับบัตรเครดิตโดยเฉพาะ
เทคโนโลยีบัตรเสมือน แตกต่างจากบัตรเครดิตตรงที่จะไม่มีตัวบัตรพลาสติก จึงไม่สามารถใช้รูดซื้อสินค้าตามร้านค้าต่างๆ ได้ แต่จะมีข้อมูลสำหรับชำระเงินซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ ประกอบด้วย เลขที่บัตร 16 หลักเหมือนบัตรเครดิต ชื่อ นามสกุลผู้ถือบัตร อายุของบัตร (เดือน/คริสตศักราช) รหัสความปลอดภัย 3 หลัก (CVV หรือ CVC2) เพียงแค่มีเงินในบัญชีมากกว่าค่าสินค้า กรอกข้อมูลแล้วยืนยันการใช้งานก็ชำระเงินได้ทันที
ในประเทศไทย ถูกนำมาใช้เป็นแห่งแรกกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2543 ภายใต้ชื่อ “ทีเอฟบี อี-เว็บ ช้อปปิ้งการ์ด” (TFB e-Web Shopping Card) ใช้ชำระเงินในการสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่รับบัตรเครดิตวีซ่าได้ทั่วโลก โดยใช้ร่วมกับบัญชีเงินฝากที่ใช้กับบริการ ทีเอฟบี อี-อินเทอร์เน็ต แบงก์กิง (TFB e-Internet Banking) ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อบริการเป็น K-Web Shopping Card ตามการเปลี่ยนชื่อธนาคารเป็น KASIKORNBANK
ขณะเดียวกัน ลูกค้าบัตรวีซ่าเดบิต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย สามารถนำข้อมูลบนบัตรเดบิตมาใช้ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่รับบัตรเครดิตวีซ่า ผ่านบริการ เวอริฟายด์ บาย วีซ่า (Verified by VISA) ได้แล้ว โดยต้องทำการสมัครบริการก่อน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยจะเป็นบริการซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตด้วยบัตรเดบิต สามารถสมัครได้ผ่านเครื่อง ATM กสิกรไทย ส่วนธนาคารกรุงเทพจะเป็นบริการ บัวหลวง ไอเพย์ (Bualuang iPay) เป็นต้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยีบัตรเสมือนยังได้นำมาใช้กับบัตรเครดิต โดยมีบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ได้ออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต เคทีซี เวอร์ชวล โดยใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น TapKTC อีกด้วย
แต่ที่น่าจับตามองมากยิ่งขึ้นก็คือ ผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) หันมาออกผลิตภัณฑ์บัตรเสมือนที่ใช้คู่กับกระเป๋าเงินของแต่ละค่าย เพื่อใช้ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่รับบัตรเครดิตได้แล้ว โดยมีผู้เล่นในตลาดอยู่ในขณะนี้ 3 ราย ได้แก่ แอดวานซ์ เอ็มเปย์ บริษัทลูกของค่ายมือถือเอไอเอส, เพย์สบาย ซึ่งดีแทคเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และรายล่าสุดอย่างทรูมันนี่ บริษัทในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น
ย้อนกลับไปเมื่อ 17 มกราคม 2556 คุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาดของเอไอเอส ประกาศในงานแสดงวิสัยทัศน์ เอไอเอส วิชั่น 2013 ว่าได้ร่วมมือกับมาสเตอร์การ์ด ออกผลิตภัณฑ์ “เอไอเอส เอ็มเปย์ มาสเตอร์การ์ด” (AIS mPAY MasterCard) ทำให้มีบัตรมาสเตอร์การ์ดเสมือนจริงอยู่บนมือถือ เพื่อช้อปปิ้งออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น กระทั่งเดือนมิถุนายน 2556 ได้เปิดให้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น mPAY
ภายหลังฝั่งทรูมันนี่ได้แถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ทรูมันนี่ วอลเลท” (TrueMoney Wallet) เมื่อ 25 มิถุนายน 2556 โดยเป็นกระเป๋าเงินสำหรับเติมเงินทรูมูฟ โอนเงิน และจ่ายบิลโดยใช้ฟังก์ชันสแกนบาร์โค้ต ต่อยอดจากเมนูทรูมันนี่ในซิมการ์ดเครือข่ายทรูมูฟ ซึ่งพร้อมเปิดกว้างให้ทุกเครือข่ายเข้ามาใช้งาน ในช่วงแถลงข่าว ทรูมันนี่เปิดเผยว่าจะต่อยอดทำบัตรเดบิตวีซ่า ให้สามารถใช้ชำระสินค้า โดยมีรูปแบบและวิธีการเติมเงินเช่นเดียวกับช่องทางทรูมันนี่วอลเลท
แต่ทำไปทำมา กลับพบว่าแผนบัตรทรูมันนี่ วีซ่า ที่วางเอาไว้กลับเงียบหายไป กระทั่งในอีก 1 ปีต่อมา หลังจากที่เพย์สบายเปิดตัวบัตรเสมือน “เพย์สบาย มาสเตอร์การ์ด” (Paysbuy MasterCard) ไปเมื่อ 28 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ไม่กี่วันให้หลัง ทรูมันนี่ถือฤกษ์วันที่ 3 กันยายน 2557 เปิดตัวบัตรที่ชื่อว่า “วีการ์ด บาย ทรูมันนี่” (WeCard by TrueMoney) ซึ่งมีทั้งบัตรเสมือน และบัตรพลาสติก (Physical Card) เพื่อซื้อสินค้าตามร้านค้าที่รับบัตรมาสเตอร์การ์ด
เมื่อดูรูปแบบของบัตรเสมือนของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย จะพบว่าทั้งหมดใช้มาสเตอร์การ์ดเป็นพาร์ทเนอร์ในการออกบัตรเหมือนกัน ใช้ธนาคารธนชาตเป็นธนาคารผู้ออกบัตรเหมือนกัน แต่เอ็มเปย์จะใช้บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) ดูแลด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยในการใช้บัตรที่เรียกว่า เพย์เมนต์ เกตเวย์ (Payment Gateway) ต่างจากเพย์สบายมีเพย์เมนต์เกตเวย์เป็นของตัวเอง ส่วนทรูมันนี่ใช้เพย์เมนต์เกตเวย์ของธนาคารกรุงเทพ
ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ บัตรเสมือนของผู้ให้บริการทั้งสามราย ยังใช้บริการได้เฉพาะเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ภายในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อเทียบกับบัตรเสมือนของธนาคารพาณิชย์สามารถใช้ซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ทั่วโลก เนื่องจากใบอนุญาตที่ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ออกให้ กำหนดเงื่อนไขให้สามารถทำธุรกรรมเฉพาะภายในประเทศ จึงต้องรอให้มีการแก้ไขประกาศดังกล่าวก่อน
• การใช้งานเหมือนกัน แต่ความปลอดภัยไม่เหมือนกัน
เมื่อดูลักษณะการใช้งานจะพบว่า เอไอเอส เอ็มเปย์ มาสเตอร์การ์ด จะเป็นบัตรเสมือนที่อยู่ในแอปพลิเคชั่น mPAY ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ในแอปสโตร์ และกูเกิล เพลย์ โดยจะอยู่ในเมนู MasterCard ผู้ใช้จะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือในเครือข่ายเอไอเอส และมีบัญชีกระเป๋าเงินเอ็มเปย์ก่อน ซึ่งการดูข้อมูลบัตรจะใช้วิธีเข้าไปที่เมนู “บัตรของฉัน” ระบุรหัสส่วนตัว (PIN) 4 หลัก จึงจะสามารถอ่านข้อมูลบนบัตรได้
เช่นเดียวกับ วีการ์ด บาย ทรูมันนี่ จะอยู่ในแอปพลิเคชั่น Wallet by TrueMoney ซึ่งดาวน์โหลดได้ในแอปสโตร์ และกูเกิล เพลย์เช่นกัน แต่ผู้ใช้สามารถสมัครได้โดยใช้อีเมลและเบอร์โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นลูกค้าทรูมูฟ เอช ซึ่งการดูข้อมูลจะอยู่ในเมนู WeCard เข้าไปที่ ดูข้อมูลบัตร ใส่รหัส OTP 6 หลัก ก่อนอ่านข้อมูลบนบัตร ซึ่งสามารถเปิด/ปิดการใช้งานบัตรได้ ในกรณีที่ไม่ใช้งานเพื่อไม่ให้ยอดเงินในกระเป๋าเงินรั่วไหล
ส่วน เพย์สบาย มาสเตอร์การ์ด การดูข้อมูลบัตรจะแตกต่างจากทั้งสองผลิตภัณฑ์ตรงที่ ผู้ใช้จะต้องมีบัญชีเพย์สบาย โดยการเข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ www.paysbuy.com แล้วเลือกไปที่เมนู Paysbuy MasterCard เท่านั้น ไม่สามารถดูข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น PAYSBUY ผ่านไอโอเอสและแอนดรอยด์ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบัตรที่นำไปใช้ช้อปออนไลน์มีลักษณะไม่ต่างกันมากนัก โดยหากต้องการใช้งานต้องมียอดเงินในกระเป๋าเงินคงเหลือเท่ากับ หรือมากกว่าค่าสินค้าก่อน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ในช่วงที่เพย์สบายเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ได้นำบัตรแข็งตัวอย่าง (Mock up) มาแสดง โดยด้านหลังจะมีบาร์โค้ต 2 จุด เพื่อใช้สำหรับเติมเงินเข้าบัญชีเพย์สบายกับผู้ให้บริการทั้งเทสโก้ โลตัส, ร้านแฟมิลีมาร์ท ไปรษณีย์ไทย ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่เพย์สบายไม่มีการจัดส่งบัตรแข็งแก่ลูกค้าทั่วไป เพราะฉะนั้นจะต้องเติมเงินเข้าบัญชีเพย์สบายโดยการสร้างรหัสบาร์โค้ต หรือรับ SMS ผ่านเว็บไซต์ paysbuy.com เพื่อนำไปแสดงที่หน้าเคาน์เตอร์
จากการทดลองใช้บัตรเสมือนทั้ง 3 ประเภท โดยทดสอบเติมเงินเครือข่ายมือถือแห่งหนึ่ง จำนวน 50 บาท พบว่าหากใช้บัตรเพย์สบายมาสเตอร์การ์ด ระบบจะหักยอดเงินในบัตรทันที เช่นเดียวกับบัตรวีการ์ด บาย ทรูมันนี่ ส่วนเอไอเอส เอ็มเปย์ มาสเตอร์การ์ด เนื่องจากผูกกับระบบรักษาความปลอดภัยที่เรียกว่า มาสเตอร์การ์ดซีเคียวโค้ต (MasterCard SecureCode) ระบบจะทำการส่งรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) ไปยังโทรศัพท์มือถือก่อนหักยอดเงิน
หากเปรียบเทียบความปลอดภัย เอไอเอส เอ็มเปย์ มาสเตอร์การ์ด จะได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากต้องมีการยืนยันตัวตนผ่าน OTP อีกครั้ง เว้นเสียแต่ว่ามือถือจะถูกโจรกรรมข้อมูล SMS เป็นความรับผิดชอบของตัวอุปกรณ์ แต่สำหรับวีการ์ด บาย ทรูมันนี่ แม้จะไม่มีการยืนยันตัวตน แต่จะมีการตั้งค่าเปิด/ปิดการใช้งานของบัตรเมื่อไม่ใช้งาน โดยจะขึ้นสถานะว่า “บัตรถูกระงับการใช้งาน” ซึ่งมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง
• เติมเงินเข้าบัญชีกระเป๋าเงิน เจ้าไหนคุ้มที่สุด
โดยปกติช่องทางการเติมเงินของกระเป๋าเงินแต่ละค่าย เพื่อนำไปใช้ร่วมกับบริการบัตรเสมือนนั้นไม่ต่างกันนัก โดยเฉพาะช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ตแบงก์กิง หรือจุดรับชำระต่างๆ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือค่าธรรมเนียม รวมทั้งระยะเวลาที่เงินเข้าบัญชีกระเป๋าเงิน ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการเป็นผู้กำหนด ร่วมกับผู้ให้บริการช่องทางการเติมเงิน
สำหรับ เอไอเอส เอ็มเปย์ ช่องทางการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงิน “เอ็มแคช” (mCASH) ส่วนใหญ่จะอยู่ที่จุดให้บริการ เอไอเอส ช็อป, ร้านเทเลวิซ และจุดรับชำระเงินเอ็มเปย์ สเตชั่น วงเงินการเติมเงิน 300-30,000 บาทต่อครั้ง รวมทั้งผ่านเครื่องเอทีเอ็ม ธนาคารกสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา ยูโอบี ไทยพาณิชย์ กรุงไทย ทหารไทย ซีไอเอ็มบี (ไทย) และกรุงเทพ ส่วนผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ให้บริการเฉพาะธนาคารกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และยูโอบี โดยต้องเติมเงินขั้นต่ำ 300 บาท คิดค่าธรรมเนียม 5 บาทต่อครั้ง แต่สำหรับช่วงนี้เติมเงินฟรีค่าธรรมเนียม 5 ครั้งต่อเดือนถึงสิ้นปี
ส่วนทรูมันนี่ วอลเลท ช่องทางการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินที่เรียกว่า “วอลเลท” (Wallet) โดยระบุหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ จะมีหลากหลายกว่า ซึ่งการเติมเงินผ่านช่องทางของทรูจะฟรีค่าธรรมเนียม อาทิ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะมีให้เลือกเฉพาะ 3 ราคา ได้แก่ 500, 1,000 หรือ 2,000 บาท หรือจะเป็นร้านซีพี เฟรช มาร์ท, จุดรับชำระทรูมันนี่ เติมเงินได้ขั้นต่ำ 10 บาท สูงสุด 30,000 บาท และร้านทรูช้อป เติมเงินได้ครั้งละ 300-10,000 บาท
ที่สะดวกที่สุดคือตู้ทรูมันนี่ ตามร้านทรูช้อป ทรูคอฟฟี่ และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เติมเงินได้ครั้งละ 10-20,000 บาท ส่วนช่องทางธนาคารมีให้บริการ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา กรุงไทย ธนชาต ซีไอเอ็มบี (ไทย) และทหารไทย ส่วนใหญ่จะโอนผ่านเครื่องทีเอ็ม โดยต้องเติมเงินขั้นต่ำ 300 บาท คิดค่าธรรมเนียมธนาคาร 10-20 บาท ส่วนผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ให้บริการเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา กรุงไทย และธนชาต
แต่สำหรับบัญชีเพย์สบาย ช่องทางการเติมเงินจะหลากหลายไม่แพ้กัน แต่ทุกช่องทางคิดค่าธรรมเนียมทั้งหมด อีกทั้งระยะเวลาเงินเข้าบัญชีแตกต่างกัน โดยหากต้องการให้เงินเข้าบัญชีทันที จะต้องเติมเงินผ่านออนไลน์แบงก์กิ้ง โดยผ่านบัญชีเพย์สบาย ให้บริการ 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา และไทยพาณิชย์ ส่วนช่องทางอื่นของแต่ละธนาคารจะต้องรอเงินเข้าบัญชีเพย์สบายภายใน 1-2 วันทำการ
อีกช่องทางหนึ่ง คือ เติมเงินด้วยเงินสดผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส, เทสโก้ โลตัส, จัสท์เพย์ และจุดบริการเอ็มเปย์ สเตชั่น ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยการนำบาร์โค้ต หรือ SMS ไปแสดงที่เคาน์เตอร์ ซึ่งจะต้องสร้างรหัสบาร์โค้ตผ่านเมนู “เติมเงินเข้าเพย์สบาย” แล้วพิมพ์บาร์โค้ตผ่านเครื่องพิมพ์เลเซอร์ หรือรับ SMS จากเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียน ซึ่งเงินจะเข้าบัญชีกระเป๋าเงินทันทีหลังการชำระที่จุดบริการ โดยค่าธรรมเนียมถูกที่สุดคือที่เทสโก้ โลตัส 7 บาทต่อรายการ
• “เงื่อนไข – ค่าธรรมเนียมแฝง” ผู้ใช้ไม่รู้ตัว
แม้บริการบัตรเสมือนของผู้ให้บริการแต่ละรายจะเปิดให้ผู้สนใจสมัครใช้บริการได้ฟรี แต่ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขการให้บริการ หากในอนาคตจะต้องคิดค่าธรรมเนียมรายปีเหมือนบัตรเดบิตทั่วไป เพื่อสิทธิของผู้บริโภคจึงควรศึกษาข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรของแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากยกเลิกบริการบัตรเสมือนไปแล้ว จะสามารถสมัครใช้งานบัตรใหม่ได้อีกก็ต่อเมื่อบัตรเก่าถูกยกเลิกไปไม่น้อยกว่า 6 เดือน
ในส่วนของเอไอเอส เอ็มเปย์ มาสเตอร์การ์ด กำหนดค่าธรรมเนียมรายปีอยู่ที่ 100 บาทต่อปี และค่าธรรมเนียมในกรณีไม่มีการเคลื่อนไหวติดต่อกันนานเกิน 12 เดือน 100 บาทต่อปี แต่ในขณะนี้ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมตามรายการส่งเสริมการขาย ขณะเดียวกัน นับตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2557 ไม่กำหนดขั้นต่ำในการซื้อสินค้าหรือบริการบนร้านค้าออนไลน์ที่รับบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด จากปกติกำหนดขั้นต่ำ 300 บาท สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
ข้อจำกัดของบริการเอ็มเปย์อีกอย่างหนึ่งก็คือ จะใช้ได้เฉพาะลูกค้าเอไอเอสเท่านั้น หากมีการย้ายค่ายเบอร์เดิม โอนเปลี่ยนเจ้าของเลขหมาย หรือยกเลิกเบอร์ การใช้บริการกระเป๋าเงินเอ็มเปย์ รวมทั้งบัตรเอไอเอส เอ็มเปย์ มาสเตอร์การ์ด จะถูกยกเลิกทันที นอกจากนี้ หากมีการสมัครบริการบีทแบงก์กิ้ง (Beat Banking) โดยเป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่ผูกกับกระเป๋าเงินเอ็มเปย์ จะไม่สามารถใช้บริการ เอไอเอส เอ็มเปย์ มาสเตอร์การ์ดได้อีก
สำหรับเพย์สบาย มาสเตอร์การ์ด ได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาตั้งแต่ 10 ถึง 30,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งในขณะนี้ยังกำหนดฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า และค่าธรรมเนียมรายปี แต่คิดค่าธรรมเนียม 100 บาท กรณีไม่มีการใช้บัตรในช่วงระยะเวลา 12 เดือน อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเพย์สบายจะคิดค่าธรรมเนียมรายปีหรือไม่นั้น ในเงื่อนไขจะจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านเว็บไซต์เพย์สบาย หรือผ่านช่องทางต่างๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน
ส่วนบัตรวีการ์ด บาย ทรูมันนี่ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ระบุว่า ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งบัตรพลาสติกวีการ์ด จะวางจำหน่ายในช่วงเดือนตุลาคม 2557 ในราคาใบละ 50 บาท ผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และทรูช้อปในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งสั่งซื้อผ่านแอพพลิเคชั่น Wallet by TrueMoney หากสั่งซื้อบัตรไปแล้ว จะได้รับบัตรส่งทางไปรษณีย์ไม่เกินวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ซึ่งหากบัตรพลาสติกสูญหายหรือต้องการขอออกบัตรใหม่ จะเสียค่าธรรมเนียม 50 บาท
แม้ประโยชน์ของบริการบัตรเสมือนจะให้ความสะดวก ปลอดภัยในการชำระเงินตามร้านค้าออนไลน์ โดยไม่ปะปนกับยอดเงินในบัญชีธนาคาร อยากใช้เท่าไหร่ก็เติมได้ แต่ก็ควรที่จะศึกษาเงื่อนไขและค่าธรรมเนียมที่จะตามมาในอนาคต ไม่เช่นนั้นความสะดวกจากการเปิดใช้งานบัตรได้ฟรี หากไม่ได้ใช้งานเป็นประจำ อาจกลายเป็นภาระที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับบัตรเดบิตและบัตรเสมือนหลายใบโดยไม่จำเป็นก็ได้