xs
xsm
sm
md
lg

หมอ ศาลและบริการทางสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เมื่อวานนี้เอง ผู้เขียนประสบอุบัติเหตุกระจกบาด เป็นแผลไม่ใหญ่ไม่เล็ก แต่ก็ต้องไปล้างแผลที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใกล้บ้าน

ระหว่างรอทำแผล ก็หยิบ iPad ขึ้นมาหาข่าวอ่านเล่นๆ เริ่มจากโฆษณาชี้ชวนลงทุนของบริษัทจัดการกองทุนสังกัดธนาคารแห่งหนึ่ง ที่ลงทุนกับกองทุนหลักเกี่ยวกับธุรกิจสุขภาพที่เป็นกองทุนของต่างประเทศอีกทีหนึ่ง โดยกองทุนหลักที่กองทุนนี้ไปลงทุนด้วย จะเน้นลงทุนในธุรกิจทางการแพทย์ที่เติบโตและมีแนวโน้มผลประกอบการที่ดี ซึ่งผลประกอบการที่ผ่านมา สร้างผลตอบแทนปีหนึ่งเกือบ 30% สะสม 5 ปีเกินกว่า 200% (อันนี้หมายถึงกองทุนหลักที่กองทุนนี้ไปลงทุนอีกต่อหนึ่ง)

เรียกว่าน่าจะเป็นกองทุนที่น่าสนใจเป็นทางเลือกสำหรับผู้นิยมลงทุนในกองทุนรวม นอกเหนือจากกองทุนตราสารหนี้ ตราสารทุน ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันก็รู้สึกว่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหลายแห่งที่มีกองทุนประเภทนี้ ลองศึกษาข้อมูลดูได้

ถัดจากโฆษณาชี้ชวนอันนี้ ก็ไปพบข่าวอีกข่าวหนึ่ง เกี่ยวกับกรณีที่ศาลอุทธรณ์ให้โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งต้องรับผิด เนื่องจากมีเด็กที่เกิดมาคลอดติดไหล่ และเป็นอัมพาต ยกแขนข้างนั้นไม่ขึ้น ศาลให้ทางโรงพยาบาลต้องรับผิด เพราะเห็นว่า การคลอดติดไหล่เป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ แพทย์ต้องเป็นผู้ทำคลอด แต่เมื่อพยาบาลทำคลอดเองก็เป็นความประมาทเลินเล่อร้ายแรงต้องรับผิด

แม้เป็นคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ในชั้นอุทธรณ์เท่านั้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ยืนตามศาลชั้นต้นด้วย ในคดีนี้ก็เป็นเรื่องที่สะเทือนขวัญและกำลังใจของบุคลากรทางการแพทย์ ว่าต่อไปนี้ ในโรงพยาบาลชุมชนอาจจะไม่มีการทำคลอด หรือไม่กล้าทำคลอดให้

เหมือนที่ครั้งหนึ่ง เคยมีคำพิพากษาของศาลว่า แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทำการบล็อกหลังแล้วทำให้คนไข้หัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ เพราะให้ยาชาผิดขนาด โดยผู้กระทำไม่ใช่วิสัญญีแพทย์ให้หมอต้องรับผิด อันนั้นรู้สึกเป็นคดีอาญา จำคุกไม่รอการลงโทษด้วย ในคดีนั้นก็ทำให้โรงพยาบาลชุมชนปิดห้องผ่าตัด

ซึ่งก็มีหลายฝ่ายเกรงว่า ในเรื่องล่าสุดนี้จะทำให้โรงพยาบาลชุมชนไม่กล้าทำคลอดอีกเรื่องปัญหาหมอๆ ศาลๆ คนไข้ คนเจ็บ คนตายนี้ก็เป็นเหมือนปัญหาโลกแตก ที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ไม่รู้จะเห็นใจใครดี เพราะมันเข้าใจได้ทั้งหมด

ฝ่ายหมอเอง ก็เข้าใจได้ว่า แพทย์ทุกคนก็อยากรักษามาตรฐานการรักษาให้เคร่งครัดตามตำรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น เพราะความขาดแคลนบุคลากรเป็นสาเหตุหลัก ปัจจุบันหมอทุกคนต้องรับงานล้นมือและทำการรักษาเกือบทุกอย่าง โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะไปเอาให้มีหมอครบเครื่องครบโรคแบบโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลใหญ่ก็คงไม่ได้ การรักษาถ้ารักษาหายไม่มีปัญหาก็แล้วกันไป แต่ถ้ารักษาแล้วมีปัญหา ฟ้องหมอขึ้นโรงขึ้นศาล หมอก็มีโอกาสแพ้คดีได้สูง หรือบางทีหมอเซฟตัวเองด้วยการงดทำการรักษาในกรณีที่บุคลากรไม่พร้อม กรรมก็จะมาตกเอาที่คนไข้อีกนั่นแหละ

ในแง่ของคนไข้ มันก็พูดยากเช่นกันที่จะให้เขายอมรับว่า ควมผิดพลาดทางการแพทย์จนลูกเมีย พ่อ แม่ เขาเสียชีวิต หรือพิการไปตลอดชีวิตนั้น ไม่อาจจะเรียกร้องอะไรได้เลยทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพราะความผิดพลาดที่ “ช่วยไม่ได้” และในความรู้สึกของคนไข้ ก็ไม่ได้รู้หรอกว่า หมอขาดแคลน หรือหมอทำอะไรอยู่ ทำไมไม่มาดูลูกดูเมียตัวเองจนกระทั่งเกิดกรณีปัญหา (โดยที่จริงๆ หมอก็อาจจะต้องอยู่กับอีกคนที่ฉุกเฉินกว่า เร่งด่วนกว่า เจียนเป็นเจียนตายกว่า)

ส่วนศาลเองก็อีกด้วย คือ จะให้ศาลออกคำพิพากษามาว่า “แม้กรณีนี้ ...ในทางนำสืบจะเห็นว่าแพทย์ไม่ได้ใช้มาตรฐานที่ถูกต้อง แต่ก็เข้าใจได้เพราะสภาพความเป็นจริงโรงพยาบาลไม่อาจจัดหาแพทย์ หรือไม่อาจจัดบริการตามมาตรฐานได้ ... เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ต้องรับผิด” มันก็แปลกไปเหมือนกันที่จะตัดสินออกมาแบบนั้น เพราะถ้าลองคิดว่าเป็นอาชีพอื่นมีปัญหาแล้วให้เหตุผลว่า “ทำผิดขั้นตอนนั้นก็ใช่ ก็ความเป็นจริงเป็นแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่าช่วยไม่ได้” ก็คงจะรู้สึกแปลก

ปัญหาเรื่องการสาธารณสุขกับสังคมไทยจึงเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกเสมอมา ความขาดแคลนทางการแพทย์ บวกกับผู้ต้องการเข้าถึงบริการมีจำนวนมาก และความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมเปลี่ยนไป ในสมัยก่อนนั้น กรณีแพทย์ทำให้คนไข้เสียชีวิตหรือพิการโดยความบกพร่องที่ไม่จงใจมีบ้างไหม ก็คงมีไม่น้อย แต่คนไข้ในยุคก่อนนั้นมองว่าเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม หรือมองอย่างเข้าใจว่าหมอก็ทำดีที่สุดแล้ว ในขณะที่ในยุคปัจจุบัน มีแนวความคิดเรื่อง “สิทธิ” มากขึ้น ผู้ป่วยก็รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ และเมื่อรู้สึกว่าสิทธิถูกกระทบกระเทือนก็ฟ้องร้อง คล้ายๆ ในต่างประเทศที่คนมีปัญหากันก็เดินไปศาล มากกว่าจบลงแบบไกล่เกลี่ยเช่นในสังคมไทยแต่เดิม

นี่คือความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่รู้จะบอกว่าดีหรือไม่ดี และปัญหาเรื่องความขัดแย้งกันระหว่าง ศาล แพทย์ และคนไข้ ก็คงจะเป็นปัญหาสามเส้าที่ไม่รู้จะจบกันได้อย่างไรอีกต่อไป และโรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด อาจจะต้องลดบริการการรักษาลงไปเรื่อยๆ หรือเปล่า? และคนไข้จะมาล้นโรงพยาบาลศูนย์หรือไม่

ส่วนคนที่พอมีรายได้ หรือมีฐานะหน่อย ก็ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่มีลักษณะเป็นธุรกิจเต็มตัวมากขึ้น สภาพในโรงพยาบาลหลายที่ไม่แตกต่างจากโรงแรมหรูหราหรือห้างสรรพสินค้าที่มีแพทย์ให้บริการ ค่ารักษาพยาบาลไม่ต้องพูดถึง ซึ่งทางเลือกอีกทางสำหรับคนชั้นกลางผู้มีรายได้ ก็คือการทำประกันสุขภาพเอาไว้ เพื่อให้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้สะดวกไม่ต้องกังวลใจ ปัจจุบันนี้ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็คนแน่นคิวยาวไม่แพ้โรงพยาบาลของรัฐบาลเลยก็มี เพราะคนใช้สิทธิประกันเข้ารักษาได้

อ่านข่าวจาก iPad จบ ก็ทำแผลเสร็จพอดี เจ้าหน้าที่ก็เข็นรถพาผมพาไปจ่ายเงิน พอเห็นราคาในบิลแล้วก็เข้าใจได้เลยว่าทำไมกองทุนเกี่ยวกับธุรกิจการแพทย์และบริการทางสุขภาพถึงกำไรดี ผลตอบแทนมหาศาลขนาดนั้น

ก็เย็บแผลเล็กๆ ฉีดยากันบาดทะยัก ฯลฯ ค่าหมอ ค่ายา ค่าพยาบาล ปาเข้าไปเกินกว่าครึ่งหมื่น แถมยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวดบ้านๆ ไม่กี่แผงกี่เม็ด ขึ้นในบิลคิดราคาละเป็นพันกว่าบาท

สงสัยต้องไปลงทุนในกองทุนเพื่อสุขภาพ แล้วเอาดอกผลไปทำประกันสุขภาพเสียแล้วละครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น