xs
xsm
sm
md
lg

มันไม่ง่ายเลยที่จะเป็นบัณฑิตรามคำแหง

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ช่วงนี้มหาวิทยาลัยที่อยู่ละแวกออฟฟิศอย่างกำลังอยู่ในช่วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ทำเอารถติดแบบนรกแตกไปทั่ว ยิ่งถ้าเป็นวันพิธียิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกดีใจที่เห็นน้องๆ เดินออกมาจากมหาวิทยาลัย หอบชุดครุยกันไปเลี้ยงฉลองที่ร้านเหล้าละแวกนั้น แม้ผู้ใหญ่บางคนอาจมองว่าไร้สาระ แต่ผมกลับรู้สึกแฮปปี้แทนที่ได้เห็นพวกเขาจัดงานปาร์ตี้ แต่ละคนกินดื่มอย่างสนุกสนาน พร้อมของขวัญวันรับปริญญาอย่างตุ๊กตาหมี ลูกโป่งสีเงิน

พลันให้นึกถึงบทความที่ชื่อว่า “บัณฑิตปัญญาอ่อน” ของ อ.ไชยันต์ ไชยพร กล่าวในทำนองว่า การสำเร็จการศึกษาเป็นสิ่งที่ทุกคนมีความปีติยินดี แต่ที่ผ่านมา ผู้คนให้ความสำคัญกับงานวันรับปริญญามากขึ้น จนดูเหมือนเป็นเทศกาลพิเศษ ทั้งๆ ที่การจบการศึกษาสมัยนี้ก็ไม่ใช่เรื่องพิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน นอกจากการถ่ายรูปอย่างบ้าคลั่งแล้ว ช่อดอกไม้และของที่ระลึก รวมทั้งเพื่อนและแฟนที่มีมากกว่าหนึ่งคนมาแสดงความยินดีด้วย

คิดดูอีกที ปีหน้าเด็กรามฯ อย่างผมจะรับปริญญาแล้วนี่หว่า... (ฮา)

ปีที่แล้วเคยเล่าให้ฟังว่า ผมทำงานไปด้วย แล้วยังศึกษาในภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย ซึ่งคิดว่าอีกสิบกว่าหน่วยกิตก็น่าจะจบแล้ว ช่วงนั้นมันเป็นอะไรที่กดดันชีวิตมาก ปรากฏว่าเกิดเรื่องพลิกผันขึ้น เมื่อกลางปีที่แล้วมีอยู่สองวิชาผมกลับสอบตก แล้วผมประมาทตรงที่ช่วงซัมเมอร์ผมไม่ได้ลงทะเบียนวิชากันเหนียวไว้ เพราะคิดว่าสอบซ่อมคงเอาอยู่ ปรากฏว่าผลสอบซ่อมวิชาหนึ่งกลับสอบผ่าน อีกวิชาหนึ่งกลับสอบตก

หลังจากรู้คำตอบว่าผมคงไม่ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ จากเดิมที่รู้สึกเครียดและกดดัน ผมกลับรู้สึกอารมณ์เย็นลงขึ้น อารมณ์คล้ายกับว่าไหนๆ รถไฟเที่ยวนี้ขึ้นไม่ทันแล้วรอหน่อยก็ได้ เพราะวิชาที่คิดว่ายากแบบชนิดที่ว่ามหาวิทยาลัยต้องจัดอบรมสำหรับคนที่สอบตกหลายภาคการศึกษาติดต่อกัน ผมกลับสอบผ่าน ส่วนวิชาที่คิดว่าคงแก้มือได้กลับสอบตกซ้ำอีกครั้ง มันทำให้ผมไม่รู้สึกคิดมากเพราะรู้คำตอบของชีวิตแล้วว่าจะทำอย่างไร

ในภาคเรียนต่อมาผมจึงตัดสินใจลงทะเบียนวิชาใหม่ โดยเปลี่ยนไปลงอีกเล่มหนึ่ง พร้อมกับลงวิชาเพิ่มอีกเล่มไว้กันเหนียว ทำนองว่าถ้าหน่วยกิตเกินออกมาสักสามหน่วยกิต จ่ายเกินไป 75 บาทก็ช่างมัน ก่อนสอบก็พยายามอ่านตำราแบบเท่าที่จะพอรู้เรื่อง ไม่อ่านแบบเอาเป็นเอาตายเพราะความกดดันมันจะทำลายสมาธิไปหมด พยายามไม่เครียดกับมัน เพราะไหนๆ ก็ลงไปสองเล่ม วิชาหนึ่งสอบตกก็ยังมีอีกวิชาหนึ่งให้ลุ้น

ปรากฏว่ากลับสอบผ่านครบทั้งสองวิชา รู้สึกดีใจที่สุด กระทั่งไปทำเรื่องขอจบการศึกษาที่คณะมนุษยศาสตร์ จำได้ว่าเสร็จจากมหาวิทยาลัย กลับเข้าออฟฟิศ เย็นวันนั้นมีรัฐประหารพอดี (ฮา) ประมาณเกือบหนึ่งเดือนเช็กผลสภามหาวิทยาลัยอนุมัติสำเร็จการศึกษา ก็ไปชำระเงินค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต ขอใบรับรองสภามหาวิทยาลัย ใบรับรองผลการศึกษา (ทรานสคริปต์) เสร็จสรรพเรียบร้อย รอพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีหน้าต่อไป

บ่ายวันเสาร์ผมนั่งท่องเว็บ ดูวิดีโอคลิปไปด้วยเพราะคิดงานไม่ออก ไปเจอวิดีโอคลิปเก่าๆ ของ “เลดี้ดาด้า” หรือคุณจินดารัตน์ จินตนเสถียร พนักงานต้อนรับของสายการบินแอร์เอเชีย ที่มีเอกลักษณ์โดยการพูดโอเวอร์แอคติงคำว่า “อร้อยอร่อย...” (ลากเสียงยาว) เธอออกรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ตอนหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาลงเอยที่สายการบินนี้ เธอไปสมัครเป็นแอร์โฮสเตสประมาณ 6-7 สายการบิน ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งก็สอบตกทุกครั้ง

กระทั่งมาครั้งสุดท้ายที่สายการบินแอร์เอเชีย เมื่อที่บ้านตักเตือนว่าอยู่กับความเป็นจริงนะ เธอก็บอกกับที่บ้านว่า ครั้งนี้ครั้งสุดท้ายจริงๆ ถ้าไม่ได้ก็จะไม่เอา วันสอบสัมภาษณ์เธอก็พยายามฉีกกฎเดิมๆ ที่แล้วมา เขาถามอะไรเราก็ตอบตามสไตล์ ไม่เอาแล้วนั่งตัวตรง เริ่มใช้มือเหมือนคุยกับเพื่อน เพราะเริ่มคิดแล้วว่าเอาเถอะ คนสุดท้ายแล้ว มีอะไรก็พูดไปเต็มที่เลย อยากพูดอะไรพูด ใส่ความเป็นตัวเราแต่ไม่ถึงขั้นละลาบละล้วง สุดท้ายก็ผ่านการคัดเลือก

ผมฟังที่ดาด้าพูดก็พลันนึกถึงตัวเอง ที่ผ่านมาผมคิดมากกับการสอบทุกครั้ง โดยเฉพาะความตั้งใจที่ว่าจะจบรามคำแหงภายใน 2 ปี เพราะเทียบโอนหน่วยกิตไว้แล้ว ซึ่งมันเป็นความกดดันในชีวิตอย่างหนึ่งนอกจากเรื่องงาน เรื่องที่บ้าน และเรื่องสภาพจิตใจส่วนตัว แต่พอไม่ได้อย่างที่หวังมันเหมือนกับว่ามีอยู่จุดๆ หนึ่งที่คิดขึ้นมาได้ คือ เราไม่จำเป็นต้องไปกดดันกับเป้าหมายของตัวเอง เรื่องบางเรื่องก็รู้จักปล่อยวาง แล้วปล่อยให้ชีวิตดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไปบ้าง

พูดถึงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เท่าที่ผมอ่านคำแนะนำในการรายงานตัว เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น นอกจากมีทั้งเรื่องการแต่งกาย และข้อปฏิบัติในพิธีแล้ว ยังมีเรื่องเล็กๆ อย่างเรื่องหมากฝรั่ง มีอยู่ปีหนึ่งมีมหาบัณฑิตนั่งเคี้ยวหมากฝรั่งเป็นระยะ ๆ ระหว่างรอพิธีรับปริญญาบัตรเสร็จสิ้น ภายหลังทางมหาวิทยาลัยถูกตำหนิจากราชองครักษ์ ปีต่อมาจึงกำหนดข้อปฏิบัติห้ามนำของขบเคี้ยวขึ้นมาต่อหน้าพระพักตร์ เนื่องจากอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ควรสำรวม

ขอคั่นเรื่องด้วยตำนานที่น่าสนใจ วันก่อนนั่งค้นนิวส์เซ็นเตอร์เพลินๆ ก็มีข่าวคราวเกี่ยวกับห้วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมาเล่าสู่กันฟังสักเรื่องสองเรื่อง แม้จะเป็นข่าวร้ายที่ไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้บทเรียนที่เกิดขึ้นนั้นหายไปกับสายลม โดยที่ไม่มีใครจะค้นคว้ามันมาเล่าเป็นอุทาหรณ์กันได้อีก

เรื่องแรก เกิดขึ้นในปี 2541 หรือเมื่อ 16 ปีก่อน ซึ่งมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 23 ระหว่างที่รอรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในช่วงบ่ายวันนั้น บัณฑิตที่จะเข้ารับปริญญาได้เข้าไปนั่งอยู่ในหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ชายคนหนึ่งสวมชุดครุยวิทยฐานะ คณะบริหารธุรกิจ นามว่านายไพฑูรย์ บัวใหญ่ ได้วิ่งกระหืดกระหอบเข้าไป ภายหลังแจ้งกับอาจารย์ผู้ควบคุมบัณฑิตว่ามาสายเพราะรถติด

เมื่อบัณฑิตเข้าไปในห้องครบแล้ว มีการจัดให้นั่งตามรายชื่อเรียงอักษร ปรากฎว่านายไพฑูรย์ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของบัณฑิตที่จะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรแต่อย่างใด อาจารย์ผู้ควบคุมบัณฑิตซักไซ้ไล่เรียง นายไพฑูรย์จึงยอมรับว่าได้มั่วเข้าไปต่อแถวบัณฑิตใหม่เพื่อรอรับพระราชทานปริญญาบัตรจริง ซึ่งหากปล่อยให้นายไพฑูรย์เข้ารับพระราชทานปริญญา เจ้าหน้าที่จะมีโทษตามกฎหมายด้วย

ที่สุดแล้ว อาจารย์ผู้ควบคุมบัณฑิตจึงแจ้งต่อ สน.หัวหมาก ให้นำตัวไปสอบสวน เจ้าตัวสารภาพว่ามีเจตนาที่จะถ่ายรูปรับปริญญาเอาไปอวดเพื่อนและพ่อแม่ว่าเรียนจบแล้ว โดยเดินทางมาพร้อมกับลุง เข้าพักที่โรงแรมไดนาสตี้ ซึ่งเป็นโรงแรมหรูในซอยรามคำแหง 35 ตรงข้ามมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วไปเช่าครุยจากร้านถ่ายรูปที่หน้ามหาวิทยาลัยมาในราคา 2,600 บาท แล้วเข้าไปซ้อมรับปริญญาทั้งสองครั้ง ซึ่งยุคนั้นไม่มีการตรวจสอบรัดกุมเพราะเป็นวันซ้อม

และเมื่อทำการสอบสวนเพิ่มเติม นายไพฑูรย์ก็เปิดเผยว่า เมื่อปีก่อนได้ทำการติดต่อกับบุคคลรายหนึ่ง เพื่อทำการปลอมแปลงรายชื่อเข้ารับปริญญาได้ในราคา 2 แสนบาท โดยไม่ต้องเรียนก็สามารถขึ้นไปรับปริญญาได้เลย นายไพฑูรย์ตกลงจ่ายเงินงวดแรกไปจำนวน 7 พันบาท หลังจากนั้นเมื่อมีการติดประกาศรายชื่อผู้ขึ้นรับปริญญา ปรากฏว่ามีชื่อของนายไพฑูรย์ติดรวมอยู่ในกลุ่มด้วย นายไพฑูรย์จึงมอบเงินให้ไปอีก 9 พันบาท

จากนั้นได้ต่อรองขอลดราคาลงเหลือ 2 หมื่นบาท แล้วจึงติดต่อบรรดาญาติพี่น้องให้เดินทางมาร่วมงานรับปริญญา โดยเช่าโรงแรมอย่างดีให้อยู่ แต่ในที่สุดก็ถูกอาจารย์ผู้ควบคุมบัณฑิตจับได้ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังยอมรับสารภาพอีกว่า ตัวเองจบเพียงแค่ชั้น ป. 5 แล้วมาบวชเป็นสามเณรวัดพระมหาธาตุวรวิหาร จ.นครศรีธรรมราช หลังจากสึกจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารย่านรามคำแหง จนล่าสุดได้ไปเป็นพนักงานที่รีสอร์ตใน จ.ระยอง

ในขณะนั้น ตำรวจ สน.หัวหมากได้แจ้งข้อหาแก่นายไพฑูรย์ 2 ข้อหา คือ ข้อหาสวมชุดครุยโดยไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541 มาตรา 55 ระบุว่า ผู้ใดใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง เครื่องแบบเครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใดๆ ว่าตนมีตำแหน่ง ปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัย โดยที่ตนไม่มี ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิจะใช้หรือมีตำแหน่งหรือมีวิทยฐานะเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ

เป็นแง่คิดอย่างหนึ่งว่า ชุดครุยใช่ว่าทุกคนจะใส่กันเล่นๆ ได้ เพราะเป็นชุดที่บ่งบอกถึงวิทยฐานะว่าเราจบอะไรมา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในความรู้สึกของบัณฑิต ที่ผ่านความยากลำบากในการเล่าเรียนกว่าจะได้มา แม้บางคนจะคิดอย่างเท่ๆ ว่ามันก็แค่ชุดครุยเวลาเห็นคนใส่ชุดครุยถ่ายรูปเล่นไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ใคร จะไปคิดอะไรมาก แต่ถ้าเลยเถิดถึงขั้นนำชุดครุยไปสร้างความเสียหาย เช่น ถ่ายรูปแล้วปลอมแปลงเอกสารเพื่อนำไปสมัครงานก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับเครื่องแบบตำรวจและทหาร ที่ผ่านมาเราจะเห็นคดีจับกุมตำรวจปลอม ทหารปลอมที่แต่งเครื่องแบบเพื่อตบทรัพย์ประชาชน หลอกคบหาผู้หญิงหวังเอาทรัพย์สิน หรือร่วมหลับนอน ซึ่งผู้ที่แต่งเครื่องแบบทหารโดยไม่มีสิทธิชอบด้วยกฎหมาย จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 5 ปี และหากกระทำในช่วงประกาศกฎอัยการศึกจะมีโทษจำคุก 1-10 ปี รวมถึงผู้แต่งกายเลียนแบบทหารก็จะมีโทษทางกฎหมายเช่นกัน

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเศร้าของบัณฑิตรามคำแหงผู้หนึ่งที่จากไปก่อนที่จะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 13 มกราคม 2549 นายเอกนรินทร์ สาระติ วัย 29 ปี ชาว อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ ว่าที่บัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน ที่กำลังเตรียมตัวเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในเช้าวันรุ่งขึ้น ถูกกลุ่มวัยรุ่นที่มีเรื่องกันผลักให้รถชนจนเสียชีวิต บริเวณปากซอยรามคำแหง 42 โดยมีน้องชายร้องไห้อยู่ข้างๆ

โดยผู้ตายทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ภาคสนาม ก่อนเกิดเหตุได้พาแฟนสาวและน้องชายไปเลี้ยงฉลอง ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง หลังเสร็จได้กลับมาที่ห้องพัก ขณะถอดรองเท้าจะเข้าห้องอยู่ จู่ ๆ มีกลุ่มวัยรุ่นซึ่งนั่งดื่มเหล้าอยู่ห้องข้าง ๆ เดินโซเซมาชนผู้ตาย จนเกิดมีปากเสียงกันขึ้น ผู้ตายไม่อยากมีเรื่องจึงเดินหนีเข้าห้อง หลังเข้าห้องไปได้สักครู่ กลุ่มวัยรุ่นที่มีเรื่องด้วยยังไม่ยอมหยุดตามมาทุบประตูพร้อมตะโกนด่าถ้อยคำหยาบคาย

ผู้ตายกลัวว่าเรื่องจะลุกลามใหญ่โตจึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจ กระทั่งมีสายตรวจมาระงับเหตุ อีกฝ่ายจึงยอมล่าถอยไป แต่หลังตำรวจกลับกลุ่มคู่กรณีต่างกรูออกมาจากห้องพร้อมกับลงมือทุบประตูอีกครั้ง เมื่อเห็นท่าไม่ดีขืนนอนที่แมนชั่นดังกล่าว อีกทั้งพรุ่งนี้ต้องรับปริญญาด้วย จึงฉวยจังหวะที่อีกฝ่ายเผลอรีบออกจากห้องไปพักกันที่อื่น แต่เมื่อเดินออกมาถึงปากซอย ดันไปเจอวัยรุ่นที่มีเรื่องประมาณ 7 คน ยืนรออยู่แล้วก็กรูกันเข้ากระชากคอเสื้อพร้อมกับรุมทำร้ายเตะต่อยทันที

หนึ่งในคนร้ายได้ชักอาวุธปืนออกมาตบศีรษะผู้ตายอย่างแรงล้มไปกองกับพื้น น้องชายพยายามเข้าไปห้ามก็ถูกวัยรุ่นที่ยืนคุมเชิงอยู่สองคน ล็อกตัวไว้ ระหว่างชุลมุนผู้ตายได้วิ่งข้ามถนนไปยืนอยู่บริเวณเกาะกลางถนน กลุ่มผู้ก่อเหตุได้วิ่งตามไป โดยหนึ่งในนั้นได้ผลักผู้ตายกระเด็นข้ามไปอีกฝั่งถนน ทำให้ถูกรถเก๋งไม่ทราบยี่ห้อ และทะเบียน พุ่งชนอย่างจังจนสลบเหมือด ก่อนมาจบชีวิตที่โรงพยาบาลรามคำแหง สภาพมีบาดแผลแขนขวาหัก ตับ ม้ามแตก เสียชีวิตเนื่องจากสมองช้ำบวม เนื่องจากถูกกระแทกด้วยของแข็งไม่มีคมอย่างรุนแรง

เหตุการณ์นี้สร้างความเศร้าสลดแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ตายพร้อมญาติพี่น้องทุกคนต่างอยู่ในอาการเศร้าสลด ขณะเดียวกัน เรื่องสะเทือนขวัญดังกล่าวเป็นข่าวโด่งดังในยุคนั้น แต่ตำรวจยังทำอะไรไม่ได้ กระทั่งวันที่ 22 มกราคม 2549 นายอำนาจ พงษ์พิพัฒน์วัฒนา นำนายเอกลักษณ์ พงษ์พิพัฒน์วัฒนา วัย 23 ปี บุตรชาย ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ เข้ามอบตัวที่ สภ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี นายชุมพล กาญจนะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นผู้ประสานให้เข้ามอบตัว จากนั้นส่งตัวให้นำไปสอบปากคำที่ สน.หัวหมาก

ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2549 นางซิ่น มิฉา มารดาพร้อมทนายความ นำนายอุเทน วรรณคง วัย 22 ปี เจ้าของห้องพักที่อยู่ติดกับผู้ตาย และเป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่าเข้ามอบตัวต่อ สน.หัวหมาก หลังก่อนหน้านี้ศาลได้ออกหมายจับ ซึ่งนายอุเทนเป็นชาว อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนผู้ต้องหาอีกคน ตำรวจทราบชื่อว่านายไก่ และนายโต้ง คาดว่าน่าจะเป็นคนที่ผลักนายเอกนรินทร์ไปให้รถชน ทราบชื่อหนึ่งในนั้นคือ นายอัศวิน โต๊ะรื่นเริง ขณะนี้กำลังหลบหนีคดี

คดีนี้ล่วงเลยผ่านมากว่า 1 ปี ในที่สุดศาลชั้นต้นได้พิพากษาโดยสรุปว่า นายอัศวินที่ยังหลบหนีคดี ได้ตรงเข้าไปผลักผู้ตายก่อนที่รถยนต์ลงมาจากทางต่างระดับรามคำแหงจะพุ่งชนจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ถือว่าเป็นการตัดสินใจของนายอัศวิน เพียงคนเดียว นายเอกลักษณ์และนายอุเทนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่มีเจตนาฆ่า และนายเอกลักษณ์ยังมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเนื่องจากใช้ปืนกระแทกที่หัวไหล่ของพยานรายหนึ่งขณะที่เข้าไปห้ามปราม ส่วนความผิดฐานครอบครองอาวุธปืนนั้นไม่มีใครยืนยันว่า วัตถุที่ใช้ทำร้ายผู้ตายนั้นเป็นอาวุธปืน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิด

ศาลพิพากษาว่า นายอุเทนมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยไม่มีเจตนา ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 15 ปี ส่วนนายเอกลักษณ์มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยไม่มีเจตนาเช่นกัน ลงโทษจำคุก 15 ปี และมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ให้จำคุกเป็นเวลา 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2ไว้ 15 ปี 2 เดือน พร้อมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมจำนวน 1.35 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี

ประวัติศาสตร์ที่นำมาเล่าสู่กันฟังคุณผู้อ่านอาจจะมองผมในแง่ร้ายว่า มุ่งหวังที่จะทำลายชื่อเสียงมหาวิทยาลัยหรือเปล่า แต่สำหรับผมกลับมองว่า การได้นำประวัติศาสตร์ในอดีตมาบอกเล่า ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบก็ย่อมที่จะมีบทเรียนตามมา น่าจะสอนใจเรา รวมทั้งรุ่นน้องว่าในอดีตมันเกิดอะไรขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หลีกเลี่ยง หรือใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังในอนาคต

ผมคงไม่อยากจะสอนอะไรกับใคร เพราะเชื่อว่าทุกคนโตๆ กันหมดแล้ว น่าจะรู้จักแยกแยะกันได้เอง แต่ทั้งสองเหตุการณ์ที่นำมาหยิบยกในครั้งนี้มันจะไม่กลับมาเกิดขึ้นเลย ถ้าทุกคนตั้งใจเรียน ก็ไม่ต้องละอายแก่ใจแต่งชุดครุยวิทยฐานะแอบอ้างว่าเป็นบัณฑิตเพื่อหลอกตัวเอง หรือหากรู้จักคบเพื่อนที่ดี ก็จะไม่นำพาเราไปสู่หายนะ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตคนเราก็คือสติ หากคนเราคิดได้ รู้จักยับยั้งชั่งใจได้ หรือรู้จักให้อภัยคนได้ ความสูญเสียก็จะไม่เกิดขึ้น

คนที่เป็นบัณฑิตรามคำแหงตัวจริงไม่ได้เรียนจบออกมาง่ายๆ ทุกคนต้องรับผิดชอบตัวเองตั้งแต่สมัครเรียนไปถึงเรียนจบ รวมทั้งนักศึกษาที่เป็นเด็กหอยังต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง เมื่อต้องเจอคนร้อยพ่อพันธุ์แม่มักจะมีบางสิ่งบางอย่างที่คอยชักจูงไปให้เราไขว้เขวในบางครั้ง แต่คาถาที่พอจะท่องในใจได้ก็คือ “เอาเรื่องเรียนให้รอดก่อนเถอะ” น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เรารู้จักฮึดสู้เพื่อลบคำด่าในใจตัวเองได้จริงๆ

แล้วจะรู้ว่าเมื่อสอบผ่านครบทุกวิชา ทำเรื่องจบยันสภามหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญาบัตร มันรู้สึกยิ่งกว่ายกภูเขาออกจากอกได้อีก ทำให้เรามองว่าปัญหาที่ผ่านมาเป็นเรื่องขี้ผงจริงๆ...

หมายเหตุ : ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 นี้ เฟซบุ๊กเพจ “รัฐศาสตร์ ม.ร. FC” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยอิสระของนักศึกษา และศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะไปทำกิจกรรมจิตอาสาที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแม่น้ำน้อย อ.ไทรโยค จ.ยาญจนบุรี ขอเชิญคุณผู้อ่านร่วมบริจาคสิ่งของ หรือบริจาคเงินสมทบทุน รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ในเฟซบุ๊กของกลุ่มโดยตรงได้เลยครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น