xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตโลว์ซีซันส์ (1) : เคอร์ฟิว และเรื่องวุ่นๆ ในป่าตอง

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


บทความที่จะเขียนถึงต่อไปนี้ จะแนะนำแหล่งท่องเที่ยวก็ไม่ใช่ จะบอกเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวก็ไม่เชิง เพราะฉะนั้นโปรดอย่าคาดหวังว่า อ่านบทความนี้แล้วจะทำให้อยากแพ็คกระเป๋าบินลงมาที่นี่ แต่สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ด้วยสัญชาตญาณของคนทำข่าว เมื่อได้เห็นเรื่องราวผ่านตา ก็อดที่จะอยากรู้อยากเห็นไม่ได้

เพราะฉะนั้น เรื่องราวที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้ เป็นบันทึกการเดินทางที่ผมคิดว่าน่าจะฉีกแนวไปจากเรื่องราวของนักท่องเที่ยวคนอื่น เพราะหลังเดินทางกลับจากภูเก็ตแล้ว ก็พบว่ามีข่าวคราวความเคลื่อนไหวหลายอย่าง ที่น่าจะพอขยายความเพื่อเล่าสู่กันฟังกันได้ และเผื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อมาเห็นก็น่าจะเป็นแนวทางในการจัดระเบียบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้บทความชิ้นนี้จะเสนออย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการท่องเที่ยวภูเก็ตในภาพรวม แต่บางครั้งอาจมีเนื้อหาบางช่วงบางตอนที่เกรงว่าคนอ่านอาจจะเข้าใจเจตนาผิดไปจากที่นำเสนอ เพราะฉะนั้นหากอ่านบทความชิ้นนี้แล้วรู้สึกขุ่นข้องหมองใจ ก็ขออภัยไว้ล่วงหน้า
• • •
เมื่อไม่นานมานี้ ผมมาเยือนจังหวัดภูเก็ตเป็นครั้งที่สามในชีวิต…

ครั้งแรก ผมไม่ได้มาเที่ยว แต่ไปต่อรถประจำทาง บขส. กลับกรุงเทพฯ หลังไปเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2548 ร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเฉลิมไทย พันทิปด็อทคอม วันนั้นได้เห็นตัวเมืองภูเก็ตเพียงเศษเสี้ยวหนึ่ง อย่างน้อยๆ ก็เห็นศาลากลางจังหวัดบนเนินเขาโต๊ะแซะ ซึ่งเป็นจุดประสานงานให้ความช่วยเหลือในตอนนั้น

ครั้งที่สอง มาเที่ยวแบบแบ็คแพกเกอร์เมื่อปี 2547 หลังจากเยี่ยมญาติที่สมุย คราวนั้นก็ผ่านประสบการณ์แบบโหดๆ ไล่ตั้งแต่รถทัวร์จากเกาะสมุยเกิดเสียที่พังงา ต้องค่อยๆ วิ่งมา ถึงตัวเมืองภูเก็ตเกือบสองทุ่ม หรือจะเป็นช่วงที่อาศัยชายชาวตะวันออกกลางหารค่ารถสองแถวจาก บขส.ภูเก็ตไปป่าตอง ชายคนนั้นก็หวิดจะมีเรื่องกับคนขับรถอีก

คราวนั้นก็ยังเห็นน้ำใจจากชาวทวิตเตอร์ในภูเก็ตที่เคยคุยกันมาบ้าง เขาเป็นสถาปนิก เมื่อรู้ว่าผมกำลังจะนั่งแอร์พอร์ตบัสเข้าสนามบิน เขาบอกให้ผมลงรถที่เซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต ก่อนที่จะมารับไปชมบรรยากาศเมืองเก่า พาไปรับประทานราดหน้าเจในเทศกาลถือศีลกินผัก ก่อนขับรถพาไปส่งที่สนามบิน

มาคราวนี้ ผมไม่ได้มาคนเดียว แต่พาพี่ชายไปด้วย เพราะปีที่แล้วได้ตั๋วเครื่องบินฟรีจากการชิงโชค (แต่ต้องจ่ายภาษี ณ ที่จ่าย ภาษีสนามบิน และน้ำหนักสัมภาระอีก รวมแล้วก็สามพันบาท) เพราะฉะนั้นจะสะพายเป้ จะกินจะเที่ยวแบบลุยๆ ยอมอดมื้อกินมื้อ เหมือนไปคนเดียวก็คงไม่ได้ เพราะต้องดูแลพี่ชายที่ไม่เคยนั่งเครื่องบินมาก่อนด้วย

เป็นที่ทราบกันดีว่าช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงโลว์ซีซันส์ หรือนอกฤดูการท่องเที่ยวของที่นี่ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน หากไปเที่ยวทะเลช่วงนี้ต้องลุ้นกันว่าจะได้พบกับทะเลสวย น้ำใส หรือเจอพายุฝน แต่ข้อดีก็คือนอกจากตั๋วเครื่องบินจะจัดโปรโมชั่นในช่วงนั้นแล้ว โรงแรมที่พักยังถูกกว่าอีกด้วย

แม้ผมจะจัดแจงตั๋วเครื่องบิน จัดการซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่ม จองโรงแรมที่ป่าตอง จองรีสอร์ทกับผู้ใหญ่ที่รู้จักกัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง แต่บางครั้งก็มีเรื่องที่ทำเอาเกือบจะตกเครื่องบิน เมื่อเจอลุงคนขับรถแท็กซี่ที่เปรียบดัง “มนุษย์ป้า” เสียเวลากับการเติมก๊าซ ใช้เส้นทางอ้อมไปทางบางบัวทอง ปากเกร็ด โดยอ้างว่าบนทางด่วนมีอุบัติเหตุ

กว่าจะถึงดอนเมืองเกือบตกเครื่อง แม้เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้เราโหลดสัมภาระ เพราะเลยเวลารับสัมภาระหน้าเคาน์เตอร์ แต่เนื่องจากเราสะพายเป้มาทั้งคู่ น้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม เลยอนุญาตให้นำติดตัวขึ้นเครื่องได้ ระหว่างรอขึ้นเครื่องนึกเสียดายน้ำหนักสัมภาระที่ซื้อมากลับไม่ได้ใช้ พร้อมกับโกรธมนุษย์ลุงโชเฟอร์ไปพลางๆ

จากดอนเมืองมาถึงภูเก็ตใช้เวลาเกือบสองชั่วโมง เพราะไฟล์ทที่จะบินเกิดดีเลย์ด้วยเหตุขัดข้องทางเทคนิค กินเวลาไปกว่าครึ่งชั่วโมง มาถึงสนามบินภูเก็ตตอนบ่ายสามโมงเศษ ทีแรกว่าจะมองหาแอร์พอร์ตบัส เพราะค่าแท็กซี่ที่นี่แพงมาก ไปป่าตองคิด 800 บาท แต่เมื่อค่ารถตู้จากสนามบินไปป่าตองเพียงแค่คนละ 180 บาทเอง เลยตัดสินใจนั่งรถตู้กัน

ทีแรกก็ไม่นึกเอะใจอะไร เพราะเคยนั่งรถตู้แบบนี้จากสนามบินสมุยไปลงบ้านญาติก็เสียแค่ 150 บาท แต่มาถึงกลางทางรถตู้แว๊บเข้าไปจอดที่บริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่แต่ละคนพาผู้โดยสารที่อยู่ในรถไปพูดคุยแต่ละโต๊ะ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นชาวต่างชาติจะสอบถามว่าจะไปลงที่ไหน พักที่ไหน จะไปเที่ยวที่ไหนไหม พร้อมแนะนำแพคเกจทัวร์

มาถึงผม เจ้าหน้าที่สุภาพสตรีรายหนึ่งสอบถามว่าจะพักที่ไหน จะไปเที่ยวที่ไหนไหม เขาก็จะแนะนำแพคเกจทัวร์เที่ยวเกาะ ดำน้ำ ดูปะการัง แต่ด้วยความที่ผมบอกว่าจองโรงแรมไว้แล้ว อีกวันหนึ่งจะไปพบเพื่อนในเมืองภูเก็ต เขาก็จะแนะนำแท็กซี่ไปส่งสนามบินวันเดินทางกลับ มอบนามบัตรไว้เผื่อจะเรียกใช้บริการ ก่อนที่ผมและพี่ชายจะกลับมานั่งที่รถตู้

นับเป็นความโชคดีที่จองโรงแรมผ่านอินเทอร์เน็ตไว้ล่วงหน้า เพราะนอกจากเลือกได้เองแล้ว ยังต่อรองกับบริษัททัวร์ได้อีก แรกๆ ผมก็รู้สึกไปว่ามัดมือชกไปหรือเปล่า แต่มาคิดอีกที จะไปว่าเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ต้องทำมาหากิน เราอาศัยรถตู้เจ้านี้ไปป่าตองเพราะถูกกว่ารถแท็กซี่แล้ว ก็ต้องยอมรับวิธีการขายตรงจุดนี้

ออกจากบริษัททัวร์ มาถึงอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร รถตู้พาพวกเราไปยังเส้นทางถนนศรีสุนทร มุ่งหน้าไปยังเชิงทะเล ซึ่งจะผ่านหาดสุรินทร์ หาดกมลา หาดกะหลิม มาถึงหาดป่าตอง แต่เส้นทางคดเคี้ยวลาดชัน ต้องขึ้นภูเขา จุดที่สวยที่สุดของถนนสายนี้อยู่ที่ทางขึ้นเขาก่อนถึงหาดแหลมสิงห์ จะเห็นทะเลอันดามันไกลสุดสายตา

แต่น่าเสียดายที่หยิบไอโฟนมาถ่ายรูปไม่ทัน แม้จะนั่งริมหน้าต่าง เพราะเราได้เห็นวิวนี้เพียงแค่แวบเดียว อีกทั้งเลยจากหาดแหลมสิงห์ไปแล้ว บางช่วงถูกเจ้าของที่ดินล้อมรั้วสังกะสี เสมือนเป็นที่ดินส่วนบุคคล เลยถ่ายวิวทะเลมาฝากไม่ได้ ซึ่งที่ดินภูเก็ตถือว่าแพงมาก ตกราวไร่ละ 160 ล้านบาท ยิ่งอยู่ริมชายหาดก็ยิ่งราคาสูง

และแล้วเราก็มาถึงตัวเมืองป่าตอง แหล่งท่องเที่ยวตากอากาศขึ้นชื่อของภูเก็ต ที่นั่นเต็มไปด้วยโรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร สถานบันเทิง ถนนคนเดิน พร้อมกับความวุ่นวายจากการจราจรที่แออัดไปด้วยยวดยานพาหนะ ยิ่งเป็นช่วงเย็นก็ยิ่งคึกคักเสมือนเป็นการชิมลางในยามราตรี
• • •
คืนแรกที่ป่าตอง ผมและพี่ชายพักที่โรงแรม สลีพ วิธ มี (SLEEP WITH ME) ดีไซน์โฮเต็ลแห่งใหม่ ซึ่งเปิดให้บริการเพียงแค่ 4-5 เดือนเท่านั้น อยู่บนถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปี หรือถนนป่าตองสาย 2 ติดกับศูนย์การค้าจังซีลอน แหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ในตัวเมืองป่าตอง ซึ่งเดินไปเพียงไม่กี่ก้าวก็ถึง

ใครที่เคยไปพัทยาก็จะเข้าใจกันดีว่าถนนที่ขนานไปกับชายหาด ถูกเรียกแบบติดปากออกเป็นสาย ที่ป่าตองก็เช่นกัน ถนนทวีวงศ์หรือถนนหน้าหาดคือป่าตองสาย 1 ถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปีคือป่าตองสาย 2 ส่วนป่าตองสาย 3 คือถนนผังเมืองสาย ก ซึ่งเป็นถนนตัดใหม่ นอกจากนี้ยังมีถนนนาใน ซึ่งอยู่ลึกออกไป

สำหรับโรงแรมแห่งนี้ มีห้องพักจำนวน 258 ห้อง แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ ห้องซูพีเรีย ขนาด 27 ตารางเมตร มีเตียงให้เลือกทั้งเตียงเดี่ยวและเตียงคู่, ห้องเดอลุกซ์ จากุชชี่ ขนาด 46 ตารางเมตร และห้องสวีท ขนาด 54 ตารางเมตร บนชั้น 6 และ 7 ด้านข้างกำลังก่อสร้างเฟสที่สอง ซึ่งจะเปิดให้บริการในช่วงไฮซีซั่นนี้

ผมเข้าพักห้องซูพีเรีย ทันทีที่เข้ามาก็มีลูกเล่นน่ารักๆ มีตุ๊กตาแกะมาอยู่เป็นเพื่อนกับคุณบนเตียงนอน แม้จะดูคับแคบ ไม่มีเก้าอี้นั่งเขียนหนังสือ เวลาทำงานยังต้องยกเก้าอี้จากระเบียงมาแทน แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งไว-ไฟ เคเบิ้ลทีวี (ดูช่องของไทยไม่ได้เพราะช่วงนั้น คสช. ระงับออกอากาศ) ถ้ามีสาย HDMI ก็ดูวีดีโอคลิปจากคอมพิวเตอร์ได้

แถมยังมีกาต้มน้ำร้อน พร้อมชา กาแฟแบบซอง ในตู้เสื้อผ้ามีเสื้อคลุม ร่มขนาดใหญ่ รองเท้าไว้เดินในห้อง ส่วนห้องน้ำนอกจากมีสบู่กับยาสระผมแล้ว ยังมีแปรงสีฟันพร้อมยาสีฟัน หวี ชุดเย็บปักถักร้อย ตะไบเล็บอีกต่างหาก แม้ของพวกนี้ที่สุดแล้วผู้เข้าพักมักจะเอาของส่วนตัวมาใช้ เพราะรู้สึกสนิทใจ แต่ก็ต้องขอชมโรงแรมนี้ว่าใส่ใจทุกรายละเอียด

ช่วงนั้นป่าตองมีฝนตก อีกทั้งยังมีงานบทความค้างอยู่ จึงไม่ได้ออกไปไหน นั่งร่างบทความอยู่ในห้อง กระทั่งตกเย็นจึงเดินไปซื้อของกินที่ศูนย์การค้าจังซีลอน เพราะอยู่ไม่ไกลจากโรงแรม และไม่ลืมที่จะพกร่มที่อยู่ในตู้เสื้อผ้าไปด้วย แม้ช่วงนั้นฝนจะหายแล้วก็ตาม เผื่อว่าฝนตกจะได้ฝ่าสายฝนกลับที่พักได้สบายหน่อย

จังซีลอนเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในป่าตองบนพื้นที่ 2 แสนตารางเมตร มีร้านค้า ร้านอาหารกว่า 300 ร้าน สโตร์หลักๆ มีโรบินสัน บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า โรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีนีม่า ซิตี้ ซูเปอร์สปอร์ต ฯลฯ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเพราะอยู่ใจกลางหาดป่าตอง มีการแสดง แสง สี เสียง น้ำพุ คู่กับเรือสำเภาซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่ในช่วงหัวค่ำ

แหล่งฝากท้องราคาประหยัดเวลานี้ ก็คงเป็นอาหารปรุงสำเร็จในห้างค้าปลีกชื่อดัง แต่ที่ผงะเล็กน้อย มีแมลงสาบตัวเล็กๆ เกาะไปตามเมนูข้าวที่หุ้มด้วยฟิล์ม แต่สำหรับฟาสฟู้ด ร้านไก่ทอดชื่อดัง ราคาแพงพอๆ กับสาขาแหล่งท่องเที่ยวและสนามบิน แม้จะใช้ส่วนลด 10% จากมือถือก็ลดเพียง 20 กว่าบาทเท่านั้น สมกับที่บอกว่าค่าครองชีพที่นี่แพงจริงๆ

ผมหิ้วอาหารกลับห้องพัก นั่งกินกับพี่ชายในห้องสองคน อาหารเย็นมื้อนั้นแม้จะไม่หรูหรานักเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวคนอื่น ที่อาจจะหาอาหารอร่อยในป่าตองรับประทาน ก่อนที่จะตระเวนราตรี แต่โดยความตั้งใจของผมที่อยากจะพาพี่ชายไปเปิดหูเปิดา ผมเชื่อว่าการได้มาซึมซับบรรยากาศความเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเพื่อเสพความเลิศหรู หากสิ่งที่จ่ายไปกลับไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ก็ยิ่งทำให้เราต้องมานั่งเสียดายเงินภายหลัง
• • •
ผมนั่งปั่นบทความอยู่บนห้องพักพร้อมกับจิบชาไปด้วย ส่วนพี่ชายถือโอกาสเดินตระเวนราตรี โดยเฉพาะซอยบางลา แลนด์มาร์คชื่อดังของป่าตอง พี่ชายเล่าให้ฟังว่า ที่นั่นเต็มไปด้วยสถานบันเทิง ซึ่งจะพบเห็นบาร์ของชาวรัสเซียนั่งกินดื่มเคล้าเสียงดนตรี เห็นสาวนุ่งน้อยห่มน้อยเต้นรูดเสา สตรีทโชว์จากสาวประเภทสอง และของขายจำนวนมาก

ทันใดนั้นในช่วงประมาณเที่ยงคืน ก็ได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ขับผ่านถนนด้านข้างห้างจังซีลอน ซึ่งจะเป็นโรงแรมมิลเลนเนียม รีสอร์ต ป่าตอง เสมือนนักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่ทำงานย่านนั้นกำลังกลับเข้าเคหสถาน กระทั่งประมาณตีหนึ่ง-ตีสอง ผมส่งต้นฉบับเสร็จ ออกมาดูวิวที่กระจกทางเดินโรงแรม พบว่ามีแต่ความเงียบราวกับป่าช้า

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะวันที่ผมเดินทางไปป่าตองขณะนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และห้ามออกนอกเคหสถาน ภายในเวลาเที่ยงคืนถึงตีสี่ ทำให้สถานบันเทิงหลายแห่งต้องปิดให้บริการลงในตอนนั้น

ผมพูดคุยกับคนขับรถแท็กซี่ระหว่างออกจากป่าตองมุ่งหน้าไปภูเก็ต เขาเล่าให้ฟังว่าช่วงนี้เป็นช่วงโลว์ซีซันส์ นักท่องเที่ยวน้อยลงอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอเหตุการณ์ทางการเมือง มีการประกาศเคอร์ฟิว ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนหนึ่งหนีไปเที่ยวประเทศอื่น เพราะโดยนิสัยชาวต่างชาติเวลากินดื่มมักจะกินกันตลอดทั้งคืน

สอดคล้องกับ “ภูเก็ตกัซเซ็ท” (Phuket Gazette) หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาอังกฤษ ก็รายงานผลกระทบจากการประกาศเคอร์ฟิว ผู้ประกอบการรายหนึ่งคาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 10 ล้านบาทต่อคืน ถึงกระนั้นเมื่อประกาศลดเวลาเคอร์ฟิวเหลือเที่ยงคืนถึงตีสี่ก็ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวดีขึ้นมาบ้าง เพราะสี่ทุ่มถือว่าเร็วเกินไป

แต่ความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นั่น ส่วนใหญ่มองว่าการรัฐประหารไม่กระทบ และไม่น่ากลัว เพราะพวกเขามาท่องเที่ยวชายหาดและพักผ่อนเท่านั้น อีกทั้งเกาะภูเก็ตแตกต่างจากกรุงเทพฯ ปาร์ตี้ยามคำคืนถึงจะสั้นลงก็โอเค แต่บางคนก็อยากให้ยกเลิกเคอร์ฟิวโดยเร็ว ให้ได้สนุกกับชีวิตกลางคืน ซึ่งเขาอยากเห็นก่อนที่จะกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผมกลับถึงกรุงเทพฯ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ต่อมา คสช. ได้ประกาศยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งทำให้หาดป่าตอง และถนนบางลากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งก็หวังว่าในช่วงหน้าโลว์ซีซันส์นี้จะได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่เสียที
• • •
ท่ามกลางสีสันและชีวิตชีวาในย่านหาดป่าตอง ใครจะเชื่อว่าในบางครั้งเรากลับพบเห็นเรื่องวุ่นๆ ที่ทำเอาคนภูเก็ตซึ่งรู้จักกันทักทายมาว่า “ลงมาตรงวัน ได้มาเจอของจริงเลยนะครับ”

ตั้งแต่ป้ายผ้า และป้ายไวนีลที่ติดตามร้านค้าต่างๆ แถบถนนทวีวงศ์ ถนนราษฎร์อุทิศ 200 ปี ทำนองว่าประท้วงหน่วยงานที่เก็บส่วย เช่น “ปิดหนีส่วย หาเงินแทบตาย จ่ายส่วยไม่พอ” “ไม่ได้เรียกร้องเกินเหตุ แต่ขูดรีดอย่างนี้เกินจะทน” “หยุดแดกสักนิดคิดหาวิธีจับโจรดีกว่า” “ไม่ได้ค้ายาบ้า ยาเสพติด ตำรวจส่วนกลางทำอย่างเราเป็นอาชญากร” ฯลฯ

สอบถามคนในพื้นที่ได้ความว่า ที่ป่าตองมักจะมีตำรวจอ้างว่ามาจากส่วนกลาง เช่น กองปราบปราม กองบังคับการปราบปรามอาชญากรทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) ตำรวจภูธรภาค 8 ฯลฯ เข้าเรียกเก็บส่วยรายละไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นบาท เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี โดยส่วนมากจะเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ จนได้รับความเดือดร้อนในช่วงโลว์ซีซันส์

แม้จะมีรายงานข่าวภายหลังว่า พล.ต.ต. องอาจ ผิวเรืองนนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่า ไม่มีตำรวจในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง และขณะนี้มีข้อมูลแล้วว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานใด ซึ่งได้แจ้งให้ต้นสังกัดทราบแล้ว แต่ผมเชื่อว่าปัญหาการเก็บส่วยของเจ้าหน้าที่ และสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อาจจะเป็นปัญหาเรื้อรังจนยากที่จะแก้ไข

ถึงกระนั้น ที่สนามบินภูเก็ต หรือสนามบินนานาชาติต่างๆ มักจะมีคำเตือนการนำสินค้าปลอมไปยังบางประเทศในทวีปยุโรปนั้นถือเป็นอาชญากรรม ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส โทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ปรับ 3 แสนยูโร หรือราว 13.4 ล้านบาท ส่วนอิตาลี โทษปรับสูงสุด 1 หมื่นยูโร หรือราว 4.4 แสนบาท จึงคิดว่าคงไม่มีใครกล้าใส่ของปลอมกลับประเทศแน่ๆ

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งโด่งดังไม่แพ้กัน คือเรื่องแท็กซี่ เมื่อไม่นานมานี้ตำรวจและทหารระดมกวาดล้างรถแท็กซี่ป้ายดำและตุ๊กตุ๊กผิดกฎหมายตามหน้าโรงแรม ก่อนที่จะดำเนินการรื้อถอนคิวแท็กซี่ต่างๆ ในพื้นที่ที่มีการกระทำความผิด โดยมีพื้นที่เป้าหมายตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หลังได้รับร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยว

ตามรายงานข่าวระบุว่า แท็กซี่ป้ายดำบางคนใช้อาวุธปืน มีด ไม้ ข่มขู่พนักงานขับรถของผู้ประกอบการไม่ให้เข้าไปรับนักท่องเที่ยวในโรงแรมต่าง ๆ รีดไถเงินจากผู้ประกอบการ รวมถึงปิดทางเข้าออกโรงแรม ไม่ให้นำนักท่องเที่ยวออกจากโรงแรมที่พัก บางครั้งถึงขั้นดึงนักท่องเที่ยวลงจากรถ รวมทั้งการใช้กำลังประทุษร้ายนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ในรายงานของเว็บไซต์ ภูเก็ตกัซเซ็ท ระบุว่า ในระหว่างการสืบสวนนานนับเดือน ทราบมาว่า นักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่งซึ่งถูกออกหมายจับ อยู่เบื้องหลังคิวรถแท็กซี่ป้ายดำเหล่านั้น โดยคิวรถแท็กซี่บางแห่งมีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นักการเมืองคนนี้สังกัดอยู่

ในปัจจุบันคิวรถแท็กซี่ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีทั้งหมด 287 คิว จำนวนรถแท็กซี่ป้ายดำ (รถยนต์ส่วนบุคคล) 3,594 คัน ยื่นขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์บริการป้ายเขียว (ลิมูซีน) ได้รับความเห็นชอบ 1,277 คัน

แม้การกวาดล้างแท็กซี่ป้ายดำจะดำเนินการกันอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมทั้งกงสุลประเทศต่างๆ แต่ก็เกรงกันว่าจะเป็นการแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง ไม่นับรวมการคิดค่าโดยสารไม่เป็นมาตรฐาน ต่างคนต่างคิดราคา แถมรถแท็กซี่ ลิมูซีนบางคันถูกกฎหมายแต่จอดแวะขายทัวร์อันนี้ก็ไม่ไหว

ถึงกระนั้น การเดินทางมาเยือนภูเก็ตครั้งนี้ เป็นเรื่องโชคดีที่ผมได้พบกับแท็กซี่ป้ายดำที่ตรงกันข้ามกับข่าวนี้โดยสิ้นเชิง อย่างวันที่เช็กเอาท์กับทางโรงแรมที่ป่าตอง จะไปรีสอร์ทอีกแห่งหนึ่ง โทรศัพท์เรียกรถแท็กซี่ปรากฏว่าต้องรอ 40 นาที ท้ายที่สุดให้ รปภ. โบกแท็กซี่ข้างนอกมาให้ ผมได้คนขับรถที่สุภาพ อ่อนน้อมพาไปส่งถึงรีสอร์ทอีกแห่งหนึ่ง

ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นคนขับรถที่อยู่ละแวกรีสอร์ต นอกจากจะคิดค่าโดยสารไป-กลับรีสอร์ทในราคาพิเศษ ทั้งตอนออกไปซื้อของที่เซ็นทรัล และตอนออกไปถ่ายรูปเมืองภูเก็ตยามค่ำคืนแล้ว ด้วยความที่ผมรู้จักกับเจ้าของรีสอร์ท เขายังดูแลผมและพี่ชายอย่างดี แต่เสียดายที่วันเดินทางกลับเขาติดธุระเลยไม่ได้ร่ำลา

น่าเสียใจอย่างหนึ่ง ที่ยังมีแท็กซี่ป้ายดำที่มีพฤติกรรมดี สุภาพ นอบน้อมกับนักท่องเที่ยว ซึ่งผมเชื่อว่ามีอีกหลายคันที่ยังปิดทองหลังพระเพื่อชื่อเสียงของจังหวัด ไม่อาจที่จะกลบกระแสด้านลบของแท็กซี่ป้ายดำเหล่านั้น ทำนอง “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง”

สิ่งเดียวที่ทำได้คือ เก็บตังค์ไปภูเก็ตโอกาสหน้า เราคงได้กลับมาใช้บริการอีก …

(อ่านต่อ “ภูเก็ตโลว์ซีซันส์” ตอนที่ 2 ฉบับหน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น