xs
xsm
sm
md
lg

บทจบ !

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

การเขียนถึงสถานการณ์การเมืองในระหว่างที่มันเคลื่อนอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งต้องห้ามเพราะคนเขียนอาจเงิบ หน้าแตกเพล้ง ! ออกสื่อหากว่าสถานการณ์มันดันเลี้ยวไปทางซ้ายแต่คุณทะลึ่งเขียนว่ามันจะออกขวา

บทความชิ้นนี้เขียนตอนช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 12 ในขณะที่ยังไม่รู้ผลการหารือที่จัดโดยว่าที่ประธานวุฒิสภา รู้แต่ว่าชาวกปปส.จะยึดทำเนียบและถนนราชดำเนินกดดันทำนองว่าถ้าสถาบันหลักที่เหลืออยู่คือวุฒิสภา ศาลฎีกา กกต. (รวมทั้งรักษาการรัฐบาล) ทำไม่ได้อย่างนั้น กปปส.จะทำเอง

ฝุ่นกำลังตลบนี่เป็นสถานการณ์ช่วงปลายเรื่องแล้ว บรรดาไคลแม็กซ์ทั้งหลายอยู่ในช่วงนี้แหละ ทุกอย่างมันต้องมีวันสิ้นสุดการชุมนุมแบบกปปส.ก็กำลังใกล้สิ้นสุด รู้แพ้-ชนะกัน

ดูจากทรงข้อเรียกร้องท่าทีของทุกฝ่ายแนวโน้มของผลที่จะออกมามีแค่ 3 ทางใหญ่เท่านั้น

1.กำนันพามวลชนไปถึงสุดซอย ตั้งรัฐบาลปฏิรูปและสภาประชาชนทำหน้าที่นิติบัญญัติได้อำนาจรัฐไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นได้หมายถึงการปฏิวัติประชาชนเป็นผลสำเร็จ องค์กรสำคัญที่มีอยู่เห็นด้วยและยินยอมตาม ยกเว้นอำนาจเก่าซึ่งกลายเป็นอำนาจส่วนน้อย

2. ฝ่ายที่อยากให้เลือกตั้งเร็วชนะ นั่นคือแรงดึงของพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองบางส่วนโน้มน้าวพลังหลักที่เหลือของสังคม...ศาลฎีกา วุฒิสภา กองทัพ ราชการ กกต. กระแสสังคมคนกลางๆ ฯลฯ มาตัดสินกันที่เลือกตั้ง ซึ่งก็เชื่อว่าพรรคการเมืองทั้งหมดคงทานกระแสปฏิรูปไม่ไหว คงต้องเสนอแคมเปญปฏิรูปออกมาระหว่างหาเสียง จริงบ้างเท็จบ้างโม้บ้างตามแต่ความหน้าหนาหน้าบางของพรรคนั้นๆ

3. เกิดรัฐบาลคนกลางจากการเห็นพ้องของทุกฝ่าย รัฐบาลคนกลางมาจากการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองช่วยให้คนกลางเหล่านั้นผ่านเข้าสภา ทั้งนี้เพื่อรักษาระบอบ/ระบบไว้ รัฐบาลนี้มีหน้าที่ปฏิรูปเรื่องสำคัญๆ ชั่วคราวแล้วรอจัดการเลือกตั้งใหญ่ภายในเวลา ข้อเสนอลักษณะนี้มีหลายกลุ่มหลายองค์กรหลายคนเสนอขึ้นมาเป็นระยะ แต่ยังไม่เป็นกระแสหลักเพราะมวลชนแบบกลางๆ ไม่อยากเป็นเป้าให้พวกซัดกบาลเล่น เพราะใครที่เสนออะไรมาในภาวะสุดขั้วแบบนี้ล้วนแต่เสี่ยงจะถูกบ้อมเอาทั้งนั้น

ยุทธศาสตร์การต่อสู้หลักของกำนันสุเทพตั้งแต่แรกชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลงก็คือมุ่งหวังที่อำนาจรัฐ ประกาศจะเข้าไปเพื่อปฏิรูปประเทศ แนวทางที่เคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นใช้กำลังของมวลชนเป็นฐานและต้องใช้พลังอำนาจของส่วนอื่นๆ มาประกอบให้ครบองค์ อาทิ พลังอำนาจของกองทัพระบบราชการ ฝ่ายเอกชนฯลฯ เพื่อจะให้แปรกลายเป็นฉันทามติร่วม

ยุทธศาสตร์ศึกเช่นนี้มีทั้งจุดเด่นจุดด้อย ... จุดด้อยก็คือ หากขาดไปเสียซึ่งองค์ประกอบหนึ่งใดเช่น กองทัพไม่เอาด้วยก็จะไปไม่ถึงสุดซอย กำนันเพิ่งจะมาประกาศจะสู้โดย “ทัพหลัก” ที่มีอยู่ไปตามประสาตนในช่วงหลังมานี้นี่เอง

ยุทธศาสตร์การเอาชนะที่กำหนดไว้ มีผลต่อรูปขบวนและยุทธวิธี ก็ในเมื่อมาแนวนี้ ทรงของขบวนศึกจัดมาแบบนี้แต่แรกก็จำต้องเดินไปตามทางนี้ให้สุดทางของมัน ยากจะย้อนกลับไปแล้ว

อีกไม่ช้าก็รูปผลล่ะครับประเทศของเราจะออกมาทางใด แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวของผมยังไม่คิดว่าเราจะเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่แบ่งประเทศรบกันเหมือนอเมริกาในระยะอันใกล้นี้หรอก ยกเว้นรัฐบาลใหม่จะทำตัวไม่เข้าท่าเรียกแขกเสียเอง คือถ้ารัฐบาลใหม่ทำแบบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ปกปิดข้อมูลจำนำข้าว ดันออกกฎหมายช่วยพวกตัว แถมมีเสนาบดีปากเสียจะเป็นตัวเรียกแขกคนออกมาไล่เต็มแบบเดียวกัน เป็นวงจรอุบาทว์ที่ผู้มีอำนาจไม่รู้จักจำเสียที

ฝรั่งอเมริกันคนหนึ่งมาอยู่ไทยนานแล้วคุยกับผมเรื่องสถานการณ์การเมืองเห็นคนไทยเครียดกันมากผลจะออกเช่นไร แต่สำหรับแกมองว่าปล่อยให้มันเป็นไปของมันเถิด มันก็เป็นไปตามวิถีทางตามพัฒนาการของมัน อเมริกาบ้านเกิดของเขาตั้งประเทศได้ 80 ปีเกิดสงครามกลางเมืองแบ่งประเทศฆ่ากันเลยแล้วค่อยปรับตนเรียนรู้กันไปจนมาถึงทุกวันนี้ ฝรั่งคนนั้นถามอีกว่า บ้านยูก็เพิ่งจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 80 กว่าปีเองไม่ใช่หรือ ? เหมือนจะบอกเป็นนัยว่ามันก็ยังไม่ลงตัวอยู่ปล่อยๆ ไปมันก็จะเรียนรู้ปรับลงตัวได้เอง

สารภาพว่าผมเริ่มคล้อยตามวิธีคิดแบบ “พัฒนาการ” ของฝรั่งคนนี้อยู่พอสมควร ทำใจได้แล้วอะไรจะเกิดก็ให้มันเป็นไปในระหว่างนั้นคนไทยเองก็คงจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงกันเอง อย่างคนเสื้อแดงก็ได้ประสบการณ์โฟนอินให้พี่น้องออกมาสู้แล้วตัวเองยังอยู่สบาย พอชนะขึ้นมาประเคนทรัพย์สมบัติวาสนาให้แม่ทัพนายกองส่วนไพร่ราบที่ติดคุกไม่ยอมนิรโทษให้จนกระทั่งบัดนี้ เพราะมัวแต่จะผูกรวมนิรโทษกับนายใหญ่กลายเป็นเชลยของนายใหญ่เสียเอง คนเสื้อแดงเลยลดลงๆ จากปี 2553 ดังที่ปรากฏ

หรือทางฝ่ายไม่เอาทักษิณต่อไปก็คงจะเรียนรู้มากขึ้นตามประสบการณ์ตรงของตน อะไรคือการกำจัดระบอบทักษิณ? เอาแค่ได้อำนาจรัฐมาคือการกำจัดหรือ? แล้วสิ่งใดล่ะที่จะเป็นทางออกระยะยาวของบ้านเมือง คนบางกลุ่มซึมซับและเข้าใจวาทกรรมปฏิรูปประเทศที่แพร่หลายตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แต่บางกลุ่มคิดแค่ว่าปฏิรูปเป็นผลพลอยได้จากการขับไล่ระบอบทักษิณ เปลี่ยนแปลงระบบการเมืองเพื่อขจัดคนไม่ดีทั้งๆ ที่แท้จริงการปฏิรูประบบการเมืองเพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ไม่มีผู้อ้างอำนาจรัฐมากอบโกยเบียดบังต่างหาก

ถ้ากำนันแพ้ !? แปลว่าไปไม่ถึงสุดซอย ก็ใช่ว่าจะสูญเปล่าหรอกนะ สิ่งที่ได้มาตลอดหกเดือนว่ามากแล้ว บทเรียนจากนี้ก็สำคัญไม่แพ้กันเพราะมวลมหาประชาชนก็จะได้บทเรียนครั้งใหญ่ ถอดประสบการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญว่าด้วย “ยุทธศาสตร์—ยุทธวิธี” การเอาชนะอย่างยั่งยืนแท้จริงว่าควรเป็นเช่นไร

มีข้อสังเกตว่าหลังเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ ทุกครั้งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปของภูมิศาสตร์ภูมิทัศน์สังคมการเมืองนั้นๆ ไปด้วย เหตุการณ์ 14 ตุลามีผลให้พลังของประชาชนขยับตื่น โครงสร้างส่วนบนไม่ถูกผูกขาดเฉพาะกลุ่มอำนาจ พอมา 6 ตุลาภูมิทัศน์สังคมการเมืองก็เปลี่ยนอีก ยิ่งพฤษภาทมิฬก็ยิ่งชัดเจนว่าเป็นยุคของชนชั้นกลางนำมาสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2540 พอมาถึงยุคทักษิณการเคลื่อนไหวของประชาชนไม่ว่าฝ่ายไหนขึ้นมาทีก็มีผลต่อการเปลี่ยนเชิงคุณภาพภายในโครงสร้างด้วย ไม่ว่าจะ 193 วันของพันธมิตรหรือแม้แต่แดงเผาเมืองปี 53

หลังเหตุการณ์มวลมหาประชาชนนกหวีดที่ยาวนานรอบนี้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมแน่นอน นักการเมืองและผู้มีอำนาจได้ประสบการณ์สำคัญไปแล้วว่าการเหิมอำนาจย่ามใจในพลังของฝ่ายตนคิดทำอะไรตามอำเภอใจมันนำมาซึ่งความขุ่นเคืองและตีนนับล้านคู่ ผมไม่เชื่อว่ารัฐสภาไทยจากนี้ไปจะไม่ทำระยำแปรญัตติพวกมากลากไปเปลี่ยนสาระจากวาระรับหลักการแล้วลงมติตอนตีสี่เหมือนกับสภาที่เพิ่งหมดไปแน่นอน นักการเมืองทั้งหลายจะได้บทเรียนสำคัญว่าของตายเสื้อแดงที่คิดจะปลุกก็ปลุกให้มานั้นมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น คนก็มีความคิดเช่นกัน

ดังนั้นการที่เสื้อแดงกลุ่มที่ยังออกมาเหนื่อยยากตากฝนที่ถนนอักษะแต่อดีตนายกหมาดๆ ยังไปเดินชอปปิ้งที่ห้างดังเชียงใหม่อย่างสบายอารมณ์ก็คงจะตื่นรู้ไปอีกหลายคน

ผมชมชอบและต้องขอยกย่องชาวนกหวีดบรรดาคนที่หนุนกำนันแต่โพสต์ข้อความไม่เห็นด้วยถึงขั้นประณามการกระทำไม่เข้าท่าของการ์ด กปปส. ที่ไล่นักท่องเที่ยวลงเดินเอย ที่ไปทำร้ายคนตามอำเภอใจเอย...ประชาชนแบบนี้แหละครับที่จะเป็นหลักให้กับบ้านเมืองในอนาคต อะไรถูกว่าตามถูกเห็นอะไรผิดต่อให้พวกตัวเองก็ว่าตามผิด คนแบบนี้ควรจะเยอะขึ้นๆ และพลังแบบนี้ล่ะที่จะนำการเมืองไทยออกจากวังวนได้เร็วขึ้น

บทความนี้ไม่ขอฟันธงว่าบทสรุปจบของเหตุการณ์จะออกมาแบบไหน กำนันไปถึงสุดซอยหรือไม่? เพราะไม่มีสติปัญญามากพอจะหยั่งอนาคตได้ แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมืองไทยจากนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ทุกอย่างล้วนเป็นประสบการณ์ทั้งสิ้น ต่อให้กำนันไปไม่ถึงสุดซอยจริงๆ ขึ้นมา ประชาชนก็จะรู้ได้โดยตัวเองว่ายุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการต่อสู้ควรจะเปลี่ยนเป็นแบบใด สมมติเกิดมีรัฐบาลทำไม่เข้าท่าในอนาคตแน่นอนจะยังมีชาวนกหวีดที่จู่ๆ ออกมานัดหมายกันเป่าที่สถานีรถไฟฟ้าและย่านชุมชนสำคัญทุกเที่ยงแบบมืดฟ้ามัวดินอย่างแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น