xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานตระกูลชิน ฉบับตีความ (1)

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ตอน: คูชุ่นเส็งวัยหนุ่ม ประวัติที่ (จงใจ) หายไป

ต้นตระกูลชินวัตรเคยอยู่เมืองจันทบุรี แซ่คู ตามประวัติบอกว่าชื่อ คูชุ่นเส็ง (จีนแคะ-ฮากกา) ขึ้นบกมาแต่สมัยปลาย ร.4 ต้น ร.5 โน่นเลย แต่เป็นพ.ศ.ไหนไม่ชัด

พวกแคะ หรือฮากกานี่อยู่ทางตะวันออกของกวางตุ้งตะวันตกของฟูเจี้ยน ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ดินแดนกวางตุ้งละแวกนั้นวุ่นวายพอดูเพราะเป็นช่วงสุดท้ายของราชวงศ์ชิง (ผมเปียยาวๆ แบบในหนังนั่นล่ะ) มีสงครามฝิ่นกับอังกฤษ ต่อด้วยความไม่สงบภายใน กบฏซินไห่ กบฏไท่ผิง ซุนยัดเซ็นก็กำลังเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มเดินสายหาทุนกับชาวจีนโพ้นทะเลแถวเยาวราช ปีนัง สิงคโปร์ บรรยากาศเมืองจีนเป็นสงครามกลางเมือง นี่คงเป็นมีส่วนเป็นแรงผลักให้ตระกูลคูอพยพมา

แซ่คูนี่เป็นแซ่เฉพาะของพวกฮากกา จีนกลุ่มอื่นไม่มีแซ่นี้ คำถามคือ แซ่คู เมื่อเปลี่ยนเป็นไทยไม่เปลี่ยนเป็นนามสกุลให้มีคำว่า คู เช่น คูนะวัตร สาคูสกุล หรืออะไร คูๆ ซะล่ะ อันนี้มีคำอธิบายตามหลักภาษา

"แซ่คู" เป็นการเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วหากเป็นสำเนียงจีนกลางใช้ "แซ่ชิว"

"ชิว" เป็นคำจีนกลาง คนตั้งนามสกุลคงจะใช้รากศัพท์คำนี้มาแปลงเป็นแขกเพื่อให้ไฮโซมโหระทึกขึ้น....

แปลงไปแปลงมาได้เป็น ชินวัตร !

อันนี้ต้องยกนิ้วให้เพราะตั้งได้ดี กล่าวคือมีพยางค์ “ชิ” บวกกับ “วะ” อันเป็นของเดิมซ่อนอยู่ในเครื่องทรงใหม่แบบแขกบาลี ฟังดูแหมผู้ดีมีตระกูลไม่เหลือเค้าเดิม

ซึ่งต้องยกความดีให้กับลุงของทักษิณคือ พ.อ.พิเศษ ศักดิ์ ชินวัตร ซึ่งรับราชการเป็นทหารและมีลูกชายเป็นทหารสืบต่อ (อุทัย ชัยสิทธิ์) แล้วก็เป็นคนตัวตั้งตัวตีเปลี่ยนนามสกุลแซ่คูให้คนในตระกูลเปลี่ยนมาใช้ตามทั้งหมด

คูชุ่นเส็ง อพยพครอบครัวจากเมืองจันทน์ไปถึงเชียงใหม่เมื่อพ.ศ. 2451 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 อันนี้ชัดเจนเพราะเป็นบันทึกจากปากคำของนายเชียง ลูกชายนายเส็งเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ แต่เรื่องมาอยู่เมืองไทยเมื่อไหร่ เกิดที่ไทย หรือเกิดกวางตุ้งอันนี้ไม่ชัดเจน

ตอนที่ทักษิณเรืองอำนาจเขามีความกระหายใคร่รู้ว่าต้นตระกูลของตนเป็นมายังไง บ้านเดิมอยู่ไหน หลุมศพของบรรพบุรุษที่เมืองจีนอยู่ตรงไหน ขนาดขอประสานกับรัฐบาลจีนเพื่อช่วยสืบหา “ร่องรอยบรรพบุรุษ” ให้

แรงขับอย่างหนึ่งของเขาก็เพราะในทศวรรษก่อนหน้าบรรดาผู้นำของโลกหลายคนมีเชื้อสายฮากกา-จีนแคะกันโดยไม่ได้นัดหมาย เติ้งเสี่ยวผิง ลีกวนยิว เฉียนสุ่ยเปียน คนพวกนี้สามารถสืบหารอยบรรพบุรุษได้

รัฐบาลจีนใช้กลไกที่มีอยู่พลิกแผ่นดินกวางตุ้ง - ฟูเจี้ยน เพื่อหาร่องรอยของ คูชุ่นเส็ง ปรากฏหาไม่พบ

พบเพียงแต่บรรพบุรุษสายนางยินดี ชินวัตร อยู่ที่ หมู่บ้านเหมย เมืองเหมยโจว มณฑลกวางตุ้ง เป็นจีนแคะ-ฮากกาเหมือนกับสายพ่อ ซึ่งก็ยังดี ดีกว่าไม่เจอเลยทั้งสายพ่อสายแม่ เฉพาะเรื่องราวของสายแม่ก็น่าสนใจทีเดียวเพราะบิดาของฝ่ายแม่ (ตาของทักษิณ) ชื่อ เจริญ ทุ่งซิ้ว ชื่อจีนว่า หวงฉวนเฉิง เคยถูกส่งตัวกลับไปเมืองจีน เรียกภาษาราชการคือ “เนรเทศ” ในยุคสงครามโลกที่จอมพลป.เข้มงวดกับคนที่มีพฤติกรรมฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ แล้วตาเจริญคนนี้ก็นำครอบครัวรวมถึงแม่ยินดีไปอยู่ที่โน่นด้วย ต่อมาค่อยวิ่งเต้นกลับมาในยุคจอมพลถนอม กิตติขจร

กลับมาที่ตระกูลคูกันต่อ...ประวัติของตระกูล คู-ชิว-ชินวัตร ตัดขาดสะดุดแค่ คูชุ่นเส็ง ขึ้นบกที่เมืองจันทน์สืบหาไกลขึ้นไปไม่ได้ และก็น่าสังเกตว่าไม่ได้บ่งบอกรายละเอียดของการประกอบอาชีพที่เมืองจันทบุรี

แปลกมากที่คนๆ หนึ่งปักหลักทำมาหากินยาวนานจนมีครอบครัวมีลูกหลายคนทุกคนก็ตามมาอยู่เชียงใหม่แต่ไม่มีใครถ่ายทอดต่อลูกหลานว่าการทำมาหากินที่จันทบุรีเป็นเช่นไรและเหตุใดจึงอพยพโยกย้ายจากมา

เป็นไปได้หรือไม่ว่าบรรพบุรุษเองก็ไม่อยากจะเปิดเผยให้กับลูกหลานได้ทราบ?

ยิ่งลักษณ์เคยไปพูดที่สมาคมหอการค้าไทย-จีนบอกว่า “คุณปู่ทวดของดิฉันเป็นคนจีนแคะ แซ่คู “คูชุนเส็ง” อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง และได้เดินทางมาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2403” (ซึ่งการตีความวิเคราะห์จากนี้ไปจะยึดพ.ศ.นี้ไว้ก่อนเป็นหลัก)

คูชุ่นเส็ง ออกจากเมืองจันทน์ราวปี 2451-2453 แสดงว่าเขาใช้ชีวิตที่บางกระจะ เมืองจันทน์ ราว 50 ปี !!! ไม่ปรากฏว่ามีประวัติชีวิตวัยหนุ่มของชุ่นเส็ง...โผล่มาอีกทีก็เป็นประวัติวัยแก่ไปเลย

ถ้านายเส็งแก่แดดตามผู้ใหญ่มาเมืองไทยตอนอายุ 10 ขวบ (เกิด2394) แสดงว่าตอนที่ตัดสินใจอพยพครอบครัวไปเชียงใหม่เมื่อปี 2454 ก็อายุ 60 ปีแล้ว และหากเดินทางมาไทยเมื่ออายุ 20 ปี แสดงว่าตอนไปเชียงใหม่ก็อายุปาเข้าไป 70 แล้ว !?

ถือว่าเป็นวัยที่แก่มากแล้วทีเดียวสำหรับการจะไปปักหลักสร้างเนื้อตัวใหม่ แล้วเชียงใหม่ในพ.ศ.นั้นไม่ได้ไปง่ายๆ ทางรถไฟยังไม่ได้สร้าง การเดินทางสะดวกที่สุดคือนั่งรถไฟไปปากน้ำโพ หรืออุตรดิตถ์ ลงเรือหางแมงป่องทวนน้ำขึ้นมา ทุลักทุเลไม่ใช่เล่น

อะไรล่ะที่เป็นแรงจูงใจ หรือไม่ก็แรงผลักดันให้ คูชุ่นเส็ง หอบลูกชายวัยรุ่นชื่อว่า เชียง และพี่น้องอีกสามคนมาเชียงใหม่

แรงจูงใจอันเป็นปัจจัยบวก เช่นช่องทางอาชีพร่ำรวยกว่า หรืออาจจะตั้งหลักในดินแดนของดอกไม้หอม ป่าสวย โรแมนติก

หรือแรงผลักดันอันเป็นปัจจัยด้านลบ ก็เช่น อยู่เมืองจันทน์ หรือต่อให้อยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้แล้ว ! ต้องหนีไปไกลๆ ไปอยู่เมืองลาวเชียงใหม่ซะเลย

อะไรกันแน่ ? ที่ทำให้นายเส็งอายุปูนนั้นนำพาตระกูลคูเดินทางไกลมาเชียงใหม่

ยุคสมัยนั้นเชียงใหม่ถือเป็นดินแดนห่างไกลคนละวัฒนธรรมกับไทยภาคกลาง คนกรุงเทพจำนวนหนึ่งยังเรียกรวมว่าเมืองลาวอยู่เลย ตอนที่ตั้งมณฑลเทศาภิบาลยุคแรกๆ เรียกว่ามณฑลลาวเฉียง แล้วค่อยเปลี่ยนเป็น มณฑลพายัพ เจ้าดารารัศมีไปอยู่กรุงเทพฯ ถูกเรียกว่าเจ้าลาว

เชียงใหม่ในพ.ศ. 2554 กำลังเป็นเมืองเปิดที่คึกคักทีเดียว เพราะศูนย์อำนาจกรุงเทพฯ ส่งข้าราชการอำมาตย์ต่างพระกรรณ กองทหารไปอยู่นานพอสมควรที่จะกลมกลืนพอไปด้วยกันได้กับอำนาจเดิมซึ่งอยู่ที่เจ้าหลวงผู้ครองนคร คนต่างถิ่นจะอยู่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออกแถววัดเกตุ คนฝรั่งต่างชาติทำไม้ก็อยู่ฝั่งเดียวกันนั้นบริเวณที่เป็นเชิงสะพานนวรัฐมีโบสถ์คริสต์ ก่อนนั้นเป็นที่ตั้งของบริษัททำไม้บอมเบย์เบอร์ม่ากับอีสต์เอเชียติก มีช่องทางขยับขยายร่ำรวยต่อได้

หากมองในแง่ดีอันแรกนี้เป็นแรงจูงใจให้โยกย้าย

ส่วนในอีกทฤษฎีคือปัจจัยแรงผลัก...ไม่ได้อยากย้ายแต่จำเป็นต้องย้าย

คูชุ่นเส็งวัยกว่าหกสิบ-เจ็ดสิบ อพยพหนีภัยความขัดแย้ง (หรือไม่ก็ภัยจากคดีความก็ไม่รู้แน่) แรกเริ่มอพยพออกจากจันทบุรีไปอยู่กรุงเทพแถวตลาดน้อยราวปีสองปี นายเชียงได้ประโยชน์จากการมาอยู่กรุงเทพเพราะได้เข้าเรียนที่อัสสัมชัญอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เรียนยังไม่จบผู้เป็นพ่อคือ คูชุ่นเส็ง ก็ให้ออกแล้วก็หอบครอบครัวมุ่งเหนือไปเผชิญโชคเอาดาบหน้า

ความที่เผยแพร่มาก่อนหน้านี้ก็คือมีการชี้ไปว่า คูชุ่นเส็ง เป็นอั้งยี่เมืองจันทน์?

ต่อมาเกิดมีเรื่องราวกับผู้พิพากษาของสยามถึงขนาดชกต่อยทำร้ายร่างกาย จึงเป็นสาเหตุของการตัดสินใจย้ายครัวเดินทางไปไกล และปกปิดชีวิตประวัติในช่วงก่อนหน้าเมื่อมาปักหลักที่เชียงใหม่แล้ว

ผู้เขียนเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับข้อสันนิษฐานนี้และเคยเขียนบทความต่อเนื่องชื่อว่า แกะรอย: ต้นตระกูลชินวัตรเป็นอั้งยี่จริงหรือ ? ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 ให้รายละเอียดไว้พอสมควร

จะเป็นหัวหน้าอั้งยี่หรือไม่ได้เป็นนั่นค่อยว่ากันต่อแต่ที่แน่ๆ ก็คือ การปักหลักรากฐานชีวิตประกอบอาชีพทำมาค้าขายในระยะแรกที่เมืองจันทบุรีถือว่า “ล้มเหลว” ก็ว่าได้ เพราะหากมีปึกแผ่นมั่นคงแล้วก็คงไม่คิดอพยพหรอก

มันจึงยังมีข้อมูลแง่มุมและเรื่องราวประกอบที่ชวน “ตีความ” เพิ่มเติมหลายเรื่องหลายประเด็น

ในตอนต่อจากนี้จะวิสัชชากันเรื่องตระกูลคู กับ กระแสข่าวพัวพันแก๊งอั้งยี่รวมถึงประวัติของตระกูลคู-ชินวัตร ในแง่มุมที่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงกันจึงขอใช้ชื่อซีรีส์บทความชุดนี้ว่า ตำนานตระกูลชิน ฉบับตีความ ที่ค่อนข้างยาวพอสมควร-โปรดติดตามตอนต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น