xs
xsm
sm
md
lg

เหลียวหลังแลหน้า จากทีวีเสรี ถึงช่องข่าวทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

สำนักงาน กสทช.จัดรอบทดลองทดสอบโปรแกรมประมูลดิจิตอลทีวี (PreMock Auction) ก่อนเปิดประมูลจริง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556
ในที่สุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ก็ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ.2556 ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจะทำการประมูลปลายเดือนตุลาคมนี้

การประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว (ช่อง 13-15) ราคาประมูลเริ่มต้นที่ 140 ล้านบาท, หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ (ช่อง 16-22) เริ่มต้นที่ 220 ล้านบาท, หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ช่อง 23-29) เริ่มต้นที่ 380 ล้านบาท และหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง หรือ เอชดี (ช่อง 30-36) เริ่มต้นที่ 1,510 ล้านบาทซึ่งผู้ชนะการประมูลจะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (ไลเซนส์) มีอายุ 15 ปี

สำหรับช่อง 1-12 เป็นประเภทบริการสาธารณะ ซึ่งขณะนี้ กสทช. มอบไลเซนส์แล้ว 4 ช่อง ประกอบด้วย สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) ได้ช่อง 1, สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) กรมประชาสัมพันธ์ ได้ช่อง 2, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้ช่อง 3 และช่อง 4 (รายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตามเอ็มโอยูทื่ทำไว้กับ กสทช.) และเร็วๆ นี้ก็จะมอบไลเซนส์ให้กับสถานีโทรทัศน์รัฐสภา ช่อง 10 ความเข้าใจระหว่างรัฐบาล รัฐสภากับประชาชน

ส่วนอีก 6 ช่องที่เหลือ ได้แก่ ช่อง 5 การศึกษา ความรู้, ช่อง 6 ศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรม, ช่อง 7 สุขภาพ กีฬา คุณภาพชีวิต,ช่อง 8 ความมั่นคงของรัฐ,ช่อง 9 ความปลอดภัยสาธารณะ, ช่อง 11 ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและช่อง 12 เด็กและคนด้อยโอกาส ซึ่งทั้ง 12 ช่อง กสทช. จะให้ใบอนุญาตครั้งแรกมีอายุ 4 ปี จากนั้นเมื่อครบ 4 ปีจะพิจารณาต่อใบอนุญาตไม่เกิน 15 ปี

เมื่อมองถึงความแตกต่างของการประมูลทีวีดิจิตอลทั้ง 4 ประเภท จะพบว่าแม้ช่องรายการเด็กราคาเริ่มต้นจะถูกที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องเนื้อหา โดยเฉพาะข้อห้ามด้านความรุนแรง ศีลธรรม กฎหมาย และการใช้ภาษา ส่วนช่องข่าวต้องมีสัดส่วนรายการข่าวหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งแก้ไขจากของเดิมร้อยละ 75 และบริษัทที่ประมูลช่องข่าวห้ามประมูลช่องเอชดี ตามข้อ 8.5 ของประกาศ กสทช. ซึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการเป็นนอมินี

ระหว่างทั้ง 4 ช่องที่จะประมูล น่าจับตามองมากที่สุดต้องยกให้ช่องข่าว เพราะหากเปรียบเทียบกันแล้ว ช่องรายการเด็กแม้เวลาประมูลจะสนุกที่สุด แต่พอได้คลื่นความถี่มาก็รู้สึกไม่สนุกตามไปด้วย เพราะต้องทำตามกรอบที่กำหนดไว้ ส่วนช่องทั่วไป เรียกแบบชาวบ้านว่าช่องวาไรตี้ นอกจากจะต้องแข่งกับช่อง 3 กับช่อง 7 ที่ยังครองตลาดชาวบ้านอยู่แล้ว ยังต้องแข่งกับทีวีดาวเทียมที่เน้นนีชมาร์เก็ต หรือตลาดใครตลาดมันอีก เช่น ช่องแกรมมี่ ช่องอาร์เอส

แต่สำหรับช่องข่าว แม้มองผิวเผินอาจจะไม่ได้ทำเงินเป็นกอบเป็นกำเมื่อเทียบกับช่องวาไรตี้ แต่จุดขายคือ “ความน่าเชื่อถือ” ที่สามารถสั่งสมบารมีขึ้นมาได้ แม้จะมีคนแย้งว่าเดี๋ยวนี้สารพันเรื่องราวถูกสร้างขึ้น กดแชร์ ส่งต่อจากสังคม จะเป็นนายทวารข่าวสาร (Goalkeeper) เหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว แต่ความเป็นสื่อมันสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบแทนคนดูว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามที่แชร์ต่อๆ กันมามันจริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่

แล้วทุกวันนี้สถานีข่าวผ่านดาวเทียมผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด บรรดาฟรีทีวีต่างปรับเปลี่ยนรายการข่าวเพื่อเรียกผู้ชม จากเดิมที่ข่าวประจำวัน มีข่าวอะไรมาก็เสนอไปงั้นๆ ก็หันมาเจาะเรื่องราวที่สังคมให้ความสนใจ มันสะท้อนให้เห็นว่า แม้รายการข่าวมองผิวเผินดูเป็นเรื่องน่าเบื่อเพราะเข้าใจยาก แต่หากตีโจทย์ให้แตกว่าคนดูต้องการดูข่าวแบบไหน ข่าวอะไรที่คิดว่าสำคัญและนำไปบอกต่อแบบปากต่อปากได้ ก็ทำให้ข่าวมีคุณค่าและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของการประมูลช่องข่าวในครั้งนี้ก็คือ หลายบริษัทล้วนแล้วแต่มีที่มาจากสื่อสิ่งพิมพ์ เฉกเช่น “เครือเนชั่น” ที่ตีปี๊บมาตั้งแต่ต้นปีว่าจะประมูลทีวีดิจิตอล 3 ช่อง โดยให้บริษัทแม่อย่างเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ประมูลช่องวาไรตี้ ส่วนบริษัทลูกอย่าง เนชั่น บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เนชั่น แชนแนล ก็ประมูลช่องข่าว และเนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนต์ ประมูลช่องรายการเด็ก

โดยทั้งสามบริษัทใช้วิธีระดมทุนผ่านการเพิ่มทุนจดทะเบียน ก่อนเสนอขายหุ้นเพิ่มเติมเพื่อนำไปเป็นทุนประมูลทีวีดิจิตอล ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1,950 ล้านบาท การที่เครือเนชั่นโปรโมตแบบฮาร์ดเซลล์ผ่านสื่อที่มีอยู่ทั้งหมด ทำเอาราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นจนสงสัยว่าเป็นการปั่นหุ้นหรือไม่ ไม่นับรวมความกังขาที่ว่า พอเอาเข้าจริงเมื่อถึงเวลาลงทุนทีวีดิจิตอลหลังได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว จะสร้างรายได้คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไปตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

เพราะนอกจากเครือเนชั่นที่คาดหวังทีวีดิจิตอลเป็นพิเศษแล้ว ยังมีคู่แข่งหลายสิบช่อง เช่น “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ที่ตั้งบริษัทลูกที่ชื่อ ทริปเปิ้ลวีบรอดแคส ผู้บริหารออกมาเปิดเผยว่า จะประมูลทีวีดิจิตอลจำนวน 1 ช่อง หรือสูงสุด 2 ช่อง เป็นประเภทช่องรายการข่าว แต่เมื่อ กสทช. ได้กำหนดไม่ให้ประมูลช่องเอชดี กับช่องข่าวพร้อมกัน อีกทั้งไทยรัฐทีวีทำออกมารองรับระบบเอชดีล้วนๆ ว่ากันว่าอาจจะประมูลช่องเอชดีแล้วเพิ่มคอนเทนต์ข่าวในสัดส่วนรายการแทน

หรือจะเป็น “สี่พระยาการพิมพ์” เจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ มีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเดลินิวส์ ทีวีอยู่แล้ว ก็จะประมูลช่องข่าวเช่นกัน “โพสต์ พับลิชชิ่ง” ก็สนใจที่จะกระโดดร่วมประมูลด้วย หลังพับแผนทำสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมโพสต์ทีวีไปก่อนหน้านี้ อีกด้านหนึ่ง “สยามสปอร์ต ซินดิเคท” ร่วมหุ้นกับกลุ่มบริษัทสามารถ ตั้งบริษัทลูก “ไอ-สปอร์ต” ซึ่งมีช่องข่าวกีฬา 24 ชั่วโมง สยามสปอร์ตนิวส์ (สยามกีฬาทีวี เดิม) อยู่ในมือแล้ว ก็จะประมูลช่องข่าวเช่นกัน

ยังไม่นับสถานีข่าวผ่านดาวเทียมที่พร้อมจะประมูลช่องข่าวผ่านทีวีดิจิตอลที่พร้อมสู้ศึกเต็มที่ อย่าง “สปริง คอร์ปอเรชั่น” เจ้าของสถานีข่าวสปริงนิวส์ ยอมพับแผนพัฒนาระบบออกอากาศแบบเอชดีไว้ก่อนเพื่อรอประมูลทีวีดิจิตอล “วอยซ์ทีวี” ที่จะประมูลช่องข่าวและวาไรตี้ แล้วยังมี “กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ” (ช่อง 7 สี) ที่มีสถานีข่าวมีเดีย นิวส์แชนแนลอยู่ในมือ หรือรัฐวิสาหกิจอย่าง “อสมท.” ก็หวังที่จะให้สำนักข่าวไทยมีช่องข่าวเต็มตัวเช่นกัน

ทีนี้ เมื่อ กสทช. ออกกฎเหล็กขึ้นมาว่า บริษัทที่ประมูลช่องข่าวห้ามประมูลช่องเอชดี ผู้เข้าร่วมประมูลก็มีอยู่สอง-สามตัวเลือก คือ ประมูลช่องวาไรตี้แล้วเพิ่มคอนเทนต์ข่าวในสัดส่วนรายการลงไป แบบเดียวกับมติชนทีวีผลิตรายการข่าวให้เวิร์คพอยท์ทีวี หรือจะใช้บริษัทนอมินีประมูล (ซึ่งสุ่มเสี่ยงขัดต่อประกาศของ กสทช. เว้นเสียแต่ กสทช.ยอมหลับตาข้างเดียว) หรือไม่เช่นนั้นก็ไปร่วมผลิตรายการกับผู้ได้รับใบอนุญาตช่องข่าว ซึ่งอย่างหลังเป็นไปได้ยาก

แต่ก่อนอื่น แม้การประมูลช่องข่าวในทีวีดิจิตอลเที่ยวนี้ นายทุนทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ต่างรอลุ้นที่จะได้ใบอนุญาตไปครอง ทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ภาพรวมอยู่ในสภาพทรงตัว หรือทดแทนทีวีดาวเทียมที่เข้าถึงจำกัด แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า การทำช่องข่าวไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะมีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ “ไอทีวี” ทีวีเสรี ซึ่งประชาชนเคยเรียกร้องกันมา แต่ก็ต้องปิดฉากลงเพราะอำนาจทุนที่ผิดเพี้ยน

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน รายการข่าวโทรทัศน์มีเพียงข่าวในพระราชสำนักและข่าวประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล แม้จะมีผู้บุกเบิกข่าวโทรทัศน์โดยเพิ่มรูปแบบการนำเสนอและเนื้อหารายการ แต่รายการข่าวตามช่องฟรีทีวีต่างๆ ก็อยู่ภายใต้กลไกของรัฐ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 สื่อมวลชนทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ถูกเคลือบแคลงสงสัยว่ารายงานความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

นำมาซึ่งเสียงเรียกร้องให้เกิด “สถานีโทรทัศน์เสรี” เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องเป็นกลางอย่างแท้จริง รัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน จึงมีแนวคิดก่อตั้งไอทีวี โดยกำหนดเงื่อนไขสัมปทานไว้ว่าต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย ในสัดส่วนที่เท่ากัน พร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อป้องกันการผูกขาด และมีสัดส่วนเนื้อหารายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิงไม่เกินร้อยละ 30

กระทั่งปี 2538 ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดประมูลสัมปทานการดำเนินงานสถานีโทรทัศน์เสรี กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ ซึ่งนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ชนะการประมูล เสนอผลตอบแทนสูงสุดประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท ตลอดทั้งอายุสัมปทาน 25 ปี ประมาณ 25,000 ล้านบาท ภายหลังผู้ร่วมประมูลได้ถอนตัวออกไป จึงได้เชิญชวนเครือเนชั่นเข้าร่วมถือหุ้นร้อยละ 10 และบริหารสถานี

ไอทีวีภายใต้การนำของ นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวยุคนั้น มีชื่อเสียงจากข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะการเปิดโปงส่วยทางหลวง และรายการสารคดีเชิงข่าว อาทิ ถอดรหัส ย้อนรอย ฯลฯ แต่เนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ขณะเดียวกันสถานีข่าวในยุคนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย อุปสรรคการออกอากาศที่ไม่คมชัด และจุดอ่อนในเรื่องการตลาด มีรายได้จากโฆษณาน้อย หนำซ้ำไม่มีโฆษณามาลงเพราะแทบจะไม่มีรายการบันเทิงเลย

กระทั่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้ดึงกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของ เข้ามาถือหุ้นไอทีวีด้วยวงเงิน 1,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 39% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ได้แปลงหนี้เป็นทุน มีสัดส่วน 55% โดยมอบสิทธิ์การบริหารให้กับชินคอร์ป ซึ่งในช่วงเวลานั้น พ.ต.ท.ทักษิณได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และกำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้ชื่อของ “ทีวีเสรี” ไม่เป็นเสรีอีกต่อไป

การเข้ามาถือหุ้นในไอทีวีของชินคอร์ป ถูกคัดค้านโดยพนักงานฝ่ายข่าวของไอทีวี นำโดย นายจิระ ห้องสำเริง บรรณาธิการบริหารขณะนั้น ส่วนผู้บริหารไอทีวีฝั่งชินคอร์ปฯ โยกย้ายให้นายเทพชัยไปเป็นที่ปรึกษาสถานีฯ ผู้บริหารกลุ่มชินคอร์ปฯ มีความพยายามเข้ามากำหนดและชี้นำประเด็นในฝ่ายข่าวมากขึ้น นำมาซึ่งการออกแถลงการณ์ ให้ยุติการครอบงำ กดดัน กลั่นแกล้ง และแทรกแซงสื่อ ซึ่งถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 41 ก่อนที่นายเทพชัยจะลาออก

การทำข่าวการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม 2544 จังหวะเดียวกับที่พรรคไทยรักไทยลงเลือกตั้งมีการแทรกแซงการนำเสนอข่าวหลายกรณี สั่งไม่ให้ออกอากาศข่าวเรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์ สั่งห้ามผู้ประกาศข่าวอ่านหนังสือพิมพ์ ข่าวเรื่องการโอนหุ้น และที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ สั่งห้ามทำข่าวปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ สั่งทำข่าวเปิดตัวนักร้อง “เชอรี่-ชยาภา วงศ์สวัสดิ์” ลูกสาวนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ฯลฯ

ก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน กลุ่มผู้สื่อข่าวไอทีวี ออกแถลงการณ์ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้ยุติการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าว โดยเชื่อว่าการแทรกแซงจะทำให้ไม่สามารถเสนอข่าวอย่างเป็นกลางและไม่สามารถรักษาความน่าเชื่อถือของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไว้ได้ กระทั่งมีการร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน ผู้บริหารไอทีวีก็มีคำสั่งเลิกจ้างพนักงาน 23 คน ที่ร่วมเคลื่อนไหวคัดค้าน อ้างว่าทำให้บริษัทเสื่อมเสีย เรียกกันว่า “กบฏไอทีวี”

ไอทีวีดึงนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ และ กันตนา กรุ๊ปเป็นพันธมิตร ปรับผังรายการใหม่โดยเพิ่มรายการบันเทิงยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน แก้สัดส่วนการออกอากาศเนื้อหาสาระ กับรายการบันเทิงเป็นร้อยละ 50 เท่ากันและขอลดค่าสัมปทานโดยอ้างว่า เอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่าอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายชัยเกษม นิติสิริ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ลดค่าสัมปทานลงจากปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นปีละ 230 ล้านบาท

เมื่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นเช่นนี้จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ในที่สุดเมื่อปี 2549 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการเนื่องจากมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ไอทีวีต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานและปรับสัดส่วนรายการตามเดิม ที่สำคัญต้องจ่ายค่าปรับจากการเปลี่ยนสัดส่วนรายการ คิดเป็นวันละ 100 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปีรวมประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท แม้จะอุทธรณ์แต่ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืน

เมื่อไอทีวีชำระค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่าย รวมประมาณ 1 แสนล้านบาทไม่ได้ ประกอบกับผู้บริหารฝ่ายชินคอร์ปฯ ต่างยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง กระทั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญาเมื่อ 7 มีนาคม 2550 ไอทีวีถูกเปลี่ยนชื่อเป็นทีไอทีวี โดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้กำกับดูแล หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ออกอากาศต่อโดยไม่มีการตัดสัญญาณภาพออกอากาศ

การเกิดขึ้นของทีไอทีวีถือได้ว่าแปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ทั้งๆที่ไม่มีกฎหมายรองรับ การรับพนักงานทั้งหมดของไอทีวีเดิม ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเข้าทำงานต่อ ในลักษณะคล้ายคลึงกับการเป็นพนักงานลูกจ้างของรัฐ ไม่นับรวมการนำเสนอข่าวเอนเอียงไปทางสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะนายจอม เพ็ชรประดับ ไปสัมภาษณ์พิเศษกับ พ.ต.ท.ทักษิณที่ฮ่องกง ในช่วงที่กำลังจะใกล้ถึงการเลือกตั้งในปี 2550

ทีไอทีวีก็ถึงคราวอวสาน เมื่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งถึงกรมประชาสัมพันธ์ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำการลงมติการแปรสภาพเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวียุติการออกอากาศ โดยถูกโอนไปเป็นของ ส.ส.ท.ออกอากาศภายใต้ชื่อ สถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส นับเป็นการสิ้นสุด “ทีวีเสรี” ที่ออกอากาศมาเป็นเวลาเกือบ 12 ปี

ส่วนสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอส ทีวีไทย และไทยพีบีเอสซึ่งเรียกกันอยู่ในปัจจุบัน อาจเรียกว่าเป็นรูปแบบสื่อสาธารณะมากกว่าเป็นช่องข่าวหรือสถานีข่าว เพราะรูปแบบรายการจะเน้นให้ความสำคัญกับการผลิตรายการข่าว รายการสารประโยชน์และรายการสาระบันเทิงโดยยึดถือประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง มีรายได้จากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสุราและยาสูบ โดยมีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท

จากบทเรียนความล่มสลายของทีวีเสรี กสทช. ก็นำมาอ้างเป็นหลักเกณฑ์การประมูลทีวีดิจิตอลเที่ยวนี้ โดยปรับสัดส่วนเนื้อหาสาระรายการข่าวเป็นร้อยละ 50 เพื่อให้ช่องข่าวอยู่ได้ในทางธุรกิจ แล้วหันมาให้ส่วนลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่จ่าย 2% ต่อปี ถ้าต้องการทำรายการมากกว่าที่กำหนด และพบว่าการประมูลช่องข่าวเริ่มต้นที่ 220 ล้านบาท และเพิ่มราคาครั้งละ 2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไอทีวีที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานตกปีละ 1,000 ล้านบาท

สิ่งที่น่าเป็นห่วงกับการประมูลช่องข่าวในทีวีดิจิตอลเที่ยวนี้ คือเรื่องของการประมูลทีวีดิจิตอลซึ่งวัดกันที่เม็ดเงินเป็นหลัก มากกว่าที่จะพิจารณาถึงการนำเสนอเนื้อหา และคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล แม้จะมีกฎเกณฑ์ที่ป้องกันการเป็นนอมินี รวมทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 48 ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ในทางปฏิบัติจะเชื่อใจได้อย่างไร?

โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ทางการเมือง ระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้บริหารสื่อ กับนักการเมืองหรือขั้วทางการเมือง ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ ชิน คอร์ปอเรชั่น เจ้าของธุรกิจสื่อสารและดาวเทียมไทยคม หลังจากที่เคยทำไอทีวีเจ๊งมาก่อน คราวนี้จะประมูลหมดทั้ง 4 ช่อง ทั้งรายการเด็ก ช่องข่าว ช่องวาไรตี้ และช่องเอชดี แต่เดชะบุญเมื่อ กสทช.ได้กำหนดไม่ให้ประมูลช่องเอชดี กับช่องข่าวพร้อมกัน ผมคาดว่าชินคอร์ปฯ อาจจะตัดช่องข่าวออกก็ได้

หนักหนาสาหัสเอาการกับ วอยซ์ทีวี ที่รู้กันดีว่าเป็นของ นายพานทองแท้-น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ทุกวันนี้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า ยืนข้างครอบครัวชินวัตร จากเหตุการณ์คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง กระทั่งการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีการนำพิธีกรที่มีแนวคิดโจมตีฝ่ายตรงข้าม ซึ่งถ้าคิดกันเล่นๆ หากได้คว้าช่องข่าวไปครองจะเกิดอะไรขึ้น?

ที่ผ่านมาอาจจะมีคนโจมตีถึงสื่อที่เลือกข้างอย่างเอเอสทีวี หรือจะเป็นสื่อที่เป็นทีวีการเมืองชัดเจน เช่น เอเชีย อัปเดต ของกลุ่มคนเสื้อแดง บลูสกาย แชนแนลของพรรคประชาธิปัตย์ แต่สื่อเลือกข้างเหล่านี้ล้วนมีวัตถุประสงค์ชัดเจน และช่องทางการรับชมเฉพาะ หากแต่สื่อที่บอกตัวเองว่ามีความเป็นกลาง แต่กลับมีการเลือกปฏิบัติ ยอมหลับตาข้างหนึ่ง หรือเอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างลับหลัง เมื่อมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่เปิดเผยจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวยิ่งกว่า

โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่มีนายทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อาจจะใช้อำนาจผู้ถือหุ้นแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อ รวมทั้งการที่สื่อมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองในแวดวงสังคม แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจนในด้านนิตินัย แต่ก็อาจจะเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงหรือการเลือกปฏิบัติในการทำหน้าที่สื่อได้ โดยเฉพาะการแสวงหาผลประโยชน์จากนักการเมืองลับหลัง เช่น การป้อนโฆษณาภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ แลกกับการนำเสนอข่าวเอาใจนักการเมืองหรือผู้ที่มีอำนาจ

สิ่งที่ผมกลัวหากการประมูลทีวีดิจิตอลผ่านพ้นไป แล้วเรากลับได้ช่องข่าวทีวีดิจิตอลที่มาจากนายทุนที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครที่มีทุนมากกว่า กล้าได้กล้าเสียมากกว่า ก็มีสิทธิ์ที่จะได้ครอบครองคลื่นความถี่มากกว่า ตามคำกล่าวที่ว่า “ผู้ใดครองสื่อผู้นั้นครองโลก” ผมคงไม่อยากนึกสภาพเวลาเปิดหน้าจอทีวีแล้วช่องข่าวแต่ละช่องเลือกที่จะเสนอข่าวรับใช้นายทุนของตัวเอง ไม่ต่างอะไรกับตอนที่ชินคอร์ปฯ เข้ามาถือหุ้นไอทีวีแล้วแทรกแซงจนทีวีเสรีแทบไม่มีหลงเหลือ

จากบทเรียนทีวีเสรีที่ล่มสลาย ถึงทีวีดิจิตอลช่องข่าวที่ไร้ทิศทางเช่นนี้ อาจจะสายเกินไปที่จะเรียกร้องให้ กสทช. ทบทวนการประมูลทีวีดิจิตอลประเภทช่องข่าว โดยพิจารณาถึงเนื้อหาสาระควบคู่ไปกับการประมูล หากแต่สิ่งที่ กสทช. และเจ้าของช่องข่าวที่ได้รับใบอนุญาตอาจจะต้องเจอก็คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในฐานะผู้ชม โดยเฉพาะในยามวิกฤต จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ช่องข่าวช่องไหนจะรับใช้ประชาชน หรือรับใช้ทางการเมืองและนายทุนเจ้าของสื่อกันแน่

ไม่อยากจะคาดหวังให้ผู้เข้าร่วมประมูลมีจิตสำนึกในการเป็นสถานีข่าวและสาระ รับใช้คนดู รับใช้สังคมด้วยความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลไปถึงอำนาจรัฐ การเปิดพื้นที่กลางควบคู่ไปกับการกลั่นกรองให้สังคมได้เห็นอย่างรอบด้าน เพราะทุกวันนี้เปิดดูข่าวทีวีช่องไหน สื่อต้องการเพียงแค่ข่าวที่ “ขายได้” นำมาขยายความให้สนุก ตื่นเต้น มากกว่าที่จะให้ปัญญา ไม่ทำหน้าที่รับผิดชอบประชาชน สังคม และประเทศชาติอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อถึงคราวประมูลทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะช่องข่าว 7 ช่อง สิ่งที่ผมรู้สึกตื่นเต้นก็คงมีเพียงแค่อยากรู้ว่าใครจะได้ใบอนุญาตไปครอง หลังจากนั้นก็คงต้องปล่อยให้สื่อได้ทำหน้าที่อยู่กับดรามาในชีวิตประจำวันไปตามยถากรรม พร้อมกับการล่มสลายของการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ ด้วยข้ออ้างตามรัฐธรรมนูญที่ว่าให้เกิดประโยชน์สาธารณะ แต่ถึงวันนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้จริง

เพียงเพราะคลื่นความถี่เหล่านี้ เป็นของนายทุนเพียงไม่กี่กลุ่มในสังคมไทยเท่านั้นเอง


นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในวันที่ไอทีวีอยู่ภายใต้เงาของชินคอร์ปฯ

กบฎไอทีวี ฟ้องศาลแรงงานกลางหลังถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม (ภาพจากบล็อกของ LittleTinTin ใน Bloggang.com)
พนักงานไอทีวีชุมนุมเรียกร้องให้ไอทีวีออกอากาศต่อไป หลังจากที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัญญา เนื่องจากค้างค่าสัมปทานและค่าปรับจากการแก้ไขสัญญาสัมปทาน รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น