xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจพระ มือปราบอลัชชี หรือ แค่เสือกระดาษ

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา


ช่วงนี้ข่าวเหลือบไรแห่งพุทธศาสนาผุดเป็นดอกเห็ดจริงๆ เลยครับ เรื่องนั้นยังไม่จบก็มีเรื่องใหม่เกิดขึ้่นมาอีก ไม่ว่าจะมั่วสีกา เสพยา รวมไปถึงภาพต่างๆ ที่เผยแพร่ทางสังคมออนไลน์ อันมีกิริยาผิดลักษณะของสงฆ์เพียบไปหมด จนบางครั้งผมก็แอบรู้สึกนึกหมดศรัทธากับศาสนาสิ่งที่ได้พบเห็นตามหน้าข่าวไปไม่น้อย

มันก็ทำให้ผมย้อนนึกกลับไปสมัยครั้งได้เคยอาศัยร่มกาสาวพัสตร์ เมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙ หรือ ๗ ปี ที่แล้ว ผมได้ตัดสินใจเข้าอุปสมบท ณ วัดแห่งหนึ่งในอำเภอเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของพ่อผม ตามความประสงค์ของปู่ที่อยากจะให้จัดงานที่นั่น ผมบวชช่วงกลางพรรษา หลายคนก็สงสัยว่าบวชได้หรือไม่ พระอุปัชฌาย์ (พระผู้ที่ทำการบวชให้) ก็ชี้แจงว่า สามารถทำได้ เพราะไม่ได้เข้าปวารณาตนขออยู่พรรษา และผมก็สามารถสึกในช่วงดังกล่าวได้เช่นกัน

ผมถือสมณเพศรวม ๑๖ วัน ก็พอได้เรียนรู้และศึกษาพฤติกรรมของพระสงฆ์ในระดับนึงอยู่ วัดที่ผมบวชในยุคนั้นเป็นกึ่งพุทธพาณิชย์ มีให้เช่าวัตถุมงคลบ้าง แต่ยังไม่มากมายเท่าปัจจุบัน ซึ่งถ้าพูดแบบนี้ก็ดูเหมือนจะไม่สงบ แต่วัดก็คือวัดนั่นล่ะครับ ด้านหน้าวัดจะติดกับท่าน้ำแม่น้ำน้อย ส่วนด้านหลังจะติดกับถนนใหญ่ ที่เรียกแบบนี้เพราะคนสมัยก่อนใช้ทางคมนาคมโดยเรือ ด้านที่เป็นถนนปัจจุบันจึงเรียกว่าหลังวัด

ในช่วงที่บวชกิจกรรมของผม เช้ามืดตื่นมาบิณฑบาตร ซึ่งเส้นทางบิณฑบาตรนี้ก็ถูกกำหนดไว้โดยพระพี่เลี้ยง จะแบ่งสายกันไป มีทั้งทางบก และทางเรือ ผมเคยขอไปบิณฑบาตรทางเรือด้วย แต่พระที่ประจำเส้นทางไม่อนุญาต เหตุว่าเรือลำเล็กถ้าไปกันเยอะอาจทำให้ล่มได้ ก็เลยได้ไปในเส้นทางเดิมตลอด เป็นระยะทางไปกลับรวม ๒ กิโล ในวันแรกที่เดินไม่ใส่รองเท้าบนถนนลูกรัง ตีนมนุษย์คนเมืองแบบผมนี่เดินไป ฝืนเจ็บไป พระพี่เลี้ยงเห็นก็บอกว่า ท่านใส่รองเท้าเดินก็ได้นะ แต่ผมไม่เข็ด วันรุ่งขึ้นก็เอาอีก เดินจนเจ็บเท้า ก็สังเกตได้ว่า เรากลายเป็นตัวถ่วงทำให้เดินกลับมาถึงวัดช้ากว่าพระองค์อื่น จนทำให้เสียเวลาทำวัตร จึงตัดสินใจเลิกดื้อ ใส่รองเท้าแตะบิณฑบาตรแทน

ตอนบิณฑบาตรพระที่นี่ไม่มีลูกศิษย์ ไปกันสายละ ๒ องค์ พร้อมกับบาตรและย่าม ถ้าเต็มย่ามก็คือจบ เดินกลับ ไม่มีให้ลูกศิษย์ไปขนเหมือนวัดในเมือง เส้นทางที่ผมเดินก็จะมีแต่ทุ่งนา ป่า ชีวิตคนเมืองที่มาอยู่แบบบ้านๆ มันโคตรจะรู้สึกแสนงดงาม ได้สัมผัสธรรมชาติที่แถวบ้านตัวเองไม่ค่อยมี ผ่านบ้านคนก็จะมีโยมมานิมนต์ใส่บาตรกัน พอกลับมาถึงวัด ผมก็ต้องนำอาหารที่ญาติโยมใส่บาตรมาไปรวมกับพระพี่เลี้ยงและพระรุ่นพี่ ก่อนที่จะไปทำวัตรเช้าในโบสถ์ ทำพิธีปลงอาบัติ อันนี้คือการขอขมาลาโทษอันเล็กน้อยที่เกิดจากการไม่ได้ตั้งใจ เช่นไปเดินบิณฑบาตรเหยียบต้นไม้ เหยียบสัตว์เล็กที่มองไม่เห็น พอเสร็จแล้วจึงมาฉันเช้า

จากนั้นก็แยกย้ายกันไป ผมก็ไปท่องมนต์บางบทที่ต้องใช้ เช่น มนต์พิธีรับผ้าบังสุกุล หรือสวดชยันโต ในงานบุญ ก่อนฉันเพล และช่วงบ่ายก็นั่งอ่านหนังสือธรรมะ หรือไปยืนระบายสี .... ไม่ต้องงงครับ สมัยก่อนตอนผมบวชเจ้าอาวาสจะใช้พระลูกวัดเขียนป้ายผ้างานประจำปีครับ เป็นร้อยๆ แผ่น งานมีปีหน้า แต่เขียนตั้งแต่กลางปีเลย เพื่อไม่ให้พระลูกวัดว่างงาน ผมก็ไปยืนแจมๆ กับเขา สิ่งหนึ่งที่ได้เลยไม่ใช่แค่เรื่องการเขียนป้าย แต่เป็นการฝึกสมาธิไปในตัว ทำให้เราจดจ่อกับงานนั้นมากขึ้น

ช่วงค่ำสรงน้ำเสร็จก็ไปเรียนหนังสือต่อ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่รู้มาก่อน ว่าที่วัดมีเรียนนักธรรมภาคค่ำด้วย พระพี่เลี้ยงก็ถามผมว่า ท่านจะเรียนด้วยไหม ผมก็เห็นว่าอยู่ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็เลยไปเรียนด้วย ซึ่งก็มีพระจากวัดอื่นมาร่วมนั่งเรียน ผมก็เหมือนไปฟังบรรยาย เกี่ยวกับธรรมวินัยนั่นล่ะ ที่วัดนี้เขาบังคับให้พระที่จำพรรษาทุกรูปต้องเรียน

บรรยากาศที่วัดนี้เงียบสงบจริงๆ ครับ ช่วงเย็นๆ ผมมักจะไปนั่งอยู่ริมแม่น้ำ มองออกไปฝั่งตรงข้ามเป็นทุ่งนาและป่าอันเงียบสงบ นั่งคิดทบทวนชีวิตไปเรื่อยๆ จนบางครั้งก็แอบน้ำตาซึมขึ้นมา อาจเป็นเพราะผมไม่เคยมาอยู่ไกลพ่อแม่ด้วยกระมัง แต่นั่นก็เป็นช่วงแรกๆ ครับ

กุฏิที่ผมจำวัดอยู่ตรงข้าม เมรุเผาศพเลย เรียกได้ว่าให้ปลงกันสุดๆ แถมยังมีต้นไม้ขนาดสูงใหญ่รายล้อมอยู่รอบๆ โอ้โห บรรยากาศตอนกลางคืนนี้ มันช่างน่ากลัวเสียจริง มีอยู่คืนนึงมีงานวัดแบบย่อมๆ ผมจำไม่ได้ว่างานอะไร แต่มีหนังกลางแปลงมาฉาย ก็มีชาวบ้านมาดูกันพอสมควร ส่วนพระลูกวัด บางส่วนก็มาประจำอยู่ร้านขายวัตถุมงคลหน้าพระวิหาร เนื่องจากไม่มีลูกศิษย์วัด ผมก็มาเดินเตร่ๆ ช่วยงานเขาบ้าง ไปดูผู้คนบ้าง แน่นอนล่ะว่ามันไม่ใช่กิจของสงฆ์หรอก

ผมอยู่วัดนี้เสมือนผมตัดชีวิตออกจากโลกภายนอกไปเลย ที่นี่ไม่มีทีวีให้ดู ได้ฟังข่าวก็แต่วิทยุ ต้องแอบๆ ฟังนะ รับรู้ข่าวสารก็ผ่านหนังสือพิมพ์ย้อนหลังเท่านั้น ส่วนครอบครัวผม มีเพียงแค่ครั้ง ๒ ครั้ง ที่ปู่จะมาทำบุญ เนื่องจากวัดที่ผมบวช เป็นวัดข้ามหมู่บ้าน ... คือคนแถวนั้นจะถือคติที่ว่า ถ้าอยู่หมู่บ้านไหนต้องทำบุญวัดในหมู่บ้านนั้น ไม่ข้ามเขตกัน แต่วัดที่ผมบวชอยู่คนละหมู่บ้านกับบ้านปู่ของผม (หมู่บ้านห่างกับอีกวัดแค่คันดินกั้นเอง) ส่วนพ่อแม่มาทีก็ตอนก่อนจะสึก ที่ได้เชิญให้ไปเทศน์โปรดบิดามารดาตามธรรมเนียมพระที่จะสึก

จำได้ว่าตอนสึกนี่ คืนเงินที่ญาติโยมใส่มาทำบุญรวมๆ แล้วเป็นจำนวนหลายพันบาท ให้ทางวัดไปหมดเลย เพราะผมคิดว่า มันไม่ใช่เงินของผม แต่เป็นเงินที่เขาให้เพื่อบำรุงพระศาสนา

พอสึกมาก็ได้คุยกับเพื่อนๆ หลายคนที่เคยบวชว่า เป็นอย่างไรบ้าง บ้างก็ตอบว่าดีขึ้น รู้สึกชีวิตดีขึ้น บางส่วนก็บอกเหมือนเดิม ส่วนผมเหรอ ...

กลับมาที่เรื่องของเราครับ ที่เล่ามาก็ไม่ใช่ว่าจะอวดอ้างอะไร แต่แค่แชร์ประสบการณ์จากที่พบมา พอนึกๆ ไป มันก็เลยทำให้พอเห็นภาพว่า ปัญหาพระในบ้านเรามันเกิดจากอะไร

หรือจะเป็นเพราะ "ความหละหลวม" ในการเอาใจใส่พระของวัดและเจ้าอาวาส

ถ้าพูดกันระหว่างฝั่งธรรมยุติ กับ ฝั่งมหานิกาย ในมุมมองชาวบ้าน ก็จะมองว่า ธรรมยุติ มีความเคร่งครัดกว่า ทั้งการปฏิบัติและกิจกรรม ซึ่งในทางมหานิกายลับปล่อยเสรีภาพให้แก่พระมากกว่า ........ แต่อย่างว่า ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละวัดอีกล่ะครับ ว่าเจ้าอาวาสท่านได้ให้ลูกวัดไปทำอะไร

อย่างเช่นล่าสุดที่มีข่าวว่า วัดแห่งหนึ่งให้ลูกพระทำขนมปังขายหาปัจจัยเข้าวัด ในชื่อว่า "ขนมปังรสพระทำ" ซึ่งบางคนอาจจะดูไม่เหมาะสมตรงที่พระควรหาทางท่องตำรามาเพื่อสั่งสอนเผยแพร่ศาสนา แต่ผมก็มองว่า อย่างน้อยก็ดีกว่าท่านอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร หรือไปทำในสิ่งที่ผิดต่อพระธรรมวินัย เพราะวัดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้บังคับให้พระต้องทำอะไรหลังเสร็จภารกิจในภาคเช้า

มีคนต่อว่า “สื่อมวลชน” ว่าเป็นต้นเหตุทำให้ศาสนามัวหมอง เพราะมัวนำเสนอข่าวพวกอลัชชี แต่พวกพระภิกษุประพฤติปฏิบัติดีกลับหมองเมิน พวกผมก็ได้แต่สงสัยว่า เอ๊ะ หน้าที่สื่อมันคือการตีแผ่ความจริงของสังคมไม่ใช่หรือ ในเมื่อเราพบว่ามันมีสิ่งแปลกปลอมขึ้น เราก็ต้องชี้ให้เห็นว่า ตรงนี้มีสิ่งแปลกปลอมนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดการอย่างไร และช่วยกันหาทางแก้ไขในความผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือว่า สังคม อยากให้พวกผมเห็นแล้วก็ซุกมันไว้ใต้พรมอย่างนั้นหรือ?

ซึ่งข่าวคราวที่เกิดขึ้น มันทำให้เราเคลือบแคลง สงสัยว่า เฮ้ย พระมาทำแบบนี้ถูกหรือไม่ บางคนก็ทึกทักไปแล้วว่าผิด บ้างก็เชื่อว่าถูก เชื่อกันไปเอง คิดกันไปเองต่างๆ นานา โดยไม่มีใครนำเสนอว่า แท้จริงแล้ว อะไรคือ ผิด และถูก เอาง่ายๆ อย่างเรื่องพระยืนรอโยมใส่บาตรตามตลาด พระเดินห้าง เดินตลาด เดินคลองถม ก็มีหลากความเห็นทั้งว่าถูก และผิด แต่มิยักมีใครหาคำตอบ ที่แท้จริงว่า ถูกหรือผิดยังไง

และใครทำหน้าที่จัดการดูแลปราบปรามพระนอกรีต?

อันที่จริงแล้วมีหน่วยงานหนึ่งเขามีหน้าที่ในการจัดการปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “พระวินยาธิการ” หรือ ตำรวจพระ นั่นเอง เป็นพระสงฆ์ด้วยกันนี่ล่ะครับ ซึ่งตั้งขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจตาม กฏมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ให้ตั้งแต่งภิกษุขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะพระวินยาธิการ เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของเจ้าคณะ เป็นพระภิกษุที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะปกครองเพื่อมาช่วยงานนั้น

ซึ่งหน้าที่ของพระวินยาธิการ คือ ตรวจตรา ชี้แจง แนะนำ พระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย กฏหมาย กฏมหาเถรสมาคม เป็นต้น เมื่อพบภิกษุทำผิดก็ให้นำมามอบให้เจ้าอาวาส หรือเจ้าคณะพิจารณา รวมทั้งยังมีหน้าที่ช่วยสอบสวนด้วย โดยมีคุณสมบัติของผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ หรือจรรยาบรรณ ว่า ต้องอดทน ใจเย็น สุขุม รับผิดชอบ เสียสละ เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่ เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา พร้อมปฏิบัติงานและคำสั่งที่สั่งแล้วโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย ต้องสุภาพ อ่อนโยน และต้องทำเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ขณะที่ “ลักษณะอาจาร (ความประพฤติ) ที่ไม่สมควร” ก็ประกอบด้วย ๑.บิณฑบาตรขาดความสำรวม ๒.เรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต ๓.เร่ร่อนเพื่อหาลาภสักการะ ๔.พักค้างแรมตามบ้านเรือน ๕.ปักกลดในย่านชุมชน ๖.นุ่มห่มไม่เรียบร้อย ๗.เข้าร่วมพิธีสงฆ์โดยไม่ได้รับฎีกา (แขกไม่ได้รับเชิญ) ๘.กล่าวถ้อยคำไม่เหมาะสม ๙.พักอาศัยอยู่กับมาตุคาม (มนุษย์เพศหญิง) ๑๐.พักอาศัยในป่าสงวนหรือที่สาธารณะเพื่อสร้างที่พักสงฆ์ ๑๑.ตั้งสำนักทรง ๑๒.พักอาศัยอยู่ในที่อโคจร ๑๓.เล่นการพนัน และ ๑๔.ความประพฤติอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม เช่น เสพยาเสพติด ดื่มสุรา ก่อความวุ่นวายในสถานที่ราชการ

ส่วน “โทษ” ถ้าพบเห็นก็จะแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ๑.ถวายคำแนะนำ ในกรณีที่ไม่ผิดร้ายแรง , เป็นความผิดที่ไม่เป็นโลกวัชชะคือไม่เป็นที่ติเตียนแก่ชาวโลก หรือ ภิกษุหรือสามเณรทำผิดครั้งแรก อันนี้เหมือนแจกใบเหลืองนั่นเอง ๒.ทำทัณฑ์บน ในกรณีที่ไม่ผิดร้ายแรงแต่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือ ,เป็นที่ติเตียนแก่ชาวโลก ,เคยได้รับการถวายคำแนะนำแล้วแต่ยังทำ หรือทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันนี้เท่ากับแจกใบแดง และ ๓.ให้สละสมณเพศ ในกรณีที่ มีความผิดร้ายแรงตามพระธรรมวินัยและอื่นๆ ที่บัญญัติไว้ ,ความผิดที่มีโทษวินัยน้อยแต่เป็นที่ติเตียนแก่ชาวโลก เช่น ดื่มสุรา,เล่นการพนัน ,ภิกษุที่มีเจตนาประพฤติผิดเป็นอาจิณ และหรือภิกษุที่ทั้งถวายคำแนะนำก็แล้วทั้งทำทัณฑ์บนก็แล้วก็ยังทำความผิด อันนี้เท่ากับ แบนตลอดชีพ

และถ้ามีนอกเหนือจาก ๑๔ ข้อที่ว่านี้ ก็สามารถใช้ “มหาปเทส ๔” เป็นตัววินิจฉัยความผิดนั้น โดยสรุปคือ ๑.สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่า ควรทำหรือไม่ควรทำ แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ไม่ควรทำ สิ่งนั้นไม่ควรทำ และ ๒.สิ่งใดไม่ได้ทรงห้ามไว้ว่า ควรทำหรือไม่ควรทำ แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ควรทำ สิ่งนั้นควรทำ

อาจจะดูงงๆ (แต่ก็งงจริงๆ ล่ะ) ก็คือให้ดูวิจารณาญาณเอาเองว่า สิ่งไหนควร หรือไม่ควรทำไง

ทีนี้มาถึงวิธีการปฏิบัติงานของตำรวจพระกันบ้าง โดยก่อนปฏิบัติงาน พระวินยาธิการจะปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาส่วนคุ้มครองป้องกัน และตำรวจคน สน.ท้องที่เสียก่อน เพื่อดูแนวทางในการอันเชิญพระรูปดังกล่าวมาสอบสวน ซึ่งตาม “คู่มือศูนย์ปฏิบัติการพระวินยาธิการ คณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร” นี้ เขียนไว้ว่า ต้องออกตรวจ ๓ - ๔ วันต่อสัปดาห์ และในการปฏิบัติงาน อย่าข้ามผู้บังคับบัญชา ต้องพาไปให้เจ้าคณะแขวงก่อนตามลำดับเพื่อสอบสวน โดยตำรวจพระมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยและลงความเห็นเป็นพยาน เมื่อได้ข้อสรุปให้ถ่ายสำเนาส่งหัวหน้าพระวินยาธิการ โดยเน้นย้ำว่าตำรวจพระต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณ

ส่วนคุณสมบัติของตำรวจพระนั้น ๑.ต้องมีพรรษาพ้น ๕ หมายถึงบวชมาแล้ว ๕ ปีขึ้นไป ๒.มีความรู้นักธรรมชั้นเอก ๓.มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่ทุพลลภาพ และ ๔.ได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดและตามลำดับ ซึ่งถ้ารูปใดไม่ทำหน้าที่ก็จะถูกงดต่ออายุบัตร ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นอีกเมื่อหมดวาระ แต่เท่าที่ผมอ่านดู ไม่มั่นใจว่าเขาให้วาระกี่ปี เนื่องจากในนี้ไม่ได้ระบุไว้

อย่างเรื่อง “บิณฑบาตร หรือขอเรี่ยไร นอกสถานที่” นี่ก็มีบัญญัติไว้ครับ ถ้าไม่มีใบอนุญาต ก็โดนเหมือนกัน รวมทั้งกรณีที่บิณฑบาตรไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย ก็เป็นเรื่องที่ "ไม่ควร" กล่าวคือ บิณฑบาตรกลับเข้าวัดหลัง ๘ โมงเช้ายืดได้ไม่เกิน ๘ โมงครึ่งถ้าจำเป็น ,รับบาตรมากเกินจำเป็นหรือถ่ายเทอาหารให้บุคคลภายนอก ,เวียนเทียนรับบาตร ,ยืนนั่งประจำที่ตามร้านขายอาหารหรือเร่ร่อนนอกเส้นทาง ,กล่าวยถา... สัพพี (บทอนุโมทนารัมภคาถา หรือกรวดน้ำ และบทสามัญญานุโมทนา หรือให้พร) และ ทิ้งดอกไม้ธูปเทียนไว้ข้างทาง รวมทั้งไม่ควรสูบบุหรี่ สวมรองเท้า พูดคุยกันโดยไม่จำเป็น แย่งกันรับซองปัจจัย ห้อมล้อมรถผู้มาใส่บาตร

โดยภิกษุสามเณรควรสังวรไว้ว่า ต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อย, รับบาตรโดยเคารพและเมื่อรับแล้วจักแลดูในแต่บาตร ,รับแกงพอสมควรแก่ข้าวสุก ,รับบิณฑบาตรแต่พอเสมอขอบปากบาตร และ ในกรณีที่เข้าไปบิณฑบาตรในบ้าน ทายกเอาขนมถวายรับได้มากสุดไม่เกิน ๓ บาตรเท่านั้น

พอเห็นข้อกำหนดแบบนี้แล้ว ผมถึงกับอึ้งไปพอสมควร .... เพราะสิ่งที่ได้พบให้ในปัจจุบัน หลายพื้นที่ ก็มีภิกษุทำแบบนี้อยู่ และเราก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ "ทำได้"

ยังมีอีกเรื่อง คือกรณีที่เราเห็นกันดาดเดื่อน ภิกษุ สามเณร “เข้าห้างสรรพสินค้า” ผิด หรือไม่ ในคู่มือก็มีบอกไว้ถึงแนวทางการปฏิบัติชัดเจนเช่นกันครับ ว่า ห้ามเข้าไปในห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ โรงละคร ตลาด สวนสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร ,ห้ามดูพระเครื่องและเครื่องรางของขลังตามริมถนนหรือย่านชุมชน ,ห้ามชมการละเล่น ในที่สาธารณะ เว้นแต่กิจกรรมที่ราชการจัดเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องสำรวมรู้จักกาละเทศะด้วย รวมทั้งให้เจ้าอาวาสแจ้งถึงโทษและความเสียหายแก่ภิกษุสามเณรในสังกัดด้วย

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราๆ ท่านๆ ได้พบ ได้เห็น แต่ก็ได้สงสัยว่ามันใช่หรือไม่ ผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะกระจ่างขึ้นแล้ว และถ้าสมมุติว่า เกิดพบ หรือเจอเหตุดังกล่าว ควรทำอย่างไรล่ะ? ทางหนึ่งคือการโทรแจ้งศูนย์ปฏิบัติการพระวินยาธิการ แต่นั่นก็อาจสับสนได้ว่า ต้องโทรไปที่ใด เนื่องจากศูนย์ดังกล่าวมีกระจายทั่วไปมาก ผมจึงเห็นควรว่า โทรไปที่นี่เลยน่าจะดีกว่าครับ ส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โทร ๐ - ๒๔๔๑ - ๔๕๔๗ หรือตู้ปณ.๔๔๔ หรืออีเมล์แอดเดรส bps@onab.go.th และ iconab@onab.go.th

โดยภาพรวมเหมือนว่า เรามีตำรวจพระแล้วก็สามารถปราบปรามพวกอลัชชีได้ แต่ในความเป็นจริงนี้ กลับ “ยากมาก” ครับ เนื่องจากพระวินยาธิการ “ไม่ได้มีกฏหมายมารองรับ” เป็นเพียงแค่ศูนย์ปฏิบัติที่ตั้งมาตามกฏมหาเถระสมาคมเท่านั้น การทำงานก็อาจจะไม่สะดวกได้มาก เพราะมีอำนาจเป็นแค่ผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเอง

ส่วนอีกเรื่องก็คือ “ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ” ครับ อย่างเคยได้ยินมาว่า มีแม่ค้าบางรายที่ร่วมมือกับพระทำมาหากินใส่บาตรเวียน พอพระวินยาธิการและคณะจะไปจับก็เจอแรงต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์ หรืออย่างที่มีข่าวว่า พระวินยาธิการนำทีมไปเชิญพระร่วมม็อบการเมืองในสถานที่ราชการแล้วถูกผู้ชุมนุมรุมต่อว่ารวมทั้งทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่พส.ที่ไปด้วย ก็เป็นเรื่องหนึง ซึ่งหากมีคนขัดขวาง ก็จะทำอะไรได้ล่ะครับ นอกจากเดินจ๋อยๆ กลับวัด เพราะไม่มีกฏหมายมารองรับระบุโทษทางโลกของผู้ขัดขวางการปฏิบัติงานในกรณีดังกล่าวได้

สิ่งที่พวกเราทำได้ก็คงเป็นแค่ “รู้เท่าทัน” พวกเขา แล้วก็เลี่ยงการทำบุญกับพระที่มีพฤติกรรมตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น .... ถึงแม้จะขัดศรัทธาตัวเองไปบ้าง แต่อย่างน้อยเราก็ไม่ได้เป็นส่วนนึงของการสนับสนุนให้พวกเขากระทำความผิดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น